สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ นักกลยุทธ์ติดดิน และเจ้าของวลีจั่วหัว “การเป็นนายกฯ ฟ้าลิขิต”

สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ นักกลยุทธ์ติดดิน และเจ้าของวลีจั่วหัว “การเป็นนายกฯ ฟ้าลิขิต”

สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ผู้ขึ้นชื่อว่าเป็นนักกลยุทธ์ติดดิน ขุนคลังรัฐบาลทักษิณผู้ร่วมคิดค้น-ผลิตนโยบายชุดประชานิยม ก่อนจะมาเป็นขุนคลังลายพราง ยุคประยุทธ์ และเจ้าของวลีจั่วหัว “การเป็นนายกฯ ฟ้าลิขิต”

  • สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ หรือ หั่งกวง แซ่จัง เกิดในครอบครัวพ่อค้าชาวจีนโพ้นทะเล
  • สมคิด ได้ชื่อว่าเป็นนักการตลาดและนักกลยุทธ์ที่ผู้คนยอมรับ รวมถึงเคยเป็นศิษย์ของ ‘ฟิลิป คอตเลอร์’ (Philip Kotler) ปรมาจารย์การตลาดยุคใหม่ 
  • จากนักการตลาดและนักกลยุทธ์ สมคิดได้ผันตัวสู่เส้นทางการเมือง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ความสามารถของเขาเอง

69 ปีที่แล้ว 'หั่งกวง แซ่จัง' หรือ 'สมคิด จาตุศรีพิทักษ์' ถือกำเนิดในครอบครัวพ่อค้าชาวจีนโพ้นทะเลที่ไม่ประสบความสำเร็จในการสร้างตัวเหมือนคนอื่น ๆ

ในวันที่กิจการร้านค้าของ 'เซ็ง แซ่จัง' (บิดาของสมคิด) ใกล้ล้มละลาย เขามาได้ลูกชายอีกคน เซ็ง แซ่จัง จึงตั้งชื่อว่า ‘หั่งกวง’ หมายถึงแสงสว่าง เซ็งคงหวังให้จะลูกคนนี้นำทาง ยามที่แสงสว่างภายในครอบครัวนั้นริบหรี่เต็มที

สมคิด เกิดหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ช่วงสังคมไทยยุคนั้นเต็มไปด้วยผู้มีรากฐาน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มทุน หรือตระกูลสังคมชั้นสูง มันเป็นสิ่งไม่น่าเชื่อ เขาใช้เวลาเพียง 10 ปีเศษ ก้าวจากอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมดา ขึ้นสู่ตำแหน่งขุนคลังในรัฐบาลทักษิณ เหมือนโชคชะตาฟ้าลิขิต

ตัดกลับมาในวันเปิดตัวรับตำแหน่งประธานพรรคสร้างอนาคตไทย ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2565 สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ทิ้งคำพูดบางประโยคไว้ให้สื่อนำไปขยายต่อ

“ผมมาที่นี่ อย่าพูดไปเรื่อย ๆ ว่าจะให้ผมเป็นนายกฯ เพราะการเป็นนายกฯ ฟ้าลิขิต..”

จอมยุทธ์กวง

ระหว่างที่พรรคสร้างอนาคตไทย กำลังรอเปิดตัวผู้นำทางจิตวิญญาณของพรรค ช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สมคิดเดินทางไปเยี่ยมลูกชายที่สหรัฐอเมริกา และได้แวะเยี่ยม 'ฟิลิป คอตเลอร์' (Philip Kotler) ปรมาจารย์การตลาดยุคใหม่

คอตเลอร์เคยเป็นอาจารย์ของสมคิด สมัยเรียนที่ Kellogg School of Management มหาวิทยาลัยนอร์ทเวสต์เทิร์น สหรัฐฯ

สมคิดได้ชื่อว่าเป็นนักการตลาดและนักกลยุทธ์ที่ผู้คนยอมรับ ซึ่งแนวคิดของคอตเลอร์ที่ว่าด้วย The Marketing of Nation ได้กลายเป็นร่างพิมพ์เขียวในการปั้นนโนบายของพรรคไทยรักไทยในการหาเสียงเมื่อปี 2544

'บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา' แห่งเครือสหพัฒน์ฯ ในฐานะนักธุรกิจใหญ่ที่มีสมคิด เป็นที่ปรึกษามากว่า 30 ปี การันตีความสามารถของสมคิดว่า เป็นนักการตลาดและนักกลยุทธ์ที่เข้าใจพฤติกรรมมนุษย์อย่างลึกซึ้ง ไม่ใช่คนหัวดื้อที่ไม่ฟังใคร และทำงานร่วมกับทุกคนได้ดี

สื่อหลายสำนักจึงให้ฉายาสมคิดว่า ‘จอมยุทธ์กวง’ นักการตลาด นักกลยุทธ์ที่ติดดิน และเป็นหนึ่งในทีมทักษิณ ผู้ร่วมคิดค้นและผลิตนโยบายชุดประชานิยม

ขุนคลังประชานิยม 

ปี 2537 สมัยรัฐบาล 'ชวน หลีกภัย' 'ทักษิณ ชินวัตร' รับตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศในโควตาพรรคพลังธรรม ได้ชวนสมคิด มาเป็นที่ปรึกษาส่วนตัว อีก 2 ปีถัดมา สมคิดได้เป็นเลขานุการรัฐมนตรีคลังคือ นายทนง พิทยะ ในรัฐบาลชวลิต

เมื่อทักษิณตัดสินใจตั้งพรรคไทยรักไทย กลางปี 2541 สมคิดก็เข้ามาร่วมงานด้วยในตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค

ชุดนโยบายประชานิยมของพรรคไทยรักไทย สมคิดมีบทบาทในการขับเคลื่อนอย่างสูงเช่น นโยบายช่วยเหลือชาวนาในรูปแบบต่างๆ, นโยบายกองทุนหมู่บ้าน, นโยบายค่าโดยสารฟรี, นโยบายการรักษาพยาบาลฟรี ที่มีการปรับให้เป็น 30 บาทรักษาทุกโรค ตามแนวคิดของ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ฯลฯ

สมคิดเรียนด้านการตลาด จึงรู้ว่าการวิเคราะห์คู่แข่งหรือกลยุทธ์สำคัญ เหมือนการเล่นหมากรุก หมากรุกไม่สามารถเอาชนะได้ด้วยตัวเอง ต้องรู้ว่าคู่แข่งคิดอะไร มีจุดอ่อนอะไร ปมเด่นอะไร จะชนะเขาต้องทำอย่างไร ต้องพล็อตออกมา และวางกลยุทธ์

หลังพรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งปี 2544 ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีสมัยนั้น ได้เลือกสมคิด เป็นรัฐมนตรีคลัง ควบรองนายกรัฐมนตรี

บทบาทของสมคิด ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีคลังในรัฐบาลทักษิณ ได้สร้างผลงานชุดประชานิยมต่อเนื่องเช่น โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือโอท็อป (OTOP) และโครงการพัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs)

หลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 สมคิดลาออกจากพรรคไทยรักไทย และระหว่างนั้น สมคิดได้เข้าร่วมกับกลุ่มการเมืองหลายกลุ่ม แต่ไม่มีตำแหน่งอย่างเป็นทางการ

ขุนคลังลายพราง

หลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 สมคิด กลับสู่วงจรอำนาจในฐานะที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ด้านเศรษฐกิจ

ปี 2558 'พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา' นายกรัฐมนตรี ได้ตั้งสมคิด เป็นรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ หลังปรับ 'ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล' พ้นจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น

สมคิดไม่ได้มาเพียงคนเดียว หากแต่ยังดึงมือทำงานที่ใกล้ชิดอย่าง อุตตม สาวนายน, สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์, กอบศักดิ์ ภูตระกูล และสุวิทย์ เมษินทรีย์ เข้ามาเป็นทีมเศรษฐกิจ จนได้ฉายาว่า 'กลุ่มสี่กุมาร'

นโยบายและผลงานด้านเศรษฐกิจ ในยุครัฐบาลประยุทธ์ ที่มาจากทีมสมคิด ที่เห็นชัดคือ Thailand 4.0 ยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ และเชื่อมโยงมายังโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(EEC) ที่ต่อยอดมาจากโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก

ทีมเศรษฐกิจของสมคิด ได้ริเริ่มและขับเคลื่อนโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ, คนละครึ่ง, เที่ยวด้วยกัน, เพิ่มค่าครองชีพผู้สูงอายุ ฯลฯ

การเข้ามาทำงานร่วมกับรัฐบาล คสช. ทำให้สมคิดเจอคำถามมากมาย เขายืนยันว่า ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ เป็นผู้ผลิตนโยบายเศรษฐกิจที่คิดว่าอะไรควรจะเป็นประโยชน์กับประชาชนผู้ด้อยโอกาส ลดช่องว่างทางเศรษฐกิจ และเป็นนโยบายที่ยั่งยืน ก็พร้อมจะทำเพื่อบ้านเมือง หากความคิดไม่ตรงกันก็ถอย

ดังนั้น ในการเลือกตั้งปี 2562 ทีมสมคิดเป็นทั้งหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรค และคุมทีมนโยบายหาเสียงของพรรคพลังประชารัฐ หลังจัดตั้งรัฐบาลประยุทธ์(เวอร์ชัน 2) ทีมสมคิดได้เป็นรัฐมนตรี 3 คน คือ อุตตม สาวนายน, สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ และสุวิทย์ เมษินทรีย์

ทีมสมคิดในยุครัฐบาลผสม เผชิญเกมอำนาจทั้งในและนอกพรรคพลังประชารัฐ จึงตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีพร้อมกันทั้งหมด เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2563

จุดขายขั้วที่สาม

หลังหายหน้าไปเกือบ 2 ปี อุตตม สาวนายน และสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ได้เปิดตัวพรรคสร้างอนาคตไทย ประกาศแนวทางทำงานการเมืองแบบไม่ซ้ายสุดขั้ว ไม่ขวาสุดโต่ง และไม่เป็นพรรคอะไหล่ให้ พล.อ.ประยุทธ์

ทีมสมคิดในพรรคสร้างอนาคตไทย เหลือเพียง 2 กุมาร เพราะสุวิทย์และกอบศักดิ์ ไม่สนใจจะกลับมาเล่นการเมืองอีก

จะว่าไปแล้ว จุดขายและจุดแข็งของพรรคสร้างอนาคตไทยก็คือ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และผู้คนก็เฝ้ารอการเปิดตัวของจอมยุทธ์กวงถอดรหัสจากคำปราศรัยของสมคิด ต่อหน้ามวลสมาชิกพรรคสร้างอนาคตไทย ก็ได้เห็นโพสิชั่นนิ่ง (Positioning) ของพรรคว่า เดินแนวทางสายกลาง หรือขั้วที่สาม

“การแข่งขันทางการเมืองเริ่มมีลักษณะเหมือนการแข่งขันในสนามม้า มีม้าแข่งที่ต้องซื้อ มีคอกที่ต้องมีเจ้าของ และคอกก็ต้องหาเงินมาเลี้ยงม้า” สมคิดพูดชัดเรื่อง ‘สร้างอนาคตไทย’ ไม่ใช่พรรคการเมืองแนวธนาธิปไตย

นอกจากนั้น สมคิด ยังสลัดภาพพรรคอะไหล่ของ 3 ป. ด้วยการเปิดใจถึงเหตุผลที่ทิ้งเก้าอี้รัฐมนตรีรัฐบาลประยุทธ์อย่างไม่ไว้ไมตรี

“..พิษการเมืองที่แสวงหาอำนาจ แต่ไม่แสวงปัญญา เป็นรัฐบาลผสม หรือบุฟเฟ่ต์คาบิเนต มีที่ไหนที่นโยบายประเทศแบ่งกันตามกระทรวง ทางใครทางมัน จึงวอล์กเอาท์ นี่คือความเป็นจริงของประเทศไทย”

สมรภูมิการเลือกตั้งครั้งใหม่ ยังหนีไม่พ้นการต่อสู้ของ 2 ขั้ว 2 ป้อมค่ายหลัก คือ เครือข่ายทักษิณ กับพี่น้อง 3 ป. สมคิด จึงจัดวางสร้างอนาคตไทยเป็นทางเลือกใหม่ของประชาชน ไม่ซ้ายไม่ขวา

‘จอมยุทธ์กวง’ วางกลยุทธ์สำหรับสร้างอนาคตไทยไว้เช่นนี้ ก็เหลือแต่โหวตเตอร์ทั้งประเทศ จะตัดสินใจในวันเลือกตั้ง และไม่แปลกที่สมคิดจะทิ้งปริศนา ‘ฟ้าลิขิต’ ไว้ เมื่อมีเสียงเชียร์ให้เขาเป็นนายกรัฐมนตรี

แต่เมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2566 การที่สมคิดเข้าดํารงตําแหน่ง ประธานกรรมการบริษัท บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) หรือ WHA  แทน 'จรีพร จารุกรสกุล' ที่ได้ลาออกจากตําแหน่งนี้ไป ก็สร้างความสงสัยถึงอนาคตบนเส้นทางการเมืองของสมคิดเช่นเดียวกันว่า จะเดินต่อ หรือพอแค่นี้

ภาพ: สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เมื่อ 8 กันยายน 2565 ภาพจาก NATION PHOTO