บุคคลผู้ชักใยใน ‘ฮามาส’ กองกำลังอิสลามโจมตีอิสราเอลครั้งใหญ่ ใครเป็นใครกันบ้าง?

บุคคลผู้ชักใยใน ‘ฮามาส’ กองกำลังอิสลามโจมตีอิสราเอลครั้งใหญ่ ใครเป็นใครกันบ้าง?

กลุ่มบุคคลที่มีอิทธิพลสำคัญต่อ ‘ฮามาส’ กองกำลังต่อต้านเพื่ออิสลามที่เป็นคู่อริกับอิสราเอล และเพิ่งก่อเหตุโจมตีครั้งใหญ่เมื่อตุลาคม 2023 มีบุคคลอย่างโมฮัมเหม็ด ดีฟ และยาฮา ซินวาร์ เป็นกำลังสำคัญ

  • ฮามาส หรือ Islamic Resistance Movement ขบวนการต่อต้านเพื่ออิสลาม ก่อตั้งเมื่อปี 1987 ช่วงที่ชาวปาเลสไตน์ลุกขึ้นต่อต้านอิสราเอล
  • ฮามาส ร่วมก่อตั้งโดยอาห์เหม็ด ยาสซิน (Ahmed Yassin) อิหม่าม และนักเคลื่อนไหว ภายหลังเขาเสียชีวิตเมื่อปี 2004 อิสมาอิล ฮานียาห์ (Ismail Haniyeh) ขึ้นมาสานต่อในตำแหน่งผู้นำใหญ่ของกลุ่ม

เหตุโจมตีครั้งใหญ่ต่ออิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2023 ทำให้กลุ่ม ‘ฮามาส’ (Hamas) ตกเป็นเป้าสายตาของผู้คนทั่วโลกในฐานะผู้ก่อเหตุโจมตี

ความเป็นมาของกลุ่ม ‘ฮามาส’ เริ่มต้นตั้งแต่ปี 1987 ช่วงที่ชาวปาเลสไตน์เริ่มลุกขึ้นมาต่อต้านอิสราเอลครั้งแรก ฮามาสถือเป็นสาขาหนึ่งของกลุ่มภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood) โดยฮามาสเป็นการรวมตัวของผู้นับถืออิสลามนิกายซุนนี (Sunni) หลากหลายเชื้อชาติ เริ่มก่อตั้งในอียิปต์

กลุ่มฮามาสมีเป้าประสงค์จะตั้งรัฐปาเลสไตน์ และปฏิเสธทำข้อตกลงทางสันติใด ๆ กับอิสราเอล ซึ่งกลุ่มฮามาส ไม่ยอมรับสถานะของอิสราเอลด้วย

กลุ่มฮามาสได้รับความนิยมในแถบเวสต์แบงก์ (West Bank) ฮามาสยังเคยชนะเลือกตั้งในกาซา และเวสต์แบงก์ (พื้นที่ขนาดความยาวประมาณ 100 กิโลเมตร กว้าง 50 กิโลเมตร อยู่ในการครอบครองของอิสราเอลเมื่อปี 1967 และเป็นอีกหนึ่งเหตุสำคัญในความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์) เมื่อปี 2006 แต่ฮามาส ปฏิเสธเข้าร่วมรัฐบาลผสมกับพรรค Fatah ที่เป็นขั้วตรงข้าม พรรค Fatah ถือเป็นองค์ประกอบหนึ่งขององค์กรปลดปล่อยปาเลสไตน์ หรือ Palestinian Liberation Organization (PLO) โดยองค์กรนี้เคยมีผู้นำคือยัสเซอร์ อาราฟัต ที่เจรจาสันติกับอิสราเอลในยุค 90s

เวลาต่อมา กลุ่มฮามาสกลายเป็นกลุ่มที่ปกครองกาซา (Gaza Strip) พื้นที่ส่วนหนึ่งที่ติดกับชายฝั่งตะวันออกของทะเลเมดิเตอเรเนียน พรมแดนส่วนหนึ่งติดกับอิสราเอล และอียิปต์

ผู้นำของกลุ่มฮามาสในปัจจุบันคือ อิสมาอิล ฮานียาห์ (Ismail Haniyeh) เขาถูกทางการสหรัฐฯ นิยามว่าเป็น ‘ผู้ก่อการร้าย’ สื่อในสหรัฐฯ และยุโรป มักรายงานว่า เขาพำนักในโดฮาร์ ประเทศกาตาร์ ทางการสหรัฐฯ ให้ข้อมูลว่า เขามีความเชื่อมโยงใกล้ชิดกับหน่วยทางการทหารของฮามาสที่เรียกว่า กองพล ‘Izz ad-Din al-Qassam’ โดยกองพลนี้ประกาศตัวว่าเป็นผู้ก่อเหตุโจมตีอิสราเอลหลายครั้งนับตั้งแต่ยุค 90s รวมถึงเหตุวางระเบิดและยิงจรวดโจมตี

ฮารียาห์ รับตำแหน่งนี้ต่อจากอาห์เหม็ด ยาสซิน (Ahmed Yassin) ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้นำกลุ่มที่ทำงานมายาวนาน ภายหลังยาสซิน เสียชีวิตจากเหตุโจมตีทางอากาศ

ยาฮา ซินวาร์ (Yahya Sinwar) เป็นรักษาการ (deputy) ที่ดูแลกลุ่มฮามาส และควบคุมปฏิบัติการของกลุ่มจากกาซา มีบางรายงานที่อ้างอิงแหล่งข่าวใกล้ชิดกับฮามาสที่ระบุชื่อซินวาร์ ว่าเป็นอีกหนึ่งบุคคลสำคัญเบื้องหลังปฏิบัติการโจมตีเมื่อ 6 ตุลาคมร่วมกับบุคคลสำคัญอีกรายคือ โมฮัมเหม็ด ดีฟ (Mohammed Deif) แต่ไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าผู้วางแผนคือใคร มีเพียงข้อมูลที่บ่งชี้ว่า ปฏิบัติการนั้นมีผู้ชักใยคนสำคัญ 2 ราย นั่นคือ ซินวาร์ และดีฟ

ข้อมูลจากสื่อตะวันตกส่วนใหญ่รายงานกันว่าผู้นำกองกำลัง Al Qassam ฝ่ายการทหารของฮามาส เชื่อกันว่าคือโมฮัมเหม็ด ดีฟ (Mohammed Deif) บุคคลลึกลับที่หลบเลี่ยงการลอบสังหารและหลบหนีการจับกุมมาได้ยาวนาน สื่อบางแห่งอ้างว่า ดีฟ รอดชีวิตจากความพยายามลอบสังหารมาได้ 7 ครั้ง

ดีฟ คือบุคคลที่ทางการอิสราเอลต้องการตัวที่สุด มีรายงานว่าเขารอดชีวิตจากการลอบสังหารหลายครั้ง บางรายงานจากสื่อตะวันตกระบุว่า มีครั้งหนึ่งที่ทำให้ดีฟ ได้รับบาดเจ็บสาหัสที่แขนและขา

ดีฟ ไม่ค่อยปรากฏตัวอย่างเปิดเผย และเชื่อกันว่า เขาเปลี่ยนที่พักอาศัยไปทุกคืนเพื่อกลบร่องรอยและหลบเลี่ยงการถูกจับกุมหรือลอบสังหาร

รายงานข่าวจากสื่อตะวันตกหลายแห่งบรรยายว่า ดีฟ คือบุคคลเบื้องหลังการวางเครือข่ายอุโมงค์ใต้ดินใต้กาซา และพื้นที่พรมแดนโดยรอบกาซา เครือข่ายอุโมงค์ของกลุ่มฮามาสถูกใช้เพื่อขนย้ายเสบียง เงิน และยุทโธปกรณ์ เช่น จรวด ซึ่งเชื่อกันว่า ฮามาสครอบครองจรวดหลายพันลูกที่ยิงได้ไกลครอบคลุมทุกพื้นที่ของอิสราเอล 

ที่ผ่านมา อิสราเอลอ้างว่าใช้จรวดโจมตีทำลายอุโมงค์ใต้ดินไปหลายแห่ง แต่เมื่อปี 2021 VICE สื่อออนไลน์ที่ก่อตั้งในแคนาดาเคยได้รับอนุญาตพิเศษให้เข้าเยี่ยมชมอุโมงค์ลับโดยไม่เปิดเผยจุดที่อยู่ ซึ่งกลุ่มฮามาสแสดงให้เห็นว่าเครือข่ายอุโมงค์ของพวกเขายังคงดำเนินอยู่

ดีฟ เป็นบุคคลลึกลับอีกราย มีภาพถ่ายไม่กี่ใบของเขาเผยแพร่สู่สาธารณะ ภาพที่หลายคนเห็นกันคือภาพในขณะที่เขาอยู่ในวัยประมาณ 20 ปี และอีกใบเป็นภาพขณะที่เขาปกปิดใบหน้า ส่วนภาพที่ใช้ประกอบการเผยแพร่คลิปเสียงเป็นสัญญาณในการโจมตีเป็นเพียงแค่เงาของชายคนหนึ่งมาใช้ประกอบเท่านั้น

ไม่มีใครระบุจุดที่ดีฟ อาศัยอยู่ได้อย่างแน่ชัด คาดการณ์กันว่า เขาหลบซ่อนตัวในเครือข่ายอุโมงค์ใต้ดินที่ซับซ้อน

สื่อตะวันตกบางแห่งระบุว่า ดีฟ มีคนสนิทชื่อมาร์วัน อิสซา (Marwan Issa) มีข้อมูลว่าอิสซา เกิดในค่ายผู้อพยพในฉนวนกาซา เขามีบทบาทวางโครงสร้างฝ่ายปฏิบัติการทางทหารของฮามาส รวมถึงกลยุทธ์ในการปฏิบัติการ จึงมีแนวโน้มสูงว่า อิสซา คืออีกรายที่มีบทบาทสำคัญในเหตุโจมตีครั้งใหญ่ตั้งแต่เมื่อ 7 ตุลาคม 2023

ดีฟ เรียกปฏิบัติการในวันที่ 6 ตุลาคมว่า ปฏิบัติการ Al-Aqsa Flood ตั้งชื่อตามเหตุการณ์ที่อิสราเอลโจมตีมัสยิดอัล-อัคซา ช่วงรอมฎอนเมื่อปี 2021 โดยรายงานข่าวจากสื่อดังของเอเชียอย่าง South China Morning Post อ้างข้อมูลจากแหล่งข่าวที่ไม่เปิดเผยตัวว่า ภาพเหตุการณ์บันทึกการโจมตีของอิสราเอลเมื่อปี 2021 ทำให้เกิดความโกรธแค้นขึ้นจนนำมาสู่การวางแผนปฏิบัติการ

ขณะที่อิสราเอลเรียกการโจมตีครั้งนี้เป็นเสมือนเหตุ 9/11 ที่เกิดกับสหรัฐฯ

ว่ากันว่าเขาวางแผนการโจมตีครั้งนี้แบบลับ ๆ อยู่ 2 ปี มีเพียงผู้นำระดับสูงของกลุ่มไม่กี่คนที่รู้ข้อมูลปฏิบัติการนี้

ดีฟ อ้างว่า ฮามาสเคยยื่นข้อเสนอที่คำนึงถึงมนุษยธรรมให้อิสราเอลปล่อยนักโทษปาเลสไตน์มาแล้ว แต่ข้อเสนอถูกปฏิเสธไป

“จากการครอบครองอย่างมัวเมาและการปฏิเสธกฎหมายและทางเลือกของนานาชาติ และจากการสนับสนุนของพวกอเมริกันและชาวตะวันตก และนานาชาติที่สงบปากคำ เราตัดสินใจจะยุติเรื่องเหล่านี้” ดีฟ กล่าว

SCMP รายงานว่า ดีฟ มีชื่อเดิมว่า โมฮัมเหม็ด มาสรี เกิดเมื่อปี 1965 ในค่ายผู้ลี้ภัย Khan Yunis ซึ่งก่อตั้งหลังสงครามอาหรับ-อิสราเอลเมื่อ 1948 หลังจากนั้นค่อยเป็นที่รู้จักในนามโมฮัมเหม็ด ดีฟ เขาเข้าร่วมกลุ่มฮามาสระหว่างการลุกฮือต่อต้านอิสราเอลครั้งแรกที่เริ่มต้นเมื่อ 1987

ดีฟ ได้รับปริญญาด้านวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอิสลามในกาซา ซึ่งเขาศึกษาในด้านฟิสิกส์ เคมี และชีวภาพ ดูเหมือนว่าเขาสนใจในศิลปศาสตร์หลายแขนง จากที่เป็นผู้นำคณะกรรมการด้านความบันเทิงของมหาวิทยาลัย และขึ้นทำการแสดงบนเวที

แหล่งข่าวของฮามาสยังระบุว่า ดีฟสูญเสียตาข้างหนึ่งและขาข้างหนึ่งก็ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากความพยายามลอบสังหารโดยอิสราเอล ขณะที่ภรรยา, ลูกชายวัย 7 เดือน และลูกสาววัย 3 ขวบของดีฟ เสียชีวิตจากการโจมตีทางอากาศโดยอิสราเอลเมื่อปี 2014

SCMP อ้างอิงแหล่งข่าวของฮามาสที่ระบุว่า ดีฟ เคยถูกอิสราเอลจับกุมเมื่อปี 1989 และถูกควบคุมตัว 16 เดือน

เป้าประสงค์ของการโจมตีหากอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของ อาลี บาราคีย์ (Ali Barakeh) เจ้าหน้าที่ระดับสูงของฮามาส ที่ให้สัมภาษณ์กับ NPR สื่อของสหรัฐฯ เมื่อ 10 ตุลาคม 2023 (เวลาในท้องถิ่น) อาลี อธิบายว่า ทำเพื่อตอบโต้การกระทำของอิสราเอลที่เป็น ‘อาชญากรรม’ ต่อชาวปาเลสไตน์ในเยรูซาเล็ม และเวสต์แบงก์ อีกทั้งเพื่อกระตุ้นให้อิสราเอลปล่อยนักโทษชาวปาเลสไตน์หลายพันคนที่อิสราเอลควบคุมตัวไว้

ขณะที่กลุ่มฮามาสเคยประกาศก่อนหน้าการโจมตีครั้งใหญ่เมื่อ 7 ตุลาคมว่า พวกเขาต้องการต่อต้านการครอบครองดินแดนของอิสราเอล และเพื่อล้างแค้นจากการโจมตีมัสยิดอัล-อัคซา เมื่อปี 2021

บางความคิดเห็นมองว่า การโจมตีมีส่วนชะลอความคืบหน้ากระบวนการทางสันติที่เรียกว่าข้อตกลงอับราฮัม (Abraham Accords) ซึ่งมีสหรัฐฯ เป็นฟันเฟืองขับเคลื่อน กระบวนการนี้หวังจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มประเทศอาหรับในอาณาเขตนั้นกลับมาเป็นปกติ

ผลกระทบส่วนหนึ่งที่หลายฝ่ายจับตาคือ การโจมตีจะส่งผลต่อนโยบายของชาติกลุ่มอาหรับที่ขัดแย้งกับอิสรเอลด้วยจะดำเนินการอย่างไรต่อไปด้วย หรือหากมีชาติมหาอำนาจตะวันตกเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย สถานการณ์ของอิสราเอลจะเป็นอย่างไร ท่ามกลางความขัดแย้งกับชาติอาหรับที่รายล้อมรอบข้าง

 

เรื่อง: ธนพงศ์ พุทธิวนิช

ภาพ: ยาฮา ซินวาร์ ร่วมงานฉลองวัน Quds ที่กาซา เมื่อเมษายน 2023 ไฟล์จาก Getty Images 

อ้างอิง:

NPR

South China Morning Post

Al Jazeera

Daily Mail (YouTube)

The Intercept

Time