14 ต.ค. 2562 | 11:28 น.
เสกสรรค์ ประเสริฐกุล - ฝันค้างเดือนตุลา: มันเป็นเช่นนี้ตั้งแต่วันนั้น และยังคงเป็นเช่นนั้นจนถึงวันนี้ “ ถามว่าแล้วเจตนารมณ์ของการต่อสู้ 14 ตุลาคมคืออะไร เรื่องนี้จริง ๆ แล้วก็ไม่จำเป็นต้องเถียงกันอีก ก่อนการลุกขึ้นสู้ครั้งนั้นประชาชนไทยต้องเจ็บช้ำน้ำใจอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการนานหลายปี ความฝันก็ดีความแค้นก็ดีล้วนถูกบ่มเพาะมาจากสภาวะที่ปราศจากสิทธิเสรีภาพ สภาวะที่ศักดิ์ศรีความเป็นคนถูกเหยียบย่ำทำลาย ยังไม่ต้องเอ่ยถึงความลำบากยากแค้นในด้านชีวิตความเป็นอยู่ อันเนื่องมาจากการเมืองที่ผูกขาดและการปกครองที่ไม่เป็นธรรม ใช่หรือไม่ว่าสภาพดังกล่าวทำให้เราปรารถนาจะเห็นบ้านเมืองเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตย อยากเห็นประเทศไทยเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพ ความเสมอภาค และความเป็นธรรม มันเป็นเช่นนี้ตั้งแต่วันนั้น และยังคงเป็นเช่นนั้นจนถึงวันนี้” เสกสรรค์ ประเสริฐกุล อดีตผู้นำนักศึกษาในขบวนการประชาชน 14 ตุลาคม 2516 ได้ย้ำถึงเจตนารมณ์ของการเคลื่อนไหวเดือนตุลาคม พ.ศ. 2516 อีกครั้งหนึ่งเนื่องในวาระครบรอบ 40 ปี 14 ตุลาคมเมื่อปีพ.ศ. 2556 และต่อมาสำนักพิมพ์สามัญชนได้พิมพ์รวมเล่มไว้ในหนังสือชื่อ ‘ความฝันเดือนตุลา’ ทั้งหมดทั้งมวลเพื่อจะยืนยันว่า เจตนารมณ์ของ 14 ตุลา คือประชาธิปไตย ถามว่าเหตุใดในวาระ 40 ปีของเหตุการณ์นั้นจึงจำเป็นต้องออกมายืนยันอุดมการณ์กันอีกครั้ง ก็เพราะในระยะกว่าสิบปีที่ผ่านมาสถานภาพและความทรงจำของเหตุการณ์ 14 ตุลาคมในพื้นที่สาธารณะถูกตั้งคำถามอย่างหนักด้วยเหตุที่อดีตนักศึกษา ‘คนเดือนตุลา’[1] โดยเฉพาะกลุ่มที่ถูกเรียกว่าผู้นำนักศึกษาต่างออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองแบ่งข้างนิยามคุณค่าความหมายของชาติและประชาธิปไตย ที่ต่างกันออกไปและเป็นปฏิปักษ์ต่อกันอย่างสุดขั้วถึงขั้นปฏิเสธประชาธิปไตย บ้างก็เก็บตัวสงวนท่าที ทำมาหากินประกอบอาชีพ บ้างก็อยู่ในระดับชนชั้นนำและระวังรักษาสถานภาพของตน หลีกเลี่ยงที่จะเข้าร่วมในเวทีความขัดแย้งทางการเมืองแม้จะแอบมีใจให้บางกลุ่มบางฝ่าย อันที่จริงปรากฏการณ์เช่นนี้ก็มิใช่เรื่องเกินความคาดหมาย ทว่าสังคมไทยกลับคาดหวังต่อคนเดือนตุลามากเกินไป ในขณะเดียวกันคนเดือนตุลาเองก็ใช้ประโยชน์จากความเป็นคนเดือนตุลาล้นเกิน จนมีนักวิชาการบางท่านตั้งข้อสังเกตว่าอาจถึงเวลาแล้วที่ต้องส่งคนเดือนตุลา ‘เข้านอน’ ประกอบกับแนวทางการศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองในระดับโรงเรียนก็มิได้มุ่งให้คนรุ่นใหม่ ๆ เข้าใจถึงความสำคัญ นัยความหมายของ 14 ตุลาอย่างลึกซึ้ง ในสภาวะที่ตัวเหตุการณ์เริ่มลดความสำคัญจากพื้นที่สาธารณะกับตัวบุคคลถูกตั้งคำถาม อีกทั้งสภาพสังคมการเมืองปัจจุบันราวกับถูกย้อนกลับไปสู่ยุคก่อนช่วงเวลา 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 การออกมาทบทวนถึงแก่นของความปรารถนาในเดือนตุลาคมและสถานการณ์ความเป็นจริงทางการเมืองจึงจำเป็นและคนเดือนตุลาที่ยังพอให้คำตอบได้ว่าอะไรคือความใฝ่ฝันดั้งเดิมของ 14 ตุลาคม ก็คือ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล อดีตผู้นำนักศึกษาหนึ่งในไม่กี่คนที่ยังแสดงความคิดความเห็นผ่านปาฐกถาในวาระสำคัญ ๆ ในช่วงเวลา 6-7 ปีที่ผ่านมา จากปาฐกถาในวาระครบรอบ 40 ปี 14 ตุลาคมของเสกสรรค์ข้างต้นนั้น แสดงให้เห็นความปรารถนาของ 14 ตุลาคม ต่อรัฐและสังคมการเมืองที่ดี คือความฝันที่จะมี เสรีภาพ ความเสมอภาค และความเป็นธรรมในสังคม ความฝันเช่นนี้มิใช่สิ่งแปลกปลอมอื่นใด หากแต่เป็นความฝันของมนุษย์ชาติเป็นความต้องการขั้นพื้นฐานของสามัญชน ความฝันของเสรีชนที่ต้องการระบอบการปกครองที่เห็นความสำคัญของประชาชนเป็นใหญ่ และเป็นความหวังของเสรีชนที่อยู่ภายใต้ระบอบการปกครองแบบเผด็จการในทุกสังคม กระนั้น ในช่วงระยะเวลากว่าห้าปีที่ผ่านมาความฝันกับความจริงกลับถอยห่างออกไปเรื่อย ๆ เสรีภาพ ความเสมอภาค และความเป็นธรรมในสังคมมิใช่หมุดหมายหลักของสังคมหากแต่มีวาทกรรมเรื่องความดีและความเป็นไทยซ้อนทับและกลายเป็นอุดมการณ์ของรัฐบาลกับมวลชนที่เห็นคล้อยอีกกลุ่มใหญ่ ความดีและความเป็นไทยกลายเป็นปัญหาเมื่อมีการผูกขาดการนิยามไว้ที่รัฐเพียงลำพัง ซึ่งเสกสรรค์ได้ตั้งคำถามต่อประเด็นนี้ไว้ในปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 16 หัวข้อ "ประเทศไทยในความคิด ความคิดในประเทศไทย" เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2561ไว้ว่า “เราจะเห็นได้ว่าความเป็นคนดีในบริบทไทยมักมีนัยเรื่องความสัมพันธ์ทางอำนาจค่อนข้างมาก และเชื่อมโยงกับความคิดอำนาจนิยมอย่างแน่นหนา ‘คนดี’ กับ ‘คนรู้ดี’ มักจะแยกกันไม่ออก มันจึงเป็นฐานคิดที่สนับสนุนให้คนจำนวนน้อยมีอำนาจเหนือคนส่วนใหญ่ อีกทั้งเป็นอำนาจที่แทบจะไร้ขอบเขต ผมคงไม่ต้องพูดก็ได้ว่า concept ความเป็นคนดีแบบนี้ถูกนำมาใช้อย่างเข้มข้นที่สุดในช่วงต่อต้านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและสนับสนุนรัฐประหารเมื่อต้นปี 2557 ยามนั้นผู้นำการชุมนุมหลายท่านได้พูดถึงเรื่องนี้ บางท่านไปไกลถึงขั้นยืนยันว่าคนเราไม่เท่ากัน อำนาจทางการเมืองควรอยู่ในมือของคนดีเท่านั้นและคนไม่ดีไม่ควรมีสิทธิในเรื่องการเมืองปกครอง” “...แต่ความดีมันจบลงตรงจุดที่เริ่มบีบบังคับให้คนอื่นเป็นคนดีด้วย” “...ยังไง ๆ ความเป็นไทยก็ไม่ได้รวมถึงการมีสิทธิเสรีภาพและระบอบประชาธิปไตยเอาไว้เป็นเนื้อใน หากยังคงเน้นเรื่องการเชื่อฟังรัฐ และความภูมิใจในชาติแบบลอย ๆ ด้วยเหตุดังนี้แนวคิดเรื่องความเป็นคนไทย จึงถูกนำไปเสริมฐานะให้กับระบอบอำนาจนิยมอย่างเลี่ยงไม่พ้น ยิ่งในช่วงหลังรัฐประหาร 2557 ด้วยแล้ว คนที่เรียกร้องสิทธิเสรีภาพก็ดี พูดถึงประชาธิปไตยก็ดี หรือพูดถึงหลักสิทธิมนุษยชนก็ตาม ล้วนแล้วแต่ถูกเพ่งเล็งว่าความเป็นไทยบกพร่องทั้งสิ้น” “...ในโลกที่เป็นอยู่การยอมรับคุณค่าสากล เช่น สิทธิ เสรีภาพ และประชาธิปไตย ไม่ได้ขัดแย้งกับตัวตนความเป็นคนไทยโดยรวม แม้ว่าหลายท่านอาจจะยังยึดติดกับแนวคิดอนุรักษนิยมในบางเรื่องบางราว คุณค่าเหล่านี้ก็ไม่ได้ทำให้เราเป็นคนไทยน้อยลง อันที่จริงมันจะยิ่งส่งเสริมให้ประเทศเรามีฐานะและศักดิ์ศรีน่าภูมิใจมากขึ้นเสียด้วยซ้ำ มาถึงวันนี้ประเทศไทยมีเอกภาพของดินแดน และมี National Integration ในระดับที่เพียงพอแล้ว ไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่เราจะนิยามความเป็นไทยให้คับแคบอยู่แค่เชื่อฟังรัฐหรือเน้นแต่ปัญหาความมั่นคง จนกลัวการแตกแยกมากเกินไป ฝันร้ายของรัฐไทย ไม่ว่าจะมาจากยุคล่าอาณานิคมหรือยุคสงครามเย็น ควรจะถูกลืมได้แล้ว ถ้าทุกวันนี้รัฐไทยสามารถผูกมิตรตีสนิทกับศัตรูเก่าอย่างจีน หรือเวียดนามได้ แล้วจะมีเหตุผลอันใดที่ไม่ยอมรับคนไทยที่คิดต่างกัน” นอกจากปัญหาความดีและความเป็นไทยจะสวนทางกับสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคแล้วเสกสรรค์ยังชี้ให้เห็นการปรับตัวของรัฐราชการปัจจุบันที่เขาเรียกว่า รัฐชาติกึ่งจารีต ที่พยายามกำหนดยุทธศาสตร์ชาติเอาไว้ตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งครั้งล่าสุด ในปาฐกถา "การเมืองไทยกับสังคม 4.0" เมื่อเดือนมิถุนายน 2560 ว่านโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจโดยยกประเทศไทยไปสู่ประเทศรายได้สูง หรือที่เรียกกันว่า นโยบายไทยแลนด์ 4.0 และนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยกลไกประชารัฐเป็นมาสเตอร์แพลนในการช่วงชิงมวลชนและสร้างความชอบธรรมใหม่ของชนชั้นนำภาครัฐที่แยบยล เป็นส่วนหนึ่งของยุทธการยึดพื้นที่ทางการเมืองเพื่อสถาปนาอำนาจนำซึ่งมีการวางแผนที่เป็นระบบ ส่งผลให้ชนชั้นนำภาครัฐได้กลับมาสถาปนาอำนาจนำของตนและฟื้นบทบาทของรัฐราชการในยุคโลกาภิวัตน์ได้สำเร็จ นั่นก็หมายความว่าความฝันของคนเดือนตุลาที่จะสร้างรัฐและสังคมที่เป็นธรรม มีเสรีภาพ เสมอภาค กลับกลายมาเป็นรัฐที่ผูกขาดความคิดในเชิงคุณค่า การนิยามความดี คนดี และความเป็นไทยอย่างคับแคบอีกทั้งยังรวมศูนย์การบริหารปกครองแบบราชการโดยช่วงชิงมวลชนมาเป็นฐานความชอบธรรมด้วยกลไกประชารัฐ นับว่าถอยห่างจากปรารถนาที่จะเห็นประชาชนเป็นใหญ่ไปอีกไกล มาถึงจุดนี้ความฝันเดือนตุลาอาจยังต้องกลายเป็นฝันค้างไปอีกระยะเวลาหนึ่ง อย่างไรก็ตามลักษณะหนึ่งของนักรบสหายเก่าอย่างเสกสรรค์ก็ยังคงเชื่อมั่นในพลังประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มที่เรียกว่า ‘ฝ่ายประชาธิปไตย’ หลายครั้งที่ความคิดความเห็นของเสกสรรค์จากปาฐกถาต่าง ๆ มักแสดงให้เห็นภาพกว้างของการเมืองไทยแบบนักยุทธศาสตร์คือ กล่าวถึงรากเหง้าปัญหา พัฒนาการของมัน ปัญหาข้อบกพร่องที่ตกค้าง การแก้เกมของกลุ่มตัวละครต่าง ๆ ทางการเมือง และข้อเสนอทางออก แต่ในตอนท้ายก็อดไม่ได้ที่จะแสดงความเห็นต่อท่าทีของฝ่ายที่ตัวเขาเองเอาใจช่วยคือ ‘ฝ่ายประชาธิปไตย’ โดยชี้ข้อบกพร่องท่าทีแบบเตือนกันฉันมิตรแต่ไม่เกรงใจใคร แม้ว่าในภายหลังจะถูกฝ่ายประชาธิปไตยตอบโต้กลับอยู่เสมอก็ตาม ล่าสุดเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2562 เสกสรรค์ได้แสดงความห่วงใยต่อฝ่ายที่เชื่อว่าเป็นผู้สานฝันเดือนตุลา ในบทความเรื่อง “ประชาธิปไตยสยามยุทธ: แง่คิดเกี่ยวกับความขัดแย้งและพัฒนาการของระบอบการเมืองในประเทศไทย” ในหนังสือรวมบทความชื่อว่า อดีต ปัจจุบัน และอนาคตประชาธิปไตยไทย พิมพ์โดยคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไว้ว่า "อันที่จริงช่วงนี้นับเป็นโอกาสดีที่ขบวนประชาธิปไตยไทยจะหันไปศึกษาจุดอ่อนข้อบกพร่องของขบวนนักศึกษาปัญญาชนซึ่งเป็นกองหน้าของประชาธิปไตยในช่วงก่อน 6 ตุลาคม 2519 และความผิดพลาดของ Leadership สมัยพรรคไทยรักไทยก่อนที่จะเกิดรัฐประหาร 2549 การต่อสู้ทางการเมืองก็เหมือนการต่อสู้ในด้านอื่น ๆ ของชีวิต การประมาทดูเบาคู่ต่อสู้เป็นหนทางแห่งความตาย มีแต่ต้องเข้าใจท่ากระทำของฝ่ายตรงข้ามและรู้จักหยิบยืมพลังทางภววิสัยมาเกี่ยวร้อยกับความพยายามของตนเท่านั้น การขับเคลื่อนไปสู่จุดหมายจึงอาจปรากฏเป็นจริง" มาถึงวันนี้ผ่านมา 46 ปีหลังความฝันของประชาชนปรากฏบนถนนราชดำเนิน ตัวเหตุการณ์อาจไม่เป็นที่ระลึกถึงอย่างกว้างขวาง ตัวบุคคลร่วมเหตุการณ์ก็ไม่อาจทำหน้าที่นำสร้างความฝันต่อไปได้ ความฝันที่จะสร้างสังคมที่เป็นธรรมกลายมาเป็นความฝันที่ตกค้าง ในขณะที่ความฝันอันสูงสุดอาจไม่มีพื้นที่ให้กับประชาธิปไตย ทว่าเจตนารมณ์ของ 14 ตุลานั้นยังปรากฏในแววตาของคนที่ยังมีศรัทธาอีกจำนวนมาก ที่ยังหวังว่าประเทศไทยจะเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพ ความเสมอภาค และความเป็นธรรม นั่นหมายความว่าไม่ว่า 14 ตุลาคมจะเลือนหายไปหรือไม่ แต่พลังของมันยังคงอยู่เสมอ แน่นอนว่า มันยังคงเป็นเช่นนี้ตั้งแต่วันนั้น และยังคงเป็นเช่นนั้นจนถึงวันนี้ ... [1] เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ริเริ่มใช้คำว่า “คนเดือนตุลา” ครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ. 2539 ในวาระครบรอบ 20 ปี 6 ตุลา เพื่อเรียกกลุ่มคนที่ผ่านเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งในความเป็นจริงทั้งสองกลุ่มมีความต่างกันอยู่มากแต่มีจุดร่วมที่คล้ายกันคือต้องการสังคมประชาธิปไตย เรื่อง: พัชราภา ตันตราจิน ภาพ: ปกหนังสือเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ความฝันเดือนตุลา รวมปาฐกถาในวาระ 40 ปี 14 ตุลาคม. 2557 สำนักพิมพ์สามัญชน