09 ก.พ. 2562 | 09:48 น.
ในปี 1973 เมื่อ ฆวน เปรอง (Juan Domingo Perón) อดีตประธานาธิบดีอาร์เจนตินา (ซึ่งถูกวิจารณ์ว่าเป็นเผด็จการประชานิยมแต่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง) เดินทางกลับอาร์เจนตินาหลังลี้ภัยในต่างแดนอยู่นานนับสิบปี เขาได้ประกาศลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง ท่ามกลางความยินดีของผู้ใช้แรงงาน และผู้มีรายได้น้อย อย่างไรก็ดี ฆวน เปรองได้ทำให้สาวกเปรองนิสต์บางส่วนต้องประหลาดใจเมื่อเขาประกาศให้ อิซาเบล เดอ เปรอง (Isabel Martínez de Perón) ภรรยาสาวคนที่ 3 ของเขาเป็นผู้สมัครตำแหน่งรองประธานาธิบดีร่วมทีมกับเขา การที่ ฆวน เปรอง เลือก "ภรรยา" ร่วมทีมลงเลือกตั้งไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเขาก็เคยเลือกให้ เอวา เดอ เปรอง (María Eva Duarte de Perón) หรือ "เอวิตา" ภรรยาคนที่สองลงรับสมัครเลือกตั้งในตำแหน่งรองประธานาธิบดีร่วมกับเขามาก่อนแล้ว ด้วยทั้งคู่ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองมานานและได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงจากชนชั้นแรงงานและผู้มีรายได้น้อย (แต่ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ของฝ่ายตรงข้าม สุดท้ายเอวิตาก็ได้ตัดสินใจถอนตัวเนื่องจากปัญหาสุขภาพก่อนเสียชีวิตลงด้วยโรคมะเร็ง เมื่ออายุได้เพียง 33 ปี) แต่สิ่งที่ทำให้ชาวอาร์เจนตินาต้องแปลกใจก็เพราะ อิซาเบล เดอ เปรอง นั้นมีประสบการณ์ทางการเมืองน้อย ขาดทักษะที่จะเอาตัวรอดในเวทีการเมืองอาร์เจนตินาที่มีการ "แบ่งขั้ว" อย่างรุนแรง อิซาเบล มาร์ติเนซ เดอ เปรอง เกิดเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 1931 (อายุน้อยกว่า ฆวน เปรอง สามีราว 36 ปี) ในครอบครัวชนชั้นกลางระดับล่าง เธอเป็นสาวบ้านนาจากชนบททางตะวันตกเฉียงเหนือประเทศ (La Rioja) ย้ายตามพ่อแม่และพี่ๆ อีกห้าคนมาอยู่เมืองหลวงเมื่ออายุได้ราว 7 ขวบ เรียนจบเพียงชั้นประถม 5 ก็ออกจากโรงเรียนกลางคันแล้วไปเรียนด้านดนตรีและการเต้นรำ เธอเริ่มต้นทำงานเป็นหางเครื่อง (แดนเซอร์) ให้กับวงดนตรีพื้นบ้าน ออกตระเวนแสดงตามไนท์คลับ ระหว่างที่เธอไปออกทัวร์ในกลุ่มประเทศอเมริกากลางช่วงระหว่างปี 1955 และ 1956 พร้อมกับคณะแสดงนั่นเองที่ทำให้เธอได้รู้จักกับ ฆวน เปรอง อดีตประธานาธิบดีอาร์เจนตินาที่เพิ่งถูกยึดอำนาจมาหมาดๆ ทำให้เธอกลายมาเป็นเลขาส่วนตัว และคนสนิทของเปรองขณะลี้ภัยในต่างแดน เปรองพาเธอติดตามไปยังทุกประเทศที่เขาลี้ภัยก่อนไปตั้งหลักอยู่ในยุโรปที่สเปน ที่ที่ทั้งคู่สมรสกันเมื่อปี 1961 แม้เธอจะรับใช้เขาอย่างใกล้ชิดทั้งการตอบเอกสาร จดบันทึกเรื่องราวสำคัญ และดูแลในเรื่องส่วนตัวทั้งขับรถ จัดหาอาหาร แต่เธอก็มิได้ถูกเปิดตัวต่อสาธารณะมากนัก ผู้ที่เดินทางมาเยี่ยมเปรองขณะพำนักอยู่ในสเปนแทบจะไม่รู้จักเธอ จนกระทั่งช่วงปลายทศวรรษ 60 ถึงต้น 70 ที่เปรองส่งภรรยาสาวไปอาร์เจนตินาเพื่อช่วยสมานรอยร้าวระหว่างฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาในขบวนการเปรองนิสม์ (ซึ่งเกิดจากการรวมกลุ่มผลประโยชน์ที่หลากเฉดตั้งแต่นักกิจกรรมแรงงาน ไปจนถึงกลุ่มชาตินิยมต่อต้านยิว) ตอนนั้นรัฐบาลทหารกำลังจะคืนอำนาจให้รัฐบาลพลเรือน แต่แจกใบแดงให้เปรองไม่ยอมให้ลงเลือกตั้ง เปรองจึงต้องหาตัวแทนเป็นนอมินีลงเลือกตั้งแทนซึ่งเขาเลือก เอกเตอร์ กัมโปรา (Héctor José Cámpora) ผู้นำฝ่ายซ้ายของขบวนการเปรองลงเลือกตั้งแทนในปี 1973 กัมโปราได้ชัยชนะมาก็ครองตำแหน่งอยู่เพียงไม่นาน เพราะการที่เขาเข้าสู่อำนาจก็เพียงเพื่อแก้ไขเงื่อนไขทางกฎหมายเพื่อให้เปรองกลับมามีอำนาจโดยตรงอีกครั้ง เมื่อสมวัตถุประสงค์แล้วก็ลาออกและจัดให้มีเลือกตั้งใหม่อีกครั้งในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน นายพลเปรองจึงกลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้งหลังพ้นจากอำนาจไปกว่า 17 ปี โดยมีมาดามเปรอง ภรรยาคนที่สามรับตำแหน่งรองประธานาธิบดีเคียงข้าง เปรองกลับสู่อำนาจพร้อมกับความชรา และปัญหาคาราคาซัง ช่วงที่ยังอยู่หลังม่านเขาแสดงท่าทีใกล้ชิดเป็นมิตรกับฝ่ายซ้ายซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางรุ่นใหม่การศึกษาดี แต่พอขึ้นมามีอำนาจแล้วเขาหันไปเข้าข้างฝ่ายขวาเพื่อถ่วงดุล และควบคุมฝ่ายซ้ายหัวรุนแรงซึ่งไม่ได้ช่วยให้ความแตกแยกของทั้งสองฝ่ายดีขึ้น กลับเป็นการขยายความรุนแรงยิ่งกว่าเดิม ในขณะที่การเมืองภายในกำลังคุกรุ่นร่างกายของเขาก็โรยรา ต้องหยุดพักปฏิบัติหน้าที่เป็นระยะเพื่อรักษาอาการป่วย ให้ภรรยาปฏิบัติหน้าที่แทน ซึ่งเขาก็อยู่ทำหน้าที่ในตำแหน่งได้เพียงไม่ถึงปีก็เสียชีวิตลงในวันที่ 1 กรกฎาคม 1974 อายุ 78 ปี อิซาเบล เดอ เปรอง ภรรยาม่ายของเขาจึงขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีแห่งอาร์เจนตินา ซึ่งถือเป็นผู้หญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้รับตำแหน่งนี้ (The New York Times) เดอ เปรอง ต้องรับตำแหน่งในช่วงเวลาที่วุ่นวายของอาร์เจนตินา แต่การจากไปของผู้นำมากบารมีอย่างกระทันหัน (แม้จะคาดหมายได้) ทำให้หลายฝ่ายร่วมแสดงความอาลัย ยุติความขัดแย้งไว้ชั่วคราวและออกมาให้การหนุนหลังเธอขึ้นสู่อำนาจของเธอ รวมถึงฝ่ายกองทัพที่ออกมาปฏิเสธข่าวลือว่าพวกเขาเตรียมรัฐประหาร อย่างไรก็ดี ช่วงฮันนีมูนของเธอกับกลุ่มการเมืองทั้งหลายจบลงอย่างรวดเร็ว เมื่อไร้สามีเธอก็ไร้บารมีที่จะคอยควบคุมความเคลื่อนไหวของกลุ่มก๊วนการเมืองติดอาวุธต่างๆ ที่ห้ำหั่นกันหนักขึ้น บวกกับปัญหาเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งทะยาน และเธอยังต้องข้อหายักยอกเงินแผ่นดิน กลายเป็นข้ออ้างให้กองทัพออกมายึดอำนาจเพื่อความสงบเรียบร้อยป้องกันการเกิดสงครามกลางเมืองในวันที่ 24 มีนาคม 1976 หรือเพียงไม่ถึงสองปีหลังจากเธอรับตำแหน่งผู้นำสูงสุด พ้นจากอำนาจ เดอ เปรองถูกกักบริเวณนานเป็นเวลา 5 ปี ที่บ้านพักในบัวโนสไอเรส ก่อนถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดฐานทุจริตคอรัปชัน แต่เธอได้รับการประกันตัวชั่วคราวจึงลี้ภัยย้ายมาใช้ชีวิตอยู่ในสเปน และได้เดินทางกลับอาร์เจนตินาเป็นระยะเวลาสั้นๆ ในปี 1984 หลังได้รับอภัยโทษเมื่ออาร์เจนตินากลับมาเป็นประชาธิปไตยอีกครั้ง ซึ่งตอนนั้นมีเสียงเรียกร้องจากกลุ่มเปรองนิสต์บางส่วนที่อยากให้เธอกลับมาเป็นผู้นำ แต่เธอตัดสินใจวางมือทางการเมือง เดอ เปรองกลับมาตกเป็นข่าวอีกครั้งในปี 2007 เมื่อเธอถูกจับในสเปน หลังศาลอาร์เจนตินาออกหมายจับให้ส่งตัวไปพิจารณาคดีละเมิดสิทธิมนุษยชนเกี่ยวพันกับความขัดแย้งภายในซึ่งเรียกกันว่า “Dirty War” จากกรณีที่รัฐบาลเผด็จการทหาร (ที่ยึดอำนาจเธอ) สนับสนุนให้กลุ่มติดอาวุธไปฆ่าปิดปาก อุ้มหายฝ่ายซ้ายหรือคู่แข่งทางการเมืองซึ่งเชื่อกันว่ามีผู้เสียชีวิตและสูญหายจากช่วงเวลาดังกล่าวนับหมื่นราย (The Guardian) ศาลอาร์เจนตินาออกหมายดังกล่าวสืบเนื่องจากกรณีที่เธอออกคำสั่งกองกำลังความมั่นคงให้ปราบปราม “ผู้ที่วางแผนบ่อนทำลาย” รวมถึงการหายตัวไปของ เอกตอร์ อัลโด ฟาเกตติ กัลเยโก (Héctor Aldo Fagetti Gallego) นักเคลื่อนไหวทางการเมืองช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 1976 หรือราวหนึ่งเดือนก่อนเธอถูกยึดอำนาจ การที่เธอมีชื่อไปพัวพันกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนครั้งร้ายแรงในคราวนั้นเนื่องจากเธอมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ โฆเซ โลเปซ เรกา (José López Rega) ผู้นำกลุ่มพันธมิตรต่อต้านคอมมิวนิสต์แห่งอาร์เจนตินา (Argentina Anticommunist Alliance, Tripple A) กลุ่มติดอาวุธขวาจัด ด้วยทั้งคู่มาความสนใจในเรื่องไสยศาสตร์ลี้ลับคล้ายๆ กัน (พูดง่าย ๆ ว่า ยุทธการขวาพิฆาตซ้ายเริ่มมาตั้งแต่ยุคของเธอสืบเนื่องไปถึงยุครัฐบาลทหารที่ยึดอำนาจต่อมา) อย่างไรก็ดี ศาลสเปนได้ปฏิเสธคำขอของอาร์เจนตินาโดยให้ความเห็นว่า ข้อกล่าวหาต่อตัวเธอนั้นยังไม่เข้าลักษณะเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และช่วงเวลาที่เกิดเหตุก็ผ่านพ้นมากว่า 30 ปี จึงขาดอายุความไปก่อนแล้ว (Britannica)