ประเทศมหาอำนาจ ส่องวาทะผู้นำ พาพลเมืองโลกฝ่าวิกฤตโควิด-19

ประเทศมหาอำนาจ ส่องวาทะผู้นำ พาพลเมืองโลกฝ่าวิกฤตโควิด-19
ในยามวิกฤตไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติหรือสงคราม ย่อมเลี่ยงไม่ได้ที่ประชาชนจะรู้สึกเสียขวัญไปกับสถานการณ์ที่สับสนและไม่แน่นอน การสื่อสารระหว่างผู้นำประเทศกับประชาชน จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ประชาชนรู้สึกสงบ มีสติ มีกำลังใจ เชื่อมั่น และฮึกเหิม หนึ่งในวรรคทองในตำนานของวาทะผู้นำในประวัติศาสตร์ เราคงนึกถึงสุนทรพจน์เมื่อครั้งเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ เซอร์วินสตัน เชอร์ชิลล์ (Sir Winston Churchill) เมื่อ ค.ศ. 1940 เวลานั้นสงครามกับฝ่ายนาซีกำลังปะทุขึ้นอย่างรุนแรงในยุโรป เชอร์ชิลล์ต้องจูงใจให้สมาชิกรัฐสภาเห็นถึงความจำเป็นที่สหราชอาณาจักรต้องรวมใจกันสู้สงครามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก “ข้าพเจ้าไม่มีอะไรจะมอบให้พวกท่าน นอกจากเลือด เรี่ยวแรงไม่ทดท้อ หยาดเหงื่อ และน้ำตา” (“I have nothing to offer but blood, toil, tears and sweat.”) เชอร์ชิลล์กล่าวด้วยน้ำเสียงหนักแน่น จนทั้งพรรคอนุรักษนิยมและพรรคแรงงานต้องโอนอ่อนให้กับวาทะอันทรงพลังของเชอร์ชิลล์ ประชาชนที่หวาดกลัวภัยสงครามฟังแล้วรู้สึกมีความหวังเป็นครั้งแรก [caption id="attachment_21113" align="aligncenter" width="640"] ประเทศมหาอำนาจ ส่องวาทะผู้นำ พาพลเมืองโลกฝ่าวิกฤตโควิด-19 เซอร์วินสตัน เชอร์ชิลล์[/caption] วาทศิลป์ของเชอร์ชิลล์นั้นเลื่องลือไปทั่ว แม้กระทั่งประธานาธิบดี จอห์น เอฟ. เคนเนดี แห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งเคยกล่าวสุนทรพจน์ประโยคประวัติศาสตร์ที่ว่า "อย่าถามว่าประเทศให้อะไรกับคุณ จงถามว่าคุณทำอะไรให้ประเทศได้บ้าง" ยังกล่าวว่า “เขา (เชอร์ชิลล์) ติดเครื่องให้ภาษาอังกฤษ และส่งมันเข้าสมรภูมิ” (“He mobilized the English language and sent it into battle.”) อาจกล่าวได้ว่าชัยชนะของอังกฤษในสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่วนหนึ่งมาจากความสามารถในการเป็นนักพูดอันแพรวพราวของชายร่างเล็กนามว่า “วินสตัน เชอร์ชิลล์” ก็ว่าได้ วันนี้ทั่วโลกกำลังรับมือกับปรากฏการณ์โรคระบาดที่วงการแพทย์ยังไม่รู้จักมาก่อน เชื้อไวรัสโควิด-19 (COVID-19) กำลังกลายเป็นวาระแห่งโลก หลังจากที่เชื้อโรคนี้แพร่ข้ามทวีปจากจุดศูนย์กลางในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน สู่นานาประเทศในยุโรปและอเมริกา โดยมีอิตาลีเป็นศูนย์กลางการระบาดแห่งใหม่ที่มียอดผู้ตายนำหน้าประเทศจีนต้นกำเนิดไปแล้ว ท่ามกลางความระส่ำระสายของผู้คนเกือบทั่วโลกที่แตกตื่น รีบเร่งอพยพ กักตุนสิ่งของ ทุกสายตาจับจ้องไปยังท่าทีของผู้นำว่าจะออกมาสื่อสารกับประชาชนอย่างไรให้คุมสติ ลดการออกจากบ้าน และให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการแก้ปัญหา ช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เราได้เห็นผู้นำประเทศต่าง ๆ ออกมาแถลงการณ์สื่อสารกับประชาชนโดยตรงว่าต้องทำตัวอย่างไรในช่วงเวลาอันวิกฤตนี้ The People ขอพาท่านผู้อ่านไปสำรวจกัน   [caption id="attachment_21124" align="aligncenter" width="640"] ประเทศมหาอำนาจ ส่องวาทะผู้นำ พาพลเมืองโลกฝ่าวิกฤตโควิด-19 สี จิ้นผิง (ขวา) (ภาพจาก http://www.gov.cn/)[/caption] มาช้ายังดีกว่าไม่มา ในเวลาหน้าสิ่วหน้าขวาน เชื่อว่าประชาชนต่างก็ต้องการท่าทีที่ชัดเจนของผู้นำทั้งนั้น เมื่อไวรัสระบาดในช่วงแรกที่เมืองอู่ฮั่น ชาวจีนต่างตั้งคำถามว่า ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง (Xi Jinping) หายไปไหน ซึ่งกว่าท่านผู้นำจะปรากฏตัวก็เมื่อสถานการณ์ในอู่ฮั่นเริ่มสงบแล้ว จึงค่อยเห็นภาพ สี จิ้นผิง ออกเยี่ยมประชาชน สื่อมวลชนคาดว่าเป็นการรักษาความปลอดภัยของผู้นำ แต่ที่แน่ ๆ คนที่ได้ใจชาวจีนไปเต็ม ๆ คือเหล่าฮีโร่ในเสื้อขาวทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล นักวิจัย ฯลฯ   มือร่างดีมีชัยไปกว่าครึ่ง แถลงการณ์ของผู้นำส่วนใหญ่ผ่านการร่างมาอย่างดี โดยผู้เชี่ยวชาญด้านการเขียนสุนทรพจน์ และผ่านการกรองอีกหลายรอบ โดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาล เพื่อให้มั่นใจว่าสิ่งที่ผู้นำแถลงสามารถตอบคำถามคาใจของประชาชนได้หมด และสร้างความมั่นใจว่ารัฐบาลจะนำประเทศฝ่าวิกฤตไปได้ แถลงการณ์ส่วนใหญ่จะกล่าวถึงประเด็นหลัก 4 ประเด็นด้วยกัน คือ
  1. มาตรการของรัฐบาล
  2. ประชาชนควรปฏิบัติตัวอย่างไร
  3. รัฐบาลจะช่วยเหลือเรื่องปากท้องอย่างไรเมื่อประชาชนต้องกักตัว
  4. การขอความร่วมมือจากประชาชน
ในแถลงการณ์มักจะใช้ภาษาเข้าใจง่ายเมื่อสื่อสารกับคนหมู่มาก มีการอธิบายเป็นขั้นเป็นตอน เช่น แถลงการณ์ของ ลี เซียนลุง (Lee Hsien Lloong) นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ที่ได้รับเสียงชื่นชมว่าสื่อสารได้ดีเยี่ยม (และถูกแซวว่ามาแถลงในเสื้อเชิ้ตสีชมพู สีถูกโฉลกอีกแล้ว) แบ่งสาระที่จะสื่อสารออกเป็น 3 ประเด็นอย่างชัดเจน ได้แก่ ด้านการแพทย์ ด้านเศรษฐกิจ และ ด้านจิตวิทยา [caption id="attachment_21114" align="aligncenter" width="640"] ประเทศมหาอำนาจ ส่องวาทะผู้นำ พาพลเมืองโลกฝ่าวิกฤตโควิด-19 ลี เซียนลุง ขณะออกแถลงการณ์เรื่องโควิด-19 (ภาพจาก https://www.gov.sg/article/pm-lee-hsien-loong-on-the-covid-19-situation-in-singapore-12-mar)[/caption] นายกฯ ลี อธิบายความน่ากลัวของโควิด-19 อย่างตรงไปตรงมา ไม่ปิดบังว่าเราต้องสู้กับมันอย่างจริงจัง และต้องยอมรับว่าโรคนี้จะอยู่กับเราไปอีกนาน จึงเลี่ยงไม่ได้ที่เราจะต้องปรับตัว ต้องบอกว่ามือร่างแถลงการณ์ของลี เซียนลุง นั้นไม่ธรรมดา เพราะเขียนได้รัดกุมทุกขั้นตอน มีการเปรียบเทียบให้เห็นกรณีที่เกิดขึ้นในประเทศอื่น และโยงกลับมาให้เห็นว่าสิงคโปร์จะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์อย่างในเกาหลีใต้หรืออิตาลี มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจก็ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เจ้าของกิจการจะได้รับความช่วยเหลือ แรงงานจะได้รับการฝึกฝีมือหรือรีเทรนนิงในช่วงที่ธุรกิจต้องปิด มาตรการยังครอบคลุมไปถึงสมาชิกในครอบครัวอีกด้วย เรียกว่าคิดไปล่วงหน้าและปิดประตูความเสี่ยงทุกอย่าง ยิ่งไปกว่านั้น นายกฯ ลี ยังออกแถลงการณ์ชุดเดียวกันเป็น 3 ภาษา คือ ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน และภาษามาเลย์ พร้อมบทสรุปในภาษานั้น ๆ อย่างย่อ ทำเอาคนสิงคโปร์เองยังทึ่ง ลบคำปรามาสที่ว่าสิงคโปร์เป็นรัฐคนจีนเป็นใหญ่ และไม่ให้ความสำคัญกับความหลากหลายไปได้พอดู [caption id="attachment_21115" align="aligncenter" width="640"] ประเทศมหาอำนาจ ส่องวาทะผู้นำ พาพลเมืองโลกฝ่าวิกฤตโควิด-19 จัสติน ทรูโด (ไม่ใช่ภาพขณะแถลงโควิด-19)[/caption] อีกประเทศที่ออกแถลงการณ์มากกว่าหนึ่งภาษาคือ แคนาดา ซึ่งตามรัฐธรรมนูญของประเทศให้ความสำคัญกับภาษาประจำชาติ 2 ภาษาคืออังกฤษและฝรั่งเศสอย่างเท่าเทียม และนายกรัฐมนตรี จัสติน ทรูโด (Justin Trudeau) ก็พูดได้ทั้ง 2 ภาษาอย่างคล่องแคล่ว ถึงแม้จะขลุกขลักอยู่บ้าง เนื่องจากภริยาของนายกฯ ทรูโดเองติดโควิด-19 และตัวนายกฯ ก็ต้องกักตัวอยู่ที่บ้านในเมืองออตตาวา เลยออกมาแถลงในลุคหนวดเคราไม่ได้โกนจนชาวเน็ตถึงกับอุทานในความแปลกตา แถลงการณ์ของทรูโดทั้ง 2 ภาษา สะท้อนให้เห็นการร่างที่วางแผนมาอย่างดี และคำนึงถึงผู้รับสารใน 2 ภาษาที่จะต้องเข้าใจตรงกัน เนื้อหาแถลงการณ์ของทรูโดมุ่งเน้นไปที่การสร้างความรู้สึกสนิทชิดเชื้อระหว่างรัฐกับชาวแคนาดาทุกภาคส่วน และพยายามสร้างความเชื่อมั่นว่ารัฐบาลมีมาตรการทางเศรษฐกิจเพื่อช่วยเหลือทุกภาคส่วน [caption id="attachment_21116" align="aligncenter" width="990"] ประเทศมหาอำนาจ ส่องวาทะผู้นำ พาพลเมืองโลกฝ่าวิกฤตโควิด-19 อังเกลา แมร์เคิล (ภาพ Bundesregierung/Kugler ใน https://www.bundesregierung.de/breg-en/federal-government/cabinet/angela-merkel)[/caption] ที่ดูจะมาวินในนาทีนี้ คงหนีไม่พ้นแถลงการณ์ของเจ้าแม่ผู้ยืนหนึ่งในแวดวงผู้นำประเทศมายาวนาน อังเกลา แมร์เคิล (Angela Merkel) สมุหนายกรัฐมนตรีแห่งเยอรมนี แม้เราจะคุ้นเคยกับใบหน้าเรียบเฉยของสตรีหมายเลขหนึ่งของเยอรมนี ผู้ที่ไม่ว่าเวลาจะเชียร์ทีมชาติ “ดี มานน์ชาฟต์” หรือนั่งหัวโต๊ะในวงประชุมสุดยอดผู้นำ ก็ดูเหมือนจะสตัฟฟ์ใบหน้าให้นิ่งสุขุมได้ในทุกสถานการณ์ และในสถานการณ์ฉุกละหุกเช่นนี้แล ที่สีหน้าอันเยือกเย็นของ “ขุ่นแม่” หรือ “mutti” ของเยอรมันชน เรียกสติผู้คนในประเทศให้กลับมาเผชิญหน้ากับความจริง และร่วมกันต่อสู้ในสถานการณ์อันเลวร้ายให้ผ่านพ้นไปได้ แถลงการณ์ถูกร่างมาอย่างสมดุล โปร่งใส ไม่ปิดบัง ตรงไปตรงมาอย่างที่สุด Es ist Ernst” (“This is serious”) กลายเป็นวรรคทองที่ถูกรีทวีตมากที่สุด เพราะถ้ามาจากปาก อังเกลา แมร์เคิล แล้ว เราต้องจริงจัง เพราะขุ่นแม่คือผู้นำที่ไม่เคยทำตัวดราม่า ไม่มีสักที่ในแถลงการณ์ที่กล่าวโทษประชาชน (เพียงแต่บอกตรง ๆว่าการกักตุนมากเกินไปเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ) โอ้อวดผลงาน ประชดประชัน หรือเรียกร้องให้เห็นใจรัฐบาล   อย่าลืม human และ/หรือ personal touch “ข้าพเจ้าขอใช้โอกาสนี้ขอบคุณคนที่แทบจะไม่เคยได้รับคำขอบคุณเลย” แมร์เคิล กล่าว “คือคนที่ตลอดทั้งสัปดาห์นั่งอยู่ที่โต๊ะแคชเชียร์ และคอยเอาสินค้ามาเติมให้เต็มชั้นในซูเปอร์มาร์เก็ต พวกเขากำลังทำงานที่หนักที่สุดงานหนึ่งในตอนนี้ ขอบคุณพวกคุณจริงๆ  ที่ทำงานอย่างเหน็ดเหนื่อยเพื่อพี่น้องชาวเยอรมัน และทำให้ร้านรวงต่าง ๆ ยังเปิดต่อไปได้” ประโยคนี้ของแมร์เคิลทำเอาชาวเน็ตน้ำตาซึม โดยเฉพาะพนักงานซูเปอร์มาร์เก็ตที่ทำงานไม่หยุดหย่อน ในช่วงที่ผู้คนต่างกรูเข้าไปฉกฉวยสินค้าจำเป็นให้มากที่สุดราวกับพรุ่งนี้โลกจะแตก โดยมากเราจะได้ยินถ้อยแถลงที่ขอบคุณบุคลากรทางการแพทย์ แต่ในสุนทรพจน์ของแมร์เคิล ทำให้ผู้ฟังทุกชั้นชนรู้สึกได้ว่าตนไม่ได้ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง การมองเห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์ในประชาชนทุกคน จึงเป็นเหมือนน้ำทิพย์ชโลมใจสังคมที่สับสนอลหม่านและเต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว ผู้นำหลายคนเลือกใช้น้ำเสียงเป็นกันเอง เพื่อแสดงความเห็นอกเห็นใจ “ผมเข้าใจว่าคุณกำลังรู้สึกกังวล กังวลเรื่องสุขภาพของคุณ สุขภาพของคนในครอบครัว หน้าที่การงานของคุณ เงินเก็บของคุณ กังวลเรื่องค่าเช่า กลัดกลุ้มที่ลูก ๆ ไม่ได้ไปโรงเรียน ผมเข้าใจดีว่าคุณกำลังทุกข์ใจในความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก” ทรูโด นายกฯ แคนาดา พูดด้วยน้ำเสียงนุ่มนวลตามสไตล์ [caption id="attachment_21117" align="aligncenter" width="300"] ประเทศมหาอำนาจ ส่องวาทะผู้นำ พาพลเมืองโลกฝ่าวิกฤตโควิด-19 จาซินดา อาร์เดิร์น (ภาพจาก https://www.parliament.nz/en/mps-and-electorates/members-of-parliament/ardern-jacinda/)[/caption] ส่วนนายกรัฐมนตรีแม่ลูกอ่อนแห่งนิวซีแลนด์ จาซินดา อาร์เดิร์น (Jacinda Ardern) ที่ทั่วโลกยังจดจำภาพที่เธอสวมกอดชาวมุสลิมผู้สูญเสียญาติพี่น้องจากเหตุการณ์ก่อการร้ายในไครช์เชิร์ชได้ ออกมาแถลงเป็นระยะ ๆ เพื่อแจ้งประชาชนว่า สถานการณ์ในขณะนี้ชาวกีวีต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง Kia ora koutou katoa” เธอกล่าวทักทายเป็นภาษาเมารี (21 มีนาคม 2020) และไม่ลืมที่จะบอกประชาชนว่า เธอก็มีความกังวลไม่ต่างกัน โดยเฉพาะในบทบาทของแม่ “การส่งเด็กกลับบ้านในช่วงนี้ อาจจะไม่ได้ช่วยลดอัตราการกระจายเชื้อโรคในชุมชนมากนัก แต่ดิฉันของให้ทุกท่านวางใจได้ว่า รัฐบาลกำลังพิจารณาแนวทางต่าง ๆ ที่จะช่วยให้เด็ก ๆปลอดภัย ในฐานะแม่คนหนึ่ง ขอให้มั่นใจว่านี่คือประเด็นหลักที่ดิฉันคำนึงถึง” ตอกย้ำว่าไม่ว่าผู้นำหรือประชาชนต่างก็อยู่ในสถานการณ์เดียวกัน [caption id="attachment_21118" align="aligncenter" width="640"] ประเทศมหาอำนาจ ส่องวาทะผู้นำ พาพลเมืองโลกฝ่าวิกฤตโควิด-19 บอริส จอห์นสัน (ไม่ใช่ภาพขณะแถลงโควิด-19)[/caption] ส่วน บอริส จอห์นสัน (Boris Johnson) นายกรัฐมนตรีอังกฤษ (ที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ไปแล้ว) โดนวิจารณ์อย่างหนัก เนื่องจากตอนแรกออกนโยบายสวนทางกับประเทศใน EU (เพราะออกมาแล้วจ้า) ให้ประชาชนยังคงเดินทางได้อย่างอิสระและไม่ต้องกักตัว จนยอดผู้ติดเชื้อแตะหลักพัน รัฐบาลนายจอห์นสันถึงกับยูเทิร์นแทบไม่ทัน แถมยังโดนด่าขรมเมื่อปล่อยมาตรการ “herd immunity” หรือปล่อยให้ประชาชนติดโรคราว 70% จนเชื้อโรคแพร่ต่อไม่ได้ เพื่อสร้าง “ภูมิคุ้มกันหมู่” เรื่องนี้ทำให้หลายคนออกมาลั่นวาจาว่าจะไม่ยอมเป็นหนูทดลองให้จอห์นสันอย่างเด็ดขาด ท่าทีของนายกฯ จอห์นสันจึงเปลี่ยนไปในระยะหลัง โดยออกมาตรการกักตัวที่สอดคล้องกับประเทศอื่น ๆ และสื่อสารกับประชาชนด้วยคำพูดเข้าใจง่าย สไตล์บอริสที่ไม่ค่อยจะรักษามาดเท่าไหร่นัก ในลุคผมไม่ค่อยหวี นายกฯ จอห์นสันบอกว่า สิ่งที่เขาประสบอยู่ก็ไม่ต่างจากประชาชนเหมือนกัน “ขอย้ำอีกครั้งนะครับ ผมรู้ดีว่าการใช้ชีวิตแบบนี้มันยากมาก และสวนทางกับธรรมชาติเราชาวบริติชที่รักเสรีภาพ และผมก็ตระหนักดีว่าในตอนนี้แรงงานและธุรกิจต่าง ๆ สมควรได้รับมาตรการคุ้มครองทางเศรษฐกิจที่เรากำลังจัดการให้”   Deliver ให้ดี ไม่พัง จบให้ปังเข้าไว้ นอกจากบทพูดจะต้องร่างมาดี แสดงความเข้าอกเข้าใจ และแสดงความห่วงใยคนทุกชนชั้นแล้ว ท่าทางในการนำเสนอก็เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสะกดผู้คนให้สงบและคล้อยตาม นาทีนี้เราต้องยกนิ้วให้ ลี เซียนลุง แห่งสิงคโปร์ ที่สามารถพูดได้คล่องแคล่วไหลลื่นด้วยน้ำเสียงอ่อนนุ่มแต่มั่นคง ที่สำคัญสังเกตได้ว่า นายกฯ ลี ไม่เคยใส่หน้ากากอนามัยแถลงเลยสักครั้ง เพราะต้องการสร้างความมั่นใจให้ประชาชนไม่แตกตื่นออกไปกักตุนหน้ากากจนขาดตลาด (แต่รัฐบาลส่งให้เลยถึงบ้าน) พร้อมจบด้วยประโยคสุดปังว่า... “ผมรู้สึกซาบซึ้งเป็นอย่างยิ่ง ที่ชาวสิงคโปร์ส่วนใหญ่รับสถานการณ์นี้ได้อย่างไม่ตระหนกและมีความรับผิดชอบ ขอบคุณที่เชื่อมั่นและสนับสนุนพวกเรา ท่าทีของเราชาวสิงคโปร์นั้นได้รับคำชื่นชมจากทั่วโลก ซึ่งเป็นผลมาจากความอดทนไม่ย่อท้อต่อปัญหา ไม่ว่าจะในด้านสังคมหรือเชิงจิตวิทยา สิ่งที่ทำให้สิงคโปร์ต่างจากชาติอื่นนั้นคือความเชื่อมั่นที่เรามีต่อกันและกันเอง เรารู้สึกว่าเรากำลังเผชิญปัญหาร่วมกัน และเราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง นี่คือทีม SG United เราคือ SG United” ใครฟังก็รู้สึกฮึกเหิมเนอะ ว่าไหม [caption id="attachment_21119" align="aligncenter" width="640"] ประเทศมหาอำนาจ ส่องวาทะผู้นำ พาพลเมืองโลกฝ่าวิกฤตโควิด-19 เอ็มมานูเอล มาครง (ไม่ใช่ภาพขณะแถลงโควิด-19)[/caption] ตัดมาที่ประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง (Emmanuel Macron) แห่งฝรั่งเศสกันบ้าง มาครงคือประธานาธิบดีที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ของฝรั่งเศส การจะก้าวขึ้นมารับตำแหน่งสูงสุดของประเทศที่มีความเป็นมายาวนาน โดยเฉพาะในด้านประชาธิปไตย และการมีส่วนร่วมอย่างเหนียวแน่นของประชาชนนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่มาครงก็พิสูจน์แล้วว่าเขาขึ้นมากุมบังเหียนวังเอลีเซส์ได้ในวัยเพียง 39 ปี มาครงเป็นที่รู้จักดีในชั้นเชิงการพูดที่ดุดัน มั่นใจ และที่สำคัญ “ไม่กระพริบตา” เขาล้มคู่แข่งผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอย่าง มารีนน์ เลอ แป็น นักการเมืองขวาจัดในการโต้วาทีแสดงวิสัยทัศน์ที่ยาวนานและเต็มไปด้วยคำบริภาษคู่แข่งที่ดุดันที่สุดในประวัติศาสตร์ เมื่อเข้ามาเป็นประธานาธิบดีแล้วก็ต้องเจอการประท้วงจากกลุ่มเสื้อกั๊กเหลือง (ฝรั่งเศสเป็นประเทศที่การประท้วงเป็นเสมือนกีฬาประเภทหนึ่ง มีบ่อยถึงบ่อยมากกกก) ก็ใช้วิธีการจัดดีเบตใหญ่ (grand débat) ให้ทุกฝ่ายเข้ามาแสดงความเห็นกันอย่างดุเดือด คนฝรั่งเศสคุ้นเคยกับการถกเถียงและรักษาสิทธิของตัวเอง จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะกล่อมให้ทุกคนยอมอยู่ในบ้าน แต่ด้วยสไตล์ของมาครง “สิงห์ตาไม่กะพริบ” ยังคงใช้น้ำเสียงมั่นใจ ตรงไปตรงมา ผิดจากผู้นำคนอื่น ๆ ที่มีน้ำเสียงโอนอ่อนกว่า เพื่อตอกย้ำความร้ายแรงของสถานการณ์ มาครงย้ำอยู่หลายครั้งว่า “เรากำลังอยู่ในภาวะสงคราม” (“nous sommes en guerre.”) เรากำลังต่อสู้กับเชื้อโรค ใช่ เราไม่ได้ต่อสู้กับกองทัพที่ไหน หรือกองกำลังของชาติอื่นใด แต่ศัตรูของเราอยู่นี่ เรามองไม่เห็น มันล่องหน และกำลังเคลื่อนตัวขยายขึ้นเรื่อย ๆ สงครามนี้หมายความว่าเราต้องร่วมมือขับเคลื่อนไปด้วยกัน” มาครงเรียกประชาชนว่าเป็น “เพื่อนร่วมชาติ” (compatriotes) ที่จะสามารถ “ร่วมกันอุทิศทั้งตนเองและส่วนรวม เพื่อร่วมแก้ปัญหาที่ใหญ่หลวงในครั้งนี้ ผมรู้ดีว่าสหายร่วมชาติที่รักของผมจะเชื่อมั่นในตัวพวกท่านได้ ขอให้สาธารณรัฐจงเจริญ ฝรั่งเศสจงเจริญ!” ประธานาธิบดีจบการแถลงด้วยสโลแกนที่ชาวฟร็องเซส์รู้จักกันดี คือ Vive la République, vive la France !” เพื่อตอกย้ำการเป็นรัฎฐาธิปัตย์ที่เคลื่อนที่ไปข้างหน้าด้วยการร่วมแรงร่วมใจของประชาชน แถลงการณ์ครั้งนี้ทำให้คะแนนนิยมในตัวประธานาธิบดีมาครงพุ่งเกิน 50% เป็นครั้งแรกในรอบสองปี หลังจากดิ่งมานานจากเหตุการณ์ประท้วงรุนแรงในปารีสหลายครั้ง   แล้ววาทะพัง ๆ ล่ะเป็นยังไง? ไม่ต้องเสียใจไป ถ้าไม่เคยได้ยินแถลงการณ์ที่อบอุ่นหัวใจหรือทำให้ฮึกเหิม ถ้าคุณเป็นอเมริกันชนก็คงชินแล้วที่ต้องส่ายหัวเมื่อฟังประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) แถลง (ไม่ว่าจะแถลงเรื่องอะไรก็ตาม) สื่อมวลชนต่างรู้ดีว่าจะให้ประธานาธิบดีทรัมป์พูดเป็นประโยคสมบูรณ์ ไม่หลุดข้อความเรียกดรามานั้นยากเต็มที ยิ่งถ้าไปเปรียบเทียบกับอดีตประธานาธิบดีอย่าง บารัก โอบามา หรือ บิล คลินตัน แล้ว เรียกได้ว่าทรัมป์อยู่คนละลีก และทรัมป์ไม่แคร์ [caption id="attachment_21121" align="aligncenter" width="640"] ประเทศมหาอำนาจ ส่องวาทะผู้นำ พาพลเมืองโลกฝ่าวิกฤตโควิด-19 โดนัลด์ ทรัมป์[/caption] ทุกครั้งที่ทรัมป์แถลง หลายคนต้องกลั้นหายใจยาว ๆ เพราะส่วนใหญ่ถึงจะมีร่างมาให้อ่าน ประธานาธิบดีทรัมป์ก็จะดึงเฉพาะบางจุดที่อยากพูดขึ้นมา บางสำนักถึงกับวิจารณ์ว่า “ทำเหมือนอ่านหนังสือเป็นครั้งแรก” เมื่อไวรัสระบาด ทรัมป์ประกาศว่า “ผมขอประกาศภาวะฉุกเฉินระดับชาติอย่างเป็นทางการ ใช้คำยากตั้งสองคำแน่ะ” เล่นเอาคนฟังก่ายหน้าผากว่าประธานาธิบดีประเทศนี้กำลังจริงจังอยู่รึเปล่า สถานการณ์ยิ่งแย่ลงไปอีก เมื่อทรัมป์เรียกไวรัสโควิด-19 ว่าเป็น “เชื้อโรคจีน” (Chinese disease) เมื่อนักข่าวถามติงว่าการเรียกแบบนี้ยิ่งทำให้กระแสเหยียดเชื้อชาติชาวเอเชียแย่ลงไปใหญ่ ทรัมป์ก็ไม่กลับคำ และพูดว่า “ก็เชื้อโรคมาจากจีน ต้องเรียกว่าเชื้อโรคจีน” แต่เมื่อกระแสตีกลับมาก ๆ เข้าจึงถอนคำพูด และหยอดว่าคนอเมริกันเชื้อสายจีนไม่ได้เป็นต้นเหตุของไวรัส และจำเป็นต้องได้รับการปกป้อง ไวรัสโควิด-19 ทำให้การแสดงวิสัยทัศน์เพื่อเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตดูเหมือนจะหยุดไปโดยปริยาย ตอนนี้คู่แข่งต่างหยั่งเชิงดูท่าทีของทรัมป์ที่ดูร่อแร่เต็มทีจากการแก้ไขปัญหาโรคระบาด หรือจะเป็นไวรัสที่โค่นทรัมป์ลง?   คำพูดของผู้นำคือความหวัง ในยามที่โลกเผชิญวิกฤตเดียวกัน คำพูดของผู้นำแต่ละประเทศย่อมส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชนไม่มากก็น้อย (แต่ส่วนใหญ่ก็ส่งผลมากอยู่แล้ว ยิ่งช่วงหน้าสิ่วหน้าขวานเช่นนี้ด้วย) คำพูดจากปากของผู้นำแต่ละประเทศ จึงไม่เพียงหมายถึงถ้อยความที่ใช้สื่อสารข้อเท็จจริงและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการสร้างพลังใจ ความเชื่อมั่น ความเข้มแข็ง เพื่อที่เราทุกคนที่เป็น “พลเมืองโลก” จะผ่านช่วงเวลานี้ไปด้วยกันได้อย่างแข็งแกร่ง   ที่มา FB Lee Hsien Loong https://mothership.sg/2020/03/pm-lee-subtle-asian-traits/ https://www.vogue.com/article/queen-elizabeth-covid-19-pandemic-statement https://nymag.com/intelligencer/2020/03/trump-i-dont-take-responsibility-at-all-coronavirus.html https://www.france24.com/en/20200321-france-s-macron-gets-popularity-bump-from-coronavirus-response https://www.lemonde.fr/politique/article/2020/03/16/nous-sommes-en-guerre-retrouvez-le-discours-de-macron-pour-lutter-contre-le-coronavirus_6033314_823448.html https://www.gov.uk/government/speeches/pm-statement-on-coronavirus-20-march-2020 https://globalnews.ca/news/6672708/transcript-justin-trudeau-coronavirus/ https://www.rnz.co.nz/news/national/412280/coronavirus-prime-minister-jacinda-ardern-gives-address-to-nation-on-the-covid-19-response https://nymag.com/intelligencer/2020/03/angela-merkel-nails-coronavirus-speech-unlike-trump.html   เรื่อง: แพร จิตติพลังศรี