20 เม.ย. 2564 | 11:22 น.
“ทำงานทางด้านการเมืองด้วยความที่คิดว่าประเทศไทยมันดีกว่านี้ได้” หากมีโอกาสเข้าในเขตชุมชนแถวบึงกุ่ม จะเห็นคนรุ่นใหม่กลุ่มหนึ่งจากพรรคก้าวไกล ลงพื้นที่เพื่อพูดคุยและประสานงานช่วยเหลือชาวบ้านในชุมชน คนรุ่นใหม่กลุ่มนี้มีทั้ง นพ. เฉลิมชัย กุลาเลิศ หรือที่คนในท้องที่เรียกว่า ‘หมอออย’ และ แคน-นายิกา ศรีเนียน อดีตสมาชิกวง BNK48 ทั้งสองคนกับทีมงานพรรคก้าวไกลลงพื้นที่เขตนี้อย่างสม่ำเสมอ หมอออย จบจากคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เขาเป็นทั้งนายแพทย์และประกอบธุรกิจส่วนตัว จนเมื่อถึงเวลา เขาลงมาที่สนามการเมืองด้วยความคิดที่ว่าจะเอาความรู้ที่มีอยู่มาเพิ่มศักยภาพให้กับวงการสาธารณสุขไทย นี่คือบทสัมภาษณ์ที่ The People ได้พูดคุยกับ ‘หมอออย’ นพ. เฉลิมชัย กุลาเลิศ ว่าด้วยเรื่องราวของชีวิต และความมุ่งมั่นส่วนตัวในการเล่นการเมืองเพื่อพัฒนาประเทศ The People: ทำไมถึงมาสมัครที่พรรคก้าวไกล เฉลิมชัย: ก่อนอื่นก็คือผมเป็นสมาชิกอยู่แล้ว และผมก็เป็นคนติดตามแฟนเพจของพรรค เห็นพรรคประกาศรับสมัครว่าที่ผู้สมัครสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ส.ก. น่าจะประมาณ 7-8 เดือนที่แล้ว ตอนที่เริ่มสมัครครั้งแรกที่เขามีงานเปิดตัวที่บางแค ผมเห็นแล้วผมก็เลยลอง คือด้วยความที่มีความสนใจทางด้านการเมือง แล้วก็ชอบแนวคิดอุดมการณ์พรรค เพราะว่ามันเป็นอุดมการณ์ไปในทิศทางเดียวกันก็เลยตัดสินใจสมัครผ่านออนไลน์ พอสมัครทางออนไลน์ไปปุ๊บ ผ่านไป 1-2 เดือนก็มีคนในพรรคโทร. มาให้เข้าไปสัมภาษณ์ พอเข้าไปสัมภาษณ์ พรรคก็คิดว่าน่าจะเหมาะกับการลงสภาผู้แทนราษฎรมากกว่าสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ผมก็เลยอาสามาทำงานในพื้นที่ของเขตบึงกุ่ม-คันนายาว เนื่องด้วยว่าตอนนี้ผมมีบ้านอยู่ที่บึงกุ่ม The People: ก่อนหน้านี้มีความเชื่อทางการเมืองแบบไหน เฉลิมชัย: คือตั้งแต่เกิดมาด้วยความที่เราก็เป็นเด็กดื้อนิดหนึ่ง ผมรู้สึกว่าคนเรามันต้องมีสิทธิเสรีภาพ การพูด อะไรมันก็สมควรที่จะพูดได้ทุกอย่าง คนเรามันต้องเท่ากัน ไม่ใช่ว่ามีคนไหนเหนือกว่าคนไหนในมุมมองผม ทุกคนควรจะได้รับความยุติธรรมเท่าเทียมกันต่อหน้ากฎหมาย ซึ่งมันจะแตกต่างจากการปฏิบัติในสังคมไทย ซึ่งผู้มีอำนาจหรืออะไรอย่างนี้ เวลาต่อหน้ากฎหมายได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียม ก็คือได้รับการปฏิบัติที่เหมือนเอื้อประโยชน์ให้มากกว่าคนที่มีเงินน้อย The People: พื้นเพเป็นคนที่ไหน เฉลิมชัย: เกิดมาผมเป็นคนนครสวรรค์ ผมอยู่เรียนถึงประมาณ ป.6 เสร็จแล้วผมก็ย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ หลังจากนั้นก็อยู่กรุงเทพฯ ยาวเลย อยู่ประมาณ 16-17 ปี แล้วตั้งแต่อายุ 15 ปี ผมเริ่มติดตามการเมืองตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมฯ ณ ตอนนั้นเรื่องการประกอบอาชีพ ด้วยความที่เราเรียนเตรียมอุดมฯ เพื่อน ๆ ในห้องส่วนมากไม่เรียนหมอก็เรียนวิศวะ ซึ่งเราคิดแล้วว่าเราก็น่าจะอยากเรียนทางชีววิทยามากกว่า ก็เลยคิดว่าเรียนหมอดีกว่า ส่วนความสำเร็จทางการเมือง ณ ตอนมัธยมฯ ก็ยังไม่ได้ชัดเจนเท่าในช่วงหลังจากที่เรียนหมอมา ตอนจะจบ เพิ่งมาเริ่มชัดเจนในช่วงหลังมากกว่า The People: ก่อนหน้านี้เชียร์พรรคไหนมาก่อน เฉลิมชัย: ตรง ๆ ก็คือตั้งแต่เด็กมาก็รู้สึกว่าชอบนายกฯ ทักษิณ (ชินวัตร) คือตั้งแต่พรรคไทยรักไทย จนมาเป็นพลังประชาชน จนมาเป็นเพื่อไทย ก็เชียร์พรรคนั้นเป็นหลัก ซึ่งก็ตรงข้ามกับที่บ้าน ที่บ้านจะเชียร์ประชาธิปัตย์ The People: รู้สึกอย่างไรกับการชุมนุมของคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 เฉลิมชัย: มันต้องเอามาตั้งแต่ก่อนหน้าที่จะเป็นเสื้อแดงเลย ตั้งแต่มีม็อบพันธมิตรเลยที่มีไปปิดสนามบินไปนู่นไปนี่ จริง ๆ คือ ณ ตอนนั้นรู้สึกว่าทำไมรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต้องมาถูกกลุ่มคนมาขับไล่โดยไม่ยุติธรรม ความรู้สึก ณ ตอนนั้นรู้สึกว่าทำไมไม่ปล่อยให้เขาอยู่ครบเทอมแล้วค่อยตัดสินเขาอีกทีหนึ่ง ก็คือเวลาปกติแล้วการเลือกตั้งก็มี 4 ปีนี่ คุณก็สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้ ถ้าคุณไม่พอใจคุณก็ตะโกนไปเลยตอนอีก 4 ปี กาอีกฝั่งให้ถล่มทลาย การเปลี่ยนแปลงมันก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้อยู่แล้วในคูหาเลือกตั้ง มันไม่จำเป็นจะต้องก่อม็อบในสนามบิน ซึ่งถือว่าเป็นการใช้อำนาจนอกกฎหมาย ผมว่ามันไม่ถูกต้อง มุมมองของผม ณ ตอนนั้นเริ่มจากม็อบพันธมิตรเลย แล้วมาส่วนของม็อบเสื้อแดง คือผมว่าในช่วงแรกบางทีผมก็อาจจะมีความรู้สึกว่าลำบากในการเดินทางนิดหน่อยตอนนั้น เพราะด้วยความที่ผมอยู่ที่หลังสวน-ชิดลม แล้วเสื้อแดงก็จะอยู่ตรงราชดำริ แต่ผมเข้าใจเขาเลยว่าทำไมเขาถึงต้องมา เพราะเหตุการณ์คือการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลในค่ายทหาร ซึ่งผมว่าอันนี้มันไม่ถูกต้อง ซึ่งในภายหลังเขาก็มีการชัดเจนอยู่แล้วว่ามันมีการไปดีลกันมา The People: พอมีพรรคอนาคตใหม่แล้วรู้สึกว่าตัวเองมีทางเลือกในชีวิตมากขึ้นไหม เฉลิมชัย: รู้สึกว่าทางเลือกในชีวิตมันจะเพิ่มมากขึ้น จริง ๆ นโยบายของพรรคไทยรักไทย นายกฯ ทักษิณว่ามันก็ดีในแง่ว่าการทำให้ปากท้องประชาชนมันดีขึ้น แต่มันก็มีข้อขัดนิดหนึ่งตรงที่ว่าในเรื่องบางเรื่องมันอาจจะต้องฟังคำสั่งจากหัวหน้าโดยตรงมากกว่า ซึ่งผมว่าจริง ๆ ประชาธิปไตยที่ดี มันก็ควรจะเริ่มจากการมีสิทธิ์มีเสียงของสมาชิกในพรรคมากกว่า หรือ engagement ของสมาชิกในพรรค ไม่ใช่เสียงของคนใดคนหนึ่งดังมากกว่าคนในพรรค แล้วอุดมการณ์ผมคิดว่าผมเป็นซ้ายมากกว่าพรรคเพื่อไทย พรรคเพื่อไทยผมว่าก็ conservative นิดหนึ่งในเรื่องความเชื่อหลาย ๆ อย่าง The People: ชอบทักษิณแล้วทำไมไม่สมัครพรรคเพื่อไทย เฉลิมชัย: (หัวเราะ) ก็หลายอย่าง คือด้วยความเด็กแล้วก็ไม่มีความพร้อม ไม่มีอะไรด้วย แล้วถึงไปสมัครเขาก็คงไม่เอา ณ ตอนนั้น ไม่รู้เหมือนกัน ตอนนั้นคิดว่าไม่มีความพร้อมด้วย แล้ว ณ ตอนนี้ถึงมีความพร้อม เราก็คิดว่าอุดมการณ์ของพรรคก้าวไกลตรงกับเรามากกว่า The People: เส้นทางชีวิตก่อนที่จะมาเล่นการเมือง เฉลิมชัย: แต่ก่อนเราก็เป็นลูกจ้างมาก่อน พอเรารู้ระบบนู่นนี่นั่นเราก็ออกมาทำเอง ออกมาทำเองปุ๊บเราก็ขยายสาขา ก็เป็นตามสเต็ปของธุรกิจทั่วไป ไม่ได้มีอะไรแปลกใหม่ แต่ด้วยความที่เราก็เป็นคนอาจจะมีหัวลงทุนนิดหน่อย แล้วด้วยความที่เราประสบกับ Digital Marketing สมัยใหม่ ซึ่งเราก็มีความถนัดในด้าน Digital Marketing ก็ทำให้มันไปได้ระดับหนึ่ง The People: เคล็ดลับการประสบความสำเร็จทางธุรกิจตั้งแต่อายุยังน้อย เฉลิมชัย: เคล็ดลับอยู่ที่การประยุกต์เอาเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้กับการทำธุรกิจ เพราะว่าจริง ๆ สมัยนี้การที่เราสามารถรู้เรื่อง Digital Marketing ได้เป็นอย่างดีแล้วเราสามารถใช้ได้ แล้วเรามีความกล้าทำ กล้าเสี่ยง ผมว่าผลลัพธ์มันจะดีมาก ๆ คือผมก็ encourage ให้คนไทยรู้จัก Digital Marketing คือเด็กวัยรุ่นรุ่นผมส่วนมากก็น่าจะพอรู้อยู่แล้ว ยิ่งเด็กกว่าผมยิ่งรู้ดีเลย แต่ในธุรกิจเก่า ๆ หรือในพวกคนรุ่นพ่อรุ่นแม่อาจจะยังไม่เห็นประโยชน์จุดนี้ ซึ่งถ้าเราสามารถใช้ประโยชน์จากจุดนี้ได้ ผมว่าธุรกิจไทยจะไปได้ดีมากขึ้น The People: เป็นเจ้าของกิจการแล้ว อะไรคือจุดเปลี่ยนที่มาทำงานการเมือง เฉลิมชัย: ก็ทำงานทางด้านการเมืองด้วยความที่คิดว่าประเทศไทยมันดีกว่านี้ได้ ด้วยความที่เอาตรง ๆ คือใน field ของผมเป็น field ทางด้านการแพทย์ ผมรู้สึกว่าจริง ๆ ประเทศเรามีศักยภาพทางด้านการแพทย์เหลือเยอะมาก ๆ แต่คนเก่ง ๆ มักจะมาเป็นทางด้านการรักษามากกว่า ซึ่งจะแตกต่างกับในต่างประเทศ เช่น ในพวกสหรัฐอเมริกา หรือยุโรป หรือญี่ปุ่น หรือเกาหลีใต้ เราจะเห็นในช่วงโควิค-19 ก็จะมีบริษัทต่าง ๆ เช่น AstraZeneca Pfizer หรือไม่ก็ Johnson & Johnson ซึ่งทำไมไทยถึงไม่มีบ้าง คือผมก็ตั้งคำถามทำไมไทยไม่มีบ้าง พอนึกไปนึกมา คำตอบก็คือคนเก่ง ๆ ในไทยเป็นหมอรักษาหมด คำว่ารักษาก็คือเราไม่ให้ความสำคัญกับการวิจัย ผมว่าเป็นทุกวงการ เราเลยไม่มีเทคโนโลยีที่เป็นของตัวเอง ทำให้มัน stuck อยู่ในกับดักรายได้ปานกลางมาจนถึงปัจจุบันนี้ เรายังไม่สามารถก้าวข้ามผ่านจุดนี้ได้ ซึ่งจะแตกต่างกับเกาหลีใต้ ซึ่งเมื่อก่อนเขาก็ใกล้เคียงกับเรา แต่เขามีการวางนโยบายนู่นนี่นั่น จน ณ ปัจจุบันทางด้านการแพทย์เขาเจริญ เพราะเขาคิดยาที่เป็น original ของตัวเองขึ้นมาแข่งกับตะวันตกได้เลย ของเราระดับเหมือนกับว่าเป็นการเลียนแบบยามา ตัวก๊อบปี้ LC (Compulsory Licensing) สิทธิบัตรเหนือยาก็คือก๊อบปี้มา หรือไม่ก็ทำยาก๊อบปี้แทน เราอยากเข้ามาทำงานตรงนี้ The People: มองเรื่องการวิจัยในวงการการแพทย์อย่างไร เฉลิมชัย: ก็น่าสนใจ แต่ก็อยากจะให้เห็นเป็นรูปธรรมมากกว่านี้ เรายังไม่มีบริษัทยาที่เป็นเหมือน Unicorn ใหญ่ ๆ ขึ้นมาเลย ผมคิดว่าถ้าผมเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผมก็อยากจะผลักดันเรื่องนี้ให้ประเทศเรามีเทคโนโลยีทางด้านนี้มากขึ้น และในส่วนของพื้นที่ของบึงกุ่ม ก็คิดว่าอยากจะพัฒนาให้มันดียิ่งขึ้นไปกว่านี้ แต่ถามว่าการที่เป็น ส.ส. มันก็อาจจะมีข้อจำกัดหลาย ๆ ด้านในด้านการนำงบมา เพราะมันอาจจะไม่เหมือนสมัยก่อนที่เราสามารถเอางบของ ส.ส. มาทำนู่นทำนี่ได้ ณ ปัจจุบันเขาก็ชัดเจนอยู่แล้วว่า ส.ส. เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ เรามีหน้าที่ออกกฎหมาย The People: ทำไมถึงเลือกลงพื้นที่บึงกุ่ม เฉลิมชัย: เลือกที่จะสู้เขตนี้ อันที่หนึ่ง ด้วยความที่เรามีบ้านอยู่ที่เขตนี้ด้วยที่บึงกุ่ม ส่วนข้อที่สองก็คือเรามีทีมงานที่เป็นพาร์ตเนอร์ตั้งแต่เราเริ่มต้นก็คือน้องแคน-นายิกา (ศรีเนียน) ก็มีความเชี่ยวชาญในพื้นที่นี้ เพราะว่าเขาเกิดในพื้นที่นี้เลย แล้วก็เรียนมาตั้งแต่โรงเรียนแถวบ้านแถวนี้เลย บ้านเขาอยู่ปัฐวิกรณ์ 2 แถวนี้ก็คือเป็นเขตนี้ เลยคิดว่าลักษณะนี้เราพร้อมที่จะดูแล เราพร้อมที่จะสู้เพื่อที่จะทำให้พื้นที่มันดีขึ้น แล้วก็คิดว่าจะเอาชนะได้ในเขตเรา The People: มองเห็นข้อจำกัดหรือศักยภาพของบึงกุ่มอย่างไรบ้าง เฉลิมชัย: จริง ๆ ศักยภาพชุมชนแถวนี้ โดยส่วนมากจะเป็นหมู่บ้านจัดสรรอยู่แล้ว แล้วก็จะเป็นคนที่มีรายได้ค่อนข้างดี แต่มันจะยังมีส่วนน้อยซึ่งจะเป็นชุมชนแออัด ซึ่ง ณ จุดนี้ผมว่าเราสามารถพัฒนาให้ดีขึ้นได้ คือจะเป็นปัญหาต่าง ๆ เช่นพวกคลองเสีย น้ำเสีย หรือปัญหาพื้นฐานมาก ๆ เช่น พวกสะพานทรุด ซึ่งถ้าเราพัฒนาในพื้นที่ได้ดี ผมว่าชาวบ้านก็จะแฮปปี้ดีขึ้น และส่วนมากผมมองในภาพใหญ่มากกว่าด้วยว่าถ้าเราสามารถทำประเทศให้มันดีขึ้นได้ GDP ประเทศโตทุกอย่าง ออกกฎหมายที่สามารถกระจายความเท่าเทียมให้มากขึ้น ทุกคนก็จะได้ประโยชน์ไม่ว่าจะเป็นเขตนี้หรือเขตไหน ๆ เราลงพื้นที่มาหลายเดือน เห็นปัญหาต่าง ๆ อย่างที่ผมบอกเลยที่มันมีปัญหาสารทุกข์สุกดิบ ไฟไม่ติด น้ำไม่ไหล คลองน้ำเน่าน้ำเสีย ซึ่งจริง ๆ ด้วยหน้าที่ของพรรคการเมืองเรามีหน้าที่ประสานงาน เราไม่สามารถเอาเงินไปให้เขาได้โดยตรง ด้วยความที่บางทีชาวบ้านเขาอาจจะประสานงานไม่ค่อยเป็น หรือไม่ก็เสียงเขาอาจจะดังไม่พอ เราก็จะมาช่วยตรงจุดนี้ ซึ่งเราสามารถประสานกับทางเขต แล้วให้เขตเข้ามาดูแลชาวบ้าน The People: ถ้ามีโอกาสได้ดูแลงานกระทรวงสาธารณสุข จะวางนโยบายดูแลประชาชนอย่างไร เฉลิมชัย: ถ้าในเรื่องโควิด-19 จริง ๆ ผมก็มีอะไรที่ผมไม่เห็นด้วยหลายอย่างกับรัฐบาล อันที่หนึ่ง เรื่องวัคซีน วัคซีน ณ ตอนนี้จริง ๆ แล้ว เรารู้อยู่แล้วว่ามันคือความหวัง เป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ตอนนี้ เปรียบภาพธุรกิจของเรากับภาคประชาชนเหมือนเป็นนักวิ่งที่ลมออกซิเจนกำลังจะหมดลงได้เรื่อย ๆ ณ ตอนนี้ แต่เราไม่มีตัววัคซีนที่จะเป็นเหมือนตัวเร่งให้เราวิ่งได้เร็วขึ้น เพื่อที่จะผ่านระยะเวลาสั้น ๆ นี้ไป เพื่อที่จะให้เรารอดไป ซึ่งถ้าเราไม่สามารถมีวัคซีนได้เร็ว โอกาสเราจะหายไปเรื่อย ๆ ผู้ประกอบการจะตายลงไปเรื่อย ๆ แล้วบางทีผู้ประกอบการตายไป การที่จะสร้างผู้ประกอบการคนใหม่ขึ้นมามันไม่ได้ง่าย ในความเห็นของผม อันนี้การจัดซื้อวัคซีนถือว่าเราล่าช้ามาก เราไม่ได้เจรจาอย่างเพียงพอ เราไม่ได้กระจายความเสี่ยงอย่างเพียงพอ เราอาจจะหวังพึ่งเพียงแค่ 1-2 เจ้า ในการที่เราจะจัดหาวัคซีน ทำให้เราได้วัคซีนช้า ซึ่งเราสังเกตจากประเทศเพื่อนบ้านหลาย ๆ ประเทศ พม่าก็ได้แล้ว สิงคโปร์ก็เริ่มฉีดนานแล้ว แล้วยิ่งดูอิสราเอลเขาฉีดไปเยอะแล้ว มันเห็นถึงความแตกต่างเป็นอย่างมาก The People: ถ้าการเมืองดีเราจะเห็นอะไร เฉลิมชัย: ถ้าการเมืองดีเอาแค่เริ่มต้นก่อนเลย เรื่องรัฐมนตรีผมว่าถ้าการเมืองดี เราน่าจะได้รัฐมนตรีที่ตรงกับประสบการณ์ ตรงกับความสามารถของเขาไปบริหารประเทศ ไม่ใช่เกิดจากโควตารัฐมนตรีที่เขามี เช่น เขาดูแล ส.ส. 20 คน แล้วเขาได้เป็นรัฐมนตรี ซึ่งบางอย่างบางทีเขาไม่ได้เชี่ยวชาญชำนาญในจุดนั้น มันทำให้การบริหารงานไม่ได้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งผมว่าถ้าการเมืองดี มีการตรวจสอบไป รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็คงไม่ได้กล้าที่จะมีแบบนี้ แล้วการที่ ส.ส. มีคนหนึ่งดูแลแบบนี้ มันก็มักเกิดจากว่ามีการซื้อเสียงนู่นนี่นั่นที่จะเอาเงินไปดูแล ซึ่งถ้าการเมืองไม่ได้ใช้เงินขนาดนั้น มันก็ไม่จำเป็นต้องมีมุ้ง ส.ส. แล้วผมว่าพรรคก็จะสามารถคัดเลือกคนที่มีประสิทธิภาพ มีความสามารถ เข้าไปบริหารตรงตามกระทรวง แล้วทำให้ประเทศพัฒนา คอร์รัปชันก็ลดลง เพราะมีการตรวจสอบจากภาคประชาชนอย่างเข้มแข็งเข้มงวด The People: คิดอย่างไรกับธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ (อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่) เฉลิมชัย: ธนาธร ผมว่าเขาเป็นคนที่ถือว่าเป็น 0.1 เปอร์เซ็นต์ของประชากรในเรื่องของ wealth เรื่องของความร่ำรวย และเขาก็เป็นกลุ่มธุรกิจที่ถือว่าเป็นธุรกิจที่ใหญ่ในประเทศนี้ และการที่เขาลงมาทำงานทางการเมือง เขารู้อยู่แล้วว่าเขาต้องเจอแรงเสียดทานขนาดไหน จะมีผลต่อธุรกิจขนาดไหน แต่เขาก็เลือกที่จะทำ และด้วยประวัติเก่า ๆ ของเขาที่ผมศึกษามา เขาเป็นตั้งแต่ NGO ไปค้านเรื่องการทำท่อส่งแก๊ส ซึ่งด้วยความที่เขาเป็น activist เก่าอยู่แล้ว ผมมีความมั่นใจว่าเขาเป็นนักเคลื่อนไหว ไม่ใช่ต้องการเข้ามาทางการเมืองเพื่อหาผลประโยชน์อะไร เขาต้องการเปลี่ยนประเทศให้ดียิ่งขึ้นในมุมมองของเขา ซึ่งผมก็คิดว่ามุมมองของเขามันถูก ผมก็เลยสนับสนุน The People: คิดอย่างไรกับพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (หัวหน้าพรรคก้าวไกล) เฉลิมชัย: ผมคิดว่าเขาเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง เคยเป็น CEO ของบริษัทใหญ่ ๆ เช่น CEO ของ Grab ก็คิดว่าเขามีประสบการณ์ แล้วเขาเคยเป็นข้าราชการการเมืองทางด้านของการเกษตร ผมว่าเรื่องการเกษตรเขามีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว ซึ่งด้วยอะไรหลาย ๆ อย่าง ผมว่าเขาก็เหมาะที่จะเป็นผู้นำ เพราะเขามี charisma ในแบบของเขา ถ้ามุมมองของผมนะ The People: การลงพื้นที่ต้องทำอะไรบ้าง เฉลิมชัย: ปกติแล้วอาทิตย์หนึ่งเราจะเข้าไปรับฟังปัญหาก่อนว่าปัญหาของชุมชนมีอะไรบ้าง ซึ่งถ้าเราสามารถช่วยประสานให้เขาได้ เราก็จะจัดการทำทันที อันนี้ก็คือเป็นหลักเลยที่เราเข้าไปชุมชน ไปแก้ปัญหาให้เขา ส่วนอันอื่น ๆ ก็จะเป็นพวกเป็นไปตามเทศกาล หรือปัญหาต่าง ๆ เช่น ในช่วงโควิด-19 เราก็อาจจะเข้าไปช่วยดูแล เช่น แจกแมสก์เพื่อช่วยลดการแพร่ระบาดของโควิด-19 แจกพวกสเปรย์แอลกอฮอล์ให้ชาวบ้าน ได้มีโอกาสได้ล้างมือ ก็ทำให้การติดเชื้อมันลดลง ก็ช่วยภาพรวมทั้งประเทศ แต่เราก็ช่วยของในเขตที่เราดูแลอยู่ อันนี้ก็เป็นหลัก ๆ ที่เราเข้าไป คือหลัก ๆ ง่าย ๆ คือเราเข้าไปแก้ปัญหาให้เขา เข้าไปสำรวจปัญหา รับฟัง ก็มีโทร. กลับมาให้เราช่วยประสานงาน เช่นว่า บอกว่าท่อน้ำเสีย ถนนทรุด ให้เราเข้าไปช่วยดู เราก็เข้าไปช่วยดูตามนั้น แล้วเราก็มีหลายช่องทาง มีทั้งทาง Facebook ส่วนตัว Facebook ของพรรคก้าวไกล เขตบึงกุ่ม-คันนายาว ก็จะมีชาวบ้านร้องเรียนมาเป็นประจำอยู่แล้ว The People: มีอะไรอยากฝากถึงคนในพื้นที่บึงกุ่ม-คันนายาว เฉลิมชัย: อยากขอให้เปิดใจรับฟังความคิดของพรรคเรา อย่าเพิ่งใส่อคติลงไป ที่พรรคเราพูดหรือว่าพวกผมพูด มีแต่ความหวังดีให้กับประเทศนี้ ถึงจะไม่ชอบ แต่ขอให้ลองเปิดใจฟังสักนิดหนึ่งครับ ภาพ: กัญญาภัค ขวัญแก้ว