04 พ.ค. 2566 | 20:44 น.
ทีมทำโพล ‘เนชั่นโพลเลือกตั้ง 66’ รายงานผลการรวบรวมข้อมูล เนชั่นโพล ครั้งที่ 2 ตามหลังจากครั้งที่ 1 ซึ่งได้รายงานผลไปเมื่อช่วงกลางเดือนเมษายน 2566 เรียบร้อยแล้ว สำหรับเนชั่นโพลครั้งที่ 2 ผลสำรวจกลุ่มตัวอย่างรวมทั้งประเทศพบว่า คนที่อยากให้เป็นนายกฯ ที่สุด อันดับแรกคือ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แห่งพรรคก้าวไกล ตามมาด้วย แพทองธาร ชินวัตร แห่งพรรคเพื่อไทย และอันดับ 3 คือเศรษฐา ทวีสิน จากพรรคเพื่อไทยเช่นกัน
สำหรับการจัดโพล มีเครือข่ายจัดทำ ‘เนชั่นโพลเลือกตั้ง 66’ ได้แก่ 1. มหาวิทยาลัยนวมินธราธิราช 2. ที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย (ทปสท.) 3. คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎวไลยอลงกรณ์ในพระบรมราชูปถัมภ์ 4. คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ 5. มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี 6. สถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา
กลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้มีจำนวน 115,399 ตัวอย่าง แบ่งเป็น กทม.จำนวน 35,969 ตัวอย่าง และภูมิภาค 79,430 ตัวอย่าง
การสำรวจในต่างจังหวัด 367 เขต ทีมงานลงพื้นที่สำรวจระหว่าง 24 เม.ย. - 3 พ.ค. และการสำรวจใน กทม. 33 เขต ทีมงานลงพื้นที่สำรวจระหว่าง 28 เม.ย. - 3 พ.ค.
การสำรวจมีค่าความคลาดเคลื่อน (error) ดังนี้ กทม. 33 เขต อยู่ที่ 3%, เขตเมืองสำคัญต่างจังหวัด 8 เขต อยู่ที่ 5% และเขตเลือกตั้ง 359 เขต อยู่ที่ 7%
ผลสำรวจกลุ่มตัวอย่างรวมทั่วประเทศ เมื่อถามว่าคนที่อยากได้เป็นนายกรัฐมนตรีมากที่สุด ผลออกมาดังนี้
1. พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พรรคก้าวไกล 29.4%
2. แพทองธาร ชินวัตร พรรคเพื่อไทย 27.57%
3. เศรษฐา ทวีสิน พรรคเพื่อไทย 13.26%
4. พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา พรรครวมไทยสร้างชาติ 8.85%
5. ไม่แน่ใจ / ยังไม่ตัดสินใจ 5.33%
6. อนุทิน ชาญวีรกูล พรรคภูมิใจไทย 4.03%
7. จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ พรรคประชาธิปัตย์ 2.49%
8. พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ พรรคพลังประชารัฐ 2.37%
9. ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้ 1.66%
10. วันมูหะมัดนอร์ มะทา พรรคประชาชาติ 1.56%
11. สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ พรรคไทยสร้างไทย 1.23%
12. พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส พรรคเสรีรวมไทย 1.1%
13. วราวุธ ศิลปอาชา พรรคชาติไทยพัฒนา 0.49%
14. กรณ์ จาติกวณิช พรรคชาติพัฒนากล้า 0.38%
15. อื่น ๆ 0.28%
จากสัดส่วนของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในโพลเนชั่นครั้งที่ 2 จะเห็นว่า พิธา แซงขึ้นมานำแพทองธาร ชินวัตร แล้ว หากย้อนกลับไปดูโพลเนชั่นครั้งที่ 1 ณ 15 เมษายน 2566 ผลสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศเลือกคนที่อยากได้เป็นนายกฯ มากที่สุด ผลออกมาเป็นแพทองธาร มากที่สุดที่ 33.81% ไม่แน่ใจ/ยังไม่ตัดสินใจ 22.58% และตามมาด้วย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่ 16.87%
แต่ผลโพลเนชั่นครั้งที่ 2 พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่เคยไล่ตามหลังแพทองธาร ถึง 17% กลับแซงมาเป็นอันดับ 1 แทน ส่วนผลรวมของแพทองธาร ลดลงมาเหลือ 27.57%
ผลสำรวจกลุ่มตัวอย่างรวมทั่วประเทศว่าเลือก ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ (บัญชีรายชื่อ) สังกัดพรรคใด ผลสำรวจออกมาดังนี้
1. เพื่อไทย 39.82%
2. ก้าวไกล 29.22%
3. รวมไทยสร้างชาติ 7.45%
4. ไม่แน่ใจ/ยังไม่ตัดสินใจ 7.07%
5. ภูมิใจไทย 4.83%
6. ประชาธิปัตย์ 3.96%
7. พลังประชารัฐ 3.18%
8. ประชาชาติ 1.48%
9. ไทยสร้างไทย 0.99%
10. เสรีรวมไทย 0.82%
11. ชาติไทยพัฒนา 0.68%
12. ชาติพัฒนากล้า 0.34%
13. ไทยภักดี 0.07%
14. อื่นๆ 0.05%
15. ไทยศรีวิไลย์ 0.05%
ผลเนชั่นโพลครั้งที่ 2 พรรคเพื่อไทยยังครองอันดับ 1 ไม่ต่างจากเนชั่นโพลครั้งที่ 1 และมีสัดส่วนที่มากขึ้น โดยโพลครั้งที่ 1 พรรคเพื่อไทยมี 35.75% ส่วนโพลครั้งที่ 2 เพื่อไทยได้ 39.82%
ขณะที่พรรคก้าวไกล เนชั่นโพลครั้งที่ 1 เคยได้ที่ 16.02% รั้งอันดับ 3 ในตาราง (อันดับ 2 คือ ไม่แน่ใจ/ยังไม่ตัดสินใจ 32.27%) มาในเนชั่นโพลครั้งที่ 2 ซึ่งทิ้งระยะห่างจากโพลครั้งที่ 1 เพียง 2 สัปดาห์ ผลของโพลครั้งที่ 2 ก้าวไกล ได้ถึง 29.22% เพิ่มขึ้นถึง 13%
ย้อนดูผลเนชั่นโพลครั้งที่ 1 ที่นี่
หากพิจารณาจากความเปลี่ยนแปลงของผลสำรวจในเนชั่นโพลทั้ง 2 ครั้ง ตัวเลขยังแปรเปลี่ยนอยู่ ดังเช่น ผลสำรวจของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่สำรวจ 2 ครั้งโดยเว้นระยะห่างเพียง 2 สัปดาห์ และสามารถแซงหน้าแพทองธาร ชินวัตร จากที่เคยตามถึง 17%
นั่นย่อมหมายความว่า ระยะเวลาระหว่างวันสิ้นสุดการสำรวจโพลไปจนถึงวันเลือกตั้งมีช่วงเวลามากถึง 11 วัน ระยะเวลานี้ยังมองได้ว่า เพียงพอที่พรรคการเมืองจะวางยุทธศาสตร์แก้เกมเพื่อดึงคะแนนเสียงและเปลี่ยนผลคะแนนได้
ดังนั้น ช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งจึงน่าจับตากลยุทธ์และความเคลื่อนไหวจากพรรคการเมืองต่าง ๆ เป็นพิเศษ
หมายเหตุ: ข้อมูลเนชั่นโพลครั้งที่ 2 อัปเดตล่าสุดเมื่อ 4 พ.ค. 2566 ช่วงเวลาประมาณ 21.00 น.