26 เม.ย. 2565 | 12:13 น.
ความสูญเสียต่อชีวิตที่ปรากฏขึ้นในหลายพื้นที่ของยูเครนเป็นเรื่องน่าสลดหดหู่ ไม่ว่าที่มาของการบุกของรัสเซียจะมาจากเหตุผลใดก็ตาม พลเรือนจำนวนเป็นผู้รับเคราะห์กรรมอันมาจากความขัดแย้งระหว่างประเทศหรือเชื่อมโยงไปถึงเรื่องโครงสร้างอำนาจของแต่ละขั้ว นับตั้งแต่รัสเซียเปิดฉากปฏิบัติการทางการทหารในดินแดนของยูเครนแบบเปิดเผยเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ เวลาผ่านมาเกินกว่า 6 สัปดาห์แล้ว แม้รัสเซียจะยึดเมืองท่าสำคัญของยูเครนได้ แต่เมื่อพูดถึงการเข้ายึดกรุงเคียฟ ทัพรัสเซียกลับเผชิญการต่อต้านเกินกว่าที่คาดคิดไว้ จนถึงวันนี้ กองทัพรัสเซียไม่สามารถเข้ายึดครองเมืองหลวงของยูเครน และปรับกำลังไปเสริมการรบจุดอื่นแทน กรุงเคียฟในวันนี้ยังคงอยู่ในการดูแลของรัฐบาลยูเครน บทบาทของโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี (Volodymyr Zelenskiy) ประธานาธิบดียูเครนซึ่งเคยเป็นนักแสดงตลกมาก่อนได้รับคำชื่นชมจากโลกตะวันตกเมื่อเขาปฏิเสธทางเลือกหลบเลี่ยงออกจากเมืองหลวง และปักหลักปกป้องแผ่นดินของเขาจนถึงที่สุด ภาพของเซเลนสกี ในภาคสนามจนถึงการปรากฏตัวผ่านวิดีโอคอลในงานต่าง ๆ เป็นภาพคุ้นตาของคนทั่วโลกไปแล้ว ขณะที่เซเลนสกี คอยบัญชาการภาพรวม ในเมืองเคียฟมีผู้ดูแลประจำอยู่ ภาพในเมืองหลวงของยูเครนมักปรากฏชายร่างยักษ์เดินออกจากรถ SUV คอยกันประชาชนออกจากพื้นที่ซึ่งตกอยู่ในการโจมตีของรัสเซีย เขาคือวิตาลี คลิทช์โก (Vitali Klitschko) นายกเทศมนตรีกรุงเคียฟในห้วงสงครามยุคใหม่ที่จะจารึกลงอีกหน้าประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ หากย้อนเวลากลับไปก่อนหน้าการโจมตีของรัสเซียราว 10 ปี คลิทช์โก ยังคงเคลื่อนไหวต่อสู้ไม่ต่างจากวันนี้ เพียงแต่พื้นที่ซึ่งเขายืนหยัดกันฟันสู้กลับเป็นสังเวียนผ้าใบในอารีน่า ไม่ใช่สมรภูมิรบกันด้วยกระสุนจริง วิตาลี คลิทช์โก้ ยังเป็นนักมวยแชมป์โลกรุ่นเฮฟวี่เวตซึ่งโดดเด่นที่สุดในยุคอยู่ วิตาลี คลิทช์โก เกิดในค.ศ. 1971 บิดาของเขาเป็นนักบินกองทัพอากาศยุคสหภาพโซเวียต วิตาลี และน้องชายชื่อวลาดิเมียร์ (Wladimir Klitschko) ชกมวยตั้งแต่เด็กวัยทีน เริ่มต้นจากคิกบ็อกซิง (kickboxing) วิตาลี เคยเกือบได้ไปชกในโอลิมปิก 1996 แต่มาโดนตรวจโด๊ปพบสารเสตียรอยด์จนพ้นจากทีม กลับเป็นคนน้องที่ไปถึงฝั่งในระดับโอลิมปิก วลาดิเมียร์ ได้เหรียญทองรุ่นซูเปอร์เฮฟวี่เวตที่แอตแลนตา ปี 1996 วิตาลี เริ่มชกมวยสากลอาชีพในปี 1996 เกือบ 2 ทศวรรษในเส้นทางนักมวยสากลอาชีพจนถึงปี 2012 คลิทช์โก ชก 47 ไฟต์ ชนะ 45 มีเพียงเลนน็อกซ์ ลูอิส (Lennox Lewis) และคริส เบิร์ด (Chris Byrd) เพียง 2 คนเท่านั้นที่ทำให้วิตาลี คลิทช์โก มีสถิติแพ้ 2 ไฟต์ตลอดอาชีพนักมวยสากลอาชีพร่วม 17 ปี (ซึ่งแพ้เชิงเทคนิคตามกติกาเนื่องจากวิตาลี มีอาการบาดเจ็บหรือมีแผลระหว่างไฟต์ทั้ง 2 ครั้ง) นอกจากชื่อของวิตาลี แล้ว วงการหมัดมวยคุ้นเคยกับน้องชายของวิตาลี คือวลาดิเมียร์ คลิทช์โก ในบรรดามวยรุ่นใหญ่พิกัดเฮฟวี่เวต ตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา แฟนกีฬาเรียกขานมวยรุ่นนี้ว่าเป็นยุคของพี่น้องคลิทช์โก อย่างแท้จริง วิตาลี กวาดแชมป์โลกรุ่นเฮฟวี่เวตสถาบันหลักของโลกมาครองอย่างยาวนาน ขึ้นชกป้องกันตำแหน่งแชมป์โลกไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง ตอนที่ประกาศแขวนนวม(เป็นครั้งสุดท้าย)เมื่อปี 2013 วิตาลี ยังครองแชมป์โลกสถาบัน WBC ในวัย 42 ปี ขณะที่วลาดิเมียร์ ก็ประสบความสำเร็จไม่แพ้กัน (แม้ช่วงหลังจะแพ้ติดต่อกัน) ฟากนักชกคนพี่ วิตาลี คลิทช์โก ได้รับฉายาว่า “ดร.กำปั้นเหล็ก” (Dr. Ironfist) จากความสำเร็จทางการศึกษาดีกรีปริญญาเอก สาขาวิทยาศาสตร์การกีฬา ซึ่งมาควบคู่กับผลงานในสังเวียนกำปั้น ส่วนวลาดิเมียร์ ที่ชกรุ่นเฮฟวี่เวตเช่นกัน ได้ฉายา “ดร.ค้อนเหล็ก” (Dr. Steelhammer) เชื่อว่าคนทั่วไปน่าจะสงสัยว่า พี่น้องคู่นี้เคยตัดสินว่าใครเหนือกว่าใครหรือไม่ คำตอบคือ ไม่มีใครรู้ เพราะทั้งคู่สัญญากับแม่ไว้ว่าจะไม่ขึ้นชกกันเอง และพี่น้องคลิทช์โก รักษาสัญญาจนถึงวันอำลาสังเวียน ขณะที่โลดแล่นบนเวที วิตาลี เริ่มเข้าสู่แวดวงการเมืองราวช่วงปี 2004-06 ทั้งที่เดิมทีแล้ว พี่น้องคลิทช์โก เป็นที่รู้จักว่าพวกเขาเข้าข่ายนักกีฬาซึ่งไม่ค่อยถนัดด้านการพูด แม้แต่คนที่เป็นแฟนมวยซึ่งเชียร์คลิทช์โก ยังรู้ว่าเขาพูดติดขัด บางครั้งพูดได้ไม่จบประโยค ความผิดพลาดด้านวาจาของคลิทช์โก ยังกลายเป็นมีมล้อเลียนอยู่บ่อยครั้ง ปี 2004 ในยูเครนเกิดเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองที่เรียกกันภายหลังว่าการปฏิวัติสีส้ม (Orange Revolution) ซึ่งส่วนหนึ่งมีจุดเริ่มมาจากการแข่งขันในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 2004 วิกเตอร์ ยุชเชนโก (Viktor Yushchenko) นิยมตะวันตก ส่วนวิกเตอร์ ยานูโควิช (Viktor Yanukovych) นิยมรัสเซีย พี่น้องคลิทช์โก ประกาศสนับสนุนฝั่งยุชเชนโก และเคยได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาเมื่อปี 2005 กว่าที่วิตาลี จะขยับเส้นทางจนมาสัมผัสตำแหน่งนายกเทศมนตรีกรุงเคียฟ เขาล้มเหลวในแคมเปญเลือกตั้งนายกเทศมนตรีเมืองเคียฟมา 2 ครั้ง กระทั่งปี 2010 วิตาลี ก่อตั้งและเป็นผู้นำพรรคการเมืองชื่อ Ukrainian Democratic Alliance for Reform (UDAR) ภายใต้การนำของคลิทช์โก พรรค UDAR ทำผลงานได้น่าพอใจในการเลือกตั้งสภาปี 2012 ได้ที่นั่งในสภา 40 ที่นั่ง เมื่อเริ่มตั้งหลักได้ วิตาลี สละตำแหน่งแชมป์โลก WBC ในปี 2013 หันมามุ่งมั่นกับงานการเมืองเต็มสูบ ช่วงที่เกิดความวุ่นวายจากการเคลื่อนไหวทางการเมือง ประชาชนเคลื่อนไหวคัดค้านการตัดสินใจของวิกเตอร์ ยานูโควิช ที่ปฏิเสธข้อตกลงกับสหภาพยุโรป และไปฝักใฝ่รัสเซียแทน วิตาลี คลิทช์โก มีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวครั้งนี้ด้วย วิตาลี มีส่วนช่วยเจรจาให้รัฐบาลลดระดับความรุนแรงในการปฏิบัติต่อกลุ่มผู้ชุมนุม กระทั่งในต้นปี 2014 แรงสนับสนุนฝั่งยานูโควิช ล้มลง ตัวยานูโควิช ลี้ภัยจากยูเครนไปรัสเซียในเดือนมีนาคมปีเดียวกัน ภายหลังการจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวเพื่อขัดตาทัพขณะจัดการเลือกตั้ง วิตาลี ประกาศอาสาลงสมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีเป็นรายแรก ๆ ต่อมากลับเปลี่ยนใจและไปหนุนหลังผู้สมัครอีกรายคือเปโตร โปโรเชนโก (Petro Poroshenko) แล้วประกาศลงชิงตำแหน่งนายกเทศมนตรีกรุงเคียฟเป็นครั้ง ที่ 3 ซึ่งเป็นครั้งที่ประสบความสำเร็จ ได้รับเลือกตั้งและเข้าสาบานตนรับตำแหน่งช่วงกลางปี 2014 ส่วนโปโรเชนโก ชนะเลือกตั้ง ได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดี เดือนพฤศจิกายน ปี 2014 วิตาลี ลาออกจากตำแหน่งในสภาของยูเครน หลังจากนั้นราว 9 เดือนก็นำพรรคตัวเองผนวกเข้าร่วมกับกลุ่มของเปโตร โปโรเชนโก (Petro Poroshenko) กลายเป็นพรรคใหม่เรียกว่า Petro Poroshenko Bloc “Solidarity” ซึ่งวิตาลี ขึ้นนั่งเป็นหัวหน้าพรรค และชนะเลือกตั้งนายกเทศมนตรีกรุงเคียฟอีกครั้งในปี 2015 คลิทช์โก บริหารงานกรุงเคียฟมานับตั้งแต่นั้น ส่วนโปโรเชนโก แพ้เลือกตั้ง เสียตำแหน่งผู้นำยูเครนให้แก่เซเลนสกี คนหน้าใหม่ทางการเมืองในปี 2019 ในยุคของเซเลนสกี ดูเหมือนว่าคลิทช์โก จะทำงานกับผู้นำคนใหม่ไม่ราบรื่นนัก ปะทะความคิดเห็นกันบ่อยครั้ง อย่างไรก็ตาม สถานะไม่ลงรอยกันระหว่างคลิทช์โก กับเซเลนสกี จางหายไปเมื่อมาถึงต้นปี 2022 พวกเขาล้วนโดนรัสเซียบุกโจมตี คลิทช์โก น่าจะเป็นอีกหนึ่งคนที่ไม่คิดว่ารัสเซียจะบุกโจมตียูเครน แต่แล้วเรื่องนี้กลับเกิดขึ้นจริงจนคลิทช์โก ไปจนถึงผู้นำยูเครนต้องร่วมลุกขึ้นสู้ในไฟต์สำคัญที่คราวนี้ไม่เพียงเดิมพันด้วยชีวิตของเขาเอง กลับเกี่ยวข้องกับชีวิตของประชาชนคนรอบข้างจำนวนมหาศาล วิตาลี ประกาศตั้งแต่ต้นว่าเขาและวลาดิเมียร์ น้องชายจะจับอาวุธเข้าต่อสู้ ปกป้องเคียฟจากรัสเซีย เป็นอีกครั้งที่พี่น้องคลิทช์โก ทำตามคำกล่าวของพวกเขาจริง แม้จะไม่ได้เตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์นี้ ยามที่รัสเซียบุกเข้ามาจริง พี่น้องคลิทช์โก ร่วมกับเจ้าหน้าที่อื่น ๆ ทำสิ่งที่ตัวเองทำได้ ยืนหยัดปกป้องประเทศของตัวเองเคียงบ่าเคียงไหล่กับพี่น้องร่วมชาติ ใบหน้าของวิตาลี คลิทช์โก มักปรากฏในภาพถ่ายต่าง ๆ ในเมืองเคียฟขณะเกิดสงครามกับรัสเซีย หลายเดือนที่ผ่านมานี้ คลิทช์โก มองเห็นสภาพเมืองเคียฟถูกโจมตีเสียหาย เสียงไซเรนดังทั่วเมืองหลายครั้งในแต่ละวัน ประชาชนบาดเจ็บล้มตาย ถึงจะเสียหาย แต่เวลาผ่านไปนานวันเข้า กองทัพรัสเซียยังไม่สามารถเคลื่อนพลมายึดกรุงเคียฟ สิ่งที่เกิดขึ้นมาจากเหตุผลหลายปัจจัย นักวิเคราะห์มองว่าส่วนหนึ่งมาจากรัสเซียเผชิญการต่อต้านอย่างแข็งขันเกินคาด และต้องยกเครดิตให้กับพลเมืองและทหารยูเครนที่ร่วมใจกันทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้เพื่อรักษาดินแดนและบ้านของตนเองเอาไว้ แม้แต่ประชาชนเมืองเคียฟที่เคยไม่ชอบหน้าคลิทช์โก ตั้งแต่ก่อนเกิดสงคราม เมื่อได้เห็นวิตาลี ปักหลักในเคียฟ ขณะที่วลาดิเมียร์ เดินทางไปเยอรมนี ประเทศที่พี่น้องคลิทช์โก มีสัมพันธ์ที่ดีจากที่พวกเขาอาศัยในเยอรมนีนานหลายปีเพื่อกระตุ้นขอความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมและทางการทหารมากกว่าเดิม คนเหล่านี้ให้สัมภาษณ์กับสื่อตะวันตกว่าความรู้สึกที่มีต่อคลิทช์โก เปลี่ยนแปลงไปในทางบวก ถึงรัสเซียจะไม่ประสบความสำเร็จในการรุกและปิดล้อมเพื่อยึดเมืองเคียฟจนเริ่มปรับกลยุทธ์ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนเมษายน วิตาลี ยังมองว่า มีความเป็นไปได้ที่รัสเซียจะกลับมาพยายามยึดเคียฟอยู่เสมอ ที่น่ากังวลอีกอย่างคือ รอบเมืองยังมีทุ่นระเบิดหลงเหลืออยู่ วิตาลี เผยว่า แต่ละวันปรากฏผู้เคราะห์ร้ายที่ประสบอุบัติเหตุจากทุ่นระเบิดที่ถูกทิ้งไว้ ไม่ว่าผลสุดท้ายจะลงเอยอย่างไร ในวันนี้ประวัติศาสตร์จารึกไว้ว่า ยูเครนมียอดนักมวยรุ่นใหญ่แห่งยุค และมีนักการเมือง มีนักบริหารใฝ่รู้ นิยมการศึกษา มาสู่ผู้นำนักรบแห่งเคียฟเสมือนเป็นปราการขนาดใหญ๋ยักษ์ซึ่งลุกขึ้นมาสู้ในไฟต์ที่เดิมพันด้วยชีวิตพี่น้องเพื่อนร่วมชาติและอนาคตของคนรุ่นต่อไป อ้างอิง : https://www.britannica.com/biography/Vitali-Klitschko https://www.bbc.com/news/world-europe-60949791 https://www.euronews.com/.../kyiv-s-vitali-klitschko-won... https://www.washingtonpost.com/.../10/ukraine-kyiv-mayor-war https://prachatai.com/journal/2014/02/51910