04 ก.พ. 2562 | 13:12 น.
ปลายปี 2511 สถานการณ์ภายในสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศ กำลังจะข้ามผ่านพ้นยุคสายลมและแสงแดด สู่ “ยุคแสวงหา” ผลการเลือกตั้งท้องถิ่นพระนครและธนบุรี พรรคประชาธิปัตย์ได้รับคะแนนเสียงท่วมท้น ปลุกพลังคนหนุ่มสาวให้มาสนใจรับผิดชอบบ้านเมืองมากขึ้น วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2512 เป็นวันที่มีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 9 ของประเทศไทย หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2511 เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2511 ผลการเลือกตั้งทั่วไปครั้งนั้น อันดับหนึ่ง พรรคสหประชาไทย ได้รับเลือกตั้งมากที่สุด 75 ที่นั่ง อันดับสอง พรรคประชาธิปัตย์ได้ 57 ที่นั่ง ใครเลยจะคิดว่า “พรรคทหาร” (พรรคสหประชาไทย) จะได้เสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสภาฯ ตั้งรัฐบาลพรรคเดียวไม่ได้ จึงต้องไปรวบรวมเสียงจาก “ส.ส.ไม่สังกัดพรรค” มาสนับสนุน จนได้เสียงในสภาผู้แทนราษฎรทั้งสิ้น 113 ที่นั่ง เนื่องจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2511 ไม่บังคับให้ต้องสังกัดพรรค จึงทำให้มีผู้สมัคร ส.ส.ไร้สังกัด ได้รับเลือกเข้ามามากถึง 71 ที่นั่ง และ “ส.ส.อิสระ” ส่วนใหญ่ก็อยู่ในเครือข่ายของจอมพลประภาส จารุเสถียร จึงไม่ยากที่จะดึงมาเป็นแนวร่วม โครงสร้างของพรรคสหประชาไทย มีจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นหัวหน้าพรรค มีรองหัวหน้าพรรค 2 คน ได้แก่ จอมพลประภาส จารุเสถียร และพจน์ สารสิน เลขาธิการพรรคคือ พล.อ.อ.ทวี จุลละทรัพย์ และมีรองเลขาธิการพรรค 3 คน ได้แก่ พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา พล.ท.แสวง เสนาณรงค์ และ พล.ต.ท.พิชัย กุลละวณิชย์ หลังเลือกตั้ง จอมพลประภาสมอบให้ พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา (รองผู้บัญชาการทหารบกขณะนั้น) กับ ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา รวบรวม ส.ส.ที่ไม่สังกัดพรรคประมาณ 30 คน มาสนับสนุนรัฐบาลถนอม ซึ่งภายหลัง กลุ่มอิสระ มีการจดทะเบียนจัดตั้งพรรคถูกกฎหมายชื่อ “พรรคอิสระ” และมีโกศล ไกรฤกษ์ ส.ส.พิษณุโลก รับบทหัวหน้าพรรค ประวัติศาสตร์การเมืองไทย สนุกตรงที่ “ตัวละคร” ไม่เคยเปลี่่ยน ซึ่งไม่น่าเชื่อว่า ทายาท ส.ส.พรรคอิสระหลายคน ยังเป็นตัวละครหลักในเวทีการเมืองไทยเวลานี้ ไล่ชื่อมาตั้งแต่ จุติ ไกรฤกษ์ ลูกชายของโกศล ไกรฤกษ์, ทักษิณ ชินวัตร ลูกชายของเลิศ ชินวัตร, คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ลูกสาวของสมพล เกยุราพันธุ์, จาตุรนต์ ฉายแสง ลูกชายของอนันต์ ฉายแสง และเนวิน ชิดชอบ ลูกชายของชัย ชิดชอบ ลูกนักโทษกบฏบวรเดช ความสำเร็จบนเส้นทางการเมืองของโกศล ไกรฤกษ์ มิอาจปฏิเสธการกรุยทางเลือกตั้งของบิดา-ร้อยโท จงกล ไกรฤกษ์ ที่เป็น ส.ส.พิษณุโลก มาตั้งแต่ปี 2491 ร.ท.จงกล ไกรฤกษ์ เป็นบุตรของขุนเสาวรักษ์บรรณาคม (ชิด ไกรฤกษ์) ในวัยเด็กได้รับการอุปถัมภ์จากเจ้านายฝ่ายใน และเข้าศึกษาในโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จบแล้วได้รับราชการทหารที่นครราชสีมา และย้ายไปรับตำแหน่งเสนาธิการทหารมณฑลทหารบกจังหวัดพิษณุโลก หลังการเปลี่ยนแปลง 2475 ได้เพียง 6 เดือน ร.ท.จงกล ได้เข้าร่วมคณะกู้บ้านกู้เมือง และกลายเป็นนักโทษคดีกบฏบวรเดช เมื่อพ้นโทษ ร.ท.จงกล ได้ตัดสินใจเดินสู่ถนนสายนักการเมืองอาชีพ เริ่มต้นจากการเลือกตั้ง 29 มกราคม 2491 ร.ท.จงกล ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.พิษณุโลก สมัยแรก ร.ท.จงกล มีฐานเสียงอยู่ในเขต อ.วังทอง และ อ.นครไทย เป็นยอดนักกลยุทธ์หาเสียง เคาะประตูบ้าน และปราศรัยย่อย จนชนะใจชาวพิษณุโลกได้เป็นผู้แทนฯ อีกสองสมัย โดยการเลือกตั้ง 2500/1 ร.ท.จงกล สังกัดพรรคเสรีมนังคศิลา ของจอมพล ป.พิบูลสงคราม เมื่อถึงฤดูกาลการเลือกตั้ง 2512 ร.ท.จงกล สูงวัยและสุขภาพไม่แข็งแรง จึงส่งต่อมรดกการเมืองให้ลูกชาย โกศล ไกรฤกษ์ และได้เป็น ส.ส.พิษณุโลกสมดังใจพ่อปรารถนา และมีข้อน่าสังเกต ส.ส.พิษณุโลกสมัยนั้น 3 คนคือ โกศล ไกรฤกษ์, อนันต์ ภักดิ์ประไพ และสุชน ชามพูนท ล้วนเป็น ส.ส.ไม่สังกัดพรรค หัวหน้าพรรคอิสระ ตระกูล “ไกรฤกษ์” ในทางการเมือง เป็นต้นทุนอันสำคัญที่ทำให้ผู้แทนสมัยแรกอย่างโกศล ได้รับความไว้วางใจจาก “เจ้าพ่อบางขนาก” ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ ให้เป็นหัวหน้าพรรคอิสระ “พรรคอิสระ" จดทะเบียนจัดตั้งตามพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2511 เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2512 โดยมีหัวหน้าพรรคคือ โกศล ไกรฤกษ์ รองหัวหน้าพรรค 2 คนคือ เลิศ ชินวัตร ส.ส.เชียงใหม่ และสมพงษ์ อยู่หุ่น ส.ส.กาฬสินธุ์ เลขาธิการพรรคคือ บุญธรรม ชุมดวง ส.ส.สุโขทัย โดยมีคำขวัญของพรรคอิสระคือ “ประโยชน์ของชาติเหนือสิ่งอื่นใด” จากบันทึกของจอมพลประภาส จารุเสถียร รองหัวหน้าพรรคสหประชาไทย เมื่อปี 2537 ทำให้รู้ว่า ก่อนการเลือกตั้ง 2512 คณะกรรมการเลือกตั้งของพรรค ที่มีนายทหารเสนาธิการเป็นแกนหลัก ทำหน้าที่คัดกรองนักการเมือง ปรากฏว่า อดีต ส.ส.พรรคสหภูมิ และพรรคเสรีมนังคศิลาจำนวนหนึ่ง ไม่ผ่านการคัดสรรให้ลงสมัคร ส.ส.ได้ ดังนั้น จอมประภาสจึงตั้ง “กลุ่มเสรีชน” ขึ้นมาและมอบให้ ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ เป็นผู้บริหารจัดการกลุ่มอดีต ส.ส.เหล่านั้น ลงสมัคร ส.ส. โดยไม่สังกัดพรรค เมื่อเปิดประชุมสภาฯ ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ จึงเป็นหัวหน้าพรรคตัวจริงของกลุ่ม ส.ส.อิสระ ดังที่เจ้าตัวได้บันทึกไว้ในหนังสือ “ฟังประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ พูด” โดยก่อนการประชุมสภาผู้แทนฯ ที่มีวาระสำคัญ ตอนเย็นๆ พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา จะต้องโทรศัพท์มาหาขอความช่วยเหลือจากประสิทธิ์เสมอ “สิทธิ์โว้ย...พรุ่งนี้ช่วยกันหน่อยนะ” คอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์สมัยโน้น มักจะเขียนถึงบทบาทของกลุ่ม ส.ส.อิสระในสภาโดยขนานนามว่า “พรรคผี” และตัวประสิทธิ์เองก็ยอมรับสภาพ “ตอนนั้นเขาหาว่าเราเป็นพรรคผี ก็จริงก็ถูกต้อง เราไม่ปฏิเสธ” ในที่สุด กลุ่ม ส.ส.อิสระ จึงมีมติตั้งพรรคการเมืองให้ถูกต้องตามกฎหมาย ลบข้อครหาว่าเป็นพรรคผี มีสำนักงานพรรคอิสระอยู่ในซอยตรงข้ามโรงพักบางซื่อ โดยประสิทธิ์เป็นสมาชิกพรรคสหประชาไทยอยู่ เป็นหัวหน้าพรรคไม่ได้ จึงมอบให้โกศล ไกรฤกษ์ เป็นหัวหน้าพรรคอิสระ วันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 คณะปฏิวัตินำโดยจอมถนอม กิตติขจร ได้ประกาศยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน และเหตุผลหนึ่งในการยึดอำนาจ จอมพลถนอมอ้างว่า ส.ส.ในสภาฯ ต่อรองผลประโยชน์สูง โดยเฉพาะนักการเมืองสังกัดพรรคผี นักเลงโบราณ ฟ้าเปิดหลังมีรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2517 อดีตสมาชิกพรรคอิสระ ต่างแยกย้ายกันไปตามวิถีการเมือง ส่วนใหญ่เข้าสังกัดพรรคสังคมชาตินิยมของประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ รวมถึง เลิศ ชินวัตร คหบดีชาวสันกำแพง สำหรับ โกศล ไกรฤกษ์ ไปร่วมก่อตั้งพรรคกิจสังคม ที่มี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นหัวหน้าพรรค โดยการเลือกตั้ง 2518 โกศลลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.เขต 1 พิษณุโลก ประสบความพ่ายแพ้ และเลือกตั้ง 2519 โกศลย้ายจากเขต 1 มาลงเขต 2 พื้นที่ อ.วังทอง และ อ.นครไทย จึงได้เป็น ส.ส.อีกสมัย นับแต่นั้นมา โกศลได้ยึดเอาเขต 2 พิษณุโลก เป็นที่มั่นทางการเมืองมาโดยตลอด ด้วยอุปนิสัยของโกศล ที่ชอบพูดจาโผงผางในสภาฯ หลุดคำพูด “กู-มึง” อยู่เป็นนิตย์ และบางครั้งถึงขั้นทุบโต๊ะในสภา จึงถูกขนานนามว่า “นักเลงโบราณ” เลือกตั้ง 2526 โกศล นำลูกชาย จุติ ไกรฤกษ์ ลงสนามเลือกตั้งครั้งแรก แต่จุติสอบตก ถัดมาเลือกตั้ง 2529 นักเลงโบราณยังพ่วงลูกชายลงสนามอีก คราวนี้พ่ายแพ้ยกตระกูล ความพยายามจะปั้นจุติ ไกรฤกษ์ ให้เป็นผู้แทนฯ เริ่มต้นอีกครั้งในการเลือกตั้ง 2531 โดยสองพ่อลูกสวมเสื้อพรรคประชากรไทย ได้เป็น ส.ส.เขต 2 พิษณุโลกยกทีม แต่หลังจากนั้น ก็รักษาที่นั่งไว้ไม่ได้ เลือกตั้ง 2535/1 สวมเสื้อความหวังใหม่ และเลือกตั้ง 2535/2 ย้ายมาสวมเสื้อพลังธรรม ตระกูลไกรฤกษ์ ก็ปราชัยสองสมัยซ้อน เลือกตั้ง 2538 พ่อลูกตระกูลไกรฤกษ์ ย้ายมาสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นการลงสนามครั้งสุดท้ายของโกศล หลังพบความพ่ายแพ้ ขณะที่จุติได้คะแนนอันดับหนึ่ง และอยู่กับพรรค ปชป.มาจนถึงปัจจุบัน นอกจากการเป็นนักการเมืองอาชีพตามรอยบิดา โกศล ไกรฤกษ์ ยังเป็นนักลงทุน นักเล่นหุ้นระดับยอดเซียน กระทั่งขอซื้อใบอนุญาตบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์โครงการทรัสต์ 4 เมษาจากรัฐบาล ในนาม บงล.ตะวันออกไฟแนนซ์ พัฒนาไฟแนนซ์ จนมีขนาดใหญ่โต วิกฤตต้มยำกุ้ง สถาบันการเงินล้มหายตายจากไปจำนวนไม่น้อย ตะวันออกไฟแนนซ์ อยู่ในกลุ่ม 16 ไฟแนนซ์รอบแรกที่ถูกสั่งปิด สมัยรัฐบาลชวลิต บั้นปลายชีวิตของโกศล ยังเล่นหุ้นตามสูตรนักเลงโบราณ และใช้ชีวิตส่วนตัวอยู่ในไร่อยู่ที่ อ.วังทอง จ.พิษณุโลก รับอุปการะลูกหลานชาวไทยและชาวเขาที่ยากจนในเขตนครไทยและวังทอง ให้ทำงานอยู่ในไร่ และบางคนก็ส่งเรียนจนจบการศึกษาชั้นสูงหลายคน โกศล อดีต ส.ส.หลายสมัย และรัฐมนตรีหลายกระทรวง เสียชีวิตเมื่อ 2 กรกฎาคม 2547 ด้วยวัย 78 ปี เหลือไว้แต่ตำนานนักเลงโบราณ และหัวหน้าพรรคอิสระ ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย เรื่อง: ชน บทจร ภาพประกอบ: อภิญญา มาลยาภรณ์ ที่มา: บันทึกการเมืองไทย โดย มูลนิธิเอเชีย หนังสือเฉพาะกิจประชาชาติ เลือกตั้ง 2518 ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ นักการเมือง 4 ทศวรรษ โดย อภิวัฒน์ วรรณกร เลือดสีน้ำเงิน ซ้ายไม่จริง ขวาไม่แท้ และประชาธิปไตยในอุดมคติ โดย ปฐมาวดี วิเชียร์นิตย์