12 ก.พ. 2563 | 09:32 น.
“ผมทนดูเขาโกงกันไม่ไหว ดูซิคุณ เขารวยกันเป็นล้าน ๆ ผมเป็นนายพลนุ่งกางเกงปะก้น เกิดมาผมยังไม่เคยเห็นเงินหมื่น”
เรื่องราวของ จอมพล ผิน ชุณหะวัณ นายทหารที่เริ่มชีวิตจากการเป็นนายสิบ และขึ้นสูงสุดได้ถึงจอมพล
เส้นทางชีวิตนายทหาร
ผิน ชุณหะวัณ เป็นบุตรของชาวสวนและแพทย์แผนโบราณ จากจังหวัดสมุทรสงคราม
เมื่ออายุได้ 16 ปี สมัครเข้าเรียนที่โรงเรียนนายสิบ กรมทหารที่ 4 ราชบุรี จากนั้นไปศึกษาต่อที่โรงเรียนนายร้อยทหารบก ร่วมรุ่นกับ จอมพล ป. พิบูลสงคราม (เจ้าของคำขวัญ “เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย”) และ พล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัส (อธิบดีกรมตำรวจชื่อดัง) โดยได้เป็นร้อยตรีใน พ.ศ. 2459
จากนั้นก็เจริญก้าวหน้าตามลำดับ จนที่สุดปี 2471 ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หลวงชำนาญยุทธศาสตร์ และได้เป็นพันตรีในปีต่อมา
หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 ผินก็ยังคงรับราชการเรื่อยมาจนได้เป็นพลตรี ในปี 2484 และมีบทบาททางทหารมากพอสมควรในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เป็นทั้งข้าหลวงทหารประจำสหรัฐไทยเดิม ผู้ช่วยแม่ทัพกองทัพพายัพ จนเมื่อจอมพล ป. พ้นจากอำนาจก่อนมหาสงครามสงบลง ผินก็ออกจากประจำการในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ปี 2488
หัวหน้าคณะรัฐประหาร
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงแล้ว ภาวะเศรษฐกิจมีปัญหามาก ประชาชนเดือดร้อนจากการขาดแคลนข้าวบริโภค เงินเฟ้อ ค่าเงินตกต่ำ มีการเปลี่ยนรัฐบาลถึง 7 ชุดในเวลา 2 ปี ทั้งรัฐบาลยังต้องเผชิญปัญหาการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ รวมถึงกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 ผนวกกับความไม่พอใจของฝ่ายทหารบกที่รู้สึกว่าตนมีอำนาจและศักดิ์ศรีลดลง จึงทำให้ผินและพวกลงมือก่อการรัฐประหารรัฐบาล พล.ร.ต. ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
ดังที่เขาเล่าว่า ในช่วงเวลานั้น “ประชาชนในพระนครเกิดอลเวงคล้ายบ้านเมืองไม่มีขื่อมีแป ตามร้านขายอาหารขายกาแฟและโรงมหรสพ กล่าวติเตียนรัฐบาลแซ่ไปหมดเหลือที่จะฟังได้ บางคนกล่าวขึ้นดังๆ ว่า ‘อ้ายคนดีที่รักชาติไปมุดหัวนอนกันอยู่ที่ไหน ไม่ช่วยปราบปรามให้มีความสงบ’”
เมื่อประชาชนเรียกร้องคนดีที่รักชาติ เมื่อชาติเผชิญพาลภัย ผินจึงขอเป็นคนที่เดินเข้ามา ไม่อาจให้สายไป
หลังจากผินทำรัฐประหารสำเร็จแล้วในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 วันรุ่งขึ้นเขาให้สัมภาษณ์นักข่าวที่กระทรวงกลาโหม ถึงสาเหตุที่ลงมือก่อการ
“เพราะว่าได้รับราชการมาถึง 40 ปี เมื่อถูกปลดเป็นกองหนุนแล้ว ก็ว่างงานสบายตัว เพราะได้บํานาญถึง 500 บาท และมีสองคนผัวเมีย ลูกเต้าเป็นฝั่งเป็นฝาไปหมดแล้ว แต่มาโทมนัสว่า บ้านเมืองเป็นอย่างนี้อยู่ในภาวะเสื่อมโทรม จึงไม่สามารถทนดูได้”
ผินยังกล่าวโจมตีนักการเมืองไว้ด้วยว่า “ผู้แทนเอาเงินไปให้ราษฎรแลกซึ่งไม่ใช่หน้าที่เลย เพราะมีเจ้าหน้าที่พร้อมอยู่แล้ว คลังจังหวัดก็มี เจ้าหน้าที่เหล่านี้ไม่มีความสามารถหรือ ถ้าทำไม่ได้ทำไมไม่ไล่ออกไป แล้วผู้แทนแลกกลับมาได้กี่คน ตั้งองค์การสรรพหารเอาเงินมาแบ่งกันกินกำไรกัน”
และกล่าวถึงความทุกข์ยากของพี่น้องประชาชนด้วยน้ำตานองหน้าว่า “พูดถึงชาวนามันเหลือทน ไปทำนาอยู่หนึ่งปีมันเหนื่อยยากแสนสาหัส ต่างประเทศสั่งจอบมาช่วยชาวนา แต่ผู้แทนกลับเซ็งลี้เอาไปขายพ่อค้าเสีย แล้วพ่อค้าก็ไปเอากำไรกับชาวนาอีกต่อหนึ่ง เป็นการทำนาบนหลังคน จึงพร้อมใจกันเริ่มก่อการัฐประหารทันที…”
ทั้งยังประกาศจุดยืนต่อต้านคอร์รัปชันอีกว่า “ผมทนดูเขาโกงกันไม่ไหว ดูซิคุณ เขารวยกันเป็นล้านๆ ผมเป็นนายพลนุ่งกางเกงปะก้น เกิดมาผมยังไม่เคยเห็นเงินหมื่น”
นายทหารเจ้าน้ำตา
การให้สัมภาษณ์ด้วยน้ำตาเช่นนี้ ทำให้ผินได้รับฉายาว่าเป็น “บุรุษผู้รักชาติจนน้ำตาไหล” บ้าง “จอมพลเจ้าน้ำตา” บ้าง เพราะทุกครั้งที่ให้สัมภาษณ์เรื่องการรัฐประหารครั้งนี้ น้ำตาของเขาก็มักไหลออกมาด้วยความตื้นตัน
กลับมารับราชการทหารอีกครั้ง
ในด้านการเมือง การรัฐประหารของผินและพวกนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่มีการฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง แล้วประกาศใช้รัฐธรรมนูญของคณะรัฐประหารมาแทนที่ ขณะในด้านส่วนตัว จากพลโทนอกประจำการ ผินกลับเข้ารับราชการอีกครั้งในตำแหน่ง รองผู้บัญชาการทหารบก ในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2490 และได้เป็น ผู้บัญชาการทหารบก ในกลางปี 2491 ซึ่งผินกินตำแหน่งนี้อยู่เกือบจะครบ 6 ปีเต็ม จึงลงจากตำแหน่งในปี 2497 ทั้งนี้เขาได้รับพระราชทานยศจอมพลในปี 2495
ผินนับเป็นนายทหารที่ไต่เต้าเอาดีได้อย่างน่าสนใจ เริ่มชีวิตจากการเป็นนายสิบ และขึ้นสูงสุดได้ถึงจอมพล
สำหรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แม้จะเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร แต่ผินปฏิเสธที่รับ โดยให้เหตุผลว่าไม่เจนจัดทางการเมือง ไม่เชี่ยวชาญภาษาต่างประเทศ และนับถือจอมพล ป. จึงขอดำรงตำแหน่งเพียงรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรในรัฐบาลของจอมพล ป. แทน
ธุรกิจของเขา
หลังจากที่ “เกิดมาผมยังไม่เคยเห็นเงินหมื่น” การเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารก็ทำให้ผินมีฐานะดีขึ้นตามลำดับ จากการเข้าไปมีบทบาทในการผูกขาดกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศ ในนาม “กลุ่มราชครู” ซึ่งเป็นคนในตระกูลชุณหะวัณ อดิเรกสาร และสิริโยธิน ที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวดองกัน โดยแต่งตั้งคนของตนเข้าไปเป็นคณะกรรมการบริหารบริษัทข้าวไทย ไทยนิยมพาณิชย์ และรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ
นอกจากนี้ กลุ่มราชครูยังได้ตั้งบริษัทการค้าใหม่ ๆ อีกหลายแห่ง เช่น ธุรกิจส่งออกข้าว ซึ่งในอดีตบริษัทข้าวไทยผูกขาดการค้าอยู่ ก่อตั้งบริษัทจัดจำหน่ายสินค้าขึ้นอีกหลายแห่งเพื่อมาแทนที่บริษัทไทยนิยมพาณิชย์ เข้าดำเนินงานในธนาคารเอเชียเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรม และธนาคารกรุงศรีอยุธยา รวมถึงสร้างความสัมพันธ์กับนายชิน โสภณพนิช และกลุ่มธนาคารกรุงเทพ ด้วยการทำธุรกิจหลายประเภท เช่น ทองคำ เนื้อหมู อัญมณี การค้าไม้ และก่อตั้งบริษัทส่งเสริมเศรษฐกิจแห่งชาติ ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการทางการเงินแก่ธุรกิจแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ตลอดจนบริษัทเพื่อผลิตสินค้าป้อนให้รัฐบาล เช่น เครื่องแบบตำรวจ อาวุธ และวัสดุก่อสร้าง
เรื่อง: กษิดิศ อนันทนาธร
อ้างอิง:
กรมโฆษณาการ, ข่าวโฆษณาการ ปีที่ 10 ฉบับที่ 11 ประจําเดือน พฤศจิกายน 2490, หน้า 1058-1062.
ผาสุก พงษ์ไพจิตร, คริส เบเกอร์, เศรษฐกิจการเมืองไทยสมัยกรุงเทพฯ, พิมพ์ครั้งที่ 3 (เชียงใหม่: ซิลค์เวอร์ม, 2546), หน้า 153-154.
สุชิต ตันติกุล, รัฐประหาร พ.ศ. 2490 (กรุงเทพฯ: มติชน, 2557), หน้า 30-75, 88-89, 100-101.
อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ จอมพล ผิน ชุณหะวัณ (ณ วัดพระศรีมหาธาตุ วันจันทร์ที่ 7 พฤษภาคม 2516), หน้า 84.