08 ส.ค. 2562 | 12:58 น.
ย้อนไปเมื่อราว 10 ปีที่แล้ว พลัม–จุฑาฑัตต เหล่าธรรมทัศน์ อาจนึกภาพตัวเองในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่ออก เพราะเธออาจเป็น “นักธุรกิจ” ผู้กุมบังเหียนรีสอร์ทหรูระดับ 5 ดาวของครอบครัวที่ จ.กาญจนบุรี แต่วันนี้เมื่อเธอเลือกจะสวมหมวก “นักการเมือง” หญิงสาวที่กำลังจะเข้าสู่วัย 34 ปีในไม่ช้านี้ ได้รับบทบาทครั้งใหม่ในชีวิตเป็น ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ของพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) นอกเหนือจากสถานะเหรัญญิกของพรรค หลังจากที่ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล หัวหน้าพรรค และ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรค รปช. ไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ลาออกจากสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม ปี 2562 ทำให้ ทวีศักดิ์ ณ ตะกั่วทุ่ง เลขาธิการพรรคฯ ที่อยู่ในบัญชีรายชื่อลำดับที่ 5 เลื่อนขึ้นมาเป็น ส.ส. แต่เนื่องจากทวีศักดิ์มีปัญหาด้านสุขภาพที่อาจมีผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. จึงได้ยื่นขอลาออกเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ปี 2562 ทำให้ลำดับถัดมา คือ จุฑาฑัตต เหล่าธรรมทัศน์ ขยับขึ้นมาเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อแทน ในฐานะคนจากตระกูล “เหล่าธรรมทัศน์” และเป็นบุตรสาวคนโตของทายาทนักธุรกิจค้าข้าวระดับแนวหน้าของประเทศ จุฑาฑัตตมีประสบการณ์ด้านธุรกิจ ในฐานะเป็นผู้อำนวยการ “เทวมันตร์ทรา รีสอร์ตแอนด์สปา” โรงแรมระดับ 5 ดาว ที่ จ.กาญจนบุรี ซึ่งปัจจุบันมีน้องชายวัย 27 ปี “พลับ–จุฑาภัทร เหล่าธรรมทัศน์” อดีตนักร้องเด็กชื่อดัง เจ้าของเพลง “ใครใครก็ไม่รักผม” มารับหน้าที่เป็นผู้บริหารหนุ่มไฟแรงต่อจากพี่สาว จุฑาภัทร ผู้เป็นน้องชายที่แม้มีอายุห่างจากพี่สาว 7 ปี แต่คู่นี้ถือเป็นพี่น้องที่สนิทกันมาก ครั้งหนึ่งเขาเคยให้สัมภาษณ์ถึงพี่สาวไว้ว่า “เป็นคนที่จริงจังกับงานมาก” เมื่อครั้ง เทวมันตร์ทรา รีสอร์ตแอนด์สปา เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง จุฑาฑัตตให้สัมภาษณ์กับประชาชาติธุรกิจ เมื่อปี 2553 ว่า หลังเรียนจบปริญญาโท (สาขาบริหารระหว่างประเทศ ที่ Royal Holloway, University of London) เธอเป็นคนขอคุณพ่อมาคุมโครงการทั้งหมดที่ยังสร้างไม่เสร็จ หลังจากผู้รับเหมาทิ้งงาน ทำจนโรงแรมเริ่มเข้าที่เข้าทาง โดยเดินทางไปศึกษารายละเอียดทุกส่วนจากพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน พระราชวังบางปะอิน และอาคารของกระทรวงพลังงาน ซึ่งเป็นสไตล์โคโลเนียลสมัยรัชกาลที่ 6 ณ เวลานั้น จุฑาฑัตตเตรียมตัวเต็มที่สำหรับการสานต่อธุรกิจโรงแรม เพราะเตรียมตัวมาตั้งแต่ระดับเป็น “เด็กฝึกงาน” ซึ่งเธอฝึกงานภาคปฏิบัติที่โรงแรมโฟร์ซีซั่น “ขอทำแผนกแม่บ้าน เพราะคิดไว้ในใจ คิดว่าต้องมาทำโรงแรมให้คุณพ่อ จึงทุ่มเทเริ่มจากระดับล่าง ขัดห้องน้ำ ปูเตียง ถูพื้น ซักรีด ได้เห็นโครงสร้างแผนกแม่บ้าน ต้องประสานกับฝ่ายต้อนรับและจัดเลี้ยง เรียนจบเขียนใบสมัครงานเป็นพนักงานให้โฟร์ซีซั่น ทำหน้าที่คอยช่วยผู้จัดการทำเอกสาร” หญิงสาวเล่าไว้ แต่หาก “กฎของแรงดึงดูด” มีจริง “แรงดึงดูดทางการเมือง” ก็ดูจะมีพลังล้ำหน้าแรงดึงดูดด้านธุรกิจสำหรับจุฑาฑัตต อาจเริ่มด้วยกฎแห่งแรงดึงดูดแรก ในฐานะหลานสาวของนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ และนักการเมืองผู้ถูก ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตั้งฉายาจนสื่อใช้พาดหัวว่า “ไอ้หนุ่มซินตึ๊ง” อย่าง ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เจ้าของทฤษฎีทางการเมืองดัง “สองนคราประชาธิปไตย” ผู้ผันตัวมาเกือบสองทศวรรษลงสนามการเมืองในนามพรรคประชาธิปัตย์ พรรคมหาชน ก่อนจะเงียบหายไปทำงานด้านวิชาการและเขียนหนังสือ ก่อนกลับมาอีกครั้งกับพรรครวมพลังประชาชาติไทย ซึ่งหนนี้มากันแบบ “แพ็คเกจ” ทั้งลูกชายคือเขตรัฐ และหลานสาวคือจุฑาฑัตต ร่วมลงสมัครรับเลือกตั้งด้วยกัน หากย้อนไปไกลกว่านั้น “กฎแห่งแรงดึงดูด” ครั้งแรก เริ่มปรากฏในช่วงวัยยี่สิบต้น ๆ จุฑาฑัตตเคยเกี่ยวข้องกับงานการเมืองระยะสั้น ๆ เพราะเธอมีโอกาสได้ทำงานหน้าห้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยุค “มาดามติ้ง-พล.ท.หญิงพูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ” ภรรยาของ สุวัจน์ ลิปตพัลลภ ที่ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ช่วงปี 2551 กฎแห่งแรงดึงดูดเดียวกันนี้ยังทำหน้าที่ของมันต่อไป เมื่อจุฑาฑัตตคือ แนวร่วม กปปส. ผู้เดินเคียงข้าง “ลุงกำนัน” สุเทพ เทือกสุบรรณ นำพา “ม็อบนกหวีด” ออกตระเวนเดินเชิญชวนประชาชนให้ออกมาร่วมชุมนุมชัตดาวน์ กรุงเทพมหานคร ช่วงปี 2557 จนถูกสื่อรายงานว่าผู้หญิงที่คอยถือถุงผ้ารับเงินบริจาคให้ “ลุงกำนัน” คนนี้ คือ “เลขานุการส่วนตัว” ตอกย้ำความทรงจำด้วย เถกิง สมทรัพย์ ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมบลูสกายชาแนล ซึ่งมีบทบาทอย่างสูงในช่วงการชุมนุม กปปส. ระหว่างปี 2556-2557 ที่บลูสกายฯ ได้ติดตามถ่ายทอดสดการชุมนุมตลอด 24 ชั่วโมง ได้โพสต์เฟซบุ๊กตั้งค่าสาธารณะ เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม ปี 2562 โดยเถกิงได้โพสต์ภาพจุฑาฑัตต เดินคู่อยู่กับ สุเทพ เทือกสุบรรณ ช่วงการชุมนุม กปปส. พร้อมข้อความส่วนหนึ่งที่บรรยายไว้ว่า [caption id="attachment_10867" align="aligncenter" width="480"]