31 ม.ค. 2564 | 00:03 น.
หลังจากแคน-นายิกา ศรีเนียน จบการศึกษาทั้งจากวงไอดอล BNK48 และจบการศึกษา (จริง ๆ) ในระดับปริญญาตรี เธอได้ก้าวสู่วัยทำงานในฐานะสมาชิกพรรคก้าวไกล และที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการการศึกษาซอฟต์แวร์เกมและอีสปอร์ต สองเท้าเราก้าวเดินตามแคนไปเคาะประตูเยี่ยมบ้านของคนในพื้นที่แถบรามอินทรา 40 วันนี้เธอสวมเสื้อเชิ้ต กางเกงยีนสีเข้ม รองเท้าผ้าใบเดินคล่อง ต่างจากภาพชุดกระโปรงสีสดใสที่เคยคุ้น แคนเล่าให้ฟังว่า เธอเจอคำถาม ‘อยากเป็นนายกรัฐมนตรีไหม’ มาตั้งแต่เด็ก ด้วยความที่ชื่อ ‘นายิกา’ มีความหมายว่า นายกฯ หญิง ซึ่ง ณ ช่วงวัยของบัณฑิตจบใหม่นี้เธอเองก็ยังไม่สามารถตอบได้อย่างแน่ชัดว่าอยากเป็นนายกฯ ไหม แต่สิ่งหนึ่งที่แคนบอกเราอย่างมั่นใจ คือ เธอมีใจที่อยากจะพัฒนาและเปลี่ยนแปลงประเทศไปในทางที่ดีขึ้น และนี่คือบทสนทนาที่เล่าถึงมุมมองและการเติบโตหลังแคน-นายิกา ผันตัวมาทำงานด้านการเมืองอย่างเต็มตัว The People : เริ่มสนใจการเมืองตั้งแต่เมื่อไร แคน : จริง ๆ มันเริ่มมาจาก หนึ่ง ครอบครัวเราบางคนเป็นนักการเมืองอยู่แล้ว เราจะได้ยินปัญหาต่าง ๆ เข้ามาค่อนข้างบ่อย บางครั้งที่เราติดพ่อไปทำงาน เราก็จะไปเจอปัญหาที่รู้สึกว่า เฮ้ย ทำไมคุณภาพชีวิตของคนมันยังไม่เท่ากัน มันเกิดความไม่เท่าเทียมเกิดขึ้น เราก็รู้สึกว่า เราอยากเปลี่ยนแปลงมันนะ มันมีอะไรหลาย ๆ อย่างที่เราอยากแก้ไข ก็เลยสนใจการเมืองเริ่มจากแบบนี้มาเรื่อย ๆ แต่มากที่สุดก็คงเป็นช่วงอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมา มันเห็นภาพได้ชัดที่สุดว่าเกิดอะไรขึ้นกับประเทศบ้าง เหมือนได้รู้ว่างบประมาณของเราจริง ๆ มันก็มีค่อนข้างเยอะ แต่ทำไมมันถูกจัดสรรได้อย่างไม่ถูกต้อง ไม่มีประสิทธิภาพ เงินบางส่วนที่เอาไปลงกับบางสิ่งบางอย่าง มันอาจจะไปทำสิ่งที่เกิดผลประโยชน์ได้ดีกว่านี้ The People : คุณไปม็อบครั้งแรกตอนไหน แคน : ถ้าไปครั้งแรกด้วยตัวเองจริง ๆ ด้วยความคิดของเราเลยคือม็อบล่าสุด ม็อบของคนรุ่นใหม่เพราะเรารู้สึกว่าประเทศควรมีการเปลี่ยนแปลงได้แล้ว เราอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงภายในประเทศ เราก็เลยศึกษาแล้วก็โอเค ลองไปดู ซึ่งการไปชุมนุมก็คือเราไปแสดงจุดยืนว่าเราอยากเปลี่ยนแปลงประเทศนี้นะ เราอยากจะเปิดรับสิ่งใหม่ ๆ เข้ามานะ ให้คนรู้ว่าเราพร้อมที่จะสู้ตรงนี้ด้วย แต่สุดท้ายการที่จะเปลี่ยนแปลงได้จริง ๆ คือเราต้องลงมาอยู่ในสนามของนักเปลี่ยนแปลง ของการที่จะได้เข้ามาบริหารประเทศ การมาทำพื้นที่ตรงนี้ก็เป็นเหมือนกับจุดเริ่มต้นของเราที่จะมาศึกษาว่า เราจะลงไปเจอกับชุมชนยังไง เราจะไปรับฟังปัญหาจากคนยังไง หน่วยงานรัฐมีหน้าที่อะไร เรามาศึกษาทั้งหมดจากการมาลงพื้นที่ตรงนี้ The People : เข้ามาทำงานด้านการเมืองอย่างเต็มตัวได้ยังไง แคนแคน : เรามีความสนใจด้านการเมืองอยู่แล้ว บวกกับเจอพี่หมอออย-เฉลิมชัย กุลาเลิศที่ตอนแรกเขามาสมัคร ส.ก. (สภากรุงเทพมหานคร) แต่ทางพรรคเห็นว่าคุณสมบัติลองไป ส.ส.ไหม พอเราเจอกับพี่เขา ก็รู้สึกว่า เราอยากมาช่วย อันนี้ก็เป็นใบเบิกทางแรกให้เรามาฝึกฝนตัวเองในสายการเมืองว่าลงชุมชนยังไง ชาวบ้านมีปัญหาอะไร ติดต่อกับหน่วยงานรัฐยังไง ก็มาฝึกจากตรงนี้ในพื้นที่บึงกุ่ม-คันนายาว เขตเลือกตั้งที่ 14 ส่วนการที่เราได้เข้าไปเป็นที่ปรึกษาอนุฯ เนี่ย มันก็เหมือนทางอนุกรรมาธิการเขาติดต่อมาด้วยตัวเองซึ่งส่วนใหญ่แล้วทั้งตัวส.ส. ประธานอนุฯ และคนในอนุฯ ก็เป็นคนพรรคเดียวกัน ก็เลยมีโอกาสได้ทำควบคู่กันไป ทั้งเป็นที่ปรึกษาและลงพื้นที่ค่ะ The People : พออยู่ในพื้นที่ที่มีสปอตไลท์ส่อง เป็นที่สนใจของผู้คนจำนวนมาก พอเปลี่ยนจากบทบาทไอดอลมาสู่งานด้านการเมือง คุณเคยรู้สึกกลัวไหม แคน : เราจะกลัวทำไมถ้าเราอยากให้ประเทศมันดีขึ้น เพราะนี่คือประเทศที่เราอยู่และเกิดมา เติบโตมา แล้วมันผิดด้วยเหรอที่เรามีสิทธิที่เราจะอยากให้มันดีขึ้นก็เลยไม่รู้สึกกลัวอะไร The People : ปัญหาตอนที่ลงพื้นที่จริงเหมือนหรือต่างกับที่คิดไว้มากน้อยแค่ไหน แคน : พอลงพื้นที่มันทำให้เราได้เจอปัญหาใหม่ ๆ ที่เราไม่คิดมาก่อนค่อนข้างเยอะ ก่อนที่เราจะมาทำตรงนี้ก็คือ เราก็คิดเหมือนทั่ว ๆ ไปอารมณ์แบบคนนั้นโกง คนนี้โกง ทำไมทางเท้าไม่ดี แต่พอเรามาลงพื้นที่จริง ๆ เราก็จะมารู้มากขึ้นจริง ๆ ว่าเหตุและผลมันเพราะอะไร อย่างสมมติว่าท่อแตก ฝาท่อไม่ดี การจะหล่อท่ออันใหม่ขึ้นมามันใช้เวลาเป็นเดือน เขตหรือทางหน่วยงานรัฐเขาต้องใช้เวลานานมากกว่าจะทำสเปคท่อออกมา มันก็เลยเกิดความล่าช้าหรือถ้ามันไม่ฉุกเฉินจริง ๆ เขาก็จะไม่ทำเพราะงบประมาณมันอาจจะมาไม่ถึง แต่ถ้าเรายังไม่ได้ลงพื้นที่เป็นแค่คนธรรมดาเราก็จะด่าเลย ทำไมรัฐบาลไม่ทำถนนอย่างงั้นอย่างงี้ The People : คุณมองว่าตัวเองเติบโตขึ้นยังไงบ้าง หลังจากมาทำงานด้านการเมือง แคน : ก็ค่อนข้างเยอะนะคะ จากตอนแรกที่เราก็คิดแบบทำไมคนนั้นไม่เหมือนเรา เราเริ่มเปิดรับและฟังคนมากขึ้น ก่อนมาทำการเมืองเราไปทำค่ายต่างจังหวัด เราอยากให้เด็กในต่างจังหวัดมีอะไรหลาย ๆ อย่างที่เรามี ที่เราได้มา แต่พอเรามาทำการเมืองมันทำให้เราได้ฟังเขามากจริง ๆ ว่าเขาอยากได้หรือเปล่า หรือเขาไม่อยากได้หรือเปล่า หรือเหตุและผลของเขาคืออะไร มันมีการมองได้หลายมิติเกิดขึ้นมาจากการที่มาทำตรงนี้มากกว่าแค่มองมุมเดียว The People : ยังอยากกลับไปทำงานด้านดนตรีอยู่ไหม แคน : เรามองด้านวงการบันเทิง ด้านดนตรีเป็นงานอดิเรก คือมองมานานแล้วด้วยซ้ำ ก่อนจะเข้ามาเป็นไอดอลเราเป็นเด็กกิจกรรมทำค่ายมาก่อน เราเป็นนักพัฒนามาก่อน เอาง่าย ๆ ก็คือชอบเห็นการเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว พอเราเข้ามาเป็นไอดอลเราก็รู้สึกว่ามันสนุกนะ แต่มันยังไม่ใช่สิ่งที่เรามีแพสชันจริง ๆ เหมือนกับการที่มาทำงานลงพื้นที่ ณ ตอนนี้ แต่เราชอบดูดนตรี ชอบดูหนังเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว แล้วก็ตอนเข้า BNK48 วงมันเป็นรูปแบบของการให้กำลังใจคน มันก็ไม่ได้ต่างอะไรจากตัวตนของเราเท่าไรอยู่แล้ว เราก็มองว่า แต่ถ้าเราอยากให้กำลังใจแล้วเราก็อยากเปลี่ยนแปลงด้วยล่ะ มันควรจะเปลี่ยนสนามหรือเปล่า The People : ด้วยความที่งานด้านการเมืองต้องเจอผู้คนหลากหลาย ต้องอาศัยทั้งความรู้และประสบการณ์รอบด้าน คุณคิดว่า ‘ความเป็นเด็ก’ นับเป็นอุปสรรคต่อการทำงานหรือเปล่า แคน : ถ้าเป็นแต่ก่อนจะมองว่าเป็นอุปสรรค ตอนนี้เรากลับมองว่ามันไม่ได้เป็นอุปสรรค มันเป็นเรื่องดีด้วยซ้ำเพราะไฟเราแรงมากค่ะ เพราะความเป็นเด็กของเราคือเราจะทำทุกอย่างด้วยความที่ ทำไมมันต้องเป็นอย่างนั้น ทำไมมันต้องเป็นอย่างงี้ แล้วคนสมัยนี้เขาก็เริ่มเปิดรับเด็กมากขึ้น ส่วนหนึ่งก็เพราะจากการชุมนุมด้วยที่เขาเห็นว่า เด็กรุ่นใหม่เนี่ย มันมีอะไรทำให้ประเทศเปลี่ยนแปลงขึ้นมานะ มันก็เกิดการยอมรับมากขึ้นนะ แต่สุดท้ายแล้วก็เป็นที่การวางตัวของเราและผลงานของเรา มันไม่เกี่ยวว่าอายุเท่าไรหรอกเอาจริง ๆ ถ้าใจคนมันอยากทำงาน คนที่เขาได้รับรู้หรือว่าได้รับการช่วยเหลือจากเรา เขาจะรู้ได้เอง The People : ตอนลงพื้นที่ทำยังไงให้เขาเปิดใจคุยกับเรา แคน : ก็รับฟังเขาก่อน เอาจริง ๆ ทีมเราค่อนข้างรุ่นใหม่ เราก็จะมีการถ่อมตัวค่อนข้างสูง บอกเลยค่ะว่า พวกหนูน่ะมือใหม่นะ สอนพวกหนูหน่อยได้ไหม พวกหนูอยากทำจริง ๆ นะ อะไรอย่างนี้ค่ะ ก็มีการเปิดใจให้เขา ให้เขารับรู้ถึงการเปิดใจของเรา The People : เคยได้ยินคุณให้สัมภาษณ์ว่าปัญหาที่อยากแก้มากที่สุดคือเรื่องการศึกษา ตอนนี้ยังมองแบบนั้นอยู่ไหม แคน : ตอนนี้ก็ยังมองอย่างนั้นอยู่ เพราะเรารู้สึกว่าการศึกษามันคือรากฐานของคนที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศได้ ตอนนี้การศึกษาบางอย่างมันถูกยัดเยียดให้ต้องคิดอย่างงั้น ให้ต้องคิดอย่างงี้ เราอยากให้ในระบบการศึกษาของไทยมีวิชา discussion เกิดขึ้น มีการตั้งคำถามเกิดขึ้น เพื่อที่จะได้เปิดโอกาสให้คนได้ค้นหาตัวเองเร็วกว่านี้ ตอนนี้เด็กจบใหม่หลาย ๆ คน ทำงานไม่ตรงสายเยอะมาก เราเลือกเรียนมหาวิทยาลัยตามความพึงพอใจของผู้ใหญ่ ไม่ใช่ความพึงพอใจของตัวเอง แต่ทำไมเราไม่กลับกันว่าให้เขาสามารถค้นหาตัวเองเจอได้ตั้งแต่เรียนโรงเรียนมัธยมฯ ล่ะ จะได้ไม่เกิดปัญหาจบมาแล้วไม่ตรงสาย The People : ปัญหาด้านการศึกษาที่เห็นหลัก ๆ คือการไม่สอนให้เด็กตั้งคำถาม แคน : ใช่ เราเป็นคนเชื่อใน critical thinking เพราะถ้าเราไปสั่งคนว่า เธอคิดอย่างนี้สิ เขาอาจจะไม่ได้คิดอย่างนั้นจริง ๆ ถ้าเราไปตั้งคำถาม มันจะทำให้เขามองในเรื่อง ๆ เดียวได้มากกว่าแค่หนึ่งมิติ แล้วประเทศเราอาจจะได้บุคลากรมากขึ้นในหลาย ๆ ด้าน ไม่ได้มีแค่ 4 อาชีพหลัก เราอาจจะมีอาชีพอะไรขึ้นมาใหม่ มันส่งผลในทุก ๆ เรื่อง The People : คิดว่าการชุมนุมของคนรุ่นใหม่จะเป็นไปในทิศทางไหน แคน : เนื่องจากประเทศเราเป็นประเทศประชาธิปไตย ทำให้การชุมนุมมันเกิดขึ้นหลากหลายรูปแบบมาก ตอนนี้จุดยืนของแต่ละหน่วยอาจจะไม่เหมือนกัน แต่ทุกคนอยากให้ประเทศดีขึ้นเหมือนกัน เราก็ต้องมารอดูว่า แนวโน้มจำนวนเสียงส่วนมากในอนาคตจะไปในทิศทางไหน แล้วเราเห็นด้วยกับมันหรือเปล่า ถ้าเราเห็นด้วย แล้วเรามีบทบาททางด้านการเมืองแล้ว โอเค เราก็จะลงมาช่วยเปลี่ยนแปลง นั่นก็คือทิศทางของตัวเราแล้วก็ทิศทางที่เรามองต่อการชุมนุมตอนนี้ และเราทำตรงนี้ วันหนึ่งถ้าเราสามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ เรามีอำนาจอยู่ในมือแล้ว เราอยากเป็นคนที่เปิดรับฟัง ฟังประชาชนให้ได้มากที่สุด เพราะนักการเมือง มีหน้าที่คือเป็นตัวแทนของประชาชน เขาก็ต้องรับฟังว่าประชาชนอยากได้อะไร The People : ถ้ามีคนบอกว่า “เลือกตั้งไปทำไม สนใจการเมืองไปทำไม เพราะใครเป็นนักการเมืองก็โกงเหมือนกันหมด” คุณคิดยังไงกับประโยคเหล่านี้ แคน : อืม มันเป็นประโยคที่ไม่ค่อยเป็นจริงเท่าไร มันเป็นการเหมารวม คิดว่าตอนนี้แคนไม่มีอำนาจในการเข้าไปบอกว่าให้เขาคิดยังไงหรือว่าตัวนักการเมืองเองต้องเปลี่ยนแปลงยังไง แต่ถ้าจะให้แฟร์ที่สุด ก็คือพูดออกมาให้ชัดว่าจะเอาเงินอันนี้ไปทำอันนี้ ทำงานทุกอย่างแบบโปร่งใส มีการประสานงานที่ชัดเจน มีหลักฐานที่โชว์ออกมาได้ ทำยังไงก็ได้ไม่ให้เกิดการอภิปรายไม่ไว้วางใจเกิดขึ้น นั่นคือสิ่งที่จะทำให้คนสามารถดึงความเชื่อมั่นของนักการเมืองกลับมาได้ และแคนไม่สามารถบอกให้ทุกคนมาสนใจการเมืองได้ แต่ทุกคนจะมาสนใจการเมือง เมื่อวันหนึ่งมันไปกระทบชีวิตเขาจริง ๆ วันหนึ่งถ้าการเมืองดีแล้วเขาเห็นว่ามันดี เขาก็จะมาสนใจแล้ว ใครทำให้มันดี ถ้าวันหนึ่งการเมืองไม่ดีแล้วไปกระทบชีวิตเขาให้มันไม่ดี เขาก็จะมาดูอีก ใครคือคนที่ไม่ดี จริงไหมคะ The People : แล้วนิยามคำว่า ‘การเมืองดี’ ของคุณเป็นแบบไหน แคน : การเมืองดี ก็คือแฟร์เกม (Fair Game) ณ ตอนนี้สำหรับประเทศเราก็คือการที่เปิดโอกาสให้คนใหม่ ๆ เข้ามาบริหารประเทศ เปิดโอกาสให้มุมมอง สังคมใหม่ ๆ อะไรอย่างนี้ค่ะ การเมืองดีก็คือทุกคนเท่าเทียมกัน ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้เหมือน ๆ กัน ทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกัน ไม่ถูกปิดกั้นหรือถูกผูกขาด นั่นก็คือการเมืองที่ดีสำหรับเรา