หากกล่าวถึง ‘Old soldiers never die’ เมืองไทย ชื่อของนายทหารที่คนไทยจะพูดถึงเป็นชื่อแรก ๆ คือ ‘ป๋าเปรม’ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตผู้บัญชาการทหารบก ภูมิลำเนาเดิมของ พล.อ.เปรม เป็นชาว ต.บ่อยาง อ.เมือง จ.สงขลา เกิดเมื่อ 26 สิงหาคม ปี 2463 ในครอบครัวของรองอำมาตย์โทหลวงวินิจทัณฑกรรม (บึ้ง ติณสูลานนท์) ต้นตระกูลติณสูลานนท์ กับนางวินิจทัณฑกรรม (ออด ติณสูลานนท์) มีพี่น้อง 8 คน พล.อ.เปรม ในวัยเด็กศึกษาชั้นมัธยมต้นที่โรงเรียนมหาวชิราวุธ ก่อนเข้าศึกษาต่อที่ ร.ร.สวนกุหลาบวิทยาลัย ในปี 2480 และมาสอบเข้าโรงเรียนเทคนิคทหารบก รุ่นที่ 5 (โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าในปัจจุบัน) แม้มีความตั้งใจจะเลือกเหล่าทหารปืนใหญ่ตามความนิยมในยุคนั้น แต่สุดท้ายต้องมาลงที่เหล่าทหารม้าแทน พล.อ.เปรม เติบโตในรั้วทหารม้าจนได้ขึ้นเป็น ผบ.ศูนย์การทหารม้า เป็นจุดเริ่มต้นของคำว่า ‘ป๋า’ เพราะ พล.อ.เปรม นิยมเรียกผู้ใต้บังคับบัญชาว่า ‘ลูก’ จึงเป็นที่มาของคำว่า ‘ป๋าเปรม’ และ ‘ลูกป๋า’ นั่นเอง เส้นทางของ พล.อ.เปรม ระหว่างปี 2523-2531 คือบทบาทนายกฯ 3 สมัย ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ ยุคที่คอมมิวนิสต์ถือว่าเป็นภัยคุกคาม มีการต่อสู้กับภัยคอมมิวนิสต์ยุคสงครามเย็น เป็นที่มาของคำสั่ง 66/2523 ในการร่วมพัฒนาชาติไทย ตลอด 8 ปีครึ่งของการเป็นนายกฯ พล.อ.เปรม ผู้ได้รับฉายาว่า 'เตมีย์ใบ้' เพราะมีบุคลิกนิ่ง สุขุม ไม่เคยถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ แม้จะมีความพยายามจากฝ่ายการเมืองหลายครั้ง จนถึงขั้นมีคำกล่าวที่ว่า “น้ำเป็นของปลา ฟ้าเป็นของนก นายกฯ เป็นของป๋า” ถึงอย่างนั้น เส้นทางการเป็น นายกฯ ของ พล.อ.เปรม ก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะต้องกรำศึกกับคนในกองทัพด้วยกันเอง ระหว่างกลุ่มทหารหนุ่มที่จบจาก โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จปร. 7 หรือ ‘ยังเติร์ก’ ที่หนุน พล.อ.เปรม ฝั่งนี้นำโดย พล.ต.มนูญ รูปขจร, ‘บิ๊กลภ’ พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี กับ จปร. 5 ที่ไม่พอใจการโตข้ามหัวรุ่นพี่ นำโดย ‘บิ๊กสุ’ พล.อ.สุจินดา คราประยูร, พล.อ.วิโรจน์ แสงสนิท, ‘บิ๊กตุ๋ย’ พล.อ.อิสระพงศ์ หนุนภักดี, พล.อ.ศัลย์ ศรีเพ็ญ, ‘บิ๊กเต้’ พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล แต่สุดท้ายผู้คิดก่อการรัฐประหารเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ กลายเป็น กบฎเมษาฮาวาย 2524 และ กบฎ 9 กันยาฯ 2528 ซึ่งทำให้ พล.อ.เปรม ได้รับอีกหนึ่งฉายาว่า 'นักฆ่าแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา' ช่วงกลางค่อนไปทางปลายปี 2531 พล.อ.เปรม ไม่ขอรับตำแหน่งนายกฯ สมัย 4 มีประโยคสั้น ๆ ที่เป็นวาทะอมตะอย่าง “ผมพอแล้ว” มีเหตุมาจากปัญญาชนที่เติบโตในยุคเดือนตุลาฯ และนักวิชาการ ได้เข้าชื่อถวายฎีกาคัดค้านไม่ให้ พล.อ.เปรม เป็นนายกฯ ต่ออีกสมัย พล.อ.เปรม รู้ถึงแรงต้านนี้ดีว่าจะเป็นอย่างไร ตำแหน่งนายกฯ คนต่อมา จึงเป็นของ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ไม่กี่ปีต่อมา หน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยต้องบันทึกเหตุรัฐประหารที่มีมูลเหตุมาจากการ 'เสียสัตย์เพื่อชาติ' เพื่อเป็นนายกฯ ของ ‘บิ๊กสุ’ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ในฐานะแกนนำคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) จนนำมาสู่เหตุการณ์ ‘พฤษภาทมิฬ 2535’ ซึ่งก็เป็นปัญหาความขัดแย้งระหว่าง จปร. 5 กับ จปร. 7 ที่ตกค้างมาตั้งแต่ยุค พล.อ.เปรม เป็น นายกฯ แล้ว ทำให้ทหารต้องกลับค่ายไปนานเกือบ 15 ปี พล.อ.เปรม ในวัย 86 ปี ยังคงมีบทบาทและเป็นที่พูดถึงในวงการเมืองในยุครัฐประหาร 2549 นำโดย ‘บิ๊กบัง’ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. ซึ่งขึ้นเป็นหัวหน้าคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ทำรัฐประหารรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร พล.อ.เปรม ถูกระบุว่าเป็น 'ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ' จากกลุ่มต้านรัฐประหาร รวมถึงถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าให้การสนับสนุนกลุ่มพันธมิตรฯ ที่มาล้มรัฐบาลด้วย อีกทั้งวิวาทะของ พล.อ.เปรม ถึงการเล่าเรื่อง 'จ็อกกี้กับเจ้าของม้า' ที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ก็กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของสังคมในเวลานั้นว่า พล.อ.เปรม ต้องการจะส่งสัญญาณใดหรือไม่ ก่อนเกิดรัฐประหาร 3 เดือน ทำให้ชื่อของ พล.อ.เปรม เป็นอีกแบล็คลิสต์ของคนเสื้อแดงไปทันที ต่อมาได้มีการแต่งตั้ง ‘บิ๊กแอ้ด’ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี ขึ้นเป็นนายกฯ แม้ไม่ได้เป็น ‘ทหารม้า’ หรือ ‘ลูกม้า’ ของป๋าเปรม แต่ถือว่าเป็น ‘ลูกป๋า’ ของ พล.อ.เปรม อีกคนที่ทำงานใกล้ชิดมาโดยตลอด รวมทั้งต่างเป็นศิษย์เก่ารั้วชมพู-ฟ้า (โรงเรียนสวนกุหลาบ) ด้วย แต่สุดท้ายพรรคพลังประชาชนของเครือข่ายนายทักษิณก็กลับมาชนะการเลือกตั้ง ทำให้การรัฐประหาร 2549 ถูกมองว่าเสียของ สถานการณ์การเมืองที่เกิดขึ้น ทำให้ชีวิตของ พล.อ.เปรม ต้องพบกับการจับจ้องจากสังคม และอยู่กับ 3 นายกฯ เครือข่ายนายทักษิณ ได้แก่ นายสมัคร สุนทรเวช, นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของนายทักษิณ มาถึงช่วงสำคัญทางการเมืองอีกครั้ง ในช่วงที่ พล.อ.เปรม อายุ 93 ปี ย่างเข้า 94 ปี เกิดการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม ปี 2557 นำโดย ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สมัยเป็น ผบ.ทบ. ขึ้นเป็น หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่แหวกม่านประเพณีขึ้นเป็นนายกฯ ด้วยตนเอง แม้จะมีบทเรียนมาในอดีตสมัย ‘บิ๊กสุ’ เมื่อ 20 กว่าปีก่อนก็ตาม พล.อ.เปรม ให้กำลังใจและสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ มาตลอดหลายปีที่ผ่านมา และเป็นผู้ทำให้คำว่า ‘ลุงตู่’ กลับมาฟีเวอร์อีกครั้งในการเปิดบ้านรับการอวยพรวันปีใหม่ช่วงปลายปี 2557 แม้ก่อนหน้านี้คำว่า ‘ลุงตู่’ จะเป็นคำที่ พล.อ.ประยุทธ์ ใช้เรียกตัวแทนกับเด็ก ๆ ตั้งแต่เป็นนายทหารใน ทบ. แล้วก็ตาม มีคำชมก็ต้องมีคำเตือนจาก พล.อ.เปรม ที่สะกิด พล.อ.ประยุทธ์ ครั้งเปิดบ้านรับอวยพรวันปีใหม่ช่วงปลายปี 2560 ที่ระบุว่า ‘กองหนุนลดลง’ และเป็นช่วงรอยต่อเข้าสู่ปี 2561 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ มีท่าทีจะเป็นนายกฯ อีกสมัยผ่านรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่เปิดช่องนายกฯ คนนอก และนายกฯ ไม่จำเป็นต้องมาจาก ส.ส. จนนำสู่ปรากฏการณ์ตั้งพรรคพลังประชารัฐ ผ่านการปลุกปั้นของ 4 รัฐมนตรี ใน ครม.ประยุทธ์ และมาพร้อมประโยคของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ว่า “ผมสนใจงานการเมือง” ทันที ปี 2561 พล.อ.เปรม ได้โลว์โปร์ไฟล์ตัวเองลงไปมาก ด้วยเหตุผลที่บุคคลใกล้ชิดระบุถึงเรื่องสุขภาพที่แพทย์อยากให้พักผ่อน มีการไปตรวจที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าตามวงรอบ ถึงอย่างนั้นก็ลือกันถึงขั้นว่า พล.อ.เปรม ป่วยหนักเลยทีเดียว จนสุดท้ายต้องออกงานมาสยบข่าวลือหลายครั้ง ซึ่ง พล.อ.เปรม ยังคงแข็งแรง (หากเทียบกับวัย) ยังมียืนตัวตรงให้สาธารณชนได้เห็นในวัย 98 ปี เคล็ดลับการดูแลสุขภาพของ พล.อ.เปรม คือการเดินออกกำลังในบ้านสี่เสาเทเวศร์ทุกวัน ส่วนการทานอาหารจะเน้นประเภทปลากับผัก-ผลไม้ งดของทอด พักผ่อนเป็นเวลาอย่างเพียงพอ รวมทั้งเล่นดนตรีโดยเฉพาะเปียโนและร้องเพลงเพื่อผ่อนคลาย สามารถละทิ้งความทุกข์ได้ไว สุขภาพกายและใจจึงแข็งแรง หากลองจับสัญญาณต่าง ๆ ของ พล.อ.เปรม สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือการเปิดบ้านสี่เสาเทเวศร์ ที่จะเปิดปีละ 3 ครั้ง ได้แก่ วันปีใหม่, วันสงกรานต์ และวันเกิด เพื่อให้นายกฯ นำคณะรัฐมนตรีและผู้บัญชาการเหล่าทัพเข้าอวยพร หากคราใดบ้านสี่เสาฯ ปิดเงียบ ย่อมสะท้อนสัมพันธ์กับรัฐบาลหรือสถานการณ์บ้านเมืองในเวลานั้น ๆ ในยุค คสช. พล.อ.เปรม ปิดบ้านไป 2 ครั้ง ได้แก่ วันเกิดปี 2557 และ วันเกิดปี 2561 ด้วยเหตุผลสุขภาพ 10 เมษายน ปี 2562 พล.อ.เปรม ซึ่งจะย่างเข้าสู่วัย 99 ปีในเดือนสิงหาคม เปิดบ้านสี่เสาเทเวศร์ต้อนรับผู้นำทางการเมืองเนื่องในวาระดิถีขึ้นปีใหม่ไทยด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส พร้อมให้กำลังใจรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ อีกครั้ง คราวนี้ด้วยประโยคว่า "รัฐบาลของนายกฯ ไม่โกง" ซึ่งทันทีที่จบประโยคนี้ ก็เรียกเสียงฮือฮาสนั่นสังคมได้ไม่น้อยเลยทีเดียว ทว่าหลังจากเปิดบ้านได้เพียงหนึ่งเดือนกว่า ๆ พล.อ. เปรม ก็ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม ทิ้งไว้เพียงตำนานชีวิต 'ป๋า' และตำนานการเปิดบ้านสี่เสาเทเวศร์ ซึ่งป๋าเปรมใช้ชีวิตอยู่ในบ้านหลังนี้มาถึง 40 ปี นับตั้งแต่ปี 2522 ก่อนจะมีการส่งมอบบ้านสี่เสาเทเวศร์คืนให้กรมสวัสดิการทหารบกในกาลต่อไป เรื่อง: กุหลาบ ลายพราง