40 ปีบนถนนการเมืองของ ‘สมศักดิ์ เทพสุทิน’ ส.ส. 10 สมัย รมต.ผู้ไม่เคยถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ

40 ปีบนถนนการเมืองของ ‘สมศักดิ์ เทพสุทิน’ ส.ส. 10 สมัย รมต.ผู้ไม่เคยถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ

‘สมศักดิ์ เทพสุทิน’ โลดแล่นบนถนนการเมืองร่วม 40 ปี จากวังน้ำยม ถึงสามมิตร สมศักดิ์ เป็นส.ส. มาแล้ว 10 สมัย และกล่าวว่า “ผมไม่เคยเป็นฝ่ายค้าน ในขณะที่เป็น ส.ส.” ที่ ‘จริงครึ่งหนึ่ง’

  • สมศักดิ์ เทพสุทิน คลุกคลีในแวดวงการเมืองมายาวนานร่วม 40 ปี ตั้งแต่ได้เป็นส.ส. เมื่ออายุ 26 ปี เขาผ่านการเป็นส.ส. มาถึง 10 สมัย
  • ในปี 2566 สมศักดิ์ เทพสุทิน ปิดฉากกลุ่มสามมิตร และเตรียมเคลื่อนไหวเข้าร่วมรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง

40 ปี บนถนนการเมือง ‘สมศักดิ์ เทพสุทิน’ เป็น ส.ส.สุโขทัย 10 สมัย เป็นรัฐมนตรี 14 ครั้ง ระหว่างดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีไม่เคยถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ และช่วงที่เป็น ส.ส. ไม่เคยเป็นฝ่ายค้าน

‘สมศักดิ์ เทพสุทิน’ จึงพูดเต็มปากเต็มคำว่า “ผมถนัดเป็นฝ่ายรัฐบาล” ในวันที่เขารอวันยุบสภาฯ และเตรียมไปชูเสื้อตัวใหม่ที่พรรคเพื่อไทย

ขอขยายคำพูดที่ว่า “ผมไม่เคยเป็นฝ่ายค้าน ในขณะที่เป็น ส.ส.” นั้น สมศักดิ์พูดความจริงแค่ครึ่งเดียว

ย้อนไปการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2554 สมศักดิ์ อยู่ในช่วงเว้นวรรคทางการเมือง 5 ปี จึงอยู่เบื้องหลัง ‘กลุ่มมัชฌิมา’ ที่เป็น ส.ส.สังกัดพรรคภูมิใจไทย ซึ่งตอนนั้นพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง จัดตั้งรัฐบาลที่มียิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี พรรคภูมิใจไทยกลายเป็นฝ่ายค้าน

สมาชิกกลุ่มมัชฌิมาของสมศักดิ์ 7 คน ก็เป็น ส.ส.ฝ่ายค้าน เพียงแต่ปีนั้น สมศักดิ์ ไม่ได้เป็นส.ส. และด้วยวลีที่ว่า “ถนัดเป็นแต่รัฐบาล” เขาจึงดิ้นรนหาทางเข้าร่วมกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์

ต้นปี 2556 สมศักดิ์นัดเจรจากับเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ และสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ขอนำส.ส.กลุ่มมัชฌิมา ย้ายกลับไปพรรคเพื่อไทย เพื่อแลกกับโควตารัฐมนตรี แต่การเจรจาครั้งนั้น ยังปิดดีลไม่ได้

ปลายปี 2566 รัฐบาลยิ่งลักษณ์ เผชิญหน้ากับม็อบ กปปส. ส่งผลให้ยิ่งลักษณ์ ตัดสินใจยุบสภา สมศักดิ์ จึงพาสมาชิกกลุ่มมัชฌิมากลับพรรคเพื่อไทย และลงสมัคร ส.ส.ในการเลือกตั้ง 2 ก.พ.2557 แต่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นโมฆะ

 

ทายาทบ้านใหญ่

สมศักดิ์ เทพสุทิน เกิดที่ อ.ศรีสำโรง จ.สุโขทัย เป็นบุตรชาย โกเหนา หรือประเสริฐ เทพสุทิน เจ้าของธุรกิจบริษัทสุโขทัยยานยนต์ และ หจก.สุโขทัยเอ็นจีเนียริง ผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ในละแวก อ.ศรีสำโรง และ อ.คีรีมาศ

โกเหนาส่งลูกชาย สมศักดิ์ ชิมลางเป็น สจ.สุโขทัย ปี 2524 และขยับเล่นการเมืองระดับชาติ สมศักดิ์ เป็น ส.ส.สุโขทัย สังกัดพรรคกิจสังคม สมัยแรกปี 2526 ในวันที่เขามีอายุเพียง 26 ปี

ตั้งแต่ปี 2526-2539 สมศักดิ์เป็น ส.ส.สุโขทัย มาทุกฤดูเลือกตั้ง ในสีเสื้อพรรคกิจสังคม ได้เรียนรู้วิทยายุทธ์การเมืองจาก มนตรี พงษ์พานิช อดีตหัวหน้าพรรคกิจสังคม สั่งสมชั่วโมงบิน จนได้เป็น รมช.สาธารณสุข รัฐบาล พล.อ.สุจินดา คราประยูร ปี 2535

สถิติเป็นรัฐมนตรี 14 ครั้งของสมศักดิ์ แยกเป็นสมัยสังกัดพรรคกิจสังคม เป็นรมช.สาธารณสุข 2 ครั้ง, รมช.คมนาคม 4 ครั้ง และ รมช.อุตสาหกรรม พรรคไทยรักไทย รมว.อุตสาหกรรม, รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, รมว.เกษตรและสหกรณ์, รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา, รมว.แรงงาน และรองนายกรัฐมนตรี พรรคพลังประชารัฐ

สมศักดิ์อยากนั่งเก้าอี้ รมว.เกษตรและสหกรณ์ แต่ติดปัญหาการเจรจาโควตารัฐมนตรีกับพรรคร่วมรัฐบาล สมศักดิ์ จึงได้นั่ง รมว.ยุติธรรม แทน

หนุ่มศรีสำโรง-สาวสวรรคโลก

ช่วงที่สมศักดิ์ เป็น ส.ส.หนุ่ม ได้พบสบตาครูสาวอนงค์วรรณ พุกประเสริฐ ที่มาช่วยงานขายบัตรงานกาชาด จ.สุโขทัย จึงสานสัมพันธ์กันต่อ จนเข้าสู่ประตูวิวาห์

ครูอนงค์วรรณ เติบโตในตระกูลพุกประเสริฐ อ.สวรรคโลก สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พิษณุโลก (มหาวิทยาลัยนเรศวรในปัจจุบัน) โดยเริ่มบรรจุข้าราชครูที่บ้านเกิด อ.สวรรคโลก

มนู พุกประเสริฐ พี่ชายของอนงค์วรรณ เป็น ส.อบจ.สุโขทัย เขต อ.สวรรคโลก มาหลายสมัย ก่อนจะได้รับเลือกตั้งเป็นนายก อบจ.สุโขทัย และการเลือกตั้งนายก อบจ.สุโขทัย ปี 2563 มนูยังได้รับเลือกตั้งเป็นนายก อบจ.อีกสมัย

การเลือกตั้งปี 2544 สมศักดิ์นำทีมอดีต ส.ส.พรรคกิจสังคม เข้าไปสังกัดพรรคไทยรักไทย ซึ่งปีนั้น เป็นการเลือกตั้งเขตเดียวเบอร์เดียว อนงค์วรรณ จึงได้รับเลือกเป็น ส.ส.สุโขทัย สมัยแรก โดยตัวสมศักดิ์ ขยับเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ

หลังรัฐประหาร 2549 สมศักดิ์ นำทีมอดีต ส.ส.จำนวนหนึ่ง ที่เคยสังกัดกลุ่มวังน้ำยม ก่อตั้งพรรคมัชฌิมาธิปไตย โดยอนงค์วรรณ เข้ารับตำแหน่งหัวหน้าพรรค

ปี 2552 อนงค์วรรณ ต้องพ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี ในคดียุบพรรคมัชฌิมาธิปไตย สมศักดิ์ จึงพากลุ่ม ส.ส.ที่ใกล้ชิดย้ายไปสังกัดพรรคภูมิใจไทย

 

จากวังน้ำยมถึงสามมิตร

สมศักดิ์ เทพสุทิน ได้ชื่อว่าเป็นนักการเมืองที่มีทักษะในการจัดตั้ง ‘มุ้ง’ หรือมุ้งการเมือง ภายใต้หลังคาพรรคเดียวกัน โดยเฉพาะสมัยพรรคไทยรักไทย มีมุ้งการเมืองอยู่มากกว่า 10 มุ้ง

ที่โดดเด่นที่สุดคือ ‘มุ้งวังน้ำยม’ ที่มีสมศักดิ์ เทพสุทิน และสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นหัวเรือใหญ่ และมี อนุชา นาคาศัย เป็น ‘แม่บ้าน’ คอยบริหารจัดการ ส.ส. ภายในมุ้งประมาณ 80 คน

ช่วงที่สมศักดิ์ เว้นวรรคทางการเมือง ก็ได้ตั้งกลุ่มมัชฌิมา เป็นเสมือนบ้านพักคอยของกลุ่มอดีต ส.ส. กระทั่งกำเนิดพรรคใหม่ชื่อ ‘มัชฌิมาธิปไตย’ เข้าสู่การเลือกตั้งปี 2550 ก่อนศาลรัฐธรรมนูญจะสั่งยุบพรรคดังกล่าว

ปี 2561 สมศักดิ์ เทพสุทิน และสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ก่อตั้งกลุ่มสามมิตร รวบรวมอดีตส.ส.มาอยู่ในสังกัด ก่อนจะเข้าร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี

ปี 2566 สมศักดิ์ ได้เวลาปิดฉากกลุ่มสามมิตร และเตรียมพา ส.ส.ที่ใกล้ชิด 5-6 คน ย้ายไปสังกัดพรรคเพื่อไทย เพื่อเข้าร่วมรัฐบาลหลังเลือกตั้งครั้งใหม่

40 ปีบนถนนการเมืองของ ‘สมศักดิ์ เทพสุทิน’ ส.ส. 10 สมัย รมต.ผู้ไม่เคยถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ

ลูกหนัง ไก่ชนและโคล้านตัว

ช่วงเว้นวรรคทางการเมือง 5 ปี สมศักดิ์ เทพสุทิน ได้เคลื่อนไหวทำธุรกิจที่ตัวเองชื่นชอบเป็นการส่วนตัวอยู่ 2 อย่างคือ สนามชนไก่ และสโมสรฟุตบอลอาชีพ

ในแวดวงไก่ชน สมศักดิ์ ได้ฉายาเจ้าพ่อไก่ชน แห่งซุ้มเทิดไท เพราะมีการก่อสร้างสนามกีฬาไก่ชนเทิดไท ต.บางเสาธง อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ

ส่วนวงการลูกหนัง สมศักดิ์ เข้ามาดำเนินธุรกิจฟุตบอลอาชีพ ในนามบริษัท สุโขทัยฟุตบอลคลับ จำกัด เพื่อบริหารสโมสรฟุตบอลสุโขทัย เอฟซี ฉายาค้างคาวไฟ

เมื่อวันที่ 3 มี.ค.2566 สมศักดิ์ ได้เยี่ยมชมสนามกีฬาชนโค บ้านควนขนุน จ.พัทลุง และสนามกีฬาชนโคบ้านควนตรัง จ.ตรัง เพื่อศึกษาแนวทางส่งเสริมกีฬาชนโค ให้เป็น Soft Power พร้อมจะปัดฝุ่นโครงการโคล้านตัวอีกครั้ง

นี่คือการลงมือทำการบ้านครั้งใหม่ของสมศักดิ์ ในฐานะแม่ทัพเลือกตั้งภาคใต้ ของพรรคเพื่อไทย ในการเลือกตั้งปี 2566

นับจากนี้ไป ย่างก้าวของ สมศักดิ์ เทพสุทิน จะเป็นรายการท้าพิสูจน์คำพูดที่ว่า “ผมถนัดเป็นฝ่ายรัฐบาล” และ “ผมไม่เคยเป็นฝ่ายค้าน ในขณะที่เป็น ส.ส.” นั้นยังขลังอยู่หรือไม่

 

เรื่อง: ชน บทจร

ภาพ: แฟ้มภาพ NATION PHOTO