01 มี.ค. 2566 | 11:03 น.
- ‘ครูใหญ่ - อรรถพล บัวพัฒน์’ เป็นครูและอดีตติวเตอร์ที่ออกมาเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมืองในขอนแก่น เขาไม่ได้สอนให้เด็กหาคำตอบเพียงอย่างเดียว แต่ชวนเด็กให้ตั้งคำถาม
- ‘ครูใหญ่’ ประกาศลงชิงตำแหน่งส.ส. จังหวัดขอนแก่น ทำให้หลายฝ่ายจับตาความเคลื่อนไหวทางการเมืองของเขาเพิ่มขึ้น
ทันทีที่ ‘ครูใหญ่ - อรรถพล บัวพัฒน์’ ประกาศตัวจะลงชิงส.ส.พรรคก้าวไกล จังหวัดขอนแก่น สปอตไลท์ทางการเมืองจับตาทันที เพราะนี่คือหนึ่งในผู้ที่มีสีสันมากที่สุดในการเคลื่อนขบวนของม็อบราษฎร ช่วงปี 2563 - 2565
อะไรคือสิ่งที่ทำให้ครูในโรงเรียนต่างจังหวัดคนนี้ กลายเป็นที่สนใจในสังคม?
ถ้าหากย้อนถามว่า ‘ครูใหญ่’ เริ่มสนใจการเมืองตั้งแต่เมื่อไร เขามักจะย้อนไปเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่คมช. นำโดย พล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบกขณะนั้นทำการยึดอำนาจจากรัฐบาลพรรคเดียวของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในเวลานั้น ครูใหญ่กำลังเป็นนักศึกษาอยู่ที่คณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ความสนใจทางการเมืองฝังลึกลงไปในตัวของนักสู้จากที่ราบสูงคนนี้ เขาเริ่มตั้งคำถามกับสังคม บทเรียนประวัติศาสตร์ที่มากกว่าโลกของแบบเรียนภาคบังคับ และโครงสร้างอำนาจทางการเมืองในสังคมนั้น อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนจริงหรือเป็นสิ่งที่ถูกหลอกลวง?
การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เด่นชัดของครูใหญ่เริ่มต้นจากการยุบพรรคอนาคตใหม่ เมื่อกุมภาพันธ์ 2563 เกิดกระแสการจัดแฟลชม็อบขึ้นตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ รวมไปถึงในจังหวัดขอนแก่น บ้านเกิดของครูใหญ่ โดยเยาวชนขอนแก่นกลุ่มนั้น หลายคนเคยเป็นลูกศิษย์ของครูใหญ่ เมื่อครั้งที่เขาประกอบอาชีพเป็นติวเตอร์
‘ขอนแก่นพอกันที’ คือกิจกรรมแรกที่ครูใหญ่เข้าไปมีส่วนร่วมกับกลุ่มกิจกรรม โดยเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตยหลากหลายกลุ่มในขอนแก่นบริเวณบึงสีฐาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น และพัฒนาจากกลุ่มเครือข่ายต่าง ๆ กลายเป็น ‘กลุ่มขอนแก่นพอกันที’
หลังจากนั้น เราจะเห็นภาพผู้ชายใส่แว่น ตัวสูงโปร่ง ที่ปราศรัยได้อย่างออกรสออกชาติ มีลูกเล่นแพรวพราวที่ทำให้เรานึกถึงดาวไฮด์ปาร์กในอดีตอย่าง ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ หรือสนธิ ลิ้มทองกุล
ซึ่งความรู้ที่ครูใหญ่นำมาเป็นลูกเล่นในการปราศรัยนั้นเกิดจากการที่เคยเป็นครูสอนวิชาสังคมและประวัติศาสตร์ไทย ครั้งหนึ่งในขณะที่เขาทำหน้าที่สอนวิชาประวัติศาสตร์ เขาเกิดตั้งคำถามว่า ทำไมแบบเรียนประวัติศาสตร์ไทย ถึงย้อนไปอธิบายสมัยสุโขทัย อยุธยา เล่าได้เป็นฉาก ๆ แม้ผ่านไปหลายร้อยปี แต่ประวัติศาสตร์ของประชาชนที่ใกล้ ๆ อย่างเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 และ 6 ตุลาฯ 2519 กลับถูกพูดถึงเพียงสั้น ๆ ทั้งที่เวลาผ่านไปไม่นาน
ทำให้ครูใหญ่เริ่มไปค้นคว้าหาหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์กระแสรอง และประวัติศาสตร์ของประชาชนเพิ่มมากขึ้น โดยเขานำเอาแนวคิดเปิดกว้างในการถกเถียงและตีความทางประวัติศาสตร์มาสอนนักเรียน เพราะประวัติศาสตร์นั้นไม่ได้สอนให้ ‘แค่เชื่อ’ แต่ให้ตั้งคำถามและอธิบายอย่างเป็นเหตุเป็นผลได้
ย้อนกลับมาในโลกแห่งกิจกรรม การตัดสินใจเข้ากรุงเทพฯ เพื่อเข้าร่วมกับคณะประชาชนปลดแอก ช่วงสิงหาคม 2563 ในฐานะเครือข่ายตัวแทนภาคอีสานเปลี่ยนชีวิตของครูใหญ่ไปตลอดกาล โดยเฉพาะการแจ้งเกิดจากมุกปราศรัย ‘งูเห่าศรีนวล’ ซึ่งมีการเปรียบเทียบการย้ายพรรคของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่เป็นไปด้วยการเสียดสีและอารมณ์ขัน ทำให้คลิปดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไปและชื่อเสียงของครูใหญ่ถูกพูดถึงภายในชั่วข้ามคืน
แต่การเคลื่อนไหวภายใต้ระบอบประชาธิปไตยนั้นก็มีราคาที่ต้องจ่าย เมื่อเขาร่วมเคลื่อนขบวนไปสถานทูตเยอรมันในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน ทำให้เขาถูกแจ้งข้อหาในคดีกฎหมายอาญามาตรา 112
โดยก่อนหน้านั้น ครูใหญ่เองก็เคยได้รับแจ้งข้อหา ม.116 และ พ.ร.บ.ความสะอาด แต่ก็ไม่มีอะไรหนักหนาเท่าเหตุการณ์ที่สถานทูตเยอรมัน แต่เขาก็ย้ำว่า ไม่คิดที่จะลี้ภัย แต่จะขอยืนหยัดสู้เพื่อความยุติธรรม แม้เขาจะมองว่ากระบวนการมันอยุติธรรมก็ตามที
จากการเมืองบนถนน สู่การเมืองในระบบ ครูใหญ่อยากจะทำอะไร?
ครูใหญ่ให้สัมภาษณ์กับ a day Bulletin ว่า ถ้ามีโอกาสอยากเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพราะสิ่งที่เขาอยากจะทำอย่างแรก อยากให้เด็กกำหนดวิชาที่อยากเรียนเอง อย่าเอาการแบ่งสายวิทย์-สายศิลป์เป็นตัวกั้น
ครูใหญ่ยังเล่าต่อว่า ครูอาจจะไม่ใช่แม่พิมพ์ของชาติ เพราะอนาคตของชาติเขาอาจจะไม่ได้ต้องการออกมาเป็นบล็อกเดียวกัน แต่ละคนนั้นอาจจะมีพื้นฐานที่ต่างกัน บางคนเป็นดินเหนียว บางคนเป็นทราย บางคนเป็นหิน จะให้กลายเป็นบล็อกเดียวกันก็คงยาก
แต่ครูต้องเป็น ‘แม่แรงของชาติ’ มีหน้าที่ที่จะยกระดับความหลากหลายให้ตัวของเด็กที่มีความแตกต่าง เพื่อให้เขาก้าวไปสู่ระดับที่มันสูงขึ้นได้
ต้องจับตาดูว่าในเวทีของการเลือกตั้งในครั้งนี้ ครูใหญ่ อรรถพล จะประสบความสำเร็จกับเส้นทางทางการเมืองของพรรคก้าวไกลหรือไม่
แต่เชื่อว่าในเวทีปราศรัยหาเสียงเลือกตั้ง หลายคนกำลังรอฟังดาวไฮด์ปาร์กคนนี้อย่างแน่นอน
เรื่อง: พิเชฐ ยิ่งเกียรติคุณ
ภาพ: แฟ้มภาพจาก Getty Images และ NATION PHOTO
อ้างอิง: