‘เบนจามิน เนทันยาฮู’ นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ผู้เบนเข้าสู่เส้นทางการเมืองหลังเสีย ‘พี่ชาย’

‘เบนจามิน เนทันยาฮู’ นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ผู้เบนเข้าสู่เส้นทางการเมืองหลังเสีย ‘พี่ชาย’

เรื่องราวของ ‘เบนจามิน เนทันยาฮู’ อดีตทหารคอมมานโด ที่กระโจนเข้าสู่เส้นทางการเมืองอิสราเอล จากการสูญเสีย ‘พี่ชาย’ ที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘วีรบุรุษของชาติ’

  • การพลีชีพของโยนาธานส่งผลอย่างใหญ่หลวงต่อตระกูลเนทันยาฮู ชื่อของเขากลายเป็นที่จดจำในฐานะ ‘วีรบุรุษแห่งอิสราเอล’ ขณะที่น้องชายก็ตัดสินใจครั้งสำคัญ ด้วยการเบนเข้าสู่เส้นทางการเมือง 
  • เบนจามิน เนทันยาฮู ในวัย 73 ปี ได้รับเลือกตั้งกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกเป็นครั้งที่ 3 ในปี 2022 ขึ้นแท่นผู้นำประเทศที่ครองตำแหน่งยาวนานที่สุด และเป็นผู้นำคนแรกที่ถูกดำเนินคดีอาญาระหว่างอยู่ในตำแหน่ง 

‘เบนจามิน เนทันยาฮู’ (Benjamin Netanyahu) หรือที่รู้จักกันในนาม ‘ราชาบีบี’ อดีตหน่วยคอมมานโด นักการทูต นักการเมือง และนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดของอิสราเอล 

ราชาบีบีคือผู้นำอิสราเอลที่ผ่านวิกฤตของประเทศมานับครั้งไม่ถ้วน รวมถึงวิกฤตครั้งล่าสุด เมื่อ ‘กลุ่มฮามาส’ จากฝั่งปาเลสไตน์ เปิดฉากโจมตีครั้งใหญ่ในรอบหลายสิบปี 

บทความนี้ The People จะพาไปทำความรู้จักผู้นำคนปัจจุบันของอิสราเอล ที่แน่นปึ้กทั้งสายทหาร สายทูต และนักบริหาร 

อดีตหัวหน้าทีมคอมมานโดและบัณฑิตจาก MIT

‘เบนจามิน เนทันยาฮู’ เกิดเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 1949 ที่เมืองเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล แต่ไปเติบโตที่เมืองเยรูซาเลม และใช้ชีวิตช่วงวัยรุ่นที่เมืองฟิลาเดเฟียของสหรัฐอเมริกา หลังจากที่บิดาของเขา ‘เบนไซออน เนทันยาฮู’ (Benzion Netanyahu) นักประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียง และนักเคลื่อนไหวในขบวนการ ‘ไซออนิสม์’ (Zionism) ได้รับการเสนอให้ไปสอนวิชาประวัติศาสตร์ที่สหรัฐฯ 

ปี 1967 ขณะอายุครบ 18 ปี เบนจามินเดินทางกลับอิสราเอลเพื่อไปเป็นทหารในกองกำลังป้องกันประเทศของอิสราเอล (IDF) เขาทำหน้าที่เป็น ‘หัวหน้าทีมคอมมานโด’ ระดับพระกาฬ ซึ่งได้ร่วมปฏิบัติการที่กล้าหาญหลายต่อหลายครั้ง 

ปี 1972 เขาได้รับบาดเจ็บจากปฏิบัติการโจมตีเครื่องบินโดยสารของเบลเยียมที่ถูกกลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์จี้ ระหว่างลงจอดที่อิสราเอล นอกจากนี้ เขายังเข้าร่วมต่อสู้ในสงครามระหว่างอาหรับกับอิสราเอลด้วย 

เขาออกจาก IDF หลังจากเป็นทหารอยู่ 6 ปี เมื่อเสร็จสิ้นการรักษาตัวที่โรงพยาบาลจึงกลับไปยังสหรัฐฯ เพื่อเรียนต่อที่ ‘สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์’ (MIT) จนจบปริญญาด้านสถาปัตยกรรมและบริหารธุรกิจ นอกจากนี้ เขายังลงเรียนด้านรัฐศาสตร์ทั้งที่ MIT และที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดด้วย 

ปี 1976 เขาเข้าทำงานในบริษัทที่ปรึกษาธุรกิจระหว่างประเทศ ซึ่งทำให้เขาได้รู้จักมักคุ้นกับ ‘มิตต์ รอมนีย์’ (Mitt Romney) ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ แต่ได้พ่ายให้กับคู่แข่งอย่าง ‘บารัก โอบามา’ (Barack Obama) ไป

จากนั้นเบนจามินก็ไต่เต้าขึ้นเป็นผู้บริหารของบริษัทต่างชาติในเยรูซาเลม กระทั่งปี 1976 ระหว่างที่กำลังก้าวหน้าในอาชีพการงาน ‘โยนาธาน’ ผู้เป็นพี่ชายคนโต ได้ถูกสังหารระหว่างปฏิบัติการช่วยเหลือตัวประกันชาวอิสราเอล บนเครื่องบินที่ถูกจี้ให้ไปจอดที่เมืองเอนเทบเบ ประเทศยูกันดา 

การพลีชีพของโยนาธานส่งผลอย่างใหญ่หลวงต่อตระกูลเนทันยาฮู ชื่อของเขากลายเป็นที่จดจำในฐานะ ‘วีรบุรุษแห่งอิสราเอล’ ขณะที่น้องชายก็ตัดสินใจครั้งสำคัญ ด้วยการเบนเข้าสู่เส้นทางการเมือง 

เรื่องราวของปฏิบัติการเอนเทบเบ หรือที่ถูกเรียกเพื่อแสดงความยกย่องว่า ‘ปฏิบัติการโยนาธาน’ ต่อมาได้กลายเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างภาพยนตร์เรื่อง ‘7 Days in Entebbe’ ที่นำแสดงโดยนักแสดงระดับแม่เหล็กอย่าง ‘โรซามันด์ ไพค์’ และ ‘แดเนียล บรูห์ล’

เบนจามินตัดสินใจเดินทางกลับไปอิสราเอลอีกครั้ง และได้ก่อตั้งสถาบันต่อต้านการก่อการร้ายขึ้นเพื่อรำลึกถึงพี่ชาย 

งานเพื่อสังคมนี้เองที่ได้เปิดประตูให้เขาได้สู่แวดวงการเมืองระหว่างประเทศ เริ่มจากปี 1982 ที่เขาได้เป็น ‘หัวหน้าคณะผู้แทนทูต’ (Deputy Head of Mission) ประจำอยู่ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ของสหรัฐฯ

ชั่วข้ามคืน ชีวิตสาธารณะของเขาก็ได้เริ่มต้นขึ้น ด้วยความที่เป็นคนพูดภาษาอังกฤษสำเนียงอเมริกันได้ชัดเจนคล่องแคล่ว ใบหน้าของเขาจึงได้ปรากฏในโทรทัศน์ของสหรัฐฯอยู่บ่อยครั้ง ในระหว่างที่เขาพยายามจะยกระดับภาพลักษณ์ของอิสราเอล 

ปี 1984 เบนจามินก็ก้าวขึ้นไปอีกขั้น เขา ได้รับการแต่งตั้งเป็น ‘ผู้แทนถาวรของอิสราเอล’ ประจำสหประชาชาติในนครนิวยอร์ก

ก้าวขึ้นสู่อำนาจทางการเมือง

เบนจามินเริ่มเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองในประเทศ หลังจากเดินทางกลับอิสราเอลในปี 1988 โดยเข้าเป็นสมาชิกพรรคลิคุด (Likud) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายขวาของอิสราเอล ก่อนจะได้รับที่นั่งในรัฐสภา และได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

เวลาต่อมา เขาผงาดขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคลิคุด และในปี 1996 ก็ก้าวขึ้นครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงคนแรกของอิสราเอล ภายหลังการลอบสังหารอดีตนายกรัฐมนตรี ‘ยิตส์ฮัก ราบิน’ (Yitzhak Rabin) ซึ่งมีการกล่าวหาว่าเขาและผู้สนับสนุนสร้างวาทกรรมที่ทำให้ยิตส์ฮักถูกชาวยิวหัวรุนแรงสังหาร 

เบนจามินยังได้ชื่อว่าเป็นผู้นำที่อายุน้อยที่สุดของอิสราเอล และเป็นผู้นำคนแรกที่เกิดหลังจากการสถาปานารัฐอิสราเอลในปี 1948 ด้วย

เขาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปจนถึงการเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคม 1999 กระทั่งพ่ายให้กับพรรคแรงงาน เบนจามินจึงก้าวลงจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคลิคุด และส่งไม้ต่อให้กับ ‘เอเรียล ชารอน’ (Ariel Sharon) หลังจากนั้นตัวเองก็หันไปทำหน้าที่ที่ปรึกษาทางธุรกิจให้กับบริษัทเทคโนโลยีชั้นสูงของอิสราเอล และเดินสายเป็นวิทยากรบนเวทีระดับโลก \

การหวนคืนเส้นทางการเมือง

แต่หลังจากที่เอเรียลได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีในปี 2001 เบนจามินก็กลับเข้ามารับตำแหน่งในรัฐบาลอีกครั้ง โดยเริ่มจากการนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีต่างประเทศ ตามด้วยรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง จากนั้นในปี 2005 เขาจึงลาออกจากตำแหน่งกะทันหัน เพราะต้องการประท้วงกรณีที่เอเรียลพยายามจะเจรจาสันติภาพกับปาเลสไตน์ โดยให้ย้ายนิคมชาวอิสราเอลบางส่วนออกจากฉนวนกาซา 

แต่ก็มีนักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่าที่เบนจามินออกมาแสดงฤทธิ์เดช เป็นเพราะเขาหวังจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง โดยไม่ต้องการให้มีชนักติดหลังเรื่องฉนวนกาซา และไม่ได้เกี่ยวข้องกับการอพยพออกของชาวอิสราเอล 

โอกาสกลับมาอยู่ในมือของเขาอีกครั้ง เพราะในปีเดียวกัน เอเรียลเกิดป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมองจนทำให้เขาอยู่ในภาวะโคมา เบนจามินจึงแยกตัวออกจากพรรคลิคุด และก่อตั้งพรรคสายกลางที่ชื่อ ‘คาดิมา’ แต่ในที่สุดเขาก็กลับมารับตำแหน่งผู้นำพรรคลิคุดอีกครั้ง และได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 ในเดือนมีนาคม 2009

เดือนมิถุนายน 2009 เบนจามินได้กล่าวคำพูดอันโด่งดังว่า “ผมได้บอกกับประธานาธิบดีบารักในวอชิงตันว่า หากเราได้รับหลักประกันเรื่องเขตปลอดทหาร และหากชาวปาเลสไตน์ยอมรับอิสราเอลในฐานะรัฐยิว เราก็พร้อมที่จะยินยอมทำข้อตกลงสันติภาพที่แท้จริง โดยเป็นรัฐปาเลสไตน์ปลอดทหารเคียงข้างกับรัฐยิว”

ระหว่างดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศรอบนี้ เขาได้ทำในสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน นั่นคือการตกลงที่จะระงับการก่อสร้างเพื่อตั้งถิ่นฐานในเขตเวสต์แบงก์เป็นเวลา 10 เดือน เพื่อเดินหน้าเจรจาสันติภาพกับชาวปาเลสไตน์ แต่การเจรจาก็ล้มเหลวในช่วงปลายปี 2010 หลังจากนั้นทั้งสองฝ่ายก็มีการปะทะกันหลายครั้ง 

ความสัมพันธ์ที่ไม่ลงรอยกับ ‘บารัก โอบามา’

แม้ในช่วงที่มีความขัดแย้ง อิสราเอลจะได้รับการหนุนหลังจากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดที่สุด แต่ความสัมพันธ์ระหว่างเบนจามินกับประธานาธิบดีบารักก็ไม่ค่อยจะลงรอยกันเท่าไรนัก เริ่มต้นจากในช่วงรับตำแหน่งใหม่ ๆ บารักตัดสินใจไปกล่าวสุนทรพจน์ที่กรุงไคโรของอียิปต์โดยไม่ได้เยือนอิสราเอล และยังเรียกร้องให้อิสราเอลระงับการตั้งถิ่นฐานในฉนวนกาซาเพื่อกลับเข้าสู่กระบวนการสันติภาพกับชาวปาเลสไตน์

ความสัมพันธ์ของทั้งคู่เดินมาถึงจุดต่ำสุดเมื่อเบนจามินกล่าวที่สภาคองเกรสในเดือนมีนาคม 2015 โดยเตือนถึง ‘ข้อตกลงที่เลวทราม’ (bad deal) ที่เกิดขึ้นจากการเจรจาเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ระหว่างสหรัฐฯกับอิหร่าน ซึ่งฝ่ายบริหารของบารักก็ได้ออกมาประณามว่านี่เป็นพฤติกรรมแทรกแซงและสร้างความเสียหาย

ความสัมพันธ์หวานชื่นกับ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ 

การเข้ามารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯของ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ (Donald Trump) ในปี 2017 ทำให้สถานการณ์ระหว่าง 2 รัฐบาลได้พัฒนาขึ้น และภายใน 1 ปีหลังจากที่โดนัลด์รับตำแหน่ง เขาก็ได้ประกาศรับรอง ‘เยรูซาเลม’ เป็นเมืองหลวงของอิสราเอล และย้ายสถานทูตสหรัฐฯจากเทลอาวีฟมาอยู่ที่เยรูซาเลม ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากทางการปาเลสไตน์ และสมาชิกของสหประชาชาติส่วนใหญ่ แต่ได้รับการยกย่องจากผู้นำอิสราเอลว่า 

“ชาวยิวและรัฐยิวจะรู้สึกขอบคุณตลอดไป” พร้อมกับเรียกการตัดสินใจของโดนัลด์ครั้งนี้ว่า “กล้าหาญและยุติธรรม”

เดือนมกราคม 2020 เบนจามินได้แสดงความยกย่อง ‘แผนสันติภาพ’ ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ ที่โดนัลด์ร่างขึ้น โดยกล่าวว่าเป็น “โอกาสแห่งศตวรรษ” (The opportunity of the century) แม้ว่าชาวปาเลสไตน์จะมองว่าเป็นการคิดเองเออเอง และไม่ได้ให้ความสนใจต่อแผนนี้

นอกจากนี้ เบนจามินยังพบปะหารือกับโดนัลด์ในประเด็นเกี่ยวกับอิหร่าน โดยแสดงความยินดีที่สหรัฐฯ ถอนตัวจากการทำข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่าน และจะใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจในระดับสูงสุดต่ออิหร่าน 

เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

หลังปี 2016 เบนจามินถูกสอบสวนในคดีทุจริต ซึ่งต่อมาเขาถูกตั้งข้อหารับสินบน ฉ้อโกง และการทำผิดหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ใน 3 คดีที่แยกกัน สืบเนื่องมาจากการที่เขาถูกกล่าวหาว่ารับของขวัญจากนักธุรกิจมหาเศรษฐี และจ่ายเงินเพื่อให้สื่อมวลชนเขียนเชียร์

เขาปฏิเสธข้อกล่าวหา และอ้างว่าตัวเองเป็นเหยื่อของการ ‘ล่าแม่มด’ ที่มีแรงจูงใจทางการเมืองจากฝ่ายตรงข้าม เขาเข้ารับการพิจารณาคดีเมื่อเดือนพฤษภาคม 2020 ทว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ได้กระทบต่อการเลือกตั้งแต่อย่างใด เพราะเขาที่อายุล่วงเลยถึง 73 ปี ก็ได้รับเลือกตั้งกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกเป็นครั้งที่ 3 ในปี 2022 ขึ้นแท่นผู้นำประเทศที่ครองตำแหน่งยาวนานที่สุด และเป็นผู้นำคนแรกที่ถูกดำเนินคดีอาญาระหว่างอยู่ในตำแหน่ง 

ในวัย 74 ปี เบนจามินยังคงต้องเผชิญวิกฤตการเมืองระหว่างประเทศอีกครั้ง เมื่อ ‘กลุ่มฮามาส’ จากฝั่งปาเลสไตน์ บุกโจมตีอิสราเอลชนิดไม่ทันตั้งตัวในวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา แล้วหลังจากนั้นเขาก็ประกาศภาวะสงครามในประเทศ พร้อมกับตอบโต้กลับอย่างดุเดือด

นี่คือเรื่องราวของ ‘เบนจามิน เนทันยาฮู’ ผู้นำอิสราเอลที่กระโจนเข้าสู่เส้นทางการเมืองภายหลังการเสียชีวิตของพี่ชาย และได้กลายเป็นผู้นำที่สร้างประวัติศาสตร์มากมายตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปีที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอิสราเอล

 

ภาพ : Getty Images
อ้างอิง :

bbc
biography
markpeak
posttoday
jewishvirtuallibrary