23 ก.ค. 2563 | 19:16 น.
เมื่อโลกของเราก้าวสู่ยุค 50-70s ถือเป็นช่วงที่เรื่องเพศเข้มข้นมากกว่าช่วงไหน ๆ แม้ห้วงเวลานั้นกฎหมายและข้อบังคับจำนวนไม่น้อยจะกดดันให้ผู้คนจมอยู่กับเพศสภาพแต่กำเนิดของตัวเอง โดยไม่ถามความเต็มใจว่าต้องการจะเป็นหรือไม่ แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่คนข้ามเพศจำนวนไม่น้อยระเบิดความอดกลั้นจากการถูกกลั่นแกล้งด้วยการโต้ตอบรุนแรง บ้างก็ออกมาเดินขบวนอย่างสันติ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความต้องการแท้จริงของตัวเอง พ้นยุค 50-70s ประเด็นเรื่องเพศยังคงถูกยกมาถกเถียงถึงปัจจุบัน สถานการณ์หลายพื้นที่บนโลกเริ่มดีขึ้น หลายประเทศคนรักเพศเดียวกันหรือคนข้ามเพศสามารถจดทะเบียนสมรสกันได้ มีสิทธิและคุณภาพชีวิตดีขึ้น ประเด็นเพศที่สามหรือการรักเพศเดียวกันกลายเป็นเรื่องเกือบจะปกติในสังคม (ใช้คำว่าเกือบเพราะในโลกแห่งความจริงยังมีหลายคนที่เดือดเนื้อร้อนใจรับไม่ได้อยู่ดี) แต่ดินแดนหลายแห่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลับยังคงมีกระแสการกีดกันเรื่องเพศรุนแรงไม่ต่างจากโลกช่วงยุค 70s ซูลกีฟลี มูฮัมหมัด อัล-บากรี (Zulkifli Mohamad Al-Bakri) ผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีฝ่ายกระทรวงศาสนาแห่งมาเลเซีย สร้างประเด็นร้อนไปทั่วโลกโซเชียล เริ่มมีกระแสลุกลามไปยังต่างประเทศ หลังเขาอนุญาตให้กรมศาสนาอิสลามแห่งสหพันธรัฐดินแดน หรือกรมศาสนาอิสลามประจำเขตรัฐบาลกลาง (JAWI) สามารถดำเนินการตามเหมาะสมหากจำเป็นต่อกลุ่มคนรักเพศเดียวกันและคนข้ามเพศอย่างเต็มรูปแบบ เช่น การจับกุมตัวในข้อหาวิกลจริต จับกุม สั่งปรับด้วยข้อหาผิดศีลธรรม หรือกระทำการใด ๆ เพื่อกระตุ้นให้พวกเขา ‘เดินกลับมายังเส้นทางที่ถูกต้อง’ การเข้าจับกุมชาวบ้านที่มีรสนิยมแตกต่างจากคนส่วนใหญ่ สร้างความรู้สึกสะเทือนใจแก่ผู้พบเห็นไม่น้อย แม้ในสังคมของมาเลเซียจะยังไม่ยอมรับถึงการมีอยู่ของชาว LGBTQ+ เท่าไหร่นัก แต่การจับกุมคนเพียงเพราะเขารักชอบเพศเดียวกัน หรือเป็นชายแต่งหญิงถือว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน รุกล้ำความปลอดภัยส่วนบุคคล ถ้อยคำที่ออกมาแถลงแต่ละครั้งของรัฐมนตรีซูลกีฟลีสร้างความเดือดดาลแก่กลุ่มนักเคลื่อนไหว LGBTQ+ อย่างมาก มองว่าการอนุญาตให้กรมศาสนาดำเนินการตามเหมาะสม คือการเปิดช่องว่างให้คนกลุ่มหนึ่งใช้ความรุนแรงกับประชาชนหรือคนด้อยกว่าโดยเอาศาสนามาอ้าง จึงเกิดการโต้กลับรัฐมนตรีผ่านเฟซบุ๊กว่า “ไม่ต้องพูดเยอะ คุณก็แค่คนที่เกลียดชังคนข้ามเพศเท่านั้นเอง” เขาอาจจะเกลียดชังผู้หลากหลายทางเพศจริงหรือไม่คงไม่มีใครรู้ แต่สิ่งที่น่าแปลกใจคือท่าทีเมื่อหลายปีก่อนของซูลกีฟลีไม่รุนแรงเท่าปัจจุบัน เขาเคยกล่าวในที่สาธารณชนเพื่อปกป้องชาวเกย์ด้วยท่าทีขึงขังว่า “ตราบใดที่พวกเขาไม่ได้ใช้อัตลักษณ์ของตัวเองทำเรื่องผิดกฎหมายหรือผิดศีลธรรม พวกเขาก็ควรจะได้รับการยอมรับในศาสนาอิสลาม” ทว่าตอนนี้ ท่าทีของเขาไม่เหมือนวันเก่าอีกต่อไป ช่วงต้นปี 2019 เคยมีข่าวดังก้องโลกเมื่อ ซาฟรีย์ อิเลียส (Safiey Ilias) เศรษฐีข้ามเพศชาวมาเลเซีย ถูกกลุ่มผู้นำศาสนาบีบบังคับให้กลับมาแต่งตัวแบบผู้ชาย ให้ใช้ท่าทางแบบผู้ชาย แนะนำว่าควรมีคู่ครองเป็นผู้หญิงเหมือนกับผู้ชายทั่วไป หลังจากเธอโพสต์ภาพถ่ายของตัวเองที่มีไลฟ์สไตล์หรูหรา รีวิวเครื่องสำอาง นั่งเรือยอชต์พร้อมแต่งหญิงด้วยชุดบิกินี มีชื่อเสียงโด่งดังในฐานะเจ้าแม่รีวิวผู้ร่ำรวย ซึ่งการกระทำของเธอสร้างความขุ่นเคืองใจให้กับกลุ่มผู้นำศาสนาและคนเคร่งศาสนาในมาเลเซีย ซาฟรีย์ออกมายอมรับว่ารู้สึกถึงแรงกดดัน มีบุคคลทางศาสนาหลายคนพยายามจะนัดเจอ จิบชาเพื่อพูดคุย ซึ่งเธอได้ออกมาแสดงความรู้สึกผ่านอินสตาแกรมส่วนตัวว่า “ไม่ใช่ว่าฉันไม่อยากพบท่าน (ผู้นำศาสนา) แต่สังคมคาดหวังกับฉันมากเกินไป พวกเขาคิดว่าหลังจากได้พบกันแล้ว ฉันก็จะกลับไปเป็นผู้ชาย” กรณีของซาฟรีย์เป็นเพียงเศษเสี้ยวเล็ก ๆ ของกลุ่มคนข้ามเพศและผู้หลากหลายทางเพศในมาเลเซียที่ถูกละเมิด มีคดีทำร้ายร่างกายชาว LGBTQ+ จำนวนมาก หลายคนถูกข่มขู่ เจ้าหน้าที่ตำรวจหลายคนทำร้ายชาวเกย์ หญิงสาวสองคนในรัฐตรังกานูถูกจับเพราะเป็นคู่รักกัน หรือกรณีชายแปดคนรุมทำร้ายสาวทรานส์คนหนึ่งจนม้ามแตก คนที่เปิดเผยรสนิยมของตัวเองหลายคนถูกบังคับให้กลับไปแต่งตัวตามเพศแต่กำเนิด ทำให้คนอื่น ๆ ที่เห็นกรณีตัวอย่างเหมือนหนังฉายซ้ำไม่กล้าเปิดเผยตัวตน เลือกหลบซ่อนตัวอยู่ตามซอกหลืบของสังคมมาเลเซียพร้อมกับความรู้สึกกดดันหมดหวัง ความรู้สึกเกลียดชังคนข้ามเพศยังส่งผลกระทบถึงนักท่องเที่ยวผู้มาเยือน เมื่อมีข่าวดังว่าคู่รัก LGBTQ+ ชาวเวียดนามถูกจับขึ้นโรงพัก ดำเนินคดีข้อหากระทำกิจกรรมขัดต่อศีลธรรม ถูกปรับเงินไปราว 7,000 บาท ทั้งที่พวกเขาไม่ได้นับถืออิสลามหรือเป็นชาวมาเลเซียด้วยซ้ำ จากกรณีตัวอย่างหลายต่อหลายครั้ง รวมถึงโลกโซเชียลที่กระหน่ำซ้ำเติมนโยบายดังกล่าว ซูลกีฟลีออกมากล่าวกับสื่อว่าเขาและ JAWI ไม่มีเจตนาใช้อำนาจในทางที่ผิด เพื่อดำเนินคดีกับกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ ไม่ได้จับกุมใครตามใจชอบ พร้อมเปิดอกพูดคุยร่วมอภิปรายร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) และตัวแทนกลุ่ม LGBTQ+ ในภายภาคหน้า พร้อมหวังว่าการเจอกันของคนหลายกลุ่มจะช่วยให้สังคมหาจุดกึ่งกลางเกี่ยวกับประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศได้ อย่างไรก็ตาม นายซูลกีฟลีกล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า การประชุมร่วมกันในอนาคตจะต้องคำนึงถึงขอบเขตที่รับได้เป็นสำคัญ เพื่อรักษาความสามัคคีต่อคนในประเทศ เชื้อชาติ และศาสนา ที่มา https://www.vice.com/en_uk/article/ep45dp/malaysian-official-grants-full-license-arrest-educate-transgender https://www.nst.com.my/news/crime-courts/2019/11/541938/gay-vietnamese-tourists-fined-committing-immoral-act-penang-hotel https://www.thesundaily.my/local/zulkifli-ready-to-meet-ngos-over-lgbt-related-issues-XI2930213 http://www.astroawani.com/berita-malaysia/cari-titik-persefahaman-kerajaan-sedia-bertemu-golongan-lgbt-ngo-zulkifli-251771 https://www.malaymail.com/news/malaysia/2019/01/08/dreading-expectations-transgender-safiey-declines-muftis-invite-to-tea/1710229 https://www.scmp.com/week-asia/politics/article/3093482/outcry-malaysian-minister-calls-arrest-and-educate-transgender เรื่อง: ตรีนุช อิงคุทานนท์