01 มิ.ย. 2566 | 17:21 น.
- ศิริกัญญา คือลูกน้ำเค็มจากชลบุรี เธอเติบโตมาในบ้านที่ทำกิจการเดินรถเมล์ภายในจังหวัด ก่อนที่จะเข้ามาศึกษาต่อที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
- ศิริกัญญาเคยออกมาคัดค้านการขึ้นค่าแรงในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เมื่อถึงวันที่พรรคก้าวไกลต้องเป็นผู้บริหารประเทศและชูเรื่องค่าแรง 450 บาท จึงเกิดคำถามว่า ศิริกัญญามีท่าทีกับเรื่องดังกล่าวอย่างไร?
- ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ การันตีผู้หญิงคนนี้ว่า “เธอคือเสียงของเหตุผล…”
เมื่อผลการเลือกตั้งจบลงด้วยชัยชนะของ ‘พรรคก้าวไกล’ เหนือ ‘พรรคเพื่อไทย’ เกิดคำถามตามมาทันทีว่า ในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาล พรรคก้าวไกลจะวางตำแหน่งรัฐมนตรีต่าง ๆ อย่างไร เพราะนี่ถือเป็นครั้งแรกที่พรรคนี้ชนะการเลือกตั้ง
ที่สำคัญคือจะต่อรองจัดสรรตำแหน่งอย่างไรกับพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ที่ต้องจับมือร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล ‘มีลุงไม่มีเรา’ ให้ได้
โดยตำแหน่งที่ถูกจับตามากในเวลานี้คือ ‘รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง’ ซึ่ง ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ยืนยันว่า ‘ศิริกัญญา ตันสกุล’ หรือที่แฟน ๆ ด้อมส้มเรียกว่า ‘คุณไหม’ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ เหมาะที่จะเข้ามากำกับดูแลนโยบายการเงินการคลังมากที่สุดในช่วงนี้ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นจริง เธอจะกลายเป็น ‘รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหญิงคนแรกของประเทศไทย’
ศิริกัญญา คือลูกน้ำเค็มจากชลบุรี เธอเติบโตมาในบ้านที่ทำกิจการเดินรถเมล์ภายในจังหวัด ก่อนที่จะเข้ามาศึกษาต่อที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เธอเคยให้สัมภาษณ์กับ FEED ว่า สมัยเรียนเธอมีวงดนตรีของตัวเองด้วย และยังตั้งเป้าตั้งแต่สมัยเรียนว่าอยากจะมาทำงานด้านวิชาการ แต่ถ้าหากไม่ทำงานด้านนี้ก็อยากจะเปิดโรงเรียนอนุบาล เพราะเป็นคนที่ชอบอยู่กับเด็ก
แต่ชะตาชีวิตทำให้เธอมุ่งหน้าสู่สายวิชาการเศรษฐศาสตร์ โดยเป็นบัณฑิต ‘ลูกแม่โดม’ ทั้งปริญญาตรีและโท ก่อนที่จะเดินทางไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยตูลูส ประเทศฝรั่งเศส
ศิริกัญญาเริ่มเป็นที่จับตาเมื่อเข้ามาเป็นนักวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ซึ่งเธอเคยให้สัมภาษณ์กับ Spring News เรื่องนโยบายขึ้นค่าแรง 300 บาท ในช่วง ‘รัฐบาลยิ่งลักษณ์’
ครั้งนั้นศิริกัญญาเป็นหนึ่งคนที่ออกมาคัดค้านการขึ้นค่าแรง โดยมองว่าเป็นการขึ้นค่าแรงที่แรงและเร็วเกินไป ผลกระทบจึงมากเกินไปจนทำให้ประเทศไทยไม่สามารถแข่งขันได้ แรงงานระดับล่างก็ไม่สามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับค่าแรงได้
ดังนั้นเมื่อถึงวันที่พรรคก้าวไกลต้องเป็นผู้บริหารประเทศและชูเรื่องค่าแรง 450 บาท จึงเกิดคำถามว่า ศิริกัญญามีท่าทีกับเรื่องดังกล่าวอย่างไร ?
ก่อนเข้าสู่เวทีการเมือง ศิริกัญญาเติบโตมาในสายการวิจัยเชิงนโยบายและที่ปรึกษา เธอเป็นผู้จัดการฝ่ายวิจัย สถาบันอนาคตไทยศึกษา และเป็น Senior Consultant ในขณะนั้นเธอได้ทำงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่เป็นที่พูดถึงในสังคมคือ ‘8 ข้อเท็จจริงความเหลื่อมล้ำในไทย’ ที่สะท้อนความเหลื่อมล้ำเชิงอำนาจ เชิงโอกาส และการเข้าถึงทรัพยากร
ก่อนที่จะทำงานสุดท้ายที่บริษัท ดิแอดไวเซอร์ จำกัด และตัดสินใจจะมาเป็น ‘ผอ.ไหม’ ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายพรรคอนาคตใหม่ และเมื่อพรรคถูกยุบ เธอก็ร่วมเดินทางต่อกับพรรคก้าวไกล
‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ การันตีผู้หญิงคนนี้ว่า “เธอคือเสียงของเหตุผล เมื่อมีเพื่อนในพรรคตัดสินใจด้วยการใช้การเมืองนำความเหมาะสมด้านนโยบายและการคลัง เธอจะปรามการกระทำแบบนี้อย่างหนักแน่นเสมอ” คงจะพอเห็นภาพว่าศิริกัญญาเป็นคนที่จริงจังกับการทำงานมากขนาดไหน
เมื่อครั้งพรรคก้าวไกลเป็นพรรคฝ่ายค้าน ผลงานที่โดดเด่นของศิริกัญญาคือการออกมาอภิปรายกรณี ‘การควบรวมทรู-ดีแทค’ ที่มองว่าเป็นเรื่องของการผูกขาดและจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค เธอกล่าวว่า “เพื่อเช็กว่าเรื่องนี้ขัดกับสามัญสำนึกแค่ไหน ลองจินตนาการว่าในอนาคตหาก True และ AIS จะควบรวมธุรกิจกันจนค่ายมือถือเหลือ 1 เจ้า ก็สามารถทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาตใครทั้งสิ้น”
แต่ท้ายที่สุดก็ไม่สามารถต้านทานการควบรวมดังกล่าวได้ ถึงแม้จะผ่านการอภิปราย และการเคลื่อนไหวของคณะก้าวหน้า คณะทำงานเชิงความคิดของอดีตสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ก็ตาม
สำหรับแนวนโยบายเศรษฐกิจของพรรคก้าวไกลในครั้งนี้เป็นไปในแบบ ‘ซ้ายกลาง’ เน้นเรื่องการทลายทุนผูกขาด กระจายอำนาจทางเศรษฐกิจ วางรากฐานการจัดรัฐสวัสดิการ และการจัดเก็บภาษีที่ลดความเหลื่อมล้ำ หลังจากพรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้ง ตลาดหุ้นมีการปรับตัวลดลง เป็นปฏิกิริยาที่รอดูทิศทางจากรัฐบาลใหม่ที่กำลังจะเข้ามาทำงาน
เสียงคลื่นจากฝั่งตลาดเงินตลาดทุน ดูเหมือนจะพุ่งตรงมายังที่ศิริกัญญาและพรรคก้าวไกล โดยพยายามจะดิสเครดิตทั้งเรื่องวัยวุฒิและคุณวุฒิของเธอ แต่เธอก็พร้อมจะผลักดันแนวทางการเติบโตอย่างเป็นธรรม (Inclusive Growth) ด้วยการทำให้เศรษฐกิจเติบโต แต่ขณะเดียวกัน ดอกผลของการพัฒนาต้องถูกกระจายอย่างเป็นธรรม
โดยมี 3 เรื่องหลักที่ต้องดำเนินการ ได้แก่ การสร้างรากฐานทางเศรษฐกิจให้มั่นคง (Firm Ground) การสร้างกลไกภาครัฐและกติกาการแข่งขันที่เป็นธรรม (Fair Game) และการผลักดันเครื่องจักรเศรษฐกิจตัวใหม่ ๆ ที่เติบโตไปพร้อมกับซัพพลายเชนโลก (Fast Forward Growth)
เรียกได้ว่าที่ผ่านมาตลาดเงินตลาดทุนนั้น เป็นตลาดที่สร้างความเหลื่อมล้ำที่สะท้อนคน 5% ของประเทศ เรื่องหนึ่งที่ศิริกัญญาเตรียมผลักดันคือ ‘ภาษีหุ้น’ (Capital Gain Tax) ที่ได้จากการทำกำไรในตลาดหุ้น คุณลองนึกภาพว่าคนทำงานแต่ละเดือนโดนหักภาษี แต่คนที่ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์กลับได้รับการยกเว้น เรื่องนี้สะท้อนความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยคนจนได้อย่างชัดเจน
โดยพรรคก้าวไกลมองว่าการจัดเก็บภาษีในส่วนนี้สามารถนำไปจัดสวัสดิการเพื่อประชาชนได้จำนวนมหาศาล ศิริกัญญาให้สัมภาษณ์ทางลงทุนแมนว่า “พรรคก้าวไกลอยากเป็นรัฐสวัสดิการ คือปลายทางที่อยากไป แต่รัฐสวัสดิการมีหลายเฉดสีมาก จะต้องมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับประเทศไทย แต่ยอมรับว่าจัดเก็บภาษีน้อยอยู่แล้ว 4% ต่อจีดีพี
“ประเด็นต่อมาคือเรื่องการคลัง โปรแกรมระบบภาษีรออยู่ เพราะหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น โดยจะชูเรื่องปฏิรูประบบภาษีไปพร้อมกัน และรื้องบประมาณให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงอุดรูรั่วจากการจัดซื้อจัดจ้างผ่านระบบเอไอจับโกง และเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษี เช่น ภาษีขายหุ้น ค่าเช่าต่าง ๆ”
ทั้งหมดนี้น่าจะพอทำให้เห็นแนวทางเศรษฐกิจของตัวเต็งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหญิงคนแรกของไทยที่ชัดเจนมากขึ้นว่าเน้นที่ ‘ทลายทุนผูกขาด การค้าที่เป็นธรรม ทำรัฐสวัสดิการประชาชน’
ภาพ : เพจเฟซบุ๊ก Sirikanya Tansakun - ศิริกัญญา ตันสกุล
อ้างอิง :