27 มี.ค. 2566 | 18:13 น.
- ‘ศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ’ ถูกจดจำจากภาพลักษณ์มาดเข้ม และการอภิปรายพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา แบบดุเดือด
- ก่อนหน้าเลือกตั้ง 2566 ศรัณย์วุฒิ กลับซบพรรครวมไทยสร้างชาติร่วมกับพล.อ. ประยุทธ์
การย้ายพรรคการเมืองนั้นเป็นธรรมดาของวิถีทางการเมือง แต่บางดีลกลับสร้างความประหลาดใจให้กับสังคม
‘ศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ’ คือหนึ่งในดีลที่ทำให้เกิดความสับสนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะซีนที่ก้าวเข้าสู่พรรครวมไทยสร้างชาติ ภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตผู้นำเผด็จการที่สืบทอดอำนาจที่ศรัณย์วุฒิ เคยอภิปรายอย่างเผ็ดร้อน
ภาพศรัณย์วุฒิคุกเข่าลงกราบขอขมาประยุทธ์ โดยพล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า “ไม่โกรธไม่เคือง เข้าใจว่าการเมืองคือการเมือง” น่าจะกลายเป็นหนึ่งในภาพการเมืองของปีนี้
ด้วยบุคลิกที่จดจำง่ายทั้ง หนวดดก คิ้วเข้ม และตาที่เหมือนหลุดมาจากโลกแห่งซีจี ทำให้ ส.ส.อุตรดิตถ์ ที่มีการย้ายพรรคอยู่เนือง ๆ คนนี้เป็นที่จดจำในยุคหลัง ๆ โดยเฉพาะเมื่อครั้งสังกัดพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้ง 2562 ในวันเปิดรับสมัครส.ส.
ครั้งนั้น ศรัณย์วุฒิ ลงสมัครในเขตที่ 2 แต่งตัวเป็นขุนศึกคู่ใจพระยาพิชัยดาบหัก ขี่ม้าจากรถมาที่บริเวณด้านหน้าสำนักงาน กกต. พร้อมผู้ติดตามจำนวนหนึ่ง ซึ่งพระยาพิชัยดาบหักนั้นเป็นคนอุตรดิตถ์ และไม่เคยคิดคดทรยศต่อพระเจ้าตากสินมหาราช ไม่เป็นข้าสองเจ้าบ่าวสองนาย โดยครั้งนั้นศรัณย์วุฒิ ถึงกับชูดาบประกาศว่า “จะปราบเผด็จการให้สิ้น”
แต่เดิมที ศรัณย์วุฒิ ไม่ได้เป็นคนอุตรดิตถ์ เขาเกิดที่สำเพ็ง เยาวราช โดยเกิดในครอบครัวจีนแต้จิ๋ว เกิดมาในครอบครัวยากจน และค่อย ๆ สร้างตัวขึ้นมาจนมีสินทรัพย์เมื่อเปิดเผยชี้แจงกับ กกต. สูงถึง 221 ล้านบาท
โดยเฉพาะบริษัท ฟูจิเอเชีย จำกัด ที่มีธุรกิจบต่อตัวถังทุกชนิด ผลิต ซ่อมแซม บำรุงรักษาอุปกรณ์ช่วงล่างของรถทุกชนิด ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของตระกูล “ศรัณย์เกตุ” และที่น่าสนใจคือในบริษัทดังกล่าวมี พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร อดีตผู้บัญชาการทหารบก และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมนั่งเป็นกรรมการด้วย
ในโลกของการเมือง ศรัณย์วุฒิ เริ่มต้นเส้นทางกับพรรคไทยรักไทยในปี 2544 ตามคำเชิญชวนของ กฤษณา สีหลักษณ์ ทายาทเสี่ยสุนันท์ สีหลักษณ์ กลุ่มใหญ่ทุนเมืองลับแลอุตรดิตถ์ ที่ตัดสินใจลงสมัครที่อุตรดิตถ์เพราะเป็นคำขอร้องของบิดาศรัณย์วุฒิ ที่มีธุรกิจเจ้าของเหมืองแร่ซีโอไลต์ และมีความชื่นชอบ ดร.ทักษิณ ชินวัตร ที่เป็นคนรุ่นใหม่ในการเมืองขณะนั้น ศรัณย์วุฒิ ได้รับการเลือกตั้งแต่กลับถูกใบแดงจนทำให้อดเป็น ส.ส.สมัยแรก
แต่เขายังหมายมั่นปั้นมือในเวทีการเมือง กลับมาสู้ศึกเลือกตั้งในปี 2548 และก็สมหวังได้เป็นผู้แทนสมใจ ในวันที่พรรคไทยรักไทยประกาศความยิ่งใหญ่แลนด์สไลด์ครั้งแรก ด้วยการจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว แต่ว่าชะตากรรมก็พาเขาระหกระเหินอีกครั้ง หลังเกิดการรัฐบาลโดยคณะรักษาความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) นำโดย พล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบกขณะนั้น และนำไปสู่การยุบพรรคไทยรักไทย จึงย้ายไปสังกัดรวมใจไทยชาติพัฒนาแต่กลับสอบตกในพื้นที่เดิมของตัวเอง
จากนั้นเมื่อถึงสมัยของพรรคเพื่อไทย ภายใต้การนำของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เขากลับมาสังกัดเพื่อไทยและได้เข้าสู่สภาอีกครั้ง ก่อนที่จะเป็นนกรู้เมื่อภัยมาใกล้ถึงตัวหลังการยุบสภาเขาย้ายไปสังกัดพรรคชาติไทยพัฒนา เพื่อลงเลือกตั้งในช่วงชัทดาวน์กรุงเทพฯของกลุ่มกปปส. ที่ปูทางไปสู่การรัฐประหาร
ศรัณย์วุฒิ ได้รับการเลือกตั้งแต่การเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 ถูกประกาศเป็นโมฆะ และนั่นเป็นครั้งแรกที่ชะตาของ “ศรัณย์วุฒิ - ประยุทธ์” โคจรมาพบกัน เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดยพล.อ.ประยุทธ์ ผู้บัญชาการทหารบกขณะนั้นทำการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลรักษาการพรรคเพื่อไทย
จนมีโอกาสกลับมาสู่การเลือกตั้งอีกครั้งในปี 2562 ในสีเสื้อพรรคเพื่อไทยทำให้ศรัณย์วุฒิ ถึงฝั่งฝันได้เข้าสภาคำรบที่ 3
ครั้งนี้ ศรัณย์วุฒิถือว่า เป็นตัวอภิปรายตัวชนของพรรคเพื่อไทย โดยเน้นจัดหนักไปที่พล.อ.ประยุทธ์ โดยเฉพาะในการอภิปรายไม่ไว้วางใจในปี 2563 ที่ดุเด็ดเผ็ดมัน ทั้งประเด็น การเปิดโปงเรื่องทุจริต ทั้งเรื่องการต่อสัมปทานของบริษัทฟิลลิป มอร์ริส การเอื้อประโยชน์ให้เอกชน และการจัดซื้อรถถังสมัยเป็นผู้บัญชาการทหารบก โดยใช้เวลาอภิปรายติดต่อกัน 3 ชั่วโมง ที่กลายเป็นซีนคลาสสิกดุจหนังคาวบอยตะวันตก เพราะมีการท้าดวลปืนกัน ศรัณย์วุฒิ อภิปรายว่า
“พรุ่งนี้นายกฯ ไปที่หน้าวัดพระแก้วกับผม เราจะได้รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราเตรียมกระสุนไปคนละนัดต่างคนต่างแลกยิงกันดูเลย เพื่อพิสูจน์ความจงรักภักดี เอาอย่างนั้นเลยนะครับ”
ซึ่งเรื่องนี้ทำให้ประธานที่ประชุมถึงกับต้องออกมาเบรกความร้อนแรง สำหรับคอการเมืองคงเชื่อว่า ในชีวิตนี้สองคนนี้คงไม่มีทางญาติดีกันแน่นอน แต่แล้วก็มีเหตุให้ศรัณย์วุฒิ ต้องถูกขับพ้นพรรคเพื่อไทยในปี 2564 หลังจากที่ศรัณย์วุฒิ โหวตสวนมติพรรค และยังให้สัมภาษณ์กล่าวหาพรรคเพื่อไทยผ่านทางหน้าสื่อหลายครั้ง ท้ายที่สุด เพื่อไทยขับศรัณย์วุฒิ ออกจากพรรคโดยให้เหตุผลว่า
“มีพฤติการณ์กล่าวหาพรรคและผู้บริหารของพรรคด้วยการแถลงต่อสื่อมวลชนหลายครั้งติดต่อกัน อันมีลักษณะเป็นปฏิปักษ์ต่อพรรค เป็นการทำลายภาพลักษณ์และชื่อเสียงของพรรค ก่อให้เกิดความเสียหายต่อพรรคอย่างร้ายแรง การกระทำดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับพรรคเพื่อไทย พ.ศ.2561”
มีผู้ลงคะแนนเห็นด้วยกับมติกรรมการบริหารพรรค 131 เสียง ไม่เห็นด้วย 2 เสียง ไม่ลงคะแนน 2 เสียง จนถูกขับพ้นพรรคเป็นการปิดฉากการร่วมงานของศรัณย์วุฒิและพรรคที่เป็นมรดรกของทักษิณครั้งที่ 3 แต่หลังจากพเนจรไม่นาน ก็เข้าสู่พรรคเพื่อชาติ และได้รับการเลือกตั้งภายในพรรคเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อชาติ แต่อยู่ได้เพียงปีเดียวก็เกิดปัญหา
ทางพรรคออกมาเปิดเผยว่าศรัณย์วุฒิ มีปัญหาขัดแย้งหลายเรื่องกับคนในพรรคโดยไม่ยอมร่วมกิจกรรมของพรรค ไม่เข้าประชุมพรรค ไม่ยอมเซ็นเอกสารใด ๆ ติดต่อไม่ได้ ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างอย่างมากต่อการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของพรรค
ทางคณะกรรมการบริหารพรรคจึงตัดสินใจลาออกยกชุดเพื่อให้พรรคสามารถเดินหน้าดำเนินการเตรียมการเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคต่อไปได้ ซึ่งนายศรัณย์วุฒิ ก็ยื้อด้วยการรักษาสถานสมาชิกพรรคไว้ เพื่อใช้สิทธิ์ส.ส. ก่อนจะลาออกหลังประกาศยุบสภา และพลิกขั้วไปซบพรรครวมไทยสร้างชาติ
จริง ๆ แล้วนายศรัณย์วุฒิ ก็วางตัวทายาททางการเมืองคนหนึ่งคือ จารุวรรณ ศรัณย์เกตุ อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ และไม่กี่วันที่ผ่านมาก็ปูทางให้ลูกสาวอีกคนเข้าสู่วงการการเมืองโดยศรัณย์วุฒิ ยังกล่าวถึงวันที่พาตัวเองและลูกสาวไปสมัครเข้าพรรครวมไทยสร้างชาติว่า
“พล.อ. ประยุทธ์ มีเอกลักษณ์คล้าย ๆ กับป๋าเปรม มีความซื่อสัตย์ มีความจงรักภักดี โอกาสจะเป็นรัฐบุรุษก็เป็นได้ โอกาสที่เหลือ 2 ปี พล.อ. ประยุทธ์ทำอะไรได้เยอะ สุดท้ายหลังจาก พล.อ. ประยุทธ์ ทำงานครบ 2 ปี ผลงานและความดีที่ปรากฏขึ้นประชาชนจะแซ่ซ้อง ประชาชนจะขอให้ท่านอยู่ต่อ นี่คือความเป็นไปได้ แต่ทั้งหมด ผลงานจะเป็นเครื่องพิสูจน์”
ซึ่งกาลเวลาจะเป็นตัวพิสูจน์ว่าศรัณย์วุฒิ จะอยู่กับพรรครวมไทยสร้างชาติและพล.อ.ประยุทธ์ ได้นานแค่ไหน แต่อาจจะเรียกได้ว่า เป็นความสัมพันธ์ที่ทั้งรักทั้งชัง
จากวันที่ท้าดวลปืน ถึงวันคุกเข่าขอขมา การเมืองนั้นเป็นเรื่องที่ไม่มีอะไรแน่นอนโดยแท้จริง
เรื่อง: พิเชฐ ยิ่งเกียรติคุณ
ภาพ: พรรครวมไทยสร้างชาติ/Facebook
อ้างอิง: