08 พ.ค. 2562 | 18:32 น.
หลังเมืองไทยผ่านยุคที่สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มาจากการเลือกตั้ง มาตอนนี้ก็ถึงเวลาวนลูป ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้ง (อีกแล้ว) เดือนพฤษภาคมนี้สังคมจึงได้เห็นการเคลื่อนไหวของบุคคลต่าง ๆ ที่ทยอยลาออกจากตำแหน่งสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น รัฐมนตรีในคณะรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา, สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รวมไปถึงบิ๊กเนมทหารเกษียณอายุ ก็เตรียมเข้าคิวเป็น ส.ว. ที่มีอำนาจในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีไปอีก 5 ปี ชื่อหนึ่งที่ถูกพูดถึงอย่างมากก็คือ สนช. ชื่อ สมชาย แสวงการ ที่ออกมาเสนอในการประชุม สนช. นัดพิเศษเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม ปี 2562 ให้ สนช. ที่จะออกไปรับตำแหน่ง ส.ว. ลาออกจากตำแหน่งเสียก่อน 1 วัน ก่อนมีการประชุมสภานัดแรก เพื่อหลีกเลี่ยงการขัดคุณสมบัติ ทำไมอดีตคนสื่อผู้นี้ถึงรู้ระบบกลไกรัฐสภาเป็นอย่างดี และทำไมเขาถึงมีตำแหน่งสำคัญ ๆ มาเกือบ 2 ทศวรรษ โดยไม่เคยลงเลือกตั้งสักครั้งหนึ่ง สมชาย แสวงการ คืออดีตคนในวงการสื่อสารมวลชนเมืองไทย จากนักข่าวด้านเศรษฐกิจทางช่อง 3 เมื่อมีโอกาสเปลี่ยนสายมาทำข่าวสายทหารและกองทัพ ทำให้ได้รู้จักแหล่งข่าวซึ่งกุมอำนาจสำคัญ ๆ ของประเทศ บทบาทด้านสื่อมวลชนของเขาในสมัยก่อนนับว่าน่าจับตา เพราะร่วมกับ สนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม (ผู้ก่อตั้งสำนักข่าวทีนิวส์ ปัจจุบันเป็นกรรมการ บมจ. เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป) ก่อตั้งสำนักข่าว ไอ เอ็น เอ็น รวมไปถึง วิทยุร่วมด้วยช่วยกัน ด้วยบทบาทที่โดดเด่น ทำให้สมชายได้รับเลือกเป็นนายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยติดต่อกัน 2 สมัย การก้าวจากบทบาท “คนทำสื่อ” มาเป็น “คนหน้าสื่อ” ครั้งสำคัญของสมชาย เกิดขึ้นเมื่อครั้งวิกฤตการณ์การเมืองอันเกิดจากการประท้วงของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ขับไล่ ทักษิณ ชินวัตร ในปี 2548-2549 ซึ่งก่อนการรัฐประหารไม่นาน สมาคมสื่อ 3 แห่ง ประกอบด้วย สมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ร่วมกันออกแถลงการณ์เตือนภัยประชาชนเรื่อง “บทบาทสื่อมวลชนในสถานการณ์ปัจจุบัน” ซึ่งพยายามกล่าวโจมตีว่ารัฐบาลทักษิณ ชินวัตร แทรกแซงสื่อ นั่นคือจุดเริ่มต้นของวาทกรรม “สื่อแท้-สื่อเทียม” เมื่อเอาสมาคมวิชาชีพสื่อฯ ลงไป “เล่นการเมือง” ระหว่างที่กลุ่มพันธมิตรฯ นำโดย สนธิ ลิ้มทองกุล พยายามผลิตวาทกรรม “สื่อที่ไม่เห็นด้วยกับตน คือสื่อรับใช้ระบอบทักษิณ” โดยสมชายกล่าวบนเวทีดังกล่าวว่า “ขณะนี้สังคมไทยมีทั้งสื่อแท้และสื่อเทียม อยากให้ประชาชนพิจารณาจากเนื้อหาของสื่อเป็นหลักว่ามีทิศทางเป็นอย่างไร เพราะล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการสร้างหนังสือพิมพ์ขึ้นมาบางฉบับทำหน้าที่เชียร์รัฐบาลอย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังสร้างสถานีโทรทัศน์เคเบิลทีวี หรือทีวีดาวเทียมขึ้น โดยใช้นักจัดรายการชื่อดังที่เคยพยายามจัดที่ อสมท. แต่ไม่เป็นผล เคยเป็นกระบอกเสียงช่วงก่อนเหตุการณ์ 6 ต.ค.2519 โดยใช้วิทยุยานเกราะเป็นสื่อ สถานการณ์ช่วงนี้น่าเป็นห่วงมากว่าจะเป็นเหมือน 6 ตุลา คือมีสื่อที่สร้างขึ้นมาเพื่อผลประโยชน์ของรัฐ ทำการปลุกระดมให้คนเกลียดชังกัน” นั่นคือจุดที่การทำหน้าที่ของสื่อกลายเป็นที่ถกเถียง และเป็นจุดแบ่งข้างของสื่อที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์แวดวงสื่อสารมวลชนไทย คือการกล่าวหาว่าสื่อที่ไม่ได้ทำตามแนวทางที่สมาคมฯ สนับสนุนนั้น เป็น “สื่อเทียม” ท้ายสุด ความขัดแย้งทางการเมืองช่วงนั้นจบลงด้วยการรัฐประหารของ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น ซึ่งเมื่อมีการแต่งตั้ง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ภายใต้การนำของมีชัย ฤชุพันธุ์ เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญปี 2550 สมชายได้รับเลือกให้เป็น สนช. สาขาสื่อสารมวลชน เข้าทำงาน นั่นเป็นการนับหนึ่งการเข้าสู่อำนาจของสมชายที่ไม่ผ่านการเลือกตั้ง ซึ่งในรัฐธรรมนูญ 2550 นั้น เปิดให้มี ส.ว.ได้ 150 คน เป็น ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คน รวม 76 คน และส.ว. สรรหาโดยองค์กรอิสระ อีก 74 คน ครั้งนั้น สมชายที่มีส่วนร่างรัฐธรรมนูญก็ไม่พลาดได้รับการแต่งตั้งเป็น ส.ว. สรรหา จากภาควิชาชีพ โดยมี “มูลนิธิสำนึกรักบ้านเกิด” ที่เป็นองค์กรการกุศลที่ดีแทคและวิทยุร่วมด้วยช่วยกันที่สมชายก่อตั้ง เสนอชื่อสมชายเข้าไป สมชายยังเป็นหนึ่งในแกนนำของกลุ่ม 40 ส.ว. ที่ส่วนมากมาจากการสรรหา มีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบรัฐบาลพรรคพลังประชาชน ของอดีตนายกรัฐมนตรี “สมัคร สุนทรเวช-สมชาย วงษ์สวัสดิ์” อีกด้วย โดยเรียกร้องให้อดีตนายกฯ สมชาย ลาออกหลังจากการชุมนุมยึดทำเนียบรัฐบาล และปิดล้อมการแถลงนโยบายรัฐบาลของกลุ่มพันธมิตรฯ จนนำไปสู่เหตุปะทะ 7 ตุลาคม ปี 2551 เมื่อ ส.ว. สรรหามีวาระ 3 ปี และมีการสรรหาใหม่ สมชายก็ได้เป็น ส.ว. สรรหาต่อในวาระที่ 2 ซึ่งก็มาจาก “มูลนิธิสื่อสร้างสรรค์” เป็นผู้เสนอชื่อ น่าสนใจว่าสมชายใช้สถานะสื่อในการเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองอีกครั้ง โดยไม่ผ่านการรับรองจากประชาชน สมชายเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ต้องการให้ ส.ว. มาจากการเลือกตั้งจากประชาชนทั้งหมด โดยให้เหตุผลว่ากลัวฝ่ายการเมืองจะเข้ามาแทรกแซงกลายเป็น “สภาผัว-เมีย” และได้มีการยื่นเรื่องให้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เอาผิด ส.ส. และ ส.ว. รวมไปถึงรัฐมนตรีในรัฐบาลเพื่อไทยของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ด้วย ที่ร่วมลงชื่อมติแก้ไขให้ ส.ว. มาจากการเลือกตั้งของประชาชน หลังจากการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. และการร้องเรียนให้การเลือกตั้งทั่วไป 2 กุมภาพันธ์ ปี 2557 เป็นโมฆะ ทำให้ประเทศไทยเข้าสู่ทางตันอีกครั้ง สมชาย และ สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภา เสนอทางออกให้ประเทศโดยให้ ส.ว.เป็นคนเลือกนายกฯ หลังจากที่นายกรัฐมนตรีรักษาการยิ่งลักษณ์มีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ท่ามกลางกระแสการคัดค้านแนวคิดดังกล่าว ท้ายที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น ได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจในนาม คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. โดยเมื่อมีการแต่งตั้ง สนช. ในยุคของ คสช. ชื่อของ สมชาย แสวงการ ก็กลับเข้าสู่ตำแหน่งอีกครั้ง สนช. ภายใต้การนำของ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ผู้มีบทบาทสำคัญในการยื่นฟ้องศาลรัฐธรรมนูญให้การเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ ปี 2557 เป็นโมฆะ ได้มีส่วนสำคัญในการเสนอคำพ่วงการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญของ มีชัย ฤชุพันธุ์ โดยสมชายเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนคำถามที่ กล้านรงค์ จันทิก และ วันชัย สอนศิริ 2 สนช. เสนอให้ ส.ว.250 คน มาจากการแต่งตั้งโดย คสช. มีอำนาจในการเลือกนายกฯ อีก 5 ปี เพื่อให้การปฏิรูปสามารถเดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง เมื่อมีการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม ปี 2562 ตามด้วยการรับรอง ส.ส. ในวันที่ 7 พฤษภาคม เริ่มมีเค้าลางว่าพรรคพลังประชารัฐ พรรคที่มีข่าวว่าเกิดขึ้นเพื่อสืบทอดอำนาจของ คสช. อาจไม่สามารถรวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้ จึงอาจต้องใช้คะแนนเสียงจาก ส.ว.ในการโหวตเพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ต่ออีกสมัย และมีข่าวว่าชื่อของ สมชาย แสวงการ เตรียมลาออกจากตำแหน่ง สนช. เพื่อเข้ารับตำแหน่ง ส.ว.ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ให้ ส.ว.อยู่ในตำแหน่งได้ 5 ปี หากรวมแล้วสมชายจะอยู่ในตำแหน่งสำคัญ ๆ โดยใช้สถานะตัวแทนจากภาคสื่อมวลชนเข้าไปเป็นทั้ง ส.ว. และ สนช. ระหว่างปี 2549-2567 รวมแล้ว 19 ปี หรือเกือบ 2 ทศวรรษ โดยไม่ผ่านการเลือกตั้งจากประชาชนสักครั้ง ที่มา https://prachatai.com/journal/2006/09/9533 http://www.komchadluek.net/news/politic/184802 https://mgronline.com/uptodate/detail/9620000043360 https://www.isranews.org/isranews-news/46088-snch_46088.html เรื่อง: พิเชฐ ยิ่งเกียรติคุณ ภาพ: FB Page สมชาย แสวงการ