‘พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์’ ผบ.ตร.คนที่ 13 บู๊ก็ได้ บุ๋นก็ดี ดีกรีป.โทจากสหรัฐฯ

‘พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์’ ผบ.ตร.คนที่ 13 บู๊ก็ได้ บุ๋นก็ดี ดีกรีป.โทจากสหรัฐฯ

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ คือผบ.ตร. คนที่ 13 ของไทย มีดีกรีปริญญาโทจากสหรัฐฯ ว่ากันว่า ทำงานในท้องที่จนเป็นที่รักของผู้คน บู๊ก็ได้ บุ๋นก็ดี

  • พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนที่ 13 ของไทยในยุคที่การเมืองฝุ่นตลบ 
  • การดำรงตำแหน่งร่วมปียังคงสะท้อนฉายาที่สื่อตั้งให้ว่า ผบ.ตร. ปีชง เมื่อองค์กรตำรวจเจอกระแสต่าง ๆ ถาโถมอย่างหนัก
  • คำถามต่อองค์กรตำรวจเกิดขึ้นจนถึงช่วงปลายเดือนกันยายน 2566 ที่จะต้องส่งไม้ต่อ เมื่อมีประกาศเลื่อนการแต่งตั้งผบ.ตร. ที่จะรับไม้ต่อจากพล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ ออกไปก่อน 

สภาพตำรวจในยุคที่องค์กรถูกตั้งคำถามและต้องทำงานรัว ๆ ถูกตอกย้ำจากฉายาที่สื่อตั้งให้ตำรวจปี 2565 โดยผบ.ตร. คนที่ 13 ของไทยได้ฉายา ‘ผบ. ปีชง’ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ คือผบ.ตร. ดีกรีปริญญาโทจากสหรัฐฯ ว่ากันว่า ทำงานในท้องที่จนเป็นที่รักของผู้คน บู๊ก็ได้ บุ๋นก็ดี

ภายหลัง พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข พ้นจากตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเมื่อท่านเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายน 2565 บุคคลที่จะขึ้นมารับไม้ต่อเป็น ผบ.ตร. คนที่ 13 ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) มีชื่อออกมาเป็น พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ เป็นอีกหนึ่งนายตำรวจซึ่งเติบโตทางราชการและมาจากสายเน้นการทำงานเป็นหลัก ประวัติด้านการศึกษาพบว่ามีระบุถึงการศึกษาระดับปริญญาโท รัฐประศาสนศาสตร์จาก ‘City University’ ประเทศสหรัฐอเมริกา ขณะที่ปริญญาตรีก็เป็นรัฐประศาสนศาสตร์จากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ รุ่นที่ 38 และเป็นนักเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 22

ไต่เต้ามาจากรองผู้กำกับการป้องกันปราบปรามสถานีตำรวจนครบาลบางรัก ต่อมาขึ้นเป็นผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลคลองตัน

จากนั้นผ่านงานรองผู้บังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ (191) และรองผู้บังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน กระทั่งขึ้นเป็นผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดอำนาจเจริญ

มีรายงานข่าวถึงกับเผยว่า ช่วงดำรงตำแหน่งเป็นผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดอำนาจเจริญ ‘ผู้การเด่น’ (ชื่อเล่นว่า เด่น สื่อทั่วไปมักเรียกว่า ‘บิ๊กเด่น’) ได้รับความเชื่อมั่นและเป็นที่รักของชาวบ้าน เนื่องจากเข้าถึงประชาชนทุกกลุ่ม จนสื่อมวลชนและชาวบ้านมาขอให้ปฏิบัติหน้าที่ต่ออีก แต่ต้องเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เนื่องจากต้องมาช่วยงานผู้บังคับบัญชา

เมื่อครั้งขึ้นเป็นผู้บังคับการตำรวจนครบาล 2 ระหว่างนั้นเกิดน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี พ.ศ. 2554 ผู้การเด่นมีบทบาทช่วยบรรเทาทุกข์จากน้ำท่วมโดยตั้งศูนย์ช่วยเหลือ เมื่อได้รับแจ้งเหตุจะลงพื้นที่ช่วยชาวบ้านและแจกสิ่งของยังชีพ

อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้การเมืองเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผัน หลังจากนั้น ผู้การเด่นถูกย้ายไปเป็นผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดพะเยา และยังโชว์ผลงานโดดเด่นอีกเช่นกัน ครั้งนี้ไปแก้ปัญหาด้านยาเสพติด ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนแต่ละจังหวัดทั่วประเทศ กลุ่มตัวอย่างจังหวัดละ 800 คน ออกมาว่า ตำรวจภูธรจังหวัดพะเยา ได้รับความพึงพอใจ 100% อยู่ในอันดับ 1 ของประเทศ

เส้นทางราชการหลังจากนั้นก็เติบโตเรื่อยมา เป็นผู้บัญชาการสำนักงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 ในช่วงนี้มีผลงานที่สำคัญคือ ‘โครงการประชารัฐร่วมใจต้านภัยยาเสพติด’ หรือเรียกกันว่าโครงการปักกลด ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปฝังตัวในชุมชนแถบสถานีตำรวจหลักพันหมู่บ้าน เป็นการกระชับความสัมพันธ์ ช่วยแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนอย่างจริงใจจนแก้ปัญหายาเสพติดได้ ผลงานดังกล่าวนำมาสู่ฉายา ‘เด่นปักกลด’

อีกหนึ่งโครงการที่เกิดขึ้นในช่วงนั้นคือโครงการสร้างสรรค์นวัตกรรมในการลดสถิติผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน สืบสวนอุบัติเหตุบนท้องถนน รวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ในด้านปัจจัยที่นำมาสู่อุบัติเหตุเพื่อมาแก้ไขและลดอุบัติเหตุทางถนนใน 8 จังหวัดภาคอีสานตอนล่าง

หน้าที่การงานของท่านก้าวมาสู่ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตามลำดับ กล่าวได้ว่า เมื่อนั่งเก้าอี้รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มีบทบาทในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารงานจราจรสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศจร.จร.) แต่ผลงานที่โดดเด่นน่าจะเป็นในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) กวาดล้างแก๊งคอลเซ็นเตอร์ต่าง ๆ ไปจนถึงกวาดล้างเครือข่ายพนันออนไลน์และอาชญากรรมทางไซเบอร์คดีต่าง ๆ

อีกหนึ่งผลงานที่ปราบปรามคือการปราบเด็กแว้นในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและปราบปรามการแข่งรถในทางและความผิดอื่นที่เกี่ยวข้อง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผอ.ศปข.ตร./ศูนย์เด็กแว้น)

มองโดยรวมแล้วประวัติและผลงานของ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ มี ‘ผลงาน’ ไล่เรียงกันออกมาได้หลากหลายและรอบด้านทีเดียว ทั้งการป้องกัน - ปราบปาม เข้าถึงชุมชน ไปจนถึงด้านเทคโนโลยี และยังให้ความสำคัญกับด้านการศึกษา สนับสนุนการพัฒนาข้าราชการตำรวจโดยส่งไปศึกษาด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ในต่างประเทศจากข้อตกลงความร่วมมือกับ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ก.อว.)

แต่แค่เริ่มต้นทำงานไปไม่กี่สัปดาห์ก็เจอคำถามใหญ่กลับมาที่องค์กรอีกครั้ง หลังจากนั้นมายังมีคดีใหญ่หลายเรื่องตามมาให้ชำระอีกเป็นขบวน บริบทเหล่านี้จึงนำมาสู่ฉายาประจำปี 2565 จากสื่อมวลชนว่า ‘ผบ.ปีชง’ นั่นเอง

การทำงานมาจนถึงปี 2566 ยุคนี้ไม่วายเป็นช่วงที่องค์กรผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ถูกตั้งคำถามมากมายจากคดีดังต่าง ๆ ที่มีตำรวจพัวพัน แม้แต่ช่วงส่งไม้ต่อปลายเดือนกันยายน 2566 ยังมีข่าวรองผบ.ตร. อย่าง ‘บิ๊กโจ๊ก’ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ถูกบุกค้นบ้านพัก ตามมาด้วยการสอบสวนเรื่องเส้นทางการเงินซึ่งถูกตั้งข้อสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับพนันออนไลน์


เรื่อง: ธนพงศ์ พุทธิวนิช
ภาพ: ภาพถ่ายเมื่อ 22 มกราคม 2561 ที่นครราชสีมา ในงานโครงการตำรวจสีขาว จาก NATION PHOTO

หมายเหตุ: เนื้อหานี้ปรับปรุงและเรียบเรียงใหม่เมื่อ 27 กันยายน 2566 จากบทความที่เผยแพร่เมื่อ 4 กันยายน 2565