25 เม.ย. 2566 | 16:34 น.
- ตัวตึงแห่งพรรคก้าวไกล เรื่องนี้ต้องยกให้ ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ที่มีบทบาทในเส้นทางสายการเมืองคู่เคียงมากับธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
- ชัยธวัช ตุลาธน ร่วมกิจกรรมเคลื่อนไหวทางสังคม-การเมืองกับธนาธร มาตั้งแต่วัยหนุ่ม ขณะที่ธนาธร เดินไปสายธุรกิจระยะหนึ่ง ชัยธวัช ก้าวเดินต่อไปกับงานเป็นบรรณาธิการสำนักพิมพ์และวารสาร ‘ฟ้าเดียวกัน’
ทันที่พรรคก้าวไกล ประกาศลำดับส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 2 เป็นชื่อของ ‘ชัยธวัช ตุลาธน’ เลขาธิการพรรคก้าวไกล ต่อจาก ทิม - พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สปอตไลต์ต่าง ๆ เริ่มจับไปที่ผู้ชายใส่แว่นท่าทีเคร่งขรึม มีน้ำเสียงจริงจัง
แต่เวทีของเขาเพิ่มเริ่มต้น
เพราะหลังจากเข้าสู่โหมดเวทีดีเบตรายวัน กลายเป็นว่าชัยธวัช หรือที่แฟนคลับก้าวไกลเรียกว่า ‘พ่อต๋อม’ กลับเรียงเสียงฮือฮาด้วยการดีเบตที่เน้นหลักการและอารมณ์ร่วม ส่งผลให้คะแนนนิยมในกลุ่มคนรุ่นใหม่ของพรรคก้าวไกลสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ในขณะเดียวกัน อดีตสมาชิกพรรคก้าวไกลบางคนที่ลาออกจากพรรคก็พูดถึงกรรมการบริหารพรรคก้าวไกลที่มีลักษณะ ‘โปลิศบูโร’ ซึ่งหนึ่งในคนถูกพาดพิงที่เป็น ‘วงในธนาธร’ มีชื่อของชัยธวัช เช่นเดียวกัน
แล้วใครคือ ต๋อม - ชัยธวัช ดาวดีเบตแห่งเวทีเลือกตั้งปี 2566?
หากจะย้อนไปถึงความสนใจทางด้านเมือง ชัยธวัช สนใจและร่วมกิจกรรมเคลื่อนไหวตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นนิสิต คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และด้วยความเป็นคนจริงจัง ชัยธวัช เคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการสหพันธ์นักเรียนนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ปี 2541 ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวนั่นเองทำให้เขาโคจรไปพบกับเพื่อนรักคณะวิศวกรรมศาสตร์ต่างสถาบันจากรั้วแม่โดม ชื่อ ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ ซึ่งต่อมาเป็นรองเลขาฯ สนนท. ในปี 2542
เมื่อคุณเป็นวัยหนุ่มสาว และมีความฝันคุณคงอยากให้โลกที่เป็นอยู่ดีขึ้นกว่านี้ ทั้งสองคนเป็นเพื่อนร่วมอุดมการณ์ที่ฝันถึงโลกที่ดีกว่า เพียงแต่ว่าจุดหนึ่งของชีวิตก็มีทางแยกที่แตกต่างออกไป เมื่อธนาธร ต้องกลับไปบริหารธุรกิจเครือ ไทยซัมมิท ที่ประกอบกิจการระดับประเทศ ทางชัยธวัช เดินทางต่อไปด้วยการเป็นบรรณาธิการสำนักพิมพ์และวารสาร ‘ฟ้าเดียวกัน’ ที่จะกลายเป็นสำนักพิมพ์ที่ส่งต่อมรดกทางความคิดให้กับคนในรุ่นปัจจุบัน แต่ทั้งสองคนยังมีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดกันอยู่เนือง ๆ
ในด้านการเคลื่อนไหวเชิงสังคม ชัยธวัช ก็ไม่ได้ละทิ้ง โดยเป็นกรรมการของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เพื่อผลักดันประเด็นสิทธิแรงงานและการจ้างงานที่เป็นธรรม แต่เหมือนกงล้อการเมืองและประวัติศาสตร์ต่างดึงดูดให้พวกเขากลับมาเจอกันอีกครั้งหลังการรัฐประหารปี 2549 โดยคมช. ที่นำโดย พล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบกขณะนั้นทำการยึดอำนาจจาก ดร.ทักษิณ ชินวัตร ภายใต้รัฐบาลพรรคเดียว พรรคไทยรักไทย ชัยธวัช และเพื่อนหลาย ๆ คนเข้าร่วมชุมนุมคัดค้านการทำรัฐประหาร
มรดกของการทำรัฐประหารดังกล่าวนั้น นำไปสู่ทศวรรษแห่งกีฬาสีเหลือง-แดง (ทางการเมือง) และขมวดเป็นปมที่ขมึงเกลียวขึ้นเรื่อย ๆ ก่อนที่จุดแตกหักที่สุดจะเกิดขึ้นในช่วงเมษายน-พฤษภาคม 2553 ที่ชัยธวัช และธนาธร เข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในการเรียกร้องให้รัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากพรรคประชาธิปัตย์ยุบสภา เนื่องจากมีข้อกล่าวหาในการใช้อำนาจของทหารเข้ามาแทรกแซงในการจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร
และท้ายที่สุด เกิดบทสรุปที่น่าเศร้าในวันที่ 10 เมษายน 2553 การสลายการชุมนุมที่แยกคอกวัวของทหารฝ่ายรัฐบาลอภิสิทธิ์นั้น ถือว่ามีเรื่องขัดหลักสากล ทั้งการใช้กระสุนจริง และการสลายการชุมนุมในยามวิกาล จนเป็นเหตุให้มีการสูญเสียจำนวนมากโดยเฉพาะฝ่ายประชาชน ก่อนที่อีกหนึ่งเดือนถัดมา การสลายการชุมนุมขั้นเด็ดขาดของรัฐบาลตลอดช่วงกลางเดือนพฤษภาคม 2553 นำไปสู่ประกาศยุติการชุมนุมเวทีราชประสงค์ของ นปช.
ท่ามกลางควันไฟ กลิ่นดินปืน คราบน้ำตา และคาวเลือด สิ่งที่ต้องเร่งค้นหาสิ่งแรกก็คือ ‘ความจริง’ ความจริงที่ว่ามันเกิดอะไรขึ้น เมื่อฝ่ายรัฐบาลมีการให้ข้อมูลและการควบคุมการสื่อสาร โดยศูนย์อำนวยการสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) แล้ว ‘ความจริง’ ฝั่งผู้สูญเสียเขามองเรื่องนี้อย่างไรกันบ้าง ในฝ่ายของผู้สูญเสียมีการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมกรณี เม.ย.-พ.ค.53 (ศปช.) และชัยธวัช ทำหน้าหน้าที่ ‘ผู้ประสานงาน’ ตลอดระยะเวลาปี 2553-2555 ชัยธวัช รำลึกอดีตว่า
“เราอยู่ด้วยกันทุกคน จนถึงคืนสุดท้าย ผมกับคุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ก็อยู่ โชคดีที่เรารอดชีวิต สิ่งที่คิดได้อย่างแรกคือต้องทวงคืนความยุติธรรม พยายามประสานงาน เก็บหลักฐาน เพื่อทวงความยุติธรรมให้ได้”
ซึ่งผลสรุปจาก ศปช.จัดทำรายงานฉบับสมบูรณ์ 933 หน้า พบข้อมูลที่น่าตกใจ เช่น มีการใช้กระสุนจริงจำนวน 117,923 นัด และมีการใช้กระสุนสไนเปอร์ซุ่มยิงประชาชน 2,120 นัด ข้อมูลดังกล่าวนำไปสู่ข้อเรียกร้องให้ประเทศไทยลงนามในสนธิสัญญาศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือ ICC ที่ส่งตรงไปถึงรัฐบาลพรรคเพื่อไทยปี 2554 ที่ได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้นจากการสนับสนุนของคนเสื้อแดง แต่ท้ายที่สุด การลงนามดังกล่าวเพื่อนำผู้ที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมปี 2553 มาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมก็ไม่เกิดขึ้น
ความผิดหวังในครั้งนั้นทำให้คนเสื้อแดง และคนที่เคยให้การสนับสนุนพรรคเพื่อไทยส่วนหนึ่งคิดว่าควรจะต้องมีการจัดตั้งพรรคการเมืองเพื่อขับเคลื่อนประเด็นดังกล่าว ชัยธวัช พูดในเวทีครบรอบ 13 ปี ‘การสลายการชุมนุม10 เมษายน’ ว่า
“ยังไม่มีคดีไหนขึ้นสู่ชั้นศาล ถูกฟรีซ (แช่แข็ง) ไว้อย่างเดียว ก้าวหน้าที่สุด คือไต่สวนการตาย แต่ยังไม่ครบ อีก 62 ศพยังไม่เริ่มนับหนึ่ง ไต่สวนการตายทำได้ ขึ้นอยู่ว่าจะแอกทีฟแล้วส่งขึ้นศาลหรือไม่
ICC (ศาลอาญาระหว่างประเทศ) เป็นคำตอบที่ต้องชัดเจน ก่อนลงสัตยาบัน สิ่งที่ทำได้คือ รัฐบาลลงนามให้รับรอง ICC เฉพาะกรณีปี 53 ได้ทันที เพราะอัยการของ ICC บอกเองว่าทำได้ ต่อไป ทหารทำผิด ต้องขึ้นศาลยุติธรรมเหมือนประชาชนทั่วไป”
การปรากฏตัวของ ‘พรรคอนาคตใหม่’ ที่นำโดย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จึงเป็นเสมือนความหวังใหม่ของสังคม และการเลือกตั้งปี 2562 จากกระแส ‘ฟ้ารักพ่อ’ อานิสงส์การยุบพรรคไทยรักษาชาติก็ทำให้พรรคอนาคตใหม่ ได้ ส.ส.มากถึง 81 คน เป็นพรรคอันดับที่ 3 สร้างความเซอร์ไพรส์เป็นอย่างมาก
ครั้งนั้น ชัยธวัช เป็นผู้อำนวยการการเลือกตั้งพรรคอนาคตใหม่ ก่อนที่จะถูกคำสั่งยุบพรรคการอนาคตใหม่และตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค จากข้อกล่าวหา ‘ธนาธรให้พรรคยืมเงิน’ ซึ่งคำตัดสินดังกล่าวสร้างความไม่พอใจและเกิดการชุมนุมอย่างต่อเนื่อง ในครั้งนั้น ชัยธวัช ไม่ได้เป็นกรรมการบริหารพรรคจึงไม่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง
วันที่ชัยธวัช ต้องก้าวเข้ามารับบังเหียนต่อจากเพื่อนรักหลังยุบพรรคอนาคตใหม่ สู่พรรคผึ้งหลวง ที่ต่อมากลายเป็น ‘พรรคก้าวไกล’ ที่ชัยธวัช รับบทบาทเลขาธิการพรรค เขาได้โพสต์เฟซบุ๊กย้อนรำลึกถึงวันร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ จนถึงวันที่ถูกยุบและต้องเดินหน้าต่อไปในนาม ‘พรรคก้าวไกล’ ว่า
“ขึ้นปีใหม่ 2561 เราตัดสินใจเด็ดขาดว่า เป็นไงเป็นกันและจะไม่หันหลังกลับไปใช้ชีวิตเหมือนเดิมอีกแล้ว ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น...อย่างน้อยเมื่อเวลาผ่านพ้นไป เราจะได้ไม่เสียใจว่า ทำไมวันนั้นถึงไม่ตัดสินใจทำ แม้เมื่อวานพวกเขาจะใช้อำนาจยุบพรรคอนาคตใหม่ไปแล้ว แต่สองปีกว่าของการเดินทาง ‘บทแรก’ ยังยืนยันว่า ไม่เคยเสียใจ ไม่หันหลังกลับ และไม่คิดว่าพวกเรากำลังถอยหลัง
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในรอบสองวันนี้ กลับยิ่งทำให้เห็นความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในการเปลี่ยนแปลง... มาเริ่มต้น ‘บทที่สอง’ ไปด้วยกันครับ”
ในขณะที่ธนาธร เดินหน้าต่อไปในฐานะผู้ช่วยหาเสียงพรรคก้าวไกล และผลักดัน ‘คณะก้าวหน้า’ ซึ่งทำงานด้านมวลชนและการเมืองระดับท้องถิ่นคู่ขนานกันไป ต้องจับตาว่าบทบาท ‘ตัวตึง’ ของชัยธวัช ในเวทีดีเบต และการทำงานมวลชนของธนาธรนั้น จะทำให้พรรคก้าวไกลประสบความสำเร็จมากเท่าไหร่ในการเลือกตั้งปี 2566
บางครั้งโชคชะตาก็ขีดเส้นให้ทั้งสองคนได้กลับมาสานต่อภารกิจที่เคยฝันไว้ในสมัยหนุ่มสาวอีกครั้งหนึ่ง
เรื่อง: พิเชฐ ยิ่งเกียรติคุณ
ภาพ: แฟ้มภาพจาก NATION PHOTO
อ้างอิง: