‘พึ่ง ศรีจันทร์’ ประธานสภาผู้เที่ยงธรรม ประชุมสภาวันรัฐประหาร 2490 ส่วนรมต.หนีกันหมด

‘พึ่ง ศรีจันทร์’ ประธานสภาผู้เที่ยงธรรม ประชุมสภาวันรัฐประหาร 2490 ส่วนรมต.หนีกันหมด

ประธานสภาผู้เที่ยงธรรมนามว่า ‘พึ่ง ศรีจันทร์’ คนดีที่ไม่ค่อยมีใครรู้จัก มาประชุมสภาตามนัดหมายเดิมในวันเกิดรัฐประหาร 2490 พอดี มีสส. มาแค่ราว 20 คน ส่วนคณะรัฐมนตรีหนีกันหมด

  • ‘พึ่ง ศรีจันทร์’ ประธานสภาที่ได้รับคำยกย่องจากพรรคฝ่ายตรงข้ามเรื่องความเที่ยงธรรม ทำงานเพื่อชาติบ้านเมือง 
  • เมื่อเกิดรัฐประหาร 2490 นายพึ่ง ศรีจันทร์ ยังมาทำหน้าที่ประธานสภาตามปกติ ปรากฏ สส.บางคนมาร่วมประชุมราว 20 คน แต่ไม่มีคณะรัฐมนตรี เพราะหนีการรัฐประหารไปหมดแล้ว

ประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยของประเทศไทยต้องจดจำจารึกถึงเกียรติภูมิของบุคคลท่านหนึ่งในฐานะประธานฝ่ายนิติบัญญัติ ประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เที่ยงธรรมที่สุด ผู้ถือผลประโยชน์ของชาติเหนือผลประโยชน์ของพรรคและพวก ยึดถือหลักการประชาธิปไตยโดยต่อต้านความไม่ชอบธรรมของการรัฐประหารอย่างไม่ยำเกรง อีกทั้งองอาจกล้าหาญ ตราหน้าคณะผู้ละเมิดกฏหมายเหล่านี้ต่อหน้าว่า ‘กบฏ’

ณ เรือนแพหลังหนึ่งที่เทียบท่าอยู่ในลำน้ำยม หมู่บ้านท่าทราย อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย เด็กชายคนหนึ่งลืมตาดูโลกเมื่อวันอังคาร เดือนเจ็ด ปีมะแม พ.ศ.2450 ได้ชื่อว่า ‘พึ่ง’ การจดจำวันเดือนปีเกิดขณะนั้นยังเป็นแบบโบราณ อีกทั้งในปีที่เกิดยังไม่มีพระราชบัญญัติขนานนามสกุล (พ.ศ.2456) ต่อมาเมื่อเข้าโรงเรียนจึงเพิ่งได้ระบุวันเกิดแบบสากลว่าเกิดเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ.2450 และนามสกุลที่ใช้ได้รับจากการนำชื่อปู่คือ ‘ศรี’ และ ชื่อย่าคือ ‘จันทร์’ ผนวกรวมกันเป็น ‘ศรีจันทร์’

ด.ช.พึ่ง ศรีจันทร์ กำพร้ามารดาเมื่ออายุเพียง 5 ปี และต่อมาอีก 2 ปีก็ได้สูญเสียบิดาไปอีกเมื่ออายุเพียง 7 ขวบ เขาได้รับการเลี้ยงดูต่อมาโดยคุณตาและคุณยาย ต่อมาเมื่ออายุ 9 ขวบ ได้โอกาสศึกษาหนังสือขอมจนแตกฉานกับพระภิกษุรูปหนึ่งจากจังหวัดพิษณุโลก เมื่ออายุได้ 11 ขวบในปี พ.ศ.2461 ได้เริ่มศึกษาที่โรงเรียนประชาบาลในบ้านเกิดและต่อด้วย.ระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนมณฑลตัวอย่าง จ.พิษณุโลก จนถึงชั้นมัธยม 6 โดยมีผลการศึกษาดีติดอันดับ 1-5 โดยตลอด

ต่อมายังชีพด้วยการรับจ้างจารหนังสือขอมลงในใบลานพระพุทธศาสนา จนถึงต้นปี พ.ศ.2468 เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อสอบเป็นนักเรียนนายร้อย แต่พลาดหวังถึงสองปีติดต่อกันจึงได้หันเหไปเข้าโรงเรียนกฎหมายแทนเป็นระยะเวลา 3 ปีและจบเป็นเนติบัณฑิตเมื่อ พ.ศ.2471 ระยะที่เรียนกฎหมายนี้ เขาได้รู้จักกับบุคคลสองท่านที่สำคัญต่อชีวิตในเวลาต่อมา หนึ่งคือพระยามานราชเสวีผู้ให้โอวาทแก่นายพึ่งว่า

“เธอเรียนกฎหมายเพื่อรักษาความเป็นธรรมของสังคม เพื่อรักษาระเบียบวินัยของสังคมใช่ไหม?”

และอีกหนึ่งท่านคือหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ที่ขณะนั้นรับราชการเป็นผู้ช่วยเลขานุการกรมร่างกฎหมายและเป็นอาจารย์สอนในโรงเรียนกฎหมายแห่งนี้ด้วย

ภายหลังได้เป็นเนติบัณฑิต เดิมคิดจะรับราชการที่กรมอัยการที่พระยามานราชเสวีเป็นอธิบดี โดยได้รับจดหมายฝากฝังจากนายปรีดี แต่เปลี่ยนการตัดสินใจไปทำงานกับสำนักทนายความโดยเริ่มที่สำนักของนายเอกยู้ ชันซื่อ ก่อนย้ายขึ้นจังหวัดเชียงใหม่ไปร่วมงานกับหลวงศรีประสาทเนื่องเพราะ “ความฝันที่จะได้พบสาวงามอย่างสาวเครือฟ้าที่เชียงใหม่”

หลังจากนั้นอีกเพียงสองปี ทนายพึ่งย้ายงานไปที่จังหวัดอุตรดิตถ์จนได้แต่งงานลงหลักปักฐานที่นี่ นอกจากจะเป็นทนายรับจ้างว่าความในจังหวัดต่าง ๆ เช่น สุโขทัย พิษณุโลก กำแพงเพชร ตาก เขายังได้บุกร้างถางพงทำไร่อ้อยและทำไม้มะยมป่าสำหรับทำก้านไม้ขีดไฟส่งบริษัทมินแซ โรงงานทำไม้ขีดไฟในกรุงเทพฯ

กระทั่งเมื่อถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ.2475 พึ่ง ศรีจันทร์ เคยเล่าไว้ว่า

“ลุงคิดว่า ถ้าวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 ลุงอยู่ที่กรุงเทพฯ ลุงคงได้เข้าร่วมกับท่านปรีดีฯ ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองอย่างแน่นอน เพราะลุงเห็นด้วยกับระบอบการปกครองใหม่ที่จำกัดอำนาจกษัตริย์ ตั้งแต่ที่ท่านบรรยายไว้ในกฎหมายปกครองของท่านปรีดีได้ปลุกจิตสำนึกให้ลุงอยากรู้เรื่องการเมือง และอยากจะมีส่วนเข้าร่วมในการเมือง แต่โลกทัศน์ของลุงมีขอบเขตจำกัดและก็ไม่เคยคิดมาก่อนว่าท่านปรีดีฯ ซึ่งเป็นอาจารย์สอนกฎหมายให้ลุงท่านหนึ่ง จะทำการใหญ่เช่นนั้น”

เขาได้สนับสนุนการปฏิวัติครั้งนั้นโดยดำเนินการเป็นศูนย์กลางข่าวการเมืองของจังหวัดอุตรดิตถ์ ชาวบ้านและข้าราชการมักจะสอบถามข่าวคราวการบ้านการเมืองจากเขาเป็นประจำ

พึ่ง ศรีจันทร์ สมัครลงเลือกตั้งผู้แทนราษฎร จ.อุตรดิตถ์ ในการเลือกตั้งครั้งแรกเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2476 แต่พ่ายแพ้แก่นายฟัก ณ สงขลา ต่อมาอีก 4 ปีเขาจึงสมหวังได้รับเลือกเป็นสส. เมื่อการเลือกตั้งครั้งที่ 2 ในวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ.2480 และยังได้รับความไว้วางใจอีกครั้งในปีถัดมาเมื่อรัฐบาลยุบสภาและเลือกตั้งใหม่เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ.2481 ระหว่างปี พ.ศ.2484-2488 ได้เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา รัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ต่ออายุสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกสองวาระ ๆ ละ 2 ปี ช่วงนี้เองที่ ส.ส.พึ่ง ได้เข้าร่วมขบวนการเสรีไทยกับผู้สำเร็จราชการ ปรีดี พนมยงค์ โดยรับผิดชอบภาคเหนือตอนใต้คือ ‘หน่วยสุโขทัย-อุตรดิตถ์’ ครอบคลุมเขตแดน 4 จังหวัด คือ พิษณุโลก อุตรดิตถ์ สุโขทัย และ ตาก

หน่วยปฏิบัติการทหารฝรั่งฝ่ายสัมพันธมิตรให้ฉายาพึ่งว่า ‘General Bee’ หรือ ‘นายพลผึ้ง’ หลังสงครามยุติ พึ่ง ศรีจันทร์ ได้เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรี (ลอย) 2 สมัยในรัฐบาลของ ทวี บุณยเกตุ และ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช

การเลือกตั้งครั้งแรกภายหลังสงคราม เมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ.2489 นายพึ่งต้องพ่ายแพ้แก่นายสุ่ม ตันติผลาผล ไปเพียงไม่กี่ร้อยคะแนน อย่างไรก็ตาม ต่อมาภายหลังที่ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่เมื่อ 9 พฤษภาคม พ.ศ.2489 ในการเลือกตั้งเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 5 สิงหาคมศกนั้น จังหวัดอุตรดิตถ์ได้โควตา ส.ส.เพิ่มอีกหนึ่งท่าน เมื่อนายพึ่งลงสมัครอีกครั้งหนึ่งในสังกัดพรรคสหชีพและประสบชัยชนะได้เข้าสภาอีกครั้ง อีกทั้งในปีถัดมาเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ.2490 ในสมัยประชุมสามัญ สส. พึ่ง ศรีจันทร์ ก็ได้รับความไว้วางใจรับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร

ทันทีที่ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานฝ่ายนิติบัญญัติ พรรคประชาธิปัตย์ได้ยื่นญัตติเปิดอภิปรายทั่วไปไม่ไว้วางใจรัฐบาลเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ.2490 การอภิปรายครั้งนั้นนับเป็นประวัติศาสตร์ที่เลื่องลือถึงทุกวันนี้ในความทรหดอดทนที่ยืดเยื้อข้ามวันข้ามคืนถึง 7 วัน ถึงแม้ว่าประธานพึ่งจะสังกัดพรรคสหชีพอันเป็นพรรคร่วมรัฐบาล แต่การทำหน้าที่ของท่านนับว่าเที่ยงธรรมจนได้รับการยอมรับสรรเสริญจากทุกฝ่าย

นายใหญ่ ศวิตชาติ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ในสมัยหนึ่ง เคยถึงกับเอ่ยปากว่า

“เขาเป็นคนดีที่ไม่ค่อยมีใครรู้จัก เขาเป็นคนซื่อตรงต่ออุดมคติของเขา เขาเข้มแข็งเด็ดขาดและไม่เกรงใจใคร สิ่งที่สำคัญนั้น ตลอดเวลาที่เขา-พวกเขามีอำนาจนั้น เขาไม่เคยใช้ตำแหน่งหน้าที่แสวงหาประโยชน์ใส่ตนเลย เขาทำงานเพื่อชาติบ้านเมืองจริง ๆ แต่เขากับข้าพเจ้าอยู่คนละพรรคการเมือง เขาคือนายพึ่ง ศรีจันทร์ อดีตรัฐมนตรี รัฐบาลนายทวี บุณยเกตุ และเป็นประธานสภาต่อมาจนเกิดรัฐประหาร พ.ศ.2490”

เมื่อเกิดการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 ล้มล้างรัฐบาลของหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์และปรีดี พนมยงค์ เรื่องเล่าวีรกรรมความกล้าหาญของประธานรัฐสภาขณะนั้นคือนายพึ่ง ศรีจันทร์ ได้รับการกล่าวขานอย่างกว้างขวางว่าในวันถัดมายังคงมีนัดประชุมสภา (บ้างก็ว่าเป็นวันที่ 12 พฤศจิกายน) นายพึ่ง ศรีจันทร์ ยังคงมาทำหน้าที่ประธานสภาตามปกติเวลาเช้า 10.00 น. ปรากฏ สส.บางคนมาร่วมประชุมด้วยราว 20 ท่าน แต่ไม่มีคณะรัฐมนตรีเพราะหนีการรัฐประหารไปหมดแล้ว

นายพึ่งดำเนินการประชุมไปตามปกติโดยไม่คำนึงว่า มีรถถังจอดตั้งปืนอยู่หน้ารัฐสภา และไม่สนใจว่าจะมีทหารแต่งเครื่องสนามพร้อมอาวุธควบคุมรัฐสภาอยู่ ท่านประธานรัฐสภาถือว่าการรัฐประหารนั้นคือการกบฏต่อรัฐบาล เป็นการผิดกฎหมาย

พอใกล้เที่ยง พลโทหลวงกาจสงคราม รองหัวหน้าคณะรัฐประหารก็นั่งรถถังเข้ามาเชิญตัวประธานผู้แทนราษฎรเถรตรงใจเด็ดท่านนี้ไปคุมตัวไว้ที่กระทรวงกลาโหม ต่อหน้าคณะรัฐประหาร เล่ากันว่านายพึ่งแจ้งว่า

“มาประชุมตามหนังสือนัดประชุมของสภาผู้แทนราษฎรตามที่ได้รับมอบหมายมาจากประชาชน เป็นการปฏิบัติภาระหน้าที่ที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ตรงข้ามการกระของคณะรัฐประหารต่างหากที่เป็นการกระทำที่ละเมิดกฎหมายของบ้านเมือง เป็นการกระทำที่เรียกว่า ‘กบฏ’”

คำชี้แจงอย่างห้าวหาญของประธานสภาผู้แทนราษฎรท่านนี้สร้างความเดือดดาลให้กับคณะทหารเหล่านั้นเป็นอย่างยิ่ง จึงถูกควบคุมตัวไว้ต่ออีก 3 วันแล้วค่อยได้รับการปล่อยตัว

เหตุการณ์ครั้งนั้นนับเป็นการยุติบทบาททางการเมืองของนายพึ่ง ศรีจันทร์ อย่างสมศักดิ์ศรีของนักการเมืองระดับชาติในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรภายใต้ระบอบประชาธิปไตย

ต่อมา ท่านยังได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดอุตรดิตถ์อีกเป็นครั้งที่ 4 เมื่อต้น 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2500 และไม่มีชื่อย้อนกลับมาในการเมืองสนามใหญ่อีกเลยภายหลังการรัฐประหารของสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อ 16 กันยายน พ.ศ.2500

ภายหลังท่านยังคงเคลื่อนไหวทางสังคมรับใช้ผลประโยชน์ของท้องถิ่นอย่างยาวนานเท่าที่จะทำได้ตลอดมาตราบจนสิ้นลมปราณตามอายุขัย เมื่อเวลาประมาณ 24.00 น. ของวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2535 สิริอายุ 85 ปี โดยประมาณ

 

เรื่อง: นริศ จรัสจรรยาวงศ์

ภาพ: พึ่ง ศรีจันทร์ ประกอบกับฉากหลังเป็นภาพรัฐสภาไทยในอดีต

บรรณานุกรม:

สุพจน์ ด่านตระกูล, พึ่ง ศรีจันทร์ นักประชาธิปไตยผู้ทระหด อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2490. พ.ศ.2536, (สถาบันวิทยาศาสตร์สังคม).

สมุดภาพสมาชิกรัฐสภา พ.ศ.2475-2502, สำนักงานอำนวยการหนังสือ (รัฐสภาสาร) สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จัดพิมพ์