‘ฮุน มาเนต’ นายกฯ ใหม่แห่งกัมพูชา ทายาท ‘ฮุนเซน’ ที่ต่างจากพ่อ แต่เจอความคาดหวังไม่แพ้กัน

‘ฮุน มาเนต’ นายกฯ ใหม่แห่งกัมพูชา ทายาท ‘ฮุนเซน’ ที่ต่างจากพ่อ แต่เจอความคาดหวังไม่แพ้กัน

‘ฮุน มาเนต’ นายกรัฐมนตรีคนใหม่แห่งกัมพูชา ชายหนุ่มรุ่นใหม่ ทายาทของ ฮุนเซน ที่มากับดีเอ็นเอ ‘ด้วยสองมือพ่อนี้ที่สร้างลูก’ และคำถามว่า ความเปลี่ยนแปลงในรอบหลายสิบปีจะส่งผลต่อกัมพูชาอย่างไรบ้าง

  • ฮุน มาเนต ทายาทคนโตของฮุนเซน ผู้นำกัมพูชาที่ดำรงตำแหน่งมายาวนาน เข้ามารับช่วงต่อจากบิดา เป็นนายกรัฐมนตรีรุ่นใหม่ที่ถูกทั่วโลกจับตา
  • ฮุน มาเนต แตกต่างจากบิดาพอสมควร เขามีท่าทีเป็นนักการทูต แม้จะเรียนการทหารจากเวสต์พอยท์ แต่อีกด้าน เขาศึกษาปริญญาโทและปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์ ซึ่งทำให้คนสนใจแนวคิดและนโยบายแก้ปัญหาความยากจนของเขาด้วย

 

7 กุมภาพันธ์ 2567 วาระพิเศษที่จะแบกความหวัง ความฝัน ของคนไทย คงเป็นการนัดเจอกันของระดับผู้นำประเทศ ระหว่าง เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีของไทย และ ‘ฮุน มาเนต’ (Hun Manet) นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ที่กำลังจะมาเยือนประเทศอย่างเป็นทางการครั้งแรก ซึ่งน่าจะเป็นหมุดหมายที่หลายคนคาดหวังว่าสองประเทศ(อาจ) บรรลุข้อตกลงบางอย่างได้ หรืออย่างน้อยที่สุด ก็คงเป็นไมตรีที่จะนำไปสู่ภาพบวกของปัญหาต่าง ๆ ได้ในอนาคต

นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี บอกว่าจะมีการคุยกันหลาย ๆ เรื่องอย่างแน่นอน แต่คงจะไม่มีการหยิบยกขึ้นมาพูดคุยกันบนโต๊ะ เพราะเป็นเรื่องอ่อนไหว โดยจะเป็นการคุยในหลายประเด็นที่ยังเป็นปัญหา และต้องหาทางออกร่วมกัน เช่น ฝุ่น PM 2.5, พื้นที่ทับซ้อน และการค้าชายแดนที่น่าจะทำให้เศรษฐกิจชายแดนของทั้งสองประเทศดีขึ้น

ทั้งนี้ ภาวะของกรุงเทพในตอนนี้เหมือนถูกปกคลุมด้วยม่านหมอกที่เป็นพิษกับระบบทางเดินหายใจ ซึ่ง เอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร ชี้ภาพไปที่การเผาในกัมพูชาที่ผ่านมาว่าเกิดขึ้นหลายจุดนับ 1,000 แห่ง ซึ่งก็ตรงกับช่วงที่ค่าฝุ่นในไทยเกินค่ามาตรฐาน เช่นวันที่ค่าฝุ่นวัดได้ 37.5 และ 50 มคก./ลบ.ม.

ขณะที่ นายกฯ เศรษฐา ได้พูดถึง ‘Overlapping Claims Area’ (OCA) หรือ พื้นที่ทับซ้อนไหล่ทวีปของไทยและกัมพูชา ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่ผ่านมา ซึ่งจุดที่คาบเกี่ยวกันเป็นแหล่งพลังงานที่มีศักยภาพ

โดยเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2566 กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ และคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันจัดสัมมนาเรื่อง “การอ้างสิทธิในไหล่ทวีปในอ่าวไทย ระหว่างไทยและกัมพูชา” โดยได้อธิบายว่า การเจรจาเกี่ยวกับพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา อาจใช้เวลากว่าที่คิดเพราะปัญหานี้ยืดเยื้อมานานแล้ว

และต่างฝ่ายต่างก็ประกาศอ้างเขตทางทะเลกันคนละครั้งด้วย ซึ่งใช้ชุดข้อมูลที่ไม่ตรงกัน โดยกัมพูชาประกาศเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2513 ส่วนไทยประกาศเมื่อ 18 พฤษภาคม 2516 นอกจากนี้ ยังใช้หลักเขตแดนทางบกหลักที่ 73 เป็นจุดตั้งต้นในการแบ่งด้วย เพียงแต่ลากเส้นไปคนละทิศ จึงทำให้ความเข้าใจในการแบ่งอาณาเขตไม่ตรงกัน

หรือถ้าเทียบให้เห็นจากกกรณีศึกษาการบ่งเขตแดนของไทยกับประเทศอื่น อย่างเช่น เวียดนาม และ มาเลเซีย ซึ่งก็ใช้เวลาในการเจรจามากโขทีเดียวกว่าจะจูนกันติด

ทีนี้คำถามก็คือ แล้วปัญหาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา คิดว่าจะใช้เวลาเจรจากันกี่ปี?

อย่างไรก็ตาม แนวคิดของ ‘ฮุน มาเนต’ หลายคนมองว่า มีความต่างจากพ่อของเขาพอสมควร ซึ่งก็คือ ‘ฮุน เซน’ นายกรัฐมนตรีกัมพูชาที่ครองตำแหน่งนานถึง 38 ปี ส่วนหนึ่งเพราะว่า การที่เขาจบการศึกษาและได้สัมผัสชีวิตแบบการศึกษาตะวันตก ทั้งยังศึกษาปริญญาโทและปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์ ซึ่งทำให้คนสนใจแนวคิดและนโยบายแก้ปัญหาความยากจนในกัมพูชาของเขา

ขณะที่มุมมองเรื่อง ‘การเมือง’ ของฮุน มาเนต ยังมีท่าทีที่ไม่ชัดเจนมากนัก เพราะประสบการณ์การเมืองยังเท่ากับศูนย์ มีแต่เวลาเท่านั้นที่จะบอกได้ว่า นับจากนี้ ฮุน มาเนต จะก้าวขาสู่การนำประเทศของตัวเองอย่างไร

ทั้งนี้ ชาวกัมพูชาหลายคนสงสัยว่าการเปลี่ยนแปลงจะมีความหมายต่อประเทศอย่างไร แม้เขาร่ำเรียนมาด้านเศรษฐศาสตร์และเป็นนายพลมีประสบการณ์ แต่เรื่องการเมืองเป็นศูนย์ มีเพียงเวลาเท่านั้นที่จะบอกได้ว่าเขาจะปกครองประเทศเหมือนหรือแตกต่างจากพ่อหรือไม่

 

ย้อนประวัติฮุน มาเนต

ฮุน มาเนต เป็นลูกคนโตจากลูกห้าคนของฮุนเซน เกิดเมื่อวันที่ 20 ต.ค. 1977 บิดาชอบเล่าถึงปาฏิหาริย์ตอนที่ลูกชายคนนี้เกิด หลายครั้งไม่ว่าจะการพูดต่อหน้าสาธารณะหรือให้ข้อมูลกับผู้บันทึกชีวประวัติ ฮุน เซน มักบอกว่า ลูกชายมีบุญญาธิการ ตอนเขาเกิดมีแสงสว่างวาบออกมาจากต้นไทรอายุหลายร้อยปีต้นหนึ่ง

“มีคน 500 คนเห็นแสงนั้นตอนที่มาเนต เกิด” ฮุน เซน ยืนยันกับกลุ่มนักเขียนหนังสือ Strongman: The Extraordinary Life of Hun Sen ในเดือน ธ.ค. 1997

เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เกี่ยวกับบุญบารมีดูเหมือนเพื่อฉายภาพฮุน มาเนต ว่าชะตากรรมกำหนดมาให้ยิ่งใหญ่เหมือนพ่อ

 

เข้าเวสต์พอยท์คนแรกของกัมพูชา

ฮุน มาเนต เติบโตในกัมพูชา เข้ารับราชการในกองทัพเมื่อปี 1995 แต่ใช้เวลาไปเรียนต่อเสียมากทั้งในสหรัฐฯ และอังกฤษ เป็นชาวกัมพูชาคนแรกที่จบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยเวสต์พอยท์ของสหรัฐฯ ในปี 1999 จากนั้นได้ปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์กในปี 2002 และปริญญาเอกสาขาเดียวกันจากมหาวิทยาลัยบริสตอลของอังกฤษในปี 2008

 

ผู้ชายอินโนเซนต์ (Innocent)

คนที่รู้จักฮุน มาเนต ตั้งแต่ยังหนุ่มเล่าเรื่องราวไม่ต่างจากที่พ่อเล่า เขาเป็นหนุ่มผู้ถ่อมเนื้อถ่อมตัว สุภาพจนเกือบจะขี้อาย และมุ่งมั่นทำอาชีพด้านเศรษฐศาสตร์การพัฒนา

ตอนเรียนโรงเรียนนายร้อยเวสต์พอยท์เมื่อปี 1995 ในชั้นเรียนกว่า 900 คน มีนักเรียนต่างชาติไม่ถึง 10 คน ตอนแรกฮุน มาเนต พยายามสื่อสารภาษาอังกฤษ และงุนงงกับวัฒนธรรมรับน้อง

เควิน เจมส์ ที่เคยเป็นรูมเมตกับฮุน มาเนต สองปี เผยกับ RFA ว่า “เขาเป็นคนยอมรับความแตกต่าง ไม่เคยตำหนิคนที่ทำตัวต่างจากคนอื่น” ทั้งคู่เข้ากันได้ดีในปีแรกจึงเลือกอยู่ด้วยกันต่อในปีที่ 2

“ผมไม่มีปัญหาเลยในการอยู่ร่วมกับมาเนต เขาเป็นคนเป็นมิตร เป็นรูมเมตที่ใจดี มีน้ำใจ ไม่สร้างปัญหาใด ๆ และอดทนเวลาผมสูบบุหรี่ในห้อง”

เจมส์ ที่ตอนนี้เป็นนาวาอากาศโทกองบิน 101 หวนรำลึกถึงความหลังว่า ฮุน มาเนต เป็นผู้ชายอินโนเซนต์ (Innocent - ใสซื่อ) ไม่วางฟอร์ม จนบางครั้ง ตนที่มาจากบ้านนอกอย่างเพนซิลเวเนีย (Pennsylvania) ถึงกับช็อก “ทำไมถึงไร้เดียงสาได้ขนาดนั้น”

‘ฮุน มาเนต’ นายกฯ ใหม่แห่งกัมพูชา ทายาท ‘ฮุนเซน’ ที่ต่างจากพ่อ แต่เจอความคาดหวังไม่แพ้กัน

 

มุ่งมั่นด้านเศรษฐศาสตร์

เมื่อได้ปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์ ฮุน มาเนต ศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ทำวิทยานิพนธ์ปริญญาโทปี 2001 ในหัวข้อ ‘กัมพูชาจะได้ประโยชน์หรือไม่จากการปฏิรูปที่ดิน’

ตัดภาพไปที่บ้านเกิดในเวลาเดียวกันนั้น บิดากำลังเริ่มให้สัมปทานที่ดินแก่พวกพ้องและนักลงทุนต่างชาติ  ข้อมูลจากคำฟ้องในคดีหนึ่งเผยว่า ภายในปี 2014 การให้สัมปทานเช่นนี้ทำให้ประชากรกัมพูชา 6% ไร้ที่อยู่อาศัย

ช่วงที่รัฐบาลของบิดาเดินหน้าเอื้อประโยชน์นักธุรกิจ เรืองอำนาจบนความยากลำบากของคนจน ดูเหมือนฮุน มาเนต จะสนใจศึกษาวิธีทำให้ประเทศยากจนที่สุดในโลกพ้นจากความยากจน ในเวลานั้น ฮุนเซน พ่อผู้ภาคภูมิใจในตัวลูกโพสต์เฟซบุ๊กว่า ลูกชายไปฝึกงานที่เวิลด์แบงก์ ประจำการที่คองโก

ต่อมา ฮุน มาเนต ย้ายมาสหราชอาณาจักรเพื่อทำปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยบริสตอล

“เขาเป็นนักศึกษามีความสามารถ สุภาพ ให้เกียรติเสมอ และขยัน” โจนาธาน เทมเปิล อาจารย์ที่ปรึกษาปริญญาเอกเผยกับ RFA เมื่อปีก่อน พร้อมเสริมว่าฮุน มาเนต ต้องการทำงานด้านเศรษฐศาสตร์การพัฒนา

“ผมไม่รู้เรื่องภูมิหลังครอบครัวเขาเลย จนกระทั่งการเรียนเขาคืบหน้าไปมาก”

 

ค่านิยมครอบครัว

ถ้าการศึกษาทำให้ฮุน มาเนต ห่างไกลจากครอบครัวทั้งในแง่สภาพภูมิศาสตร์และภูมิปัญญา แต่เขาไม่ได้หลุดจากครอบครัวเลย ตอนเรียนปีสองที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก เขาและพี่น้องวัยรุ่นซื้อบ้านสี่ห้องนอนในลองไอส์แลนด์ ย่านชานเมืองของนิวยอร์กในราคา 550,000 ดอลลาร์ ทั้งที่พวกเขายังไม่มีงานทำ และเงินเดือนทางการของบิดาก็แค่ปีละ 12,000 ดอลลาร์เท่านั้น (ตอนที่ซื้อในปี 2000 บ้านหลังนี้ราคาสูงกว่ารายได้เฉลี่ยทั้งปีของชาวกัมพูชาถึง 1,600 เท่า)

ปี 2006 ฮุน มาเนต แต่งงานกับพิช จันมุนี ลูกสาวรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานผู้มีเส้นสายดี และใกล้ชิดกับนายกรัฐมนตรี ทั้งคู่มีลูกด้วยกันสามคน ส่วนพี่น้องของเขาล้วนแต่งงานไปกับทายาทตระกูลดัง

การแต่งงานของฮุน มาเนต สะท้อนถึงการที่ครอบครัวขยายเครือข่ายเข้าไปในธุรกิจ การเมือง และชีวิตส่วนตัวเพิ่มขึ้นทุกขณะ

 

การงานก้าวหน้า

หน้าที่การงานในกองทัพกัมพูชาของฮุน มาเนต ก้าวหน้าขึ้นตามลำดับ เคยเป็นรองผู้บัญชาการหน่วยอารักขานายกรัฐมนตรี ผู้บัญชาการหน่วยต่อต้านการก่อการร้าย ผู้บัญชาการกองทัพบก และรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในด้านการเมืองเป็นผู้อำนวยการฝ่ายยุวชนพรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) และเป็นคณะกรรมการถาวรของพรรค

 

มุมมองจากพ่อถึงลูก

ปี 1997 ฮุนเซน ในฐานะนายกรัฐมนตรีคนที่ 2 รัฐบาลชุดที่มาจากการเลือกตั้ง ทำรัฐประหารนองเลือดขับเจ้ารณฤทธิ์ นายกรัฐมนตรีคนที่ 1 พ้นตำแหน่ง สี่เดือนหลังจากนั้น ฮุนเซน บอกกับนักเขียนชีวประวัติว่า ตนไม่ใช่แค่ไม่อยากให้ลูกชายเดินบนเส้นทางเดียวกันเท่านั้น แต่ฮุน มาเนต วัย 20 ปีในขณะนั้น ยังไม่เหมาะสมกับการเมืองเอามาก ๆ ด้วย

“ผมอยากเป็นคนสุดท้ายของครอบครัวที่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง อยากเห็น (มาเนต) ทำงานเป็นผู้ช่วยนักการเมือง ช่วยสร้างชาติมากกว่า ไม่ต้องมาเป็นนักการเมืองเอง ดูเหมือนเขาจะสนใจแต่เรื่องเรียน ทำวิจัย และให้คำแนะนำมากกว่าจะทำเอง” ฮุนเซน กล่าว คำพูดนี้ถูกอ้างถึงไว้ในหนังสือ Strongman

การผงาดขึ้นมาของฮุน มาเนต แน่นอนว่ามหาอำนาจสำคัญจะจับตาอย่างใกล้ชิด หาสัญญาณว่าเขาจะเป็นเผด็จการเหมือนพ่อเพื่อรักษาสถานภาพเดิมของการเมืองกัมพูชาเอาไว้ หรือให้เสรีและนำประชาธิปไตยแบบตะวันตกมาใช้มากขึ้น ฮุนเซน เองก็เคยคาดว่าบุตรชายจะปกครองด้วยรูปแบบของตนเอง

แล้วถ้าลูกชายปกครองแตกต่างออกไปล่ะ? พนมเปญโพสต์ตั้งคำถาม ฮุนเซน ถึงกับหัวเราะร่า

“แบบไหนเหรอ? ความเปลี่ยนแปลงใด ๆ ก็ตาม ย่อมหมายถึงการปั่นป่วนสันติภาพและลบล้างความสำเร็จที่คนรุ่นก่อนเคยทำมา” ฮุนเซน ตอบ

 

พ่อเริ่มลงมือปั้นลูก

หลังจบการศึกษาจากบริสตอลในเดือน ก.พ.2008 ได้ไม่นาน ฮุน มาเนต จำต้องพักความฝันบนหอคอยงาช้างเอาไว้ก่อน เมื่อข้อพิพาทชายแดนไทย-กัมพูชา ระอุขึ้นมาอีกครั้งในเดือน มิ.ย. ปีเดียวกันกรณีปราสาทพระวิหาร

การปะทะกันเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับฮุนเซน ให้เขาใช้ปลุกเร้าความรักชาติก่อนการเลือกตั้งในเดือน ก.ค. อีกทั้งยังใช้โอกาสนี้ทดสอบการศึกษาจากเวสต์พอยท์ของลูกชาย ด้วยการส่งฮุน มาเนต ไปดูแลกองกำลังรอบปราสาท และส่งกลับไปทำหน้าที่นี้อีกครั้งเมื่อความตึงเครียดเกิดขึ้นอีกในปี 2011

โรเบิร์ต วิลลาร์ด นายพลกองทัพเรือสหรัฐฯ ผู้รับผิดชอบกองกำลังสหรัฐฯ ในแปซิฟิกเวลานั้น กล่าวกับคณะกรรมาธิการสภาคองเกรสว่า การที่ฮุน เซน ส่งบุตรชายไปที่พระวิหาร ดูเหมือนว่าเขากำลังปั้นให้ลูกชายเป็น ‘ผู้สืบทอดอำนาจ’

“ความขัดแย้งนี้สร้างความน่าเชื่อถือให้กับฮุน มาเนต ในฐานะผู้นำทหารและฮีโร่ผู้ปกป้องอธิปไตยของชาติจากภัยคุกคามภายนอก” วิลลาร์ด แถลงต่อคณะกรรมาธิการ

‘ฮุน มาเนต’ นายกฯ ใหม่แห่งกัมพูชา ทายาท ‘ฮุนเซน’ ที่ต่างจากพ่อ แต่เจอความคาดหวังไม่แพ้กัน

อ่านเพิ่มเติมเรื่อง สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ‘ฮุน เซน’ นายกฯ ‘ตลอดกาล’ กัมพูชา ที่มาจาก ‘ลูกชาวนา-เด็กวัด’

 

เด็กชายว่าที่ “ผู้นำ”

หลายปีหลังจากนั้น ลูกชายและลูกเขยของฮุนเซน มีบทบาทในรัฐบาลและกองทัพมากขึ้น ส่วนลูกสาวเป็นนักธุรกิจใหญ่ แต่ชัดเจนขึ้นทุกทีว่า ฮุน มาเนต คือผู้ดำรงตำแหน่งสูงสุด

ภายในปี 2015 เรื่องนี้ถูกจับตาอย่างหนัก เมื่อฮุน มาเนต ให้สัมภาษณ์อย่างที่ไม่ค่อยทำบ่อยนักกับสำนักข่าวเอบีซีของออสเตรเลีย ส่งสัญญาณว่านายพลหนุ่มผู้นี้เริ่มตื่นเต้นกับโอกาสที่ว่า

เขาแสดงทัศนะว่า กัมพูชาต้องรักษาสันติภาพ เสถียรภาพ และความมั่นคงไว้ “ไม่ว่าต้องแลกด้วยอะไรก็ตาม” แต่หลังจากสนทนากันถึงมุมมองของพรรค CPP กับการเปลี่ยนแปลงสถานภาพการเมืองเดิม ฮุน มาเนต เริ่มหลุดนัยออกมา เมื่อถูกถามว่า พ่อของเขาวางแผนอยู่ในอำนาจนานแค่ไหน เจ้าตัวยิ้มกว้างแล้วหัวเราะ เหน็บผู้สัมภาษณ์เล็กน้อย

“กัมพูชาเป็นประชาธิปไตย เขาก็อยู่นานเท่าที่ประชาชนอยากให้อยู่” ฮุน มาเนต ตอบ และมีรอยยิ้มกว้างขึ้นเมื่อเจอคำถามถัดไป

“แล้วถ้าประชาชนต้องการคุณล่ะ คุณจะเป็นนายกฯ ไหม”

“จะว่าไม่ก็ไม่ใช่ จะว่าใช่ก็ไม่เชิง” เจ้าตัวตอบ

เส้นทางอำนาจชัดเจนในเดือนธันวาคม 2564 เมื่อนายกรัฐมนตรีกัมพูชาเสนอชื่อลูกชายคนโตเป็นทายาททางการเมืองสืบทอดการเป็นผู้นำต่อจากตน หลังจากนั้นไม่นาน พรรค CPP รับรองฮุน มาเนต เป็น ‘นายกรัฐมนตรีในอนาคต’

 

ระวังตัว ไม่ค่อยออกสื่อ

ฮุน มาเนต ให้สัมภาษณ์สื่อและแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับกัมพูชาและประชาชน 16 ล้านคนเพียงไม่กี่ครั้ง ส่วนใหญ่ตอนหาเสียงเลือกตั้งเขาเลี่ยงการปราศรัยยาว แค่ยิ้มและโบกมือเป็นหลัก ที่ผ่านมา เขาดูแลภาพลักษณ์มาก ขณะที่สมาชิกในครอบครัวคนอื่น ๆ ที่ชอบเล่นโซเชียลมีเดีย โพสต์ภาพนาฬิกาแพงและเครื่องบินส่วนตัว ฮุน มาเนต มีแอคเคาท์งานอย่างเดียว และไม่ค่อยเผยโฉมลูก

 

เหลืออดกับเสียงวิจารณ์ และมุมมองคนนอก

หลายครั้งที่ฮุน มาเนต แสดงให้เห็นว่าเริ่มเหลือทนกับเสียงวิจารณ์ เช่นในปี 2016 เจ้าตัวโอดครวญกับสื่อเรื่องที่ตนถูกชาวกัมพูชาพลัดถิ่นประท้วงไปทุกที่ตอนไปออสเตรเลีย

“ทำไมพวกเขาถึงดูถูกผมว่าสร้างความแตกแยกและขัดแย้ง” ฮุน มาเนต ถามผู้สื่อข่าว

นักสังกตการณ์กล่าวว่า ฮุน มาเนต พูดภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่วและมีกิริยาท่าทีแบบนักการทูต แตกต่างจากบิดา

นักวิเคราะห์รายหนึ่งจากสถาบันโลวี กลุ่มคลังสมองในซิดนีย์เผยว่า ช่วงสองปีที่ผ่านมาฮุน มาเนต พบปะผู้นำ ส.ส. และเจ้าหน้าที่ฝ่ายกลาโหมจากต่างประเทศมากขึ้น แต่ยังไม่มีข้อบ่งชี้มากนักว่า การศึกษาแบบตะวันตกจะมีอิทธิพลต่อแนวคิดทางการเมือง

แต่ถ้าถามสม รังสี รักษาการผู้นำพรรคฝ่ายค้านแห่งชาติกัมพูชาที่ลี้ภัยอยู่ในฝรั่งเศส เขามองว่า ฮุน มาเนต ไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

“หลายคนหวังว่าประชาธิปไตยกัมพูชาอาจฟื้นคืนหากฮุน มาเนต ได้อำนาจ แต่อย่าเข้าใจผิด ก็เหมือนกับตระกูลอัสซาดของซีเรีย และตระกูลคิมของเกาหลีเหนือนั่นล่ะ ประชาธิปไตยคงไม่เกิด” สม รังสี ให้ความเห็น

ด้านอู วิรัก ประธาน Future Forum กลุ่มคลังสมองในกรุงพนมเปญ เล่าว่า เท่าที่เคยคุยกัน เขาประทับใจนายกฯ ใหม่ ตรงที่สนใจจริงจังเรื่องปราบปรามการทุจริตและสนับสนุนการพัฒนา

อย่างไรก็ตาม ในสายตานักวิเคราะห์นอกเหนือจากตำแหน่งนายกฯ ฮุนเซน ยังมอบมรดกโครงสร้างอำนาจการเมืองอันเป็นผลพวงจากความรุนแรงและการสอดประสานผลประโยชน์กันก่อนหน้านี้ ซึ่งหากมีอะไรไปกระทบพวกเขาย่อมเป็นหายนะต่อฮุน มาเนต

“การเมืองยังเป็นซีโรซัมเกม (Zero-Sum Game) สำหรับเขาตอนนี้ จึงอาจเป็นอันตรายสำหรับครอบครัว (ที่จะยอมรับการเปลี่ยนแปลง)” นักวิเคราะห์รายหนึ่งตั้งข้อสังเกต

*หมายเหตุ: ปรับปรุงเนื้อหาใหม่ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567

 

เรื่อง: กนกวรรณ เกิดผลานันท์

ภาพ: แฟ้มภาพจาก Getty Images

อ้างอิง:

Reuters

Washington Post

RFA

AFP via Yahoo