19 มิ.ย. 2562 | 14:11 น.
ทุกวันนี้ “ความหลากหลายทางเพศ” ได้รับการยอมรับมากขึ้น แต่ถ้าย้อนไปหลายสิบปีก่อน ในยุคที่สังคมไทยยังมีความเข้าใจเรื่องดังกล่าวอย่างจำกัด สุธรรม พันธุศักดิ์ เลือกจะทลายกรอบกำแพงนั้นลง และนำเสนอความสามารถของสาวประเภทสองอย่างภาคภูมิใจ ผ่าน “ทิฟฟานีโชว์” เมืองพัทยา ที่ถึงทุกวันนี้ก็เปิดการแสดงมากว่า 40 ปีแล้ว ปี 2512 สุธรรม เริ่มต้นอาชีพการงานในฝ่ายบัญชีของโรงแรม 5 ดาวแห่งหนึ่งในเมืองพัทยา จ.ชลบุรี แม้ว่าจะไม่ได้เรียนจบด้านนี้ แต่สุธรรมก็ขยันเรียนรู้ด้วยตัวเองจากการปฏิบัติงานจริง และงานนี้นี่เองที่กลายเป็นรากฐานของกิจการส่วนตัวในเวลาต่อมา “เข้ามาทำงานที่พัทยาตั้งแต่ปี 2512 ในสมัยที่ยังมีแค่ถนนพัทยา-นาเกลือ ยุคนั้นเพิ่งจะมีโรงแรมแค่ 2 แห่ง ซึ่งโรงแรมที่สองนี่แหละที่ผมเข้ามาทำงาน” สุธรรมเล่าย้อนความหลัง สุธรรมสังเกตว่าในโรงแรมนี้มีบริการรับแลกเงิน ซึ่งรับแลกในอัตราที่เขามองว่าเป็นการ ‘โกง’ แขกที่เข้าพัก เพราะโรงแรมรับแลกในอัตราที่แพงกว่าธนาคารถึง 2 บาทต่อ 1 เหรียญสหรัฐ แต่ลูกค้าไม่มีทางเลือกมากนัก เนื่องจากพัทยายุคนั้นยังไม่มีสาขาธนาคารใด ๆ เป็นเหตุให้สุธรรมตัดสินใจขออนุญาตกับกระทรวงการคลัง เพื่อก่อตั้งร้านรับแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศแห่งแรกในพัทยาขึ้น “สมัยตั้งแรก ๆ ชื่อร้านลิด้า แค่เปิดวันแรกผมแลกเงินเป็นแสนบาทแล้ว แต่เลือกเอากำไรน้อย 1 เหรียญได้ 50 สตางค์ ก็คือได้กำไรวันละ 2,500 บาท เดือนหนึ่งก็ 75,000 บาทแล้วนะ ธุรกิจเราก็อยู่ได้ดีโดยไม่ต้องเอาเปรียบนักท่องเที่ยว เพราะผมคิดแบบนี้กลับกลายเป็นได้ประโยชน์ ผมสามารถทำเงินได้จากเรื่องที่ไม่มีใครคิดว่าจะทำได้ ภายใน 2 ปีผมถึงได้เงินล้านแรกในชีวิต” สุธรรมกล่าวถึงจุดเริ่มต้นธุรกิจ ซึ่งต่อมาร้านแลกเงินของเขาได้ขยายไป 4 สาขาในพัทยา พร้อม ๆ กับการเติบโตของการท่องเที่ยว การก้าวสู่ธุรกิจบันเทิงของเขานั้น นับได้ว่าเป็นโชคชะตาผสมกับความสามารถในการเล็งเห็นโอกาส สุธรรมได้ไปชมโชว์สาวประเภทสองในบาร์แห่งหนึ่งย่านแหลมบาลีฮาย และมองว่าเป็นโชว์ที่มีคุณภาพพอที่จะขึ้นเวทีใหญ่ได้ เขาจึงชักชวน วิชัย เลิศฤทธิ์เรืองสิน เจ้าของบาร์และโชว์แห่งนั้น ให้ย้ายมาเปิดการแสดงในโรงละครที่เขาจะสร้างให้เช่า สุธรรมดำเนินการก่อสร้างโรงละครขนาด 550 ที่นั่ง ขึ้นบนถนนพัทยาสายสอง เมื่อปี 2518 ในยุคที่ถนนเส้นนั้นยังมีแต่ไร่มันสำปะหลัง ส่วนวิชัยก็ต้องหานักแสดงเพิ่มจากเดิม 7 คนเป็น 30 คน กลายเป็นคณะใหญ่เพื่อรองรับเวทีที่ใหญ่ขึ้น แต่กิจการไปได้ไม่ดีอย่างที่คิด จนวิชัยถอดใจและเตรียมบอกเลิกการเช่าโรงละครเพื่อกลับไปทำบาร์เหมือนเดิม ซึ่งหมายความว่าเขาต้องเลย์ออฟนักแสดงบางส่วนออก เมื่อสุธรรมทราบปัญหา สิ่งที่เขาทำกลับเป็นการขอเข้าหุ้นในทิฟฟานีโชว์เสียเลย โดยแลกกับหนี้สินค่าเช่าที่ติดค้างกับโรงละครอยู่ “ตอนเริ่มต้นก็ขาดทุนจนทุกคนอยากจะเลิก แต่ผมบอก ‘ถ้าเลิกไปใครจะเดือดร้อน ก็คือนักแสดง’ ผมก็ยอมสู้” สุธรรมย้อนอดีต ‘จ๋า’ อลิสา พันธุศักดิ์ ลูกสาวคนที่สองของสุธรรม เคยเล่าไว้ว่า หลังจากพ่อเข้าร่วมหุ้นกับคณะทิฟฟานีโชว์ ก็ให้สิทธิ์วิชัยในการจัดการงานแสดงทั้งหมด มีโชว์ที่เป็นลายเซ็นของทิฟฟานีโชว์ที่ตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน คือโชว์ ‘One Man Woman’ ซึ่งนักแสดงจะแต่งเป็นผู้หญิงครึ่งผู้ชายครึ่ง ส่วนสุธรรมเป็นผู้บริหารการเงินและการตลาดทั้งหมด ในช่วงแรกมีความยากลำบากมาก “ตอนนั้นพ่อต้องเดินทางเอง ไปต่างประเทศกับ ททท. (การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย) เพื่อนำเสนอทิฟฟานี ยุคนั้นเต็มไปด้วยอคติเรื่องเพศ จึงเป็นเรื่องลำบากมากที่จะให้ใครยอมรับ” อลิสากล่าว กระนั้นก็ตาม ในยุคของสุธรรม ความพยายามของเขาประสบผลสำเร็จ ทิฟฟานีโชว์เริ่มมีชื่อเสียง มีการบอกกันปากต่อปาก ในที่สุดก็มีนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะกรุ๊ปทัวร์มาชมไม่ขาดสายถึงวันละ 30-40 คันรถบัส อลิสาเข้ามาช่วยงานสุธรรมในปี 2541 โดยเข้ามาในยุครุ่งเรืองของทิฟฟานีโชว์ ซึ่งกำลังบูมมากจากทัวร์จีน มีการจัดแสดงถึงวันละ 8 รอบ ตั้งแต่บ่าย 2 ถึงตี 2 และโรงละครขนาด 550 ที่นั่ง ก็จัดที่นั่งเสริมไปถึงเกือบ 700 ที่นั่ง ธุรกิจดูเหมือนไปได้ดี แต่สำหรับอลิสากลับมองว่าธุรกิจนี้ไม่มีความยั่งยืน เนื่องจากการจัดรอบการแสดงถี่ ทำให้ไม่มีเวลาพัฒนาการแสดงชุดใหม่ และที่นั่งก็แออัดเกินไป สิ่งที่เธอเข้ามาจัดการคือเสนอก่อสร้างโรงละครใหม่ครอบโรงละครเดิม เพื่อขยายเป็น 1,000 ที่นั่ง และทำให้มีคุณภาพ สะดวกสบาย อลังการมากขึ้น การก่อสร้างครอบลงไปทำให้โรงละครไม่ต้องหยุดแสดง จึงไม่เสียรายได้ แม้ขลุกขลักระหว่างทาง แต่ก็ทำสำเร็จในช่วงกลางปี 2542 พอดีกับที่ทัวร์จีนลดหายไปจากปัญหาทัวร์ศูนย์เหรียญตามคาด โรงละครใหม่ที่มีคุณภาพจึงได้รับลูกค้าเกาหลี เวียดนาม และยุโรป ที่เข้ามาแทนที่ นอกจากนั้น อลิสายังเข้ามาต่อยอดเรื่องการสร้างแบรนด์ให้กับทิฟฟานีโชว์ ซึ่งยุคนั้นมีคู่แข่งมากมายในพัทยา ทำให้ทิฟฟานีโชว์ต้องผลักดันตัวเองให้นำหน้า “ดร.เสรี (วงษ์มณฑา) เป็นที่ปรึกษาให้พ่ออยู่ก่อนแล้ว ตอนนั้นเรามีการจัดประกวดมิสทิฟฟานีแต่เป็นการประกวดกันภายใน ดร.เสรี ก็แนะนำว่าเราควรเชิญคนอื่นเข้ามาประกวดนะ เพราะเป็นการสร้างแบรนด์ และได้ recruit คนมาทำงาน พอจ๋ามาทำงานปี 2541 จึงพยายามต่อยอดให้งานประกวดของเราได้เผยแพร่ ต้องวิ่งหาช่องทีวีลงให้ได้ ซึ่งไม่มีใครเอาเลยเพราะเป็นคอนเทนต์สาวประเภทสอง ในที่สุดพยายามพูดกับช่องไอทีวีจนเขายอมรับ” อลิสาย้อนความหลังการต่อสู้ที่ทำให้สาวประเภทสองได้พื้นที่สื่อระดับทั่วประเทศ ต่อมาเธอยังพาสาวงามจากเวทีมิสทิฟฟานีไปประกวดในระดับโลกกับมงกุฎ Miss Queen of The Universe ซึ่งตัวแทนของไทยสามารถคว้ามงกุฎกลับมาได้ในปี 1999, 2000 และ 2002 “แต่เรารู้สึกว่าเวทีเขามันเล็ก เล็กกว่ามิสทิฟฟานีอีก จึงคิดว่าเราควรจะสร้างเวทีของเราเอง แล้วดึงทุกคนมาประกวดกับเราดีกว่า” กลายเป็นการตัดสินใจเริ่มต้นเวที Miss International Queen ปี 2004 ดึงสาวประเภทสองจาก 25 ประเทศมาประกวดที่พัทยา ซึ่งเธอบอกว่าเวทีประกวดเหล่านี้ ‘ไม่ได้เงินแต่ได้ชื่อ’ การจัดประกวดมิสทิฟฟานี เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยทำให้ทิฟฟานีโชว์มีชื่อเสียงโด่งดังยิ่งขึ้นไปอีก เพราะเป็นเสมือนตราประทับว่าเป็นเวทีที่มีสาวประเภทสองที่สวยที่สุดในประเทศขึ้นแสดง จนสามารถเรียกราคาบัตรได้สูงกว่าแบรนด์อื่นเป็นเท่าตัว (ปัจจุบันทิฟฟานีโชว์วางราคาตั๋วชาวไทยราคา 390-590 บาทต่อที่นั่ง และชาวต่างชาติราคา 690-990 บาทต่อที่นั่ง) จากรุ่นพ่อที่มองเห็นโอกาส สู่รุ่นลูกที่เห็นการสร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจ ทำให้ บริษัท ทิฟฟานี โชว์ พัทยา จำกัด สร้างรายได้ปี 2560 ที่ 205 ล้านบาท และทำกำไร 44 ล้านบาท อ้างอิงจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (รายได้ไม่รวมกิจการอื่นในพีทีเอส กรุ๊ป เช่น โรงแรม ร้านอาหาร) และมีผู้ชมเฉลี่ย 2,000 คนต่อวัน อลิสายังมีวิสัยทัศน์สร้างการเติบโตต่อเนื่อง โดยปี 2561 เธอลงทุน 500 ล้านบาทกับโรงละครที่พัทยา เป็นงบรีโนเวตโรงละคร 200 ล้านบาท ส่วนที่เหลือคืองบก่อสร้างศูนย์อาหารไทยมาเช่ พื้นที่กว่า 4,600 ตารางเมตร นอกจากนี้ อลิสายังซื้อที่ดิน 14 ไร่ ใกล้หาดป่าตอง จ.ภูเก็ต เพื่อบุกตลาดใหม่ด้วย คาดว่าจะใช้งบลงทุนราว 1,000 ล้านบาท พร้อมให้บริการในปี 2564 สำหรับสุธรรม ผู้ร่วมก่อตั้งและผลักดันทิฟฟานีโชว์ให้โด่งดัง (เขายังเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติอีกด้วย) ได้จากโลกนี้ไปเมื่อปี 2559 ครั้งหนึ่งเขามีความฝันว่าอยากจะเห็นทิฟฟานีโชว์ได้ไปเปิดการแสดงโด่งดังไกลในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น สิงคโปร์ เซี่ยงไฮ้ หรือปารีส ซึ่งความฝันของเขานั้นคงไม่ไกลเกินความสามารถของทายาทที่จะสร้างให้เป็นจริง ที่มา รายการ ฅนวงใน สัมภาษณ์ สุธรรม พันธุศักดิ์ ออกอากาศทางช่อง NBT เมื่อปี 2553 รายการ Celeb TV สัมภาษณ์ อลิสา พันธุศักดิ์ ออกอากาศทางช่องเนชั่น เมื่อปี 2558 http://forbesthailand.com/news-detail.php?did=2591 เรื่อง: Synthia Wong