24 มิ.ย. 2564 | 11:34 น.
24 มิถุนายน 2475 เป็นวันที่ประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งมีพระมหากษัตริย์เป็นผู้มีพระราชอำนาจมาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และสำหรับสตรีท่านหนึ่ง วันนี้นับเป็นวันที่เปลี่ยนแปลงชีวิตเธอไปตลอดกาล นี่คือเรื่องราวของ ‘ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์’ สตรีผู้อยู่เคียงข้างอภิวัฒน์ รัฐบุรุษปรีดี พนมยงค์ บทแรกของชีวิต ท่านผู้หญิงพูนศุข มีชื่อเดิมว่า พูนศุข ณ ป้อมเพชร์ เป็นบุตรคนที่ 3 ของ พระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา (ขำ ณ ป้อมเพชร์) และคุณหญิงเพ็ง (สุวรรณศร) ณ ป้อมเพชร์ เมื่ออายุ 6 ขวบได้เริ่มต้นเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ จนอายุ 17 ปี ท่านผู้หญิงพูนศุขที่ศึกษาอยู่ในระดับ Standard 7 ได้ลาออกจากโรงเรียนเพื่อมาสมรสกับนายปรีดี พนมยงค์ ที่เพิ่งได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็น ‘หลวงประดิษฐ์มนูธรรม’ ได้เพียงหนึ่งสัปดาห์ นายปรีดีได้ขอหมั้นคุณหญิงพูนศุขก่อนแต่งงานประมาณ 6 เดือน ทั้งคู่ใช้ชีวิตเหมือนคู่รักทั่วไป มีโอกาสไปชมภาพยนตร์ ละคร และสังสรรค์ตามโอกาส จนท่านผู้หญิงพูนศุขมั่นใจว่าผู้ชายคนนี้จะสามารถเป็นผู้นำชีวิตของเธอได้ และหลังจากการแต่งงาน 3 ปี ท่านผู้หญิงพูนศุขและนายปรีดี ก็ได้มีบุตร 2 คน นามว่า ลลิตาและปาล จุดเปลี่ยนของชีวิต คืนวันที่ 23 มิถุนายน 2475 ‘ปาล’ บุตรชายคนโตของท่านผู้หญิงพูนศุขร้องไห้ทั้งคืนโดยไม่มีสาเหตุ กอปรกับเมื่อตอนเย็นเพิ่งไปส่งนายปรีดีขึ้นรถไฟที่สถานีรถไฟหัวลำโพง โดยบอกว่าขอไปลาบวชพ่อและแม่ที่อยุธยา จนรุ่งเช้าในวันที่ 24 มิถุนายน ท่านผู้หญิงพูนศุขกำลังถ่ายภาพปาล ในโอกาสที่มีอายุครบ 6 เดือนตามปกติ ในขณะที่กำลังถ่ายนั้นพระยายมราชได้เข้ามาแจ้งข่าวว่า มีเหตุการณ์ผิดปกติเกิดขึ้น และทูลกระหม่อมชาย (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต) ถูกจับตัวไป ในเวลานั้นยังไม่มีใครทราบว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะท่านผู้หญิงอาศัยอยู่ที่สีลม แต่เหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นแถวบางขุนพรหม ต่อมาจึงทราบว่ามีคณะก่อการที่เรียกตัวเองว่า ‘คณะราษฎร’ ได้ประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ซึ่งมีพระมหากษัตริย์เป็นผู้มีพระราชอำนาจมาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยหัวหน้าคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ คือ พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ร่วมกับกองทัพบก ทหารเรือ และพลเรือน รวมกว่า 100 คนเข้ายึดพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร โดยในเวลานั้นยังไม่มีใครทราบว่านายปรีดีได้ร่วมก่อการครั้งนี้ด้วย จนเมื่อเวลาประมาณ 5 ทุ่ม ทุกคนในบ้านของท่านผู้หญิงพูนศุขจึงทราบว่านายปรีดีเข้าร่วมก่อการครั้งนี้ เพราะได้ส่งให้คนมารับเครื่องแต่งตัวเพื่อจะไปประชุมเสนาบดี และขออาหารไปรับประทานด้วย เมื่อทราบเรื่อง ท่านผู้หญิงพูนศุขเต็มไปด้วยความวิตกกังวลและเป็นห่วงเรื่องที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความปลอดภัย ความถูกต้องเหมาะสมของนายปรีดีและคณะราษฎรที่ได้ทำลงไป รวมถึงอนาคตของบ้านเมืองว่าจะดำเนินต่อไปอย่างไรอีกด้วย กระทั่งในวันที่ 3 กรกฎาคม นายปรีดีได้ส่งจดหมายขอโทษท่านผู้หญิงพูนศุขที่ตนไม่ได้บอกความจริง เพราะมองว่าท่านผู้หญิงอายุยังน้อย กลัวว่าจะรักษาความลับไม่ได้ อีกทั้งที่บ้านของท่านผู้หญิงก็คุ้นเคยกับเจ้านาย หากบอกไปแผนการของคณะราษฎรอาจไม่สำเร็จ หลังจากนั้นจึงมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามฉบับแรกขึ้น และเกิดรัฐบาลภายใต้การนำของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ซึ่งนายปรีดีได้รับมอบหมายให้ร่างเค้าโครงเศรษฐกิจแห่งชาติ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘สมุดปกเหลือง’ เค้าโครงเศรษฐกิจที่นายปรีดีร่างขึ้นกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงว่าเป็นแนวทางคอมมิวนิสต์ นายปรีดีจึงถูกบีบให้เดินทางออกนอกประเทศ ซึ่งการเดินทางในครั้งนี้ ท่านผู้หญิงพูนศุขได้ติดตามไปด้วย และจำต้องทิ้งลูก 2 คนไว้กับมารดาของท่าน เพราะการเดินทางครั้งนี้ไม่สามารถคาดการณ์ได้เลยว่าจะได้กลับมาประเทศไทยอีกหรือไม่ การใช้ชีวิต 5 เดือนเศษในกรุงปารีส แม้จะมีโอกาสได้พบปะกับผู้คนมากหน้าหลายตา แต่ก็ไม่อาจลดความคิดถึงลูกและครอบครัวของท่านผู้หญิงได้เลย ท่านผู้หญิงจึงฝึกพิมพ์จนคล่องเพื่อจะส่งจดหมายกลับมายังประเทศไทย แต่ก็เป็นไปอย่างล่าช้า การได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีหลังจากการรัฐประหารของพระยาพหลพลพยุหเสนา ทำให้ท่านผู้หญิงพูนศุขและนายปรีดีสามารถเดินทางกลับประเทศไทยได้ ซึ่งในขณะนั้นท่านผู้หญิงกำลังตั้งท้องสุดา บุตรคนที่ 3 สงครามโลกครั้งที่ 2 ต่อมาในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 นายปรีดีและคณะได้ก่อตั้งองค์กรต่อต้านญี่ปุ่นหรือที่รู้จักกันในนาม ‘เสรีไทย’ ขึ้น ส่วนท่านผู้หญิงพูนศุขมีหน้าที่รับฟังข่าววิทยุจากสถานีต่างประเทศเพื่อติดตามความเคลื่อนไหวของฝ่ายสัมพันธมิตร (อังกฤษ ฝรั่งเศส และรัสเซีย) เพราะท่านผู้หญิงมีความสามารถด้านภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศสเป็นอย่างดี ในบางครั้งยังช่วยถอดรหัสและคัดลอกด้วยลายมือแทนการพิมพ์ดีดเพื่อติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตรอีกด้วย ท่านผู้หญิงพูนศุขจึงถือว่าเป็นบุคคลสำคัญในขบวนการเสรีไทยในฐานะผู้ช่วยคนของสำคัญของ ‘รูธ’ (รหัสลับของนายปรีดี) ตลอดช่วงสงคราม มรสุมชีวิต หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง ภาวะข้าวยากหมากแพงและความพยายามของฝ่ายอำนาจนิยมที่รวมตัวกันเพื่อกำจัดนายปรีดียังดำรงอยู่ ทำให้นายปรีดีที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 3 ตัดสินใจลาออก จนกระทั่งกลางดึกของวันที่ 7 พฤศจิกายน 2490 ขณะที่ท่านผู้หญิงพูนศุขนอนหลับไปเพราะพิษไข้ กลับต้องตื่นขึ้นมาด้วยความตกใจ เพราะแสงสว่างจากไฟของรถถัง และเสียงปืนที่กระหน่ำยิงเข้ามาในบ้าน ท่านผู้หญิงและลูก ๆ จึงต้องหมอบลงไปกับพื้นเพื่อหลบกระสุน “ที่นี่มีแต่เด็กกับผู้หญิง…อย่ายิง…!” แล้วเสียงปืนก็หยุดลง พร้อมกับกลุ่มทหารที่บุกเข้ามาพร้อมพูดว่า “ที่มานี่ เราจะมาเปลี่ยนรัฐบาล” “ทำไมมาเปลี่ยนที่นี่ ทำไมไม่ไปเปลี่ยนกันที่สภาเล่า” ท่านผู้หญิงย้อนถาม กลุ่มทหารได้เดินเข้ามาค้นในบ้าน เมื่อพบว่าไม่มีนายปรีดีเลยพากันกลับ ซึ่งทราบภายหลังว่านายปรีดีได้รับการช่วยเหลือจากเพื่อน ๆ ก่อนจะเดินทางออกนอกประเทศเพื่อลี้ภัยทางการเมือง และในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2492 นายปรีดีก็ลอบเดินทางกลับเข้ามาในประเทศอีกครั้ง เพื่อที่จะใช้กำลังล้มรัฐบาลและวางแผนเข้ายึดพระบรมมหาราชวังเป็นกองบัญชาการ แต่แผนการครั้งนี้ไม่สำเร็จ โชคดีที่นายปรีดีสามารถหลบหนีออกมาได้ทัน ส่วนท่านผู้หญิงพูนศุขต้องใช้เวลากว่า 5 เดือนเพื่อติดต่อหาทางดำเนินการให้นายปรีดีพร้อมผู้ติดตามสามารถออกนอกประเทศให้สำเร็จ ซึ่งการดำเนินการครั้งนี้ท่านผู้หญิงต้องเอาชีวิตตนเองเป็นเดิมพัน จนสุดท้ายนายปรีดีก็สามารถเดินทางออกนอกประเทศได้ด้วยความพยายามของท่านผู้หญิง วันเวลาผันผ่าน ในเดือนพฤศจิกายน ปี พ.ศ. 2495 ระหว่างที่ปาล ลูกชายคนโตซึ่งถูกเกณฑ์ทหารไป ได้ลาป่วยกลับมาพักผ่อนอยู่ที่บ้าน ทันใดนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มาล้อมบ้านและจับปาลไปขังที่สถานีตำรวจ หัวใจคนเป็นแม่ถึงแม้จะเจ็บปวดแค่ไหนก็ต้องเข้มแข็งไว้เพื่อที่จะต่อสู้เพื่อลูก หาก 2 วันต่อมาในระหว่างที่ท่านผู้หญิงพูนศุขกำลังเป็นเถ้าแก่ในงานแต่งงานงานหนึ่ง ตำรวจได้บุกเข้ามาจับตัวท่านผู้หญิง ในขณะนั้นดุษฎีและวาณี ลูกสาวคนเล็กกำลังเรียนหนังสืออยู่ ท่านผู้หญิงจึงตัดสินใจพาทั้งสองไปนอนที่สันติบาลด้วย หลังจากท่านผู้หญิงพูนศุขถูกคุมตัวอยู่เป็นเวลากว่า 84 วัน ศาลพิจารณาว่าไม่สามารถฟ้องข้อหากบฏได้ ท่านผู้หญิงจึงตัดสินใจเดินทางออกนอกประเทศอีกครั้ง โดยจำต้องทิ้งลูก 3 คนเอาไว้กับแม่ แล้วพาดุษฎีกับวาณีเดินทางไปด้วย ท่านผู้หญิงพูนศุขตัดสินใจเลือกเดินทางไปยังประเทศฝรั่งเศส จนวันหนึ่งท่านผู้หญิงได้รับจดหมายจากประเทศโรมาเนีย ซึ่งเป็นจดหมายจากนายปรีดี ที่กำลังลี้ภัยอยู่ที่กรุงปักกิ่ง หลังจากนั้นท่านผู้หญิงจึงตัดสินใจเดินทางไปพำนักกับนายปรีดี หลังจากทั้งคู่ต้องแยกจากกันมานาน เรื่องราวของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ แสดงให้เห็นว่าท่านไม่ได้มีเพียงแค่บทบาทในฐานะภริยาของรัฐบุรุษปรีดี พนมยงค์เท่านั้น แต่เรื่องราวของท่านแสดงให้เห็นถึง ‘สตรีผู้แข็งแกร่ง’ ที่นำตัวเองและครอบครัวให้ข้ามผ่านความผันผวนทางการเมืองมาได้อย่างน่าภาคภูมิใจ เรื่อง: สรายุทธ ปลิวปลอด (The People Junior) ที่มา: หนังสือ หลากหลายบทบาทชีวิต ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์. หนังสือ ท่านผู้หญิงพูนศุข คู่ชีวิตผู้อภิวัฒน์ประชาธิปไตย