02 ก.ค. 2563 | 11:36 น.
"มีผู้หญิงผิวสีอยู่มากมาย (ในพรรคเดโมแครต) ทั้งลาติน เอเชีย และกลุ่มอื่นแทบทุกกลุ่ม และตอนนี้เราก็กำลังพิจารณาประวัติเบื้องหลังของแต่ละคนอย่างเข้มข้น ซึ่งน่าจะใช้เวลา 6 ถึง 8 สัปดาห์" โจ ไบเดน ตัวแทนพรรคเดโมแครตในการเลือกตั้งประธานาธิบดี 2020 กล่าวถึงการสรรหาตัวแทนชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดี ขณะปราศรัยหาเสียงที่วิลมิงตัน เดลาแวร์ ก่อนเสริมว่า การประกาศผลอาจจะเสร็จสิ้นในช่วงต้นสิงหาคม แต่เขาไม่ขอการันตี (New York Post) ไบเดนแง้มคุณสมบัติพึงปรารถนาของคนที่จะมาเป็น running mate (ผู้สมัครลงรับเลือกตั้งในตำแหน่งที่สถานะต่ำกว่า กรณีนี้คือ รองประธานาธิบดี) ของเขาให้ฟังว่า "ในบรรดาผู้หญิงที่ผมพิจารณาอยู่เกือบทั้งหมดมีประสบการณ์ด้านนโยบายต่างประเทศ และกิจการความมั่นคงและการป้องกันประทเศ แต่นี่ไม่ใช่คุณสมบัติขั้นต่ำนะ คุณสมบัติที่พึงมีก็คือ พวกเธอจะต้องมีความฉลาด ความเยือกเย็น และคุณสมบัติของการเป็นผู้นำที่จะทำให้ทุกคนเชื่อได้ว่า เธอพร้อมที่จะเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาตั้งแต่วันแรก" ส่วนผู้หญิงผิวสีที่อยู่ในข่ายความสนใจของไบเดนก็มี คามาลา แฮร์ริส (Kamala Harris) ส.ว.จากแคลิฟอร์เนีย ลูกครึ่งเชื้อสายจาเมกา-อินเดีย และกลุ่มนักการเมืองเชื้อสายแอฟริกันอเมริกันอย่าง ซูซาน ไรซ์ (Susan Rice) อดีตที่ปรึกษาความมั่นคง คาเรน เบส (Karen Bass) ส.ส.จากแคลิฟอร์เนีย วัล เดมิงส์ (Val Demings) ส.ส.จากฟลอริดา และ ลัดดา แทมมี ดักเวิร์ธ ส.ว.จากอิลลินอยส์ ก็มีชื่อติดโผอยู่ด้วย ดักเวิร์ธ อาจไม่ใช่ตัวเลือกลำดับต้น ๆ แต่ในความเห็นของ แฟรงก์ บรูนี (Frank Bruni) คอลัมนิสต์ของ The New York Times มองว่า ส.ว.หญิงลูกครึ่งไทย-อเมริกัน มีความเหมาะสมที่สุดสำหรับการเป็นคู่ลงสมัครร่วมกับไบเดน เนื่องจากเธอเป็นสัญลักษณ์ของคุณสมบัติและค่านิยมที่ตรงข้ามกับอุดมคติของ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนปัจจุบันอย่างชัดเจนที่สุด เป็นผู้ที่มีทั้งเกียรติ รู้จักความเสียสละ และอ่อนน้อมถ่อมตน "เธอคือขั้วตรงข้ามของทรัมป์ เป็นยาถอนพิษสำหรับความอัปลักษณ์ที่เขาเพลิดเพลิน และการปลุกปั่นคนให้ไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกันของเขา" บรูนี กล่าว ดักเวิร์ธ ในวัย 52 ปี เป็นสมาชิกวุฒิสภาสมัยแรก หลังเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว 2 สมัย ก่อนนั้นเธอเป็นนักบินเฮลิคอปเตอร์ในสงครามอิรัก เครื่องแบล็กฮอว์กของเธอถูกยิงตกใกล้กับแบกแดดในปี 2004 แรงระเบิดทำให้เธอเกือบเสียชีวิต เธอรอดตายมาได้แม้จะเสียขาไปสองข้างก็เนื่องจากความช่วยเหลือของเพื่อนร่วมรบซึ่งเธอมองว่าพวกเขาคือฮีโรตัวจริง ไม่ใช่เธอ ในบันทึกถึงตัวเอง (Note to Self) เผยแพร่ทาง CBS This Morning ดักเวิร์ธเขียนถึงตัวเองในวันที่ประสบเหตุว่า "เธอรอดชีวิตมาได้ก็เพราะความมุ่งมั่น เสียสละ และความกล้าหาญของผู้อื่น เธอไม่เคยได้ทำอะไรที่คู่ควรกับความเสียสละของพวกเขา แต่ฮีโรเหล่านี้ได้มอบโอกาสครั้งที่ 2 ในชีวิตให้กับเธอ" ดักเวิร์ธแสดงทั้งความถ่อมตนและความมั่นคงในหลักการในคราวเดียวกัน เมื่อบรูนีถามเธอว่า คนอย่างโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นผู้รักชาติหรือไม่? เธอตอบโดยเปรียบเปรยว่า คนอย่างทรัมป์พร้อมจะเอาธงชาติมาห่อตัวเอง ขณะเดียวกันธงชาติก็จะเป็นสิ่งที่เธอจะได้มาประดับโลงศพในวันตายด้วยเหตุผลอันไม่สมควร ถ้าเธอทำได้เธอจะพุ่งเข้ากองไฟเพื่อดึงเอาธงนั้นออกมา แต่ถ้ามีใครอยากจะเผาธงชาติ เธอก็จะสู้ตายเพื่อสิทธิของคนคนนั้นเช่นกัน "สิ่งที่แสดงถึงความรักชาติมากที่สุดมันไม่จำเป็นว่าต้องมานั่งสวมเครื่องแบบ แต่อยู่ที่การพูดความจริงต่อผู้มีอำนาจ ใช้สิทธิตามบทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งที่ 1 (สาระสำคัญคือสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็น) นั่นคือสิ่งที่สร้างอเมริกาขึ้นมา จริงหรือไม่?" ดักเวิร์ธกล่าว ด้วยวัยที่มากถึง 77 ปี หากชนะการเลือกตั้ง ไบเดนอาจครองตำแหน่งได้เพียง 1 สมัย เพราะประธานาธิบดีที่แก่ที่สุดนับถึงวันพ้นจากตำแหน่งก็คือ โรนัลด์ เรแกน ซึ่งครบวาระในปี 1989 ด้วยวัย 77 ปี เท่ากับไบเดนในปีนี้ การเลือกคู่ลงสมัครจึงอาจหมายถึงการวางตัวผู้สืบทอดพรรคเดโมแครตในกาลเบื้องหน้า ดักเวิร์ธจึงอาจยังไม่ใช่ตัวเลือกลำดับต้น ๆ เนื่องจากเธอยังไม่มีประสบการณ์การเมืองในระดับประเทศ และแทบไม่เป็นที่รู้จัก โดยจากการสำรวจในระดับประเทศของ The New York Times พบว่า กลุ่มตัวอย่างเห็นดักเวิร์ธเป็นทางเลือกที่เหมะสมเพียง 18 เปอร์เซ็นต์ และกว่า 72 เปอร์เซ็นต์บอกว่าไม่รู้จักเธอ แต่จากอดีตที่ผ่านมา ตัวเลือกตำแหน่งรองประธานาธิบดีไม่ได้มีผลต่อการลงคะแนนโดยรวมมากนัก การเลือกคู่ลงสมัครของไบเดนจึงอาจไม่ได้เอาเรื่องชื่อเสียงของบุคคลดังกล่าวมาตัดสินก็เป็นได้ และการที่เธอไม่เคยมีบาดแผลทางการเมือง และไม่เคยเสนอนโยบายที่สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างสุดขั้วจนนำไปสู่การถกเถียงอย่างรุนแรง ก็อาจเป็นข้อดีที่ทำให้เธอถูกพิจารณาอย่างจริงจังได้เหมือนกัน