28 ม.ค. 2562 | 20:36 น.
คนรุ่นใหม่อาจคุ้นชื่อ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ในภาพอดีตนายตำรวจผู้ผันมาทำงานการเมืองในช่วงครึ่งทศวรรษที่ผ่านมา (พ.ศ. 2555-2562) สถานะล่าสุดคือหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ส่วนวีรกรรมเก่าแก่เมื่อครั้งอาสาลงพื้นที่อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม คือผู้มีบทบาทปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในบรรยากาศที่แทบไม่มีใครกล้าลงพื้นที่ที่ตำรวจ-ทหารถูกซุ่มโจมตี แต่นายตำรวจนาม "เสรีพิศุทธ์" ในวัย 20 ต้นๆ กลับสมัครใจไปปราบปรามคอมมิวนิสต์หลังทราบข่าวตำรวจเสียชีวิตจากเหตุระเบิด อาจเป็นภาพความทรงจำที่เริ่มลางเลือนไปบ้าง หรืออาจไกลตัวเกินหากไม่ได้ลองค้นข้อมูลลงไป ภาพที่หลายคนคุ้นเคยในปัจจุบันน่าจะเป็น "นักการเมือง" ในสไตล์ดุเด็ดเผ็ดร้อน วิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์อย่างดุเดือด นำเสนอแนวทางนโยบาย (โดยคร่าว) ลักษณะเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นยกเลิกเกณฑ์ทหาร (หากได้เป็นนายกฯ) ตั้งตัวเป็นปรปักษ์กับเผด็จการอย่างแข็งกร้าว ผ่านนโยบาย 6 หยุด ที่ส่วนใหญ่ก็เป็นนโยบายมาตรฐานโดยกว้างของพรรคการเมืองที่มักชูเรื่องแก้ความยากจน ปราบยาเสพติด ขจัดทุจริตคอร์รัปชั่น ความไม่สงบชายแดนใต้และความแตกแยกทางการเมือง ไปจนถึงต้านเผด็จการ ซึ่งมีคำที่น่าสนใจพ่วงท้ายมาด้วยว่า "ปฏิรูปทหาร" สิ่งที่ว่ามานี้หลายอย่างดูมีความเป็นไปได้บ้าง บางอย่างมีทรงเป็นไปได้ยาก จนถึงอาจถึงขั้นเป็นไปไม่ได้เลยด้วยซ้ำ หากลองประมวลชีวิตการทำงานของอดีตนายตำรวจผู้สู้รบกับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ มาจนถึงเส้นทางในแวดวงตำรวจที่ดุเดือด นิยามที่อาจพอสะท้อนชีวิตของผู้ชายคนนี้คือ "ทำในสิ่งที่คนอื่นไม่ทำ" (ในที่นี้นำเสนอโดยยกเหตุการณ์ตามวลีว่า "สิ่งที่คนอื่นไม่ทำ" ขณะที่รายละเอียดในมิติเชิงลึกแง่น้ำหนักทางธรรมาภิบาล ความถูกต้องทางศีลธรรม เป็นพื้นที่ให้แต่ละท่านตัดสินกันตามชุดข้อมูล ความเชื่อ ทัศนคติของตัวเอง) ณ นาแก นับตั้งแต่ความคิดไปทำงานในพื้นที่ซึ่งไม่มีใครอยากไป (จากการกล่าวอ้างของเจ้าตัว) ด้วยความคิดว่า ตัวเองไม่มีพันธะทางครอบครัวส่วนตัว แถมมีพี่น้องอีก 6 คน หากเสียชีวิตไปก็มีพี่น้องอีก 5 คนคอยดูแล นายตำรวจหนุ่มในสมัยนั้นจึงสมัครใจลงพื้นที่ จนได้เป็นหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการ มีลูกน้องในสังกัดที่ต้องอบรมสอนงานและพัฒนาเพื่อไปสู่เป้าหมาย ซึ่งสภาพในช่วงเวลานั้นไม่ง่ายเลย ทั้งทำงานหนักก็แล้ว ทุ่มเทก็แล้ว แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ทุกครั้งที่ปะทะก็มักเป็นฝ่ายเสียเปรียบ การปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ และศึกษาฝ่ายตรงข้ามกลายเป็นทางเลือกที่จำเป็นสำหรับการพลิกสถานการณ์เพื่อไปสู่เป้าหมาย และพาชีวิตตัวเองพร้อมลูกน้องกลับไปโดยยังมีลมหายใจอยู่ ตำรวจหนุ่มในสมัยนั้นเปลี่ยนกลยุทธ์ ตั้งแต่เวลาออกปฏิบัติการ แต่เดิมออกเช้าตามเวลางานเหมือนคนปกติทั่วไป เป็นออกตี 3 ช่วงเช้าก็ยังเหลือเจ้าหน้าที่ในฐานเหมือนปกติ ไม่ให้หูตาที่จับจ้องเล็งเห็นความเคลื่อนไหวของเจ้าหน้าที่ เรียกง่ายๆ ว่า กลบเกลื่อนร่องรอยเจ้าหน้าที่ เหมือนกับที่อีกฝ่ายหลบซ่อนเพื่อมาเซอร์ไพรส์กุมความได้เปรียบ จากปากคำและการกล่าวอ้างของนายตำรวจสมัยนั้น ปฏิบัติการได้ผล ทำลายฐานฝ่ายตรงข้าม ยึดอาวุธ กลายเป็นหมวดหมู่ที่มีผลงานโดดเด่น สืบเนื่องมาถึงการสมัครใจไปเป็นสารวัตรโรงพักนาแก หลังแสดงความประสงค์ไม่ถึงครึ่งวัน กรณีนี้คำสั่งแต่งตั้งออกอย่างรวดเร็ว ตำรวจหล่อปืน ค. สิ่งที่คนอื่นไม่ทำ แต่ที่นายตำรวจรายนี้ทำ คือการเสนอปลดตำรวจที่เชื่อว่า "เป็นภัยสังคม" หลายสิบราย จนผู้ใหญ่เป็นเดือดเป็นร้อนกัน "ทั้งประเทศไม่มีใครทำกัน" ตำรวจอยู่กับร่องกับรอย ไม่มีตำรวจขโมยปืนเพื่อนไปขาย (จากคำบอกเล่าของ พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ บอกว่า M16 ไปขายฝั่งลาวในสมัยนั้นกระบอกละ 2 พันบาท) ตำรวจได้รับการฝึกอบรมให้มีความพร้อม มีการช่วยเหลือค่าครองชีพตำรวจด้วยการตั้งร้านค้าสวัสดิการ ขายของราคาถูก ข้าราชการนิยมมาซื้อของ เมื่อได้กำไรก็ไปตั้งกองทุนสวัสดิการตำรวจ อีกส่วนให้ตำรวจกู้ยืม ดอกเบี้ยต่ำ นำไปใช้หนี้ เมื่อบุคลากรไม่มีปัญหารุมเร้า ก็เอาเวลามาทุ่มเทให้การทำงานอย่างเต็มที่ เมื่อบุคลากรพร้อมได้ระดับแล้ว อนิจจายุทโธปกรณ์ตำรวจก็ไม่พร้อมเท่าที่ควร สมัยนั้นมีเฉพาะ "ปืนเล็กกล" และ M79 ไม่มีปืน ค. พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เล่าว่า ต้องผลิตเอง และขอลูกระเบิดจากทหาร ครั้นไปจ้างกลึงกระบอกปืน ช่างก็ถูกจับจนต้องไปชี้แจงกับผู้ใหญ่ว่า เป็นคนจ้างเอง... เรียกได้ว่า ต้องพึ่งตัวเอง (ไปทำสิ่งที่คนอื่นไม่ทำ) หากมองกลับมาในปัจจุบัน ภาพลักษณ์ของตำรวจยุคนี้ ไม่แน่ใจว่ามีกี่คนที่พอจะเรียกว่า "ตงฉิน" แล้วไปเทียบกับฉายา "มือปราบตงฉิน" ของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ก่อนเกษียณได้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ มองว่า เกียรติตำรวจสมัยนี้ตกต่ำลงมาตลอด (จากข่าวก็อาจเห็นได้อยู่) มีทั้งกรณีซื้อ-ขายตำแหน่ง รวบอำนาจรวมศูนย์ แต่งตั้งผิด ๆ ถูก ๆ ซ้ำซ้อนบ้าง เชื่อว่าการทุจริตก็ยังคงมีอยู่ ที่เดือดร้อนไม่ใช่ใคร ผลลัพธ์มาตกที่ประชาชน เมื่อมีวิ่งเต้นเสียทรัพย์แลกมา กรรมวิธีถอนทุนคืนก็คงไม่ต้องพูดถึง เป็นอันรู้กันตามสูตร พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เคยให้สัมภาษณ์เปรียบเทียบกับประวัติตัวเองที่ต่อสู้กับผู้มีอำนาจ แตกต่างจากภาพจำของตำรวจยุคหลังที่มักคิดถึงผู้มีอำนาจ คดีฟ้องร้องต่างๆ เต็มไปหมด (ย้ำอีกครั้งว่า ในที่นี้ไม่ได้ตัดสินเชิงกฎหมาย และศีลธรรม ในแง่ถูกผิด) ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายถูกหรือผิดในมุมมองของใคร แต่การต่อสู้แบบเปิดเผยอย่างไม่เกรงกลัวใครตอกย้ำบุคลิกของตำรวจที่ตรงไปตรงมารายนี้ชัดเจนขึ้น ในเพจเฟซบุ๊กยังมีคลิปวิดีโอ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ วิจารณ์และเสนอแนวทางสไตล์เผ็ดร้อนถึงพริกถึงขิงแทบทุกประเด็นในรอบปีแบบไม่ไว้หน้าใคร หากรวบรวมสถิติความร้อนแรงของกลุ่มการเมืองในโลกออนไลน์ เชื่อว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ติดอันดับต้นในแง่ยอดผู้เข้าชมและกระแสความสนใจได้สบาย หลายประเด็นที่วิจารณ์ในสไตล์ดุเดือดพอจะบอกได้ว่า เป็นอีกหนึ่งตัวตนที่ "คนอื่น (ในยุคนี้)ไม่ค่อยมีใครทำกัน" สนามการเมือง ตั้งแต่ลงสมัครในระดับผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ จนถึงสนามการเมืองระดับชาติใน พ.ศ. 2562 แนวคิดที่น่าสนใจของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ คือ เขายอมรับว่า ภายใต้ระบบการเมืองในไทย "การเลือกตั้ง" มีบางอย่างที่อาจพอตั้งคำถามได้ว่า "ชอบธรรม" หรือไม่ ถึงจะรู้มุมมืดดีตั้งแต่ลงสมัครชิงเก้าอี้ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ สิ่งที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ "ทำในสิ่งที่คนอื่นไม่ทำ" คือ "ถ้าเริ่มยอมแพ้กับสิ่งไม่ถูกต้อง บ้านเมืองก็เสียหาย" ... "ไม่ให้ผมสู้แล้วให้ใครสู้" "กระทำในสิ่งที่คนอื่นไม่ทำ" ในรอบปีที่ผ่านมา อาจมองได้ว่าเป็นช่วง "หาเสียง" นักการเมือง-พรรคการเมือง ไม่ว่าใครก็สามารถพูดอะไรก็ได้ออกมา ประเด็นสำคัญคือ ยังไม่มีใครรู้ว่า "การพูด" (อันเป็นหนึ่งใน "การกระทำ") จะแปรรูปออกมาเป็น "รูปธรรม" ได้มากน้อยแค่ไหน แต่อย่างน้อยฐานอ้างอิงที่ผ่านมาจากการกระทำในประวัติของบุคคลรายนี้ ก็พอจะบอกตัวตนเกี่ยวกับอดีตนายตำรวจสู่สถานะนักการเมืองที่เป็น "สีสัน" อันน่าจับตาในสนามการเมืองครั้งนี้ หรืออาจในอนาคตก็เป็นได้ อ้างอิง https://youtu.be/TzCfSI24YkA https://www.thaipost.net/main/detail/27500 https://plus.google.com/104940654524337311201/posts/5pC7FN4jUEu https://gmlive.com/interview-seripisut-temiyavet-police-pride-political-and-activism-scence เรื่อง : คุณวัฒนะ