13 ต.ค. 2566 | 19:18 น.
- จอมพลถนอม กิตติขจร นายทหารที่พัวพันกับเหตุการณ์ทางการเมืองครั้งประวัติศาสตร์ของไทย และถูกเรียกว่าเป็นหนึ่งในสามทรราชในการเมืองไทย
- จากบันทึกเก่า ในวัยเด็กจอมพลถนอม เป็นคนสุภาพเรียบร้อย ก่อนเข้าสู่บทบาททหาร
- เมื่อเข้าสู่เส้นทางการเมือง จอมพลถนอม มีอำนาจมากขึ้นเรื่อย ๆ กระทั่งเป็นหนึ่งในชนวนที่นำมาสู่เหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองในหน้าประวัติศาสตร์
เป็นอีกครั้งที่หน้าปฏิทินได้มาบรรจบลงที่เดือน ‘ตุลาคม’ นี่เป็นหนึ่งในเดือนที่มีเรื่องราวอันเลวร้ายเกิดขึ้นเกือบเป็นประจำในทุก ๆ ปี เมื่อมองย้อนไปในทางประวัติศาสตร์ช่วงเดือนตุลาคม เหตุการณ์สำคัญที่เข้าขั้นถึง ‘ความสูญเสีย’ บนหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ก็เกิดขึ้นด้วย เช่น 11 ตุลาคม พ.ศ.2476 เหตุการณ์ ‘กบฏบวชเดช’ วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 หรือที่เรียกเหตุการณ์ ‘14 ตุลา วันมหาวิปโยค’ และเหตุการณ์ ‘สังหารหมู่’ นิสิตนักศึกษาประชาชน ในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519
เหตุการณ์ที่ดูเหมือนจะเป็นหนังภาคต่อกันก็คือเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 กับ 6 ตุลาคม 2519 เพราะตัวละครสำคัญในเรื่องนี้คงหนีไม่พ้นหนึ่งในผู้ถูกสังคมตราหน้าว่าเป็นหนึ่งใน ‘สามทรราช’ บนหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย ‘จอมพลถนอม กิตติขจร’ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ดำรงตำแหน่งยาวนานถึง ‘10 ปี 8 เดือน’ จนกระทั่งต้องเจอกับเหตุการณ์ขับไล่โดยขบวนการนักศึกษาจนลี้ภัยทางการเมือง และกลับมาเมืองไทยอีกครั้งพร้อมความสูญเสียในเหตุการณ์สังหารหมู่ประชาชนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แทบไม่น่าเชื่อว่าสองเหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นโดยมีเชื้อไฟจากบุคคลคนนี้เพียงคนเดียว
จอมพลถนอม กิตติจขร เกิดเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2454 ที่บ้านหนองหลวง อำเภอเมือง จังหวัดตาก เป็นบุตรคนที่ 3 จากจำนวนบุตรธิดาทั้ง 8 คน ของขุนโสภิตบรรณลักษณ์ (อำพัน กิตติขจร ข้าราชการผู้กว้างขวางในเขตตั้งแต่จังหวัดนครสวรรค์ถึงจังหวัดตาก) กับนางลิ้นจี่ กิตติขจร(นักประวัติศาสตร์คาดว่าน่าจะเป็นลูกหลานคหบดีของเมืองตาก)
ถนอมมีอุปนิสัยคล้ายกับบิดาของตน ซึ่งในหนังสือ ‘ถนอม กิตติขจร ชีวิตที่ผ่านมาในระยะ 60 ปี’ ระบุว่าท่านเป็นคนที่มีกิริยามารยาทอันสุภาพเรียบร้อย ไม่ช่างเจรจา แต่ว่าถ้าเจรจาก็อ่อนโยน หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส จึงเป็นที่รักของเพื่อนหลาย ๆ คน
เด็กชายถนอมเริ่มต้นการศึกษาที่วัด เพราะเป็นเด็กสุขภาพไม่แข็งแรง พ่อจึงถวายแก้พระนาม เจ้าอาวาสวัดปทุมคีรี พอแข็งแรงมากขึ้น ครอบครัวจึงได้ส่งเรียนโรงเรียนวัดโคกพลูจนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 แต่เมื่ออายุได้ถึง 9 ขวบ ในปีพ.ศ.2463 ถนอมได้เข้าเรียนต่อที่โรงเรียนนายร้อยทหารบก โดยเพื่อนเรียกเขาว่า ‘ติ๊ก’ เพราะว่าชื่อสั้นเรียกได้ง่าย มีนิสัยสุภาพ สงบเสงี่ยม มีเพื่อนฝูงในรุ่นราวคราวเดียวกัน และมักจะโดนแกล้งอยู่บ่อยครั้งแต่ก็สู้กลับเด็กเหล่านั้นอยู่เสมอ
ช่วงต้นปี พ.ศ.2473 ถนอม ได้ศึกษาโรงเรียนนายร้อยทหารบกเป็นเวลา 10 ปี จึงได้เป็น ‘นักเรียนทำการนายร้อย’ โดยมีเพื่อนร่วมรุ่นคนสำคัญด้วยกันสองคน คือ ม.ร.ว.ลาภ หัสดินทร และชิน รอดนุสนธิ์ ทั้งนี้เอง ในปีสุดท้ายของการศึกษา ถนอมสามารถสอบได้ที่ 1 ของรุ่น จึงได้มีสิทธิเลือกที่จะอยู่ที่กองพันที่ 3 กรมทหารราบที่ 8 จังหวัดเชียงใหม่ ในฐานะผู้บังคับหมวด ในกองร้อยที่ 10 โดยมีผู้บังคับกองพันคือ พ.ต. หลวงจบกระบวนยุทธ (แช่ม ถนัดรบ) ซึ่งเป็นทหารคนสนิทของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ
ต่อมาในปีพ.ศ.2473 วันที่ 14 มีนาคม นายร้อยตรีถนอม ได้แต่งงานกับนางสาวจงกล ถนัดรบ บุตรีของผู้บังคับบัญชาของเขานั้นเอง โดยมีบุตรธิดาร่วมกัน 8 คน และหนึ่งในนั้นคือ พันเอกณรงค์ กิตติขจร ซึ่งเขาเองจะมีบทบาทสำคัญทางการเมืองของจอมพลถนอมต่อไปในอนาคต
ต่อมาราวเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2474 ถนอมย้ายมาเป็นนายทหารฝึกหัดราชการโรงเรียนแผนที่ทหารที่ ปากคลองตลาด กรุงเทพฯ จากคำแนะนำของพ่อตาของเขา ซึ่งนับเป็นโชคดีเพราะการย้ายที่ประจำการดังกล่าวทำให้ถนอม รอดผ่านจากเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นถึงสองเหตุการณ์คือ เหตุการณ์อภิวัฒน์สยาม 2475 และเหตุการณ์กบฏบวรเดช โดยไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับฝ่ายใด
ขณะที่ชะตากรรมของพ.ต. หลวงจบกระบวนยุทธ(พ่อตา) กลับเป็นไปอีกแบบหนึ่งโดยถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏ แม้ภายหลังจะถูกศาลตัดสินไม่มีความผิด แต่พ่อตาของจอมพลถนอมก็เลือกออกห่างจากงานราชการทหาร คงเหลือแต่เพียงถนอมเท่านั้นที่ยังคงรับราชการเป็น ‘ครู’ ในโรงเรียนของทหาร โดยลูกศิษย์เรียกเขาว่า ‘ครูหนอม’
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพจำเป็นต้องขยายกำลังรบในสมรภูมิทางภาคเหนือ ร.อ.ถนอมก็เป็นหนึ่งใน 13 นายทหารจากโรงเรียนนายร้อยที่ต้องไปปฏิบัติหน้าที่เช่นกัน โดยได้เป็นผู้บังคับบัญชากองร้อยที่ 4 (ปืนกลหนัก) กองพันทหาราบที่ 34 กรมทหารราบที่ 13 จังหวัดลำปาง ซึ่งการรบครั้งสำคัญคือการใช้เวลาเพียง 3 วันในการเข้ายึดที่มั่นข้าศึกที่เขาเป้าในเขตแดนรัฐฉานของพม่า ในที่ 28 มกราคม พ.ศ.2486 และในเดือนต่อมาจึงถูกเรียกตัวมารับราชการเป็นอาจารย์สอนวิชาแผนที่ทหารอีกครั้ง
แต่สิ่งที่กำลังเบิกทางสู่เส้นทางสายการเมืองก็เริ่มต้นขึ้น เมื่อ พ.ท.ถนอมได้รับการชักชวนจาก พ.อ.สวัสดิ์ สวัสดิ์เกียรติ เจ้ากรมเกียกกายทหารบกให้เข้าร่วมกับคณะรัฐประหารที่นำโดย พลโท ผิน ชุณหะวัณ เข้ายึดอำนาจรัฐบาลพลเรือตรีหลวงถวัลย์ ธำนงนาวาสวัสดิ์
ในหนังสือบันทึกจากใจโดยจอมพลถนอม ระบุถ้อยความชักชวนที่น่าสนใจว่า “ท่านชักชวนว่า เราควรจะร่วมกันทำงานเพื่อประเทศชาติ ผมเห็นดีด้วยจึงตกลงไปร่วมประชุมที่บ้านนายกมล พหลโยธิน ในคืนวันหนึ่งก่อน 8 พฤศจิกายน”
และในวันยึดอำนาจนั้นถนอมระบุต่อว่า “ไปโรงเรียนนายร้อยตามปกติ ตอนกลางคืนได้ไปประชุมร่วมกันอีกครั้ง แล้วจึงมานำนักเรียนนายร้อยไปร่วมในการรัฐประหาร”
ภายหลังเหตุการณ์ บทบาทหน้าที่ของพ.ท.ถนอม ก็มากยิ่งขึ้น โดยมาเป็นผู้บังคับบัญชาการกรมทหารราบที่ 11 แทนที่ผู้บังคับคนเดิมคือ พ.อ.ประภาส จารุเสถียร ที่ย้ายไปเป็นผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 1 ภายใต้การดูของ พล.ต.สฤษดิ์ ธนะรัชน์ และนี่จะเป็นกลุ่มก้อนทหารที่จะมีบทบาทสำคัญในการเมืองไทย
ความโดดเด่นของพ.ท.ถนอม ปรากฏอีกครั้งในเหตุการณ์กบฏวังหลวงในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 เมื่อฝ่ายนายปรีดี พนมยงค์ พยายามช่วงชิงอำนาจการปกครองคืนมาจากฝ่ายที่ยึดอำนาจไปในปี 2490 ขณะนั้นได้มีการเข้ายึดพระบรมมหาราชวังโดยฝ่ายกบฏ ทำให้เวลาต่อมา กองกำลังทหารจากกรมทหารราบที่ 11 รับผิดชอบปฏิบัติการปราบกบฏ โดยมี พ.อ.ถนอม กิตติขจร เป็นผู้นำกำลังยึดพระบรมมหาราชวังคืนมา
เหตุการณ์นี้ จอมพลสฤษดิ์ถึงกับเอ่ยปากว่า “หนอมนี่มันกล้าหาญเหลือเกิน” ต่อมาในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2494 ฝ่ายทหารกับจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้เข้ายึดอำนาจตัวเอง และตั้งสภาผู้แทนราษฎรขึ้น โดยให้ พล.ต.ถนอม เข้ารับตำแหน่งเป็นสมาชิกสภาในระบบแต่งตั้งด้วย เส้นทางทหารการเมืองจึงปรากฏเป็นที่ประจักษ์ตาในทันที
ในปี พ.ศ.2498 พล.ท.ถนอม ได้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นครั้งแรกในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสหกรณ์ แต่ไม่นาน ด้วยความขัดแย้งกันเองภายในระหว่างกลุ่มการเมืองที่หลาย ๆ คนคุ้นหูในชื่อ ‘การเมืองสามเส้า’ ทำให้ในเวลาต่อมา จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สามารถเข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศได้ในวันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2500 นับเป็นยุคเผด็จการอย่างเต็มรูปแบบที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์ ซึ่งแน่นอนว่า พล.ท.ถนอม ที่นับเป็นเครือข่ายคนสนิทของจอมพลสฤษดิ์ ก็ได้ตำแหน่งสำคัญต่าง ๆ ไปด้วย
โดยก่อนการขึ้นครองตำแหน่งนายกของจอมพลสฤษดิ์ มีการให้สภาผู้แทนราษฎรร่วมกันเลือก พล.ท.ถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2501 และได้เลื่อนขั้นเป็นพลเอกในเวลาต่อมา จากนั้นในเดือนตุลาคมของปีเดียวกัน พล.อ.ถนอม ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยหลีกทางให้จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้ดำรงตำแหน่งนายกฯ ต่อ
จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อยู่ในอำนาจได้เพียง 5 ปี ในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2506 ผู้นำสูงสุดของประเทศก็ได้ถึงแก่อสัญกรรม นี่ทำให้ในวันถัดมา เส้นทางนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ถนอม กิตติขจร ก็กลับมาอีกครั้งหนึ่ง โดยครั้งนี้ได้มีการตั้งให้ พล.อ.ประภาส จารุเสถียร เป็นรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีการแถลงนโยบายรัฐบาลว่าจะพัฒนาเศรษฐกิจ และรักษาความมั่นคงของประเทศ ทั้งยังสัญญาว่าจะเร่งร่างรัฐธรรมนูญ และไม่ทุจริตประพฤติมิชอบ
ต่อมาในปี พ.ศ.2507 พล.อ.ถนอมก็ได้แต่งตั้งตนเองเป็นจอมพลคุมทุกเหล่าทัพ ใช้อำนาจในการยึดทรัพย์จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นนายเก่าของตนเองที่อสัญกรรมไปแล้วเป็นจำนวนเงินกว่า 2,000 ล้านบาท
เรื่องนี้ทำให้ภาพลักษณ์ของจอมพลถนอม ในระยะแรกดูเป็น ‘นายกฯ ดี’ ที่มาพร้อมกับคำขวัญว่า ‘จงทำดี มีศีลธรรม ถือความสัตย์ พึงขจัดอีกทั้งโลภ และโกรธหลง’ พร้อมกับนโยบายผูกมิตรกับสหรัฐอเมริกา ทำให้เศรษฐกิจภายในประเทศเติบโตขึ้นพอสมควร
อย่างไรก็ตาม กระแสเรียกร้องรัฐธรรมนูธของประชาชนเริ่มดังกังวานมากยิ่งขึ้น กระทั่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชรัชกาลที่ 9 มีพระราชดำรัสในวโรกาสทรงดนตรีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในเดือนมีนาคม ปีพ.ศ.2511 ว่า หากส่งขึ้นมาเมื่อใดก็จะทรงดำเนินการทันที
นี่ทำให้รัฐบาลจอมพลถนอม ทูลเกล้าถวายให้ลงพระปรมาภิไธยในวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ.2511 นับเป็นรัฐธรรมนูญที่ใช้เวลาร่างถึง 9 ปี 4 เดือน จากนั้นรัฐบาลก็ผ่อนคลายความรู้สึกประชาชนโดยให้มีการจัดเลือกตั้ง โดยจอมพลถนอมได้ลงรับสมัครเลือกตั้งในฐานะหัวหน้าพรรคสหประชาไทย ซึ่งผลออกมาคือ พรรคสหประชาไทยสามารถมีที่นั่งในสภาได้ที่ 1 และมีการรวมเสียงในสภาเลือกให้จอมพลถนอม กิตติขจร กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง แต่ต่อมาในปี พ.ศ.2514 จอมพลถนอม กำลังจะมีอายุครบ 60 ปี เริ่มมีข่าวว่าจะขอต่ออายุราชการ ทำให้ในเวลาต่อมาจอมพลถนอม ต้องออกมากล่าวแถลงว่าจะออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างแน่นอนเมื่อครบวาระ 4 ปี เพราะเป็นคน ‘ไม่หลงเก้าอี้’
ไม่นานนัก ในปีเดียวกัน ด้วยปัญหาการเมืองภายในที่ต้องการแก้รัฐธรรมนูญ และการเมืองภายนอกที่สหรัฐอเมริกาเริ่มผูกมิตรกับจีนมากขึ้น ทำให้จอมพลถนอม ตัดสินใจรัฐประหารรัฐบาลตนเองในที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2514 โดยมี พล.อ.ประภาส จารุเสถียร เป็นรองหัวหน้าคณะ และพ.ท.ณรงค์ กิตติขจร เป็นเลาธิการคณะรัฐประหาร นี่ทำให้เมืองไทยคืนสู่ระบอบเผด็จการทหารอย่างเต็มรูปรอยอีกครั้ง พร้อมทั้งต่ออายุราชการให้จอมพลถนอม ดำรงตำแหน่งผู้ควบคุมเหล่าทัพต่อไป
แม้ความมืดมิดด้วยยุคเผด็จการทหารจะครอบคลุมสังคมไทย แต่ในเวลานั้น ความเบิกบานทางความคิด และจิตวิญญาณของประชาชนในเรื่องของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยกำลังขยับขยายเพิ่มมากยิ่งขึ้น
ในไม่ช้า นักศึกษาที่เป็นกลุ่มปัญญาชนคนรุ่นใหม่ในสังคมเริ่มมีการคัดค้านต่อสิ่งที่เกิด โดยได้การสนับสนุนจากประชาชน ทำให้ต่อมา นักศึกษากลายเป็นพลังทางการเมืองที่สำคัญในการประท้วงรัฐบาลเผด็จการจอมพลถนอม เวลานั้น ให้มีรัฐธรรมนูญโดยเร็ว จนนำสู่การชุมนุมของประชาชนกว่าห้าแสนคน และเกิดการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับประชาชนอย่างบานปลายในวันที่ 14 ตุลาคม 2516
เวลานั้นทางฝ่ายจอมพลถนอม ได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันเดียวกัน ในวันที่ 15 ตุลาคม จอมพลถนอม กับพรรคพวกหลบภัยไปในต่างแดน แม้การให้สัมภาษณ์ของจอมพลถนอม ในรายการชีวิตกับงาน ทาง IBC เมื่อมิถุนายน 2538 ได้ระบุว่า ตนเองไม่ได้ผิดอะไร ไม่จำเป็นต้องย้ายออกนอกประเทศ อย่างไรก็ดีด้วยคำแนะนำจากเบื้องบนทำให้จอมพลถนอม ตัดสินใจเดินทางออกนอกประเทศไปที่สหรัฐอเมริกาในเวลาต่อมา นับเป็นการปิดฉากยุคเผด็จการทหาร และเปิดม่านประชาธิปไตยที่มีมวลชนขับเคลื่อนประเทศชาติอย่างแท้จริง
แต่ข่าวดีมีเพียงไม่กี่ชั่วครู่เท่านั้น เพราะต่อมาเริ่มมีกระแสข่าวว่ากลุ่มอำนาจเก่าพยายามจะกลับมามีบทบาททางการเมืองอีกครั้งในประเทศไทย ซึ่งก็ปรากฏเค้าลางความขัดแย้งระลอกใหม่ขึ้น เมื่อจอมพลถนอม อดีตผู้นำเผด็จการทหารได้เดินทางกลับมายังประเทศไทยในวันที่ 19 กันยายน ปีพ.ศ.2519 ในคราบสามเณร
โดยระบุว่าการกลับมาครั้งนี้เพื่อจะเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์เป็นพระไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง เมื่อเท้าแตะพื้นจุดหมายที่เดินทางไปก็คือวัดบวรนิเวศ เพื่อทำการบวชเป็นพระในทันที สิ่งนี้ได้สร้างความพอใจให้กับนักศึกษาที่เพิ่งผ่านพ้นเหตุการณ์การต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการทหารเป็นอย่างมาก จึงเริ่มมีการประท้วงกันในพื้นที่บริเวณท้องสนามหลวง ซึ่งต่อมาก็ได้ลุกลามบานปลายกลายเป็นเหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษาภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 นับเป็นการเหตุการณ์ที่รุนแรงมากที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์สังคม
และนี่คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ผลจากการฆ่าล้างกันเองในวันนั้นก็เกี่ยวเนื่องกับจอมพลถนอม กิตติขจร ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ ภายหลังเหตุการณ์ความรุนแรง จอมพลถนอม ก็สึกจากการเป็นพระพร้อมกับพยายามเรียกร้องขอคืนทรัพย์สินที่ถูกยึดจากรัฐบาล จากนั้นอีกหลายสิบปีต่อมา ในวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ.2547 จอมพลถนอม กิตติขจร ผู้รับสมญานามว่า ‘ทรราช’ ก็ได้ถึงแก่อนิจกรรมลงจากเส้นเลือดในสมองแตก
ฉากชีวิตของอดีตผู้นำชาติไทยอย่างจอมพลถนอม กิตติขจร คงเป็นหนึ่งในเรื่องราวชีวิตที่น้อยคนนักคงได้สัมผัส เพราะการดำเนินชีวิตที่เริ่มต้นด้วยความยิ้มแย้มแจ่มใสในวัยเยาว์คงไม่ใช่สิ่งที่รับประกันถึงช่วงชีวิตในเวลาต่อมาทั้งหมด จากคนหนุ่มที่ต้องการเป็นทหารรับใช้ชาติ ค่อย ๆ กลายเป็นคนที่พยายามแสวงหาอำนาจ ซึ่งต่อมาก็กลายเป็นผู้ที่พยายามปกป้องอำนาจของตนเอาไว้จนมองไม่เห็นความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นจนกระทั่งเกิดเหตุการณ์นองเลือดตามมาในภายหลัง
ผลสุดท้าย อำนาจที่พยายามรักษานั้นก็จบสิ้นลงด้วยเช่นกัน คงพอจะเป็นบทเรียนให้กับผู้มีอำนาจในสังคมไทยได้บ้างไม่มากก็น้อยว่า อำนาจนั้นไม่ใช่สิ่งที่สวยงามเสมอไปหากใช้มันอย่างไม่คำนึกถึงประชาชน ผู้เป็นเจ้าของอำนาจอย่างแท้จริง
เรื่อง: จงเจริญ ขันทอง
ภาพ: จอมพลถนอม กิตติขจร ไฟล์จาก Getty Images
อ้างอิง:
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. เมื่ออรุณจะรุ่งฟ้า ขบวนการนักศึกษาไทย พ.ศ.2513-2519. ILLUMINATIONS, 2564.
David K. Wyatt (เดวิด เค. วัยอาจ). ประวัติศาสตร์ไทย ฉบับสังเขป. มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2556
ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. บทบาททางการเมืองของจอมพลถนอม กิตติขจร พ.ศ. 2506-2516. วิทยานิพนธ์ปริญญาบัตรอักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2550
หนังสือ ‘ถนอม กิตติขจร ชีวิตที่ผ่านมาในระยะ 60 ปี’
บันทึกจากใจ: หนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ จอมพล ถนอม กิตติขจร / โดย จอมพล ถนอม กิตติขจร
ชีวิตกับงาน - จอมพลถนอม กิตติขจร ออกอากาศเมื่อ 2538 / WATCHDOG CHANNEL / YouTube