11 ก.ย. 2563 | 15:35 น.
หากนึกถึงสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของเอเชีย ชื่อแรกที่คนส่วนใหญ่นึกถึงคงจะหนีไม่พ้น อิเมลดา มาร์กอส แห่งฟิลิปปินส์ หรือ รอสมาห์ มานซอร์ แห่งมาเลเซีย ที่ขึ้นชื่อเรื่องการโกงชาติด้วยกันทั้งคู่ ทว่ายังมีสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งแห่งเอเชียอีกคน ที่มีชีวิตจัดจ้าน เต็มไปด้วยสีสัน ไม่มีเรื่องอื้อฉาวจากการคอร์รัปชัน ทว่ากลับขึ้นชื่อเรื่องความงามและวีรกรรมชวนตะลึงอย่าง รัตนา ซารี เดวี ซูการ์โน สตรีที่ถูกขนานนามว่าเป็น ‘ซินเดอเรลล่าแห่งเอเชีย’ ก่อนจะกลายเป็น รัตนา ซารี เดวี ซูการ์โน เธอมีชื่อว่า เนโมโตะ นาโอโกะ (Nemoto Naoko) เป็นเด็กสาวที่สนใจด้านศิลปะการแสดง ฝันอยากเป็นนักร้องโอเปร่าหรือนักเขียนชื่อดัง ทว่าพ่อของเธอเสียตั้งแต่ตอนเด็ก ๆ ฝันที่อยากเป็นนักเขียนต้องพับเก็บไปก่อน เธอต้องช่วยแม่หาเลี้ยงตัวเองและน้องชาย พอได้ร่วมแสดงละครเวทีของโรงเรียน จึงเบนเข็มจากนักเขียนมามองงานในวงการบันเทิงที่ดูจะทำเงินมากกว่า
เรายากจน แต่ก็บ่นอะไรไม่ได้
บ้านของนาโอโกะอยู่เขตมินาโมโตะในนครโตเกียว หลังจากเรียนเสร็จนาโอโกะทำงานพิเศษเป็นพนักงานต้อนรับอยู่ที่คลับหรูย่านกินซ่าใกล้กับโรงแรมอิมพีเรียล ช่วงที่เธอทำงานพิเศษ ซูการ์โน (Soekarno) ประธานาธิบดีคนแรกแห่งอินโดนีเซียมาเยือนญี่ปุ่นเมื่อปี 1959 คงไม่มีใครคาดคิดว่า ณ คลับเล็ก ๆ ในกินซ่าที่ซูการ์โนไปนั่งดื่ม เขาจะพบกับเด็กสาวที่ตัวเองไม่อาจละสายตาได้เลย แรกพบเมื่อประธานาธิบดีซูการ์โนเจอกับนาโอโกะ เธออายุเพียง 19 ปี ขณะที่ผู้นำอินโดนีเซียมีอายุย่างเข้า 58 ปี อย่างที่บอกว่าเขาชอบพอสาวงามชาวญี่ปุ่นคนนี้เอามาก ๆ นาโอโกะเป็นผู้หญิงสวย ตากลมโต โครงหน้าชัด จมูกโด่งเป็นสันล้อกับริมฝีปากบางเป็นรูปกระจับ ประกอบกับกิริยามารยาทแบบสาวญี่ปุ่นที่เขาไม่ได้พบเจอบ่อยนัก ทำให้ประธานาธิบดีเทียวไล้เทียวขื่อตามจีบนาโอโกะนานเป็นปี ชวนเธอดื่มชา คุยเรื่องประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น และมักหยอดคำหวานก่อนบินกลับไปทำงาน ในที่สุดประธานาธิบดีซูการ์โนขอเธอแต่งงานด้วยประโยคชวนให้ใจอ่อน “ได้โปรดมาเป็นแรงบันดาลใจและความเบิกบานในชีวิตผมจะได้ไหม ?” จนสุดท้ายนาโอโกะยอมตกลงปลงใจบินไปใช้ชีวิตที่อินโดนีเซียและแต่งงานกับประธานาธิบดี นาโอโกะนับเป็นภรรยาคนที่ 5 (นับรวมทั้งภรรยาที่หย่าแล้วและยังไม่ได้หย่า) ของผู้นำอินโดนีเซีย จากเด็กสาวชาวโตเกียวแปรเปลี่ยนเป็นสตรีหมายเลขหนึ่ง สามีของเธอตั้งชื่อแบบชาวอินโดว่า รัตนา ซารี เดวี ซูการ์โน (Ratna Sari Dewi Sukarno) ที่มีความหมายว่า ‘เทพีผู้เป็นดั่งเนื้อแท้ของมณี’ แม้ชีวิตอาจโรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่การปรับตัวช่วงแรกเริ่มไม่ง่ายอย่างที่คิด ต้องเรียนภาษาชวาและมลายู เรียนรู้วัฒนธรรมที่แตกต่างเพื่อปรับตัวให้เร็วที่สุด ถึงจะยากแต่สามีคอยให้กำลังใจเสมอ บางวันก่อนออกไปทำงานเขาทิ้งโน้ตไว้ ‘ถึงต้องไปประชุมกับคณะรัฐมนตรี แต่หัวใจของผมอยู่ที่คุณเสมอ’ หรือบางวันก็เขียนโน้ตว่า ‘ความรักของผมที่มีให้คุณยาวกว่าผมของคุณมากเลยทีเดียว’ (ตอนนั้นเธอไว้ผมยาวเลยเอว) โดยนางเดวีบอกว่าเธอยังเก็บโน้ตมากกว่า 500 แผ่นของสามีไว้ตลอด การย้ายมาอยู่บนแผ่นดินอินโดนีเซียของเธอได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์มากมาย บางส่วนรู้สึกเฉย ๆ บางคนชื่นชมความงามชวนตะลึงของเธอ เมื่อมีคนชมชอบก็ต้องมีคนเกลียด ชาวอินโดนีเซียบางส่วนที่ไม่ชอบใจที่เห็นคนญี่ปุ่นมีหน้ามีตาในสังคม เนื่องจากพวกเขายังฝังใจกับการกระทำโหดร้ายของทหารญี่ปุ่นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 รัตนา เดวี เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามตามสามี เมื่อถึงคราวต้องออกงานสังคม เธอจะแต่งกายด้วยชุดประจำชาติของอินโดนีเซียแทบทุกงาน อาจเป็นการบอกกับประชาชนกลาย ๆ ว่าเธอพร้อมปรับเปลี่ยนตัวเองให้เข้ากับสังคมและวัฒนธรรมของพวกเขา เดวีใช้ชีวิตคู่อยู่กับประธานาธิบดีอย่างมีความสุข ใคร ๆ ต่างรู้ว่าสามีหลงรักภรรยาคนนี้เอามาก ๆ ถึงกับแต่งตั้งเธอให้เป็นที่ปรึกษาทั้งที่เธอจบแค่มัธยมปลาย ส่วนประธานาธิบดีซูการ์โนจบปริญญาเอกและมีประสบการณ์ทางการเมืองมากกว่าใคร เป็นรัฐบุรุษที่มีส่วนช่วยนำเอกราชมาสู่อินโดนีเซียหลังตกเป็นอาณานิคมของเนเธอร์แลนด์ (สมัยนั้นเรียกว่าฮอลันดา) มาเป็นเวลานาน การแต่งตั้งดังกล่าวก่อให้เกิดเสียงวิจารณ์ว่าไม่เหมาะสม ทว่าเดวียังคงท่าทีสุภาพอ่อนน้อมต่อสาธารณชนดังเดิมไม่เปลี่ยนไปจากวันแรก ๆ ที่มาอยู่ในประเทศ แต่เธอเป็นผู้หญิงที่เต็มไปด้วยความมั่นใจ บอกกับทุกคนว่าเขาไม่ได้เลือกเธอเพราะสวย เขาเลือกเพราะเธอเป็นชาวต่างชาติที่แสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา “ลองนึกภาพตัวเองอยู่บนยอดภูเขาฟูจิแล้วมองลงมายังพื้นดิน คุณจะเห็นแต่ปุยเมฆหนา นั่นคือคนที่ห้อมล้อมอยู่รอบตัวและพยายามทำทุกอย่างเพื่อเอาใจคุณ แต่ฉันไม่ได้เป็นอย่างนั้น” หลังใช้ชีวิตอยู่ในอินโดนีเซียเพียง 5 ปี เหตุการณ์ทางการเมืองครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งได้เปลี่ยนชีวิตของเธออีกครั้ง นายพลซูฮาร์โต (Soeharto) ลูกน้องคนสนิทของประธานาธิบดีซูการ์โนตัดสินใจทำรัฐประหาร ยึดอำนาจและไล่ซูการ์โนลงจากตำแหน่ง ไม่ใช่ว่าประธานาธิบดีซูการ์โนไม่รู้ว่าลูกน้องคนสนิทวางแผนคิดทำอะไร ก่อนถูกทำรัฐประหารภรรยาของเขากำลังท้องแก่ใกล้คลอด ประธานาธิบดีซูการ์โนจึงตัดสินใจส่งเดวีกลับญี่ปุ่นเพื่อจะได้คลอดลูกอย่างปลอดภัย แล้วสุดท้ายเขาถูกยึดอำนาจจริง ๆ ช่วงบั้นปลายของชีวิตซูการ์โนอยู่กับ ฮาตินี (Hartini) ภรรยาคนที่ 4 ไม่ได้อยู่กับภรรยาคนที่เขารักมาก ไม่ได้เห็นหน้าลูกสาวที่เพิ่งคลอด มีชีวิตอยู่หลังถูกทำรัฐประหารราว 3 ปี ก่อนจากไปอย่างสงบในปี 1970
“เขามอบความรักให้ฉันในทุกวินาทีของทุกวัน”
-นางเดวี ซูการ์โน กล่าวถึงสามีตัวเอง
รัตนา เดวี กลายเป็นหญิงม่ายพลัดถิ่นต้องโยกย้ายไปอยู่หลายเมือง ตอนแรกอยู่ญี่ปุ่นแต่ต้องย้ายไปสหรัฐอเมริกา เพราะรัฐบาลญี่ปุ่นสนใจอยากผูกมิตรกับผู้นำอินโดนีเซียคนใหม่ จากนั้นจึงค่อยย้ายไปฝรั่งเศส เมืองที่ขึ้นชื่อว่ามีน้ำใจต่อผู้ลี้ภัยการเมือง รวมถึงใช้ชีวิตอยู่สวิตเซอร์แลนด์ ก่อนกลับบ้านเกิดอีกครั้งเมื่อปี 2008 ปีเดียวกับการตายของประธานาธิบดีซูฮาร์โต และใช้ชีวิตอยู่ที่ญี่ปุ่นจนถึงปัจจุบัน คนไทยหลายคนอาจเคยเห็นเธอในรายการโทรทัศน์ญี่ปุ่นชื่อ โกโกริโกะ เกมส์กึ๋ยส์ (Cocorico) ชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่เรียกเธอว่า ‘มาดามเดวี’ มากกว่ารัตนา เดวี หรือชื่อเก่าอย่างนาโอโกะ ส่วนคนไทยที่ดูรายการนี้จะคุ้นกับชื่อ ‘คุณหญิงเดวี’ หลังจากต้องลี้ภัยทางการเมืองและใช้ชีวิตแบบไม่ติดที่เป็นเวลานาน จากหญิงสาวที่มีบุคลิกอ่อนโยน ยิ้มแย้มอยู่ตลอด เริ่มแปรเปลี่ยนเป็นสาววัยกลางคนที่เต็มไปด้วยความมั่นใจ สู้ชีวิต ไม่ยอมแพ้ต่อความยากลำบาก หลายคนเล่าว่าเมื่ออดีตประธานาธิบดีผู้เป็นสามีหมดอำนาจและตายจาก มาดามเดวีต้องเจอกับคำนินทาบ่อยครั้ง รวมถึงการดูถูกว่ายอมแต่งงานกับชายแก่เพื่อหวังคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งเธอก็ยืดอกรับแล้วถามกลับว่า แล้วทำไมคนเราถึงจะอยากมีชีวิตที่ดีขึ้นไม่ได้ ? เธอดิ้นรนอยู่ในสังคมชั้นสูงแม้ไม่มีสามีที่คอยปูทางให้เหมือนเมื่อก่อน พอถูกถามว่าชีวิตหลังแต่งงานอับเฉาและลำบากมากไหม เธอตอบสั้น ๆ ว่า “ทุกที่มีพรมแดงเสมอ” (everywhere there was a red carpet) ทุกสถานการณ์ต่างมีโอกาสให้เราได้เฉิดฉาย ครั้งหนึ่งมีเรื่องเล่าอันลือลั่นเกี่ยวกับวีรกรรมของมาดามเดวี ณ งานสังคมชั้นสูงที่เมืองแอสเพน สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 2 มกราคม 1992 ตอนนั้นเธอมีอายุ 52 ปี แต่ยังคงเป็นผู้หญิงสวยมั่นใจไม่ต่างจากสมัยสาว ๆ นอกจากนี้ คนในแวดวงต่างรู้กันดีว่ามาดามเดวีไม่ถูกกับไฮโซสาวต่างชาติที่ชื่อว่า มินนี่ โอสเมญญา (Minnie Osmena) หลานสาวของประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ เซร์ฮิโอ โอสเมญญา (Sergio Osmena) เมื่อมินนี่เห็นมาดามเดวี เธอจึงเริ่มดึงความสนใจของคนในวงสนทนาด้วยการเล่าเรื่องผู้หญิงหยำฉ่าในย่านกินซ่าที่โชคดีได้ตกถังข้าวสาร ซึ่งหลายคนมองว่าเรื่องเล่านี้ฟังอย่างไรก็เป็นเรื่องของมาดามเดวีอย่างแน่นอน ไม่มีใครรู้ว่ามินนี่เล่าเรื่องของเด็กสาวโชคดีจากย่านกินซ่าไปได้ถึงไหน รู้ตัวอีกทีทุกคนต่างได้ยินเสียงอะไรบางอย่างแตกควบคู่กับเสียงกรีดร้องและเสียงโวยวายของคนในงาน มาดามเดวีเดินถือแก้วไวน์เข้าไปหามินนี่ ยิ้มอ่อนให้หนึ่งครั้งก่อนตบหน้ามินนี่ทั้งที่มือยังถือแก้วอยู่ เศษแก้วขนาด 2 นิ้ว ติดอยู่ที่ใบหน้าคละเคล้ากับเลือดที่เปรอะเต็มหน้าของมินนี่ เธอถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลและเย็บไป 37 เข็ม งานสังคมครั้งนั้นคงเป็นครั้งที่จำไม่ลืมสำหรับใครหลายคน [caption id="attachment_26755" align="aligncenter" width="1009"] มินนี่ โอสเมญญา[/caption] การเดินไปตบมินนี่ โอสเมญญา โดยที่ลืมวางแก้วไวน์ก่อนตบ ทำให้ถูกดำเนินคดีข้อหาทำร้ายร่างกาย มาดามเดวีรับสารภาพว่าเป็นคนฟาดหน้ามินนี่ด้วยแก้วไวน์จริง แต่ก็อดบ่นเจ้าหน้าที่ไม่ได้เมื่อพวกเขาจะตั้งข้อหาเพิ่มว่าเธอพยายามฆ่า “คุณคิดว่าฉันบินไปถึงแอสเพน วางแผนเข้าร่วมปาร์ตี้ปีใหม่กับมินนี่เพื่อฆ่าเธอเหรอ!? แก้วแตกเป็นเรื่องปกติของงานเลี้ยง” ถูกจำคุกในเรือนจำ Pitkin Country เป็นเวลา 34 วัน และปรับ 750 ดอลลาร์ ภายหลังการติดคุกของเธอถูกเพิ่มเป็น 60 วัน แต่ถึงกระนั้นมาดามก็เริ่ดเชิดไม่แคร์สื่อ แถมยังใช้ชีวิตอยู่ในคุกอย่างเริดหรูมีสไตล์อีกแถมยังบอกอีกด้วยว่า “ตอนอยู่ในคุกก็แฮปปี้ดีนะ” ปี 2008 ประธานาธิบดีซูฮาร์โตจากไปด้วยวัย 86 ปี หลังปกครองอินโดนีเซียนานกว่า 32 ปี พร้อมกับชื่อเสียงการสังหารหมู่ผู้เห็นต่างและเป็นผู้นำที่คอร์รัปชันหนักติดอันดับโลก สื่อหลายสำนักจึงพากันไปถามมาดามเดวีว่ายกโทษให้กับซูฮาร์โตผู้ที่ทำรัฐประหารสามีของเธอได้ไหม เธอตอบว่าตนไม่อยากพูดถึงคนตาย แต่ฉันจะไม่มีวันอโหสิกรรมให้เขา วีรกรรมบ้าบิ่นกับการตอบคำถามอย่างตรงไปตรงมา ทำให้สื่อมักนำเธอไปเปรียบเทียบกับสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งแห่งฟิลิปปินส์อย่าง อิเมลดา มาร์กอส แต่เธอสวนกลับไปว่า “ลองมองดูรอบ ๆ บ้านฉันสิ” ซึ่งบ้านของเธอก็เป็นบ้านปกติ ไม่มีรองเท้าแบรนด์เนมพันคู่หรือกระเป๋ายี่ห้อดังพันใบแต่อย่างใด นอกจากเรื่องตบตีและความไม่ยอมคน มาดามเดวีถือว่าได้รับการนับหน้าถือตาในวงสังคมไม่น้อยกว่าใคร เนื่องจากเธอใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับงานกุศล สามารถระดมทุนได้สูงถึง 90,000 ดอลลาร์ เพื่อช่วยเหลือเหยื่อที่ได้รับผลกระทบจากเหตุก่อการร้ายในสหรัฐอเมริกา ทำงานร่วมกับสภากาชาดญี่ปุ่น ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวญี่ปุ่น และผู้ยากไร้ที่ต้องการความช่วยเหลือ นอกจากนี้เธอยังมีมุมมองชีวิตที่น่าสนใจ เธอเล่าถึงชีวิตวัยเด็กว่าเคยเดินลอดอุโมงค์ย่านอุเอโนะตอนกลางคืน ในอุโมงค์มีแต่คนไร้บ้านที่เอากล่องกระดาษมากั้นเป็นที่นอน อยู่ ๆ มีเด็กคนหนึ่งเข้ามาดึงแขนเสื้อแล้วขออาหาร เหตุการณ์วันนั้นเป็นวันที่เธอไม่เคยลืม เธอหวนนึกถึงตัวเองว่าตอนนั้นเธอยังมีทั้งแม่และน้องชาย แต่เด็กคนนี้ไม่มีอะไรเลย บนโลกใบนี้มีคนที่ลำบากกว่าเราอยู่เสมอ จึงทำให้เราเห็นเธอในงานการกุศลบ่อย ๆ แต่บางคนมองว่าเธอแค่สร้างภาพลักษณ์เท่านั้น ในปี 2020 มาดามเดวีมีอายุ 80 ปี ทว่าเธอกลับงดงามและดูเด็กกว่าวัย มีชีวิตบั้นปลายที่มีความสุข เมื่อถูกถามถึงเคล็ดลับความงาม เธอตอบแบบขำ ๆ ว่า “ฉันจะมีชีวิตอยู่ต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่าศัตรูของฉันจะตายหมด” คำตอบก็ยังคงเป็นตัวเองเสมอต้นเสมอปลายจริง ๆ ที่มา https://www.japantimes.co.jp/community/2002/01/06/general/dewi-sukarno-miss-ambition-whos-done-it-her-way/ https://www.nytimes.com/1998/02/17/world/jakarta-journal-weighty-past-pins-the-wings-of-a-social-butterfly.html https://apnews.com/60fec39e037532090527fc7b2211619b https://www.orlandosentinel.com/news/os-xpm-1993-01-26-9301260782-story.html เรื่อง: ตรีนุช อิงคุทานนท์