16 ต.ค. 2563 | 19:20 น.
อาชีพนักการเมืองคงไม่ใช่อาชีพในฝันของเด็กหลาย ๆ คน เวลาที่ถูกถามว่า “โตขึ้นอยากเป็นอะไร” บางคนใช้เวลาหลายปีกว่าจะรู้ว่าตัวเองชอบอะไรหรืออยากจะทำสิ่งใด เช่นเดียวกับ นายแพทย์คณวัฒน์ จันทรลาวัณย์ หรือที่เรารู้จักเขาในชื่อ ‘หมอเอ้ก’ เขาก็เป็นอีกคนที่มักจะเฝ้าถามตัวเองเสมอด้วยคำถามเดิม ๆ ว่า “อะไรคือสิ่งที่เราอยากทำจริง ๆ ?” แน่นอนว่าธรรมชาติของมนุษย์คือการอยู่เพื่อค้นหาเป้าหมายของชีวิต หากไร้สิ่งนั้น การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ก็คงเกิดขึ้นได้ยาก หลังใช้ชีวิตในฐานะหมอรักษาผู้ป่วยอยู่หลายปี สุดท้าย หมอเอ้กก็ได้ค้นพบเป้าหมายชีวิตที่เขาอยากจะขับเคลื่อนมันไปข้างหน้า เขาค้นพบบทบาทใหม่ที่จะสามารถดูแลผู้คนได้มากขึ้น นั่นคือ บทบาท ‘นักการเมือง’ ปัจจุบันหมอเอ้กสวมหมวกหลายใบ ไล่ตั้งแต่ เป็นคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และเป็นหนึ่งในคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม The People ได้มีโอกาสนั่งคุยกับชายคนนี้ในหลากหลายประเด็น เริ่มตั้งแต่ชีวิตในฐานะนายแพทย์ จนไปถึงอุดมการณ์ทางการเมือง และการเปลี่ยนแปลงที่เขาอยากจะเห็นในประเทศไทย The People : แรงบันดาลใจในการเป็นหมอ นพ.คณวัฒน์ : จริง ๆ แล้วตอนเด็ก ๆ ผมเป็นลูกคนเดียว คุณพ่อเป็นคนจังหวัดนครศรีธรรมราช แล้วก็เข้ามาอยู่ที่กรุงเทพฯ คุณแม่ก็มาจากต่างจังหวัดเหมือนกัน มาจากเพชรบูรณ์ แล้วก็มาอยู่ในกรุงเทพฯ เหมือนกัน เราเป็นครอบครัวขนาดเล็ก มีแค่พ่อแม่แล้วก็ลูก 3 คน ตอนนั้นเหตุผลที่เลือกตรงนี้เพราะว่ารู้สึกแค่ว่าอยากรักษาพ่อแม่ตัวเอง สิ่งที่อยากเป็นหมอตอนนั้นจริง ๆ ก็เลือกอยู่ 2 อย่าง ระหว่างรัฐศาสตร์กับแพทยศาสตร์ แต่ตอนนั้นด้วยเหตุผลที่ผมกล่าวไป ทำให้รู้สึกว่าเราก็คงต้องอยากเลือกทางนี้ เพราะว่าในอนาคตถ้าเกิดพอเราโตขึ้นก็คงไม่มีใครดูแลเขา The People : การเมืองอยู่กับตัวเราตั้งแต่เด็กแล้ว? นพ.คณวัฒน์ : จริง ๆ ถ้าให้พูดวันนั้นคงไม่รู้หรอก แต่วันนี้พอเริ่มมีโอกาสได้ทำงานทางสายนี้บ้าง ได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับการทำนโยบายบ้าง เรื่องของการเมืองบ้าง พอมองย้อนกลับไปมันก็น่าคิด อย่างคุณพ่อผม ครอบครัวคุณพ่อเมื่อก่อนมีสวนยางอยู่ที่ใต้ เอาเป็นว่าพอมีฐานะบ้าง แต่คุณพ่ออาจจะเกเร ไม่ค่อยตั้งใจเรียน แต่หัวอาจจะไว ก็ไม่รู้ที่ท่านเล่ามาเมื่อก่อนจริงหรือเปล่านะครับ ก็เข้ามาอยู่ที่กรุงเทพฯ ฝั่งคุณแม่อยู่ที่เพชรบูรณ์ ครอบครัวคือทำเกษตรกรรม ไม่ได้ร่ำรวยอะไรเลย พอมาอยู่ที่กรุงเทพฯ เชื่อไหมครับว่าทั้งคุณพ่อกับคุณแม่แตกต่างกันมาก คุณพ่ออินมากเรื่องการเมือง เคยเล่าให้ผมฟังว่าถึงขนาดที่ว่าต้องขับมอเตอร์ไซค์ไปเลือกตั้ง ไปลงคะแนนให้กับผู้สมัครท่านหนึ่ง ก็คืออินมาก รู้สึกว่าเสียงของเขามีความหมาย ก่อนจะไปลงคะแนนก็นั่งฟังวิทยุว่าโพลล์ใครนำ ใครมาแรง แต่ของคุณแม่จะคนละแบบ ท่านจะไม่ค่อยสนใจเรื่องการเมืองเท่าไร ท่านมีความคิดเห็นว่าใครมามันก็ไม่ต่างกัน คุณพ่อคุณแม่ก็จะดีเบตเถียงกันอยู่ในบ้าน ผมซึ่งอยู่ตรงนั้นตั้งแต่เด็ก ๆ ก็เหมือนชีวิตของครอบครัวชนชั้นกลางธรรมดาทั่วไป ก็คือว่าคุยเรื่องนี้บนโต๊ะกินข้าว ดูข่าวตอนเช้าบ้าง กลับมาบ้านก็ดูข่าว คุยกัน ฟังคุณพ่อคุณแม่เถียงกัน มันคงเป็นอะไรที่เริ่มปลูกฝัง ณ วันนี้พอมองย้อนกลับไป พอเราโตขึ้น พอเรามีความรู้เรื่องนี้เพิ่มมากขึ้น มองกลับไปมันก็เออ...สะท้อนอะไรหลาย ๆ อย่างว่าคุณพ่อที่ภูมิหลัง พื้นฐานมาจากครอบครัวที่อาจจะมีอันจะกินหน่อย คุณแม่ที่มาจากพื้นฐานครอบครัวอีกแบบหนึ่ง มีมุมมองต่อการเมืองที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน เพราะฉะนั้น ตั้งแต่เล็ก ๆ ผมจะเจออยู่ในสภาพแวดล้อมแบบนี้มาตลอด มันเลยทำให้รู้สึกว่าตอนนั้นเด็กมัธยมฯ ไม่รู้หรอกว่ารัฐศาสตร์เรียนไปแล้วไปทำอะไรบ้าง เพิ่งมารู้ตอนโตด้วยซ้ำว่า HR หรือ Human Resource การบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลอยู่ในรัฐศาสตร์ด้วยซ้ำ ตอนนั้นเลยคิดว่ารัฐศาสตร์มันเป็นอะไรที่มีผลกระทบในวงกว้าง ก็เลยมีความสนใจว่าอยากจะเรียนต่อรัฐศาสตร์ตอนนั้นด้วย The People : จากการเป็นหมอสู่การเป็นนักการเมืองได้อย่างไร นพ.คณวัฒน์ : ก็ต้องบอกว่าเป็นดวง ผมไม่ได้มีเส้นสายโดยตรงเกี่ยวกับเรื่องการเมืองเลย แล้วก็อาจจะมีเพื่อน ๆ ที่ทำงานเรื่องของการเมืองท้องถิ่นมีบ้างนิดหน่อย แต่ว่าช่วงที่เรียนแพทย์จะเป็นช่วงที่มีม็อบ ตอนปีที่ผมเอ็นทรานซ์เข้ามาเป็นปีที่เกิดรัฐประหารในยุคของพวกเราครั้งแรก ที่ทำให้มีเหตุการณ์ทางการเมืองอย่างนี้มาตลอดก็คือปี พ.ศ. 2549 ก็จะมีม็อบมีอะไรมาโดยตลอด มันเลยทำให้ตอนเรียนแพทย์รู้สึกว่าเรื่องนี้มันใกล้ตัวมากขึ้นกว่าตอนที่เรารู้สึกอยากจะเรียนรัฐศาสตร์ หลังจากนั้นก็เลยรู้สึกว่า เออ...เราอยากทำอะไรกันแน่ในชีวิต พอขึ้นคลินิกก็รู้สึกแหละว่า เฮ้ย! อันนั้นคือสิ่งที่เราอยากทำจริง ๆ หรือเปล่า การเป็นหมอจริง ๆ แล้ว แบ่งได้อยู่ 2-3 อย่างใหญ่ ๆ แต่ว่าผมชอบในฝั่งที่เป็นการสร้างนโยบาย การเอาความรู้ทางด้านการแพทย์มาปรับใช้ ตรงนี้คือสิ่งที่ผมอยากทำ พอตอนจบแพทย์ผมโชคดีที่มีโอกาสได้ไปทำงานที่ต่างประเทศต่อ เป็นช่วงเวลาที่รู้ว่าเราเป็นคนยังไงมากขึ้น แล้วก็รู้ว่าจุดยืนไม่ว่าจะเป็นจุดยืนในแง่ของเรื่องส่วนตัว จุดยืนในแง่ของเรื่องการเมือง จุดยืนในการมองโลกต่าง ๆ เรารู้สึกว่ามันตกตะกอนมากขึ้นในเวลานั้น เพราะว่าพอไปทำงานอยู่ที่ต่างประเทศ ไม่มีใครอยู่ด้วย เราอยู่คนเดียว เราก็จะเห็นว่าคนอายุรุ่นราวคราวเดียวกับเรา บางคนแต่งงานไปแล้ว มีลูกแล้ว ทำไมเขามีมุมมองที่สุกงอมกว่าสิ่งที่เราเป็น มันก็เลยเริ่มมาคิดว่า เฮ้ย! ตกลงแล้วจริง ๆ เราเป็นคนยังไงกันแน่ เราชอบอะไร เราอยากเห็นสิ่งที่ประเทศไทยที่เราอยู่มันเป็นไปในทิศทางไหน กลับมาก็มีเรื่องของการแพทย์ที่ชอบ ด้านไหนเฉพาะทางที่ชอบเราก็เรียนต่อ จนรู้สึกว่าเราพอแล้ว เรารู้สึกว่าเรามีความมั่นคงในชีวิตเพียงพอที่จะดูแลคนอื่นได้ ดูแลคุณพ่อคุณแม่ได้ถ้าเขาแก่ตัว ถ้าเขาเกษียณไป หลังจากนั้นผมก็เริ่มหาสิ่งที่อยากจะทำจริง ๆ ผมก็สมัครหาที่เรียนต่อด้านนโยบายสาธารณะ เรื่องของการเมืองโดยตรง ก็สมัครไปที่มหาวิยาลัยออกซฟอร์ด ที่อังกฤษ ก็เจอหลาย ๆ คนในกลุ่ม ก็จะมีศิษย์เก่าบ้าง มีคนที่เคยผ่านคอร์สนั้นมาบ้าง ก็จับพลัดจับผลูโลกกลม เป็นดวงจริง ๆ ว่าอาจารย์ผมที่จุฬาฯ ก็เป็นคุณพ่อของคุณไอติม-พริษฐ์ (วัชรสินธุ) พอดี ก็ชักชวนพูดคุยกัน แล้วก็ เฮ้ย! แนวทางในการทำงานการเมืองคล้ายคลึงกัน เลยเริ่มสานต่อตรงนี้ พอประเทศเราอยู่ดี ๆ บอกว่าจะมีการเลือกตั้ง ผมก็ตัดสินใจครั้งใหญ่ ก็คือว่าโอเค เราอยากจะทำด้านนี้ก็ต้องลองสักครั้งหนึ่ง The People : พอได้มาทำงานการเมืองจริง ๆ เหมือนกับที่จินตนาการไว้ไหม นพ.คณวัฒน์ : คนละเรื่องเลย ไม่ต้องคิดไปไกล เอาแค่ 1 ปีตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2562 จนถึงวันนี้ ผมว่าความคิดผมเปลี่ยนไปเยอะมาก แล้วก็มุมมองต่อชีวิตจริงของการทำงานในด้านนี้ก็เปลี่ยนไปเยอะมาก เรารู้สึกว่าได้เห็นอะไรที่แตกต่างจากที่เราวาดฝันไว้ มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเคยพูดไว้ว่า มีคนอยู่ 2 ประเภท คือคนที่โลกสวยกับคนที่อยากให้โลกสวย ซึ่งเป็นอย่างนั้นจริง ๆ ตอนแรกเราก็ไม่คิดว่ามันคืออะไร แล้วก็มั่นใจกับสิ่งที่เรารู้เราเห็นมาจากประเทศที่พัฒนาแล้ว จากในตำราเรียน จากประวัติศาสตร์ที่เขาเขียนในหนังสือมา พอมาจับใช้กับประเทศไทย มาเจอบริบทของสังคมแต่ละที่ มันแทบไม่เหมือนกัน นอกจากนี้ในวงการการเมือง ผมว่าทุกวงการแหละ แม้กระทั่งวงการหมอก็ตามที คือคนมีหลายประเภท ไม่มีใครที่ดีเลิศประเสริฐศรี 100 เปอร์เซ็นต์ หรือจะเลวบริสุทธิ์ ไม่มีหรอก คนเรามีหลายประเภท วงการการเมืองอาจจะเป็นวงการที่เห็นชัดหน่อย เพราะว่าเป็นวงการที่รวมคนที่มีความตั้งใจ หรือความต้องการที่แตกต่างกัน บางคนโหยหาอำนาจ บางคนโหยหาผลประโยชน์ บางคนโหยหาชื่อเสียง แล้วก็บางคนอยากทำงานให้มี impact ต่อสังคมจริง ๆ ซึ่งมันก็ไม่มีอะไรถูกอะไรผิด แล้วแต่ว่าแต่ละคนเขาเลือกทางเดินชีวิตอย่างไร มันเลยทำให้เราเห็น หรือเจอคนหลายรูปแบบมาก พอเราเลือกที่จะทำงานการเมืองจริง ๆ แล้ว คุณแม่ผมพูดเสมอว่าต้องทำใจนะก่อนที่ผมจะเข้ามาคลุกคลีในวงการนี้ เขาบอกว่าดูให้ดีว่าคนคิดอะไร คนพูดอะไร แล้วคนทำอะไร ที่แย่ที่สุดเลยคนที่คิดอีกอย่าง พูดอีกอย่าง และทำอีกอย่าง ตรงนี้เป็นปัญหาที่เจอมาโดยตลอด การเจอคนหลากหลายประเภท บางคนคิดกับเราดี พูดกับเราดี แต่ทำกับเราไม่ดี บางคนคิดดี พูดไม่ดี ทำก็ไม่ดี บางคนคิดไม่ดี แต่พูดดี และทำดี กว่าจะรู้ตัว เราก็อาจจะโดนหลอกไปเยอะ มันมีคนหลากหลายประเภทจริง ๆ อย่างผมบอกว่าแต่ละคนจะมี agenda หรือมีความต้องการของตัวเองที่แตกต่างกัน ผมไม่ได้หมายถึงนักการเมืองอย่างเดียว แม้กระทั่งข้าราชการ หรือทุกคนที่อยู่ในวงจร หรือในระบบในการขับเคลื่อนประเทศมีหมดแหละครับ นโยบาย 1 อัน บางคนอยากจะสอดแทรกสิ่งที่ตัวเองอยากทำ สอดแทรกสิ่งที่เขาคิดว่าตัวเองเป็นประโยชน์ ซึ่งอาจจะขัดกับ stakeholder คนอื่นในฟันเฟืองก็มีเยอะแยะ ก็อยู่ที่ว่าเราต้องมีจุดยืนที่หนักแน่นพอว่าเราอยากจะทำอะไร แล้วเรารู้ตัวว่าเราทำอะไรอยู่ ส่วนอื่น ๆ เป็น noise หมด คนพูดอะไรก็แล้วแต่ใครจะวิจารณ์ อีกอันหนึ่งที่เป็นบทเรียน คือเรามีโอกาสที่จะเอาความคิดของเรามาทำให้เกิด impact ในวงกว้าง เรามีโอกาสที่จะชี้นำสังคมได้ แต่มันต้องแลกมาด้วยกับการถูกวิพากษ์วิจารณ์ การตรวจสอบจากทุกฝ่าย นั่นคือสิ่งที่เราได้มาและสิ่งที่เราต้องยอมแลกไป มันมีหลาย ๆ คนที่ไม่อยากจะทำงานการเมือง เพราะเขารับไม่ได้กับสิ่งที่ต้องโดน สิ่งที่เขาจะแลกไป แต่บางคนก็อยากจะได้ชี้นำสังคม เราก็จะเห็นเยอะแยะมากมายที่ว่า ชี้นำสังคมออกมา พูดออกมา แล้วมองไม่ครบด้าน มองไม่ครบรอบ ก็จะมีคำพูดว่า เฮ้ย! เราทำด้วยเจตนาดี ทำด้วยเจตนาที่รักชาติ แต่ว่าคำนั้นมันไม่เพียงพอกับการทำนโยบายสาธารณะ ต่อการเปลี่ยนแปลงประเทศ เพราะงั้นผมถึงบอกว่าหากจะชี้นำสังคม หากอยากจะเอาความคิดของเรามา impact ต่อส่วนรวม ก็ต้องแลกมากับการตรวจสอบกับคำวิพากษ์วิจารณ์ นั่นคือสิ่งที่ผมรู้สึกว่ามันแตกต่างจากตอนแรกที่ผมคิด ในช่วงที่ผ่านมาก็อาจจะโชคดีหน่อย เพราะว่าผมอาจจะเรียนด้านแพทย์มา จะว่าเหมือนก็เหมือน ไม่เหมือนก็ไม่เหมือน พอเราทำงานหมอ เป็นบุคลากรสาธารณสุข เป็นพยาบาล หรือใครก็ตามที่ในโรงพยาบาลของรัฐเอง คนไข้ที่มาส่วนใหญ่เขาก็มาบนความทุกข์ เขาก็จะแสดงความทุกข์ออกมาอยู่แล้ว อยากได้ยา อยากรักษาอย่างนั้น อยากนอนโรงพยาบาลอย่างนี้ มันก็ทำให้ผมพอที่จะพยายามปรับตัว แล้วก็พอมีจุดยืนตรงนี้อยู่ได้ เพื่อนที่เข้าทำงานการเมืองมาพร้อม ๆ กันหลาย ๆ คนก็อาจจะถอดใจแล้วมั้งตอนนี้ เพราะว่ามันทนกับสิ่งที่เราต้องแลกไปอาจจะไม่ไหว The People : สิ่งที่ทำให้อยากจะเข้ามาเปลี่ยนแปลง นพ.คณวัฒน์ : คือก่อนหน้าที่จะเข้ามาทำงานการเมือง ผมก็พยายามจะทำในสิ่งที่ทำได้ อยากจะเปลี่ยนแปลง อยากจะพัฒนาระบบของสาธารณสุข ยกตัวอย่างเช่น การสร้างฐานข้อมูลสุขภาพในระดับประเทศ ปัจจุบัน HIS หรือ Hospital Information System ปัจจุบันยังไม่เชื่อมกันเลยทั้งประเทศ การส่งตัวผู้ป่วยยังไม่สามารถทำได้แบบทันที โดยที่ไม่ต้องพรินต์เอกสารมา หรือต้องเขียนใบ 3 สี (เอกสารส่งตัวผู้ป่วย) ตอนนี้ยังทำไม่ได้แบบนั้น นี่ไม่ใช่แค่ที่ไทย เพราะว่าต่างประเทศก็มี ประเทศที่ระบบเขาไม่เชื่อมกันก็มี จะบอกว่าไทย ๆ ก็อาจจะไม่แฟร์ แต่เรียกได้ว่ามันยังเป็นระบบที่ยังไม่ seamless ยังไม่เชื่อมโยงกันหมด ถ้าหนึ่ง, เกิดผมไปสลบ ผมไปเที่ยวเชียงใหม่ คุณหมอเขาจะรู้ได้ยังไงว่าผมจะแพ้ยาอะไร ผมเคยผ่าตัดมาแล้ว ผมมีโรคประจำตัวอะไร ตรงนี้มันสำคัญ แล้วมันกระทบกับชีวิตทุกคน หลังจากที่ผมทำในส่วนอื่น ๆ ภาคเอกชนบ้าง ผลักดันมา มันรู้ว่าถ้าหากภาครัฐไม่ขยับมันเป็นไปไม่ได้ พอเข้ามาผมก็พยายามมาทำเรื่องนี้ เอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยกับเรื่องนี้ ก็ก้าวหน้าไปบ้าง แต่ว่ามันติดหลาย ๆ เรื่อง โรคระบาดอะไรก็แล้วแต่ ทำให้เดินไปได้ช้า อีกอันหนึ่งคือเรื่องของการบริหารจัดการอวัยวะหลังเสียชีวิต ผมพูดมาตั้งแต่เริ่มว่า ประเทศไทยขาดแคลนตัวซัพพลาย หรืออวัยวะในการที่จะเอาไปส่งต่อให้กับผู้ป่วยที่เขารออยู่ การผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตายังรอเป็นหลัก 4-5 ปี ก็คิดดูมองไม่เห็นไป 4-5 ปีมันไม่ใช่เรื่องที่สนุก คนไม่ได้เป็นเองคงไม่รู้สึก ตรงนี้ผมก็เลยพยายามบอกว่าในต่างประเทศเขามีไอเดียที่เปลี่ยนแปลงตัวเลือกตั้งต้นของการเป็นผู้ให้อวัยวะ มันสามารถที่จะมาบิดเอามาปรับใช้กับบริบททางสังคมไทยได้หรือไม่ อย่างในต่างประเทศอาจจะมีความเป็นปัจเจกชนสูงมาก การขับเคลื่อนมันชัด สามารถทำได้เลย แต่ในบริบทของสังคมไทยที่มีครอบครัว มีญาติ อาจต้องมีการปรับอย่างไร ก็มีการคุยกันอยู่ อันนี้คือสิ่งที่ผมอยากจะปรับ อยากจะเปลี่ยนให้ประเทศดีขึ้น The People : ที่ผ่านมาจะเห็นว่าคนรุ่นใหม่สนใจการเมืองมากขึ้น ในฐานะคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาเล่นการเมือง ส่วนตัวเคยโดนตีกรอบจากคนรุ่นเก่าบ้างไหม นพ.คณวัฒน์ : ผมว่าเป็นเรื่องที่ดีที่คนรุ่นใหม่สนใจการเมืองเยอะขึ้น คือการที่คนสนใจเยอะขึ้น คนก็จะหาความรู้หาข่าวมากขึ้นเพื่อไปประกอบการตัดสินใจ ไม่ใช่ไปโหวตไปอย่างนั้นแหละ มันไม่ใช่อย่างนั้นอีกต่อไป การที่คนรุ่นใหม่เข้ามาสนใจการเมืองมากขึ้น มีการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองมากขึ้น ตรงนี้แน่นอนมันคือการต่อสู้ทางความคิด ก็จะเจอคนที่เขามีความคิดเห็นที่อาจจะอยู่คนละมุม เพราะฉะนั้นอาจจะไม่ใช่คนรุ่นเก่าเท่านั้นที่วางกรอบ มันไม่ใช่เรื่องของการแบ่งชนชั้นแบบคนอายุเท่านี้นะคิดต่าง คนกลุ่มนี้คิดอย่างนี้ คนกลุ่มรุ่นใหม่คิดอย่างนี้ ผมไม่อยากให้มองเป็นมุมอย่างนั้น แต่ผมคิดว่ามันเป็นการต่อสู้ทางความคิดของกลุ่มคนที่อยากเห็นประเทศในแบบที่แตกต่างกัน อาจจะไม่ใช่เรื่องของรุ่น อาจจะเป็นเรื่องของความเป็นอนุรักษนิยมหรือเสรีนิยม อาจจะเป็นเรื่องของการอยากเห็นรัฐบาลที่ตัดสินใจเฉียบขาดกับรัฐบาลที่มีการถ่วงดุล อันนั้นผมว่ามันมีความแตกต่างเป็นการต่อสู้ทางความคิดอย่างนี้มากกว่า ผมไม่อยากให้มีการใช้วาทกรรมว่าโดนวางกรอบโดยคนรุ่นก่อน คนรุ่นก่อนไม่ยอมรับคนรุ่นใหม่ ผมว่าชีวิตจริงมันไม่ใช่อย่างนั้น คือผมคิดว่ามันเกิดอย่างนี้มาตลอด คือคนรุ่นก่อนที่เราพูดกันในวันนี้ก็คือ คนรุ่นใหม่ในสมัย 14 ตุลาคม (2516) แล้วเราก็บอกว่าเขาเป็นคนมาจำกัดกรอบความคิดของเรา ซึ่งจริง ๆ แล้วผมว่ามันอาจจะไม่ใช่อย่างนั้นเสมอไป คนรุ่นนั้นเขาผ่านมาและเห็นในสิ่งที่เผลอ ๆ อาจจะหนักกว่าเราด้วยซ้ำ ความคิดเสรีของเขาที่อาจจะมากกว่าของพวกเราก็อาจจะเป็นได้ เพราะฉะนั้นผมไม่อยากให้แบ่งรุ่น แต่ผมอยากให้คิดว่ามันอาจจะมีการต่อสู้ทางความคิดจริงในจุดยืนแต่ละเรื่องที่แตกต่างกัน แต่มันก็เป็นเรื่องปกติถูกไหม ถ้าเกิดมันไม่มีการต่อสู้ทางความคิด ผมคิดว่ามันก็คงไม่มีการพัฒนา The People : กระแสการเมืองหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงไหม นพ.คณวัฒน์ : ผมคิดว่าคือวันนี้เป็นบทพิสูจน์ของรัฐบาลในการแก้ปัญหาในภาวะวิกฤต ซึ่งผมคิดว่าหลาย ๆ อย่าง ประชาชนก็เห็นแล้วแหละว่ามีสิ่งที่ทำดี สิ่งที่ทำไม่ดี ตรงไหนที่ต้องปรับปรุง อะไรที่เป็นจุดบอดของการบริหารราชการแผ่นดิน ผมคิดว่าประชาชนก็ต้องเห็น หลังจากโควิด-19 ผมคิดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงความคิดของประชาชนเยอะมาก บางครั้งเมื่อประเทศต้องการมืออาชีพ หรือต้องการบริหารราชการที่สามารถผ่านในช่วงวิกฤตได้ อาจจะต้องมีระบบความคิด ระบบการเลือกเข้ามาที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งตรงนี้ผมก็ตอบยากวันนี้ว่าหลังจากนี้มันจะมีอะไรเกิดขึ้นหลังโควิด-19 หรือไม่ The People : รู้สึกอย่างไรที่หน้าตาตัวเองเป็นที่ชื่นชอบจนคนมองข้ามเรื่องการเมือง นพ.คณวัฒน์ : ผมเจอมาตั้งแต่ตอนเลือกตั้งแล้ว ก่อนเลือกตั้งอีก ซึ่งตอนนี้ผมก็ชิน ผมรู้สึกว่าผมชินแล้ว คือเมื่อก่อนอย่างวัยรุ่นเด็ก ๆ อารมณ์เราต้องขึ้นสุดลงสุด เวลาเชียร์อยู่กับเพื่อน ดีใจสุด ๆ เลย เวลามีเรื่องที่ผิดหวังก็ดาวน์สุดเลย แต่พอโตขึ้นมันไม่ใช่ขึ้นสุดลงสุดอย่างนี้แล้ว เรื่องของหน้าตาก็เหมือนกัน ถ้าหากใครที่ชื่นชมตรงนั้นผมก็ต้องขอบคุณ แต่ผมต้องบอกว่ามันเป็นอะไรที่สักพักเดี๋ยวผมก็แก่ หน้าตาผมเดี๋ยวก็หาย มันก็ตามกาลเวลาอยู่แล้ว ผมเลยไม่ได้ยึดติดอะไรกับตรงนั้นเยอะแล้ว ผมพยายามจะพูดมาโดยตลอดว่าสิ่งที่ผมอยากจะนำเสนอ อยากจะเปลี่ยนประเทศเป็นอย่างไร หรือสิ่งที่ผมทำได้ ความรู้ที่เรียนมา หรือที่อาจารย์ให้มาที่อยากจะถ่ายทอดถึงประชาชนที่อาจจะไม่ได้อยู่ในวงการแพทย์ ผมก็พยายามทำเต็มที่ตรงนั้นเป็นหลักมากกว่า โดยไม่ได้ยึดถืออะไรกับตรงนี้เป็นสรณะ ไม่ได้ยึดติดเป็นเรื่องจริงจัง หรือเป็นเรื่องซีเรียสที่ต้องมา… “ทำไมถึงต้องสนใจแต่หน้าตาหรือ เอ้ย! ดีใจจังที่เขาสนใจ” ผมไม่ได้คิดอย่างนั้นเลย ก็เหมือนแฟชั่น The People : ความฝันที่เรามีในตอนนี้ นพ.คณวัฒน์ : ที่ผ่านมาผมมีความมุ่งมั่นที่อยากจะบรรลุบางอย่างในชีวิต เพื่อที่จะให้รู้สึกว่าชีวิตผมมีคุณค่า ซึ่งตอนนี้ก็ยังไม่ถึงจุดนั้น ผมหวังว่าเมื่อผมอยู่ไปอีกหลายปี จนผมเดินไปถึงวันที่ผมบรรลุตรงนั้นได้ ผมก็ยังเป็นตัวผมอยู่ ความฝันสำหรับประเทศ ผมรู้สึกว่าผมอยากเห็นการก้าวผ่านของความขัดแย้งในประเทศหลาย ๆ อย่าง ก้าวผ่านไปสู่สิ่งที่มันเป็น ไม่ได้สุดขั้วแบบที่ผ่านมามากนัก มีการพูดคุยกัน เราอาจจะอยู่คนละฝั่ง เราอาจจะมีอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกัน แต่พูดคุยแลกเปลี่ยนกันได้ เรายอมรับว่าเออ...ผมผิดนะ จริง ๆ ที่ผ่านมาผมอาจจะผิด คุยกันแบบนี้ได้ คุยกันว่าแต่สิ่งที่คุณทำบางมุมมันไม่ถูกนะ มันมีอีกมุมหนึ่งนะ คนกลุ่มนี้เขาอาจจะเสียผลประโยชน์นะ เราคุยกัน ปัจจุบันผมเห็นแล้ว มันเป็นอะไรที่มีความแตกต่างกันเยอะมากจนพูดคุยกันไม่ได้ ผมอยากเห็นประเทศเราก้าวผ่านจุดนี้ไป ไม่ใช่แค่ประเทศไทยประเทศเดียวนะ ประเทศอื่น ๆ ก็เป็น ในสหรัฐอเมริกาเพื่อนผมก็เป็นเดโมแครตกับรีพับลิกัน เขาก็จะเถียงกันมากเลย แต่เขาก็พยายามจะดึงความคิดของเหตุและผลกลับมาให้ได้ในสังคม ผมก็อยากเห็นเหมือนกันในประเทศไทย เราจะก้าวผ่านจุดนี้ เราก็ดึง sense ของเหตุและผล ไม่ว่าในเรื่องของการเมือง ในเรื่องของนโยบาย กลับมาพูดคุยกันได้ ตรงนั้นคือสิ่งที่ผมฝันอยากจะเห็น