มองการเมืองยุครัฐบาลสลายขั้ว ‘ภูมิธรรม เวชยชัย’ ผมไม่ใช่คนสุดขั้ว! แม้อยู่ในยุค ‘คนตุลาฯ’

มองการเมืองยุครัฐบาลสลายขั้ว ‘ภูมิธรรม เวชยชัย’ ผมไม่ใช่คนสุดขั้ว! แม้อยู่ในยุค ‘คนตุลาฯ’

มองการเมืองยุครัฐบาลสลายขั้ว ผ่านมุมมองของ ‘ภูมิธรรม เวชยชัย’ ในฐานะที่ถูกเรียกขานว่าเป็น ‘คนเดือนตุลาฯ’ ยุคที่มีเหตุการณ์แห่งประวัติศาสตร์หลายประเด็น

  • ‘ภูมิธรรม เวชยชัย’ ครั้งหนึ่งเคยเป็นผู้นำแกนประท้วงชุมนุมในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519
  • เขามองการเมืองไทยที่อยู่ในการแบ่งเป็น 2 ขั้ว ว่าคือความสูญเสีย ความรุนแรง ที่มีผลต่อประเทศไทย
  • เขาพยายามนิยามคำว่า ‘รัฐบาลสลายขั้ว’ หรือ ‘รัฐบาลข้ามขั้ว’ เพื่อให้เกิดทางออกที่ดีที่สุดต่อทุกฝ่าย

วาทกรรมการเมืองไทยถูกครอบงำให้อยู่ภายใต้คำว่า ‘ความรุนแรง’ และ ‘การแบ่งขั้วอำนาจ’ มานานมากเปรียบอายุคนก็คงถึงคราวเกษียณงานทีเดียว การเปลี่ยนผ่านอำนาจของรัฐบาลในแต่ละยุคทำให้เกิดเรื่องราว ความรุนแรง และความอยุติธรรมมากมาย จนเป็นซีรีส์เล่าขานจากรุ่นสู่รุ่น ความเจ็บปวดในกาลเวลาบาดลึกเป็นแผลเน่าเฟะในใจคนรุ่นใหม่บางกลุ่ม จนปัจจุบันที่เราก้าวสู่รัฐบาลใหม่ในยุคที่พยายามทำให้เกิด ‘รัฐบาลสลายขั้ว’ (หรือบางคนเรียกว่า ‘รัฐบาลข้ามขั้ว’)

คำนิยามสวยหรูนี้จะเกิดขึ้นจริง หรือเป็นเพียงการขายฝันเพื่อให้ประชาชนมาเชยชม เวลาเท่านั้นที่จะให้คำตอบ แต่เรื่องราวในบทความนี้ จะย้อนไปในช่วงเวลาที่ ‘อ้วน - ภูมิธรรม เวชยชัย’ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กับบทบาทที่หลากหลายจากอดีตจนถึงตอนนี้ แนวคิดทางการเมืองของเขาเปลี่ยนไปหรือไม่ เราได้รวบรวมมุมมองที่น่าสนใจ และความคิดที่อาจบ่งบอกตัวตนอะไรบางอย่างได้มากขึ้นเกี่ยวกับผู้ชายคนนี้

“เราฝันได้ แต่เราต้องรู้ว่าเราไปได้แค่ไหน”

ประโยคหนึ่งที่ อ้วน – ภูมิธรรม ได้ให้สัมภาษณ์กับ มติชน TV บทสัมภาษณ์ ฝันถึงดวงดาวแต่ไปได้ไกลแค่ต้นมะพร้าว : ภูมิธรรม เวชยชัย : ซีรีส์พิเศษ รำลึก 50 ปี 14 ตุลา เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา สะท้อนเรื่องราวในอดีตในฐานะที่เคยเป็นหนึ่งในแกนนำนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

“เราควรต้องรู้ว่าหนทางที่เราจะไปนั้นมันตีบตันมั้ย ถ้ามันตีบตัน ไปต่อไม่ได้ เราก็ต้องลงมา เพื่อหาเจตจำนงค์ร่วมกับสังคมให้ได้ เท่านั้นแหละที่ผมตั้งใจจะสื่อ”

อ้วน – ภูมิธรรม เคยย้ำตลอดว่าไม่อยากเรียกตัวเองว่าเป็น ‘คนเดือนตุลาฯ’ เขาเป็นเพียงเยาวชนของยุคสมัยที่เติบโตในช่วงนั้น และได้ไปร่วมเคลื่อนไหวกับเพื่อน ๆ เพื่อสร้างระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทย

สำหรับ อ้วน – ภูมิธรรม เขาเติบโตและเป็นเด็กวัยรุ่นทั่ว ๆ ไปที่ไม่ต้องการเห็น ‘การกดขี่’ เกิดขึ้นในสังคมไทย ซึ่งเขารู้สึกกระอักกระอ่วนเกี่ยวกับเรื่องนี้ตั้งแต่ช่วงวัยเรียน เขาเพียงรู้สึกว่าอยากเข้าใจสังคมที่มันซับซ้อนเหลือเกิน และนั่นได้นำพาความกล้าหาญในตัวเขามาถึงยุค 2519 ผ่านเหตุการณ์ใหญ่ 6 ต.ค. (จริง ๆ เขาเริ่มมีบทบาทมากในการเรียกร้องความเท่าเทียมในสังคม ตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516)

การที่เขาได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องประชาธิปไตยกับเพื่อนต่างมหาวิทยาลัยมากมาย ทำให้ อ้วน – ภูมิธรรม รู้สึกเห็นคุณค่าของเรื่องนี้มากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องประชาธิปไตยที่เป็นวิถีชีวิต จากนั้นเขาก็เข้าสู่เส้นทางแห่งการตั้งคำถามสำคัญ ๆ ในสังคม ถึงความบิดเบี้ยว และความกดขี่ต่าง ๆ ที่สวนทางกับระบอบประชาธิปไตยของไทย

มองการเมืองยุครัฐบาลสลายขั้ว ‘ภูมิธรรม เวชยชัย’ ผมไม่ใช่คนสุดขั้ว! แม้อยู่ในยุค ‘คนตุลาฯ’

“ตอนนั้นเราเป็นหนุ่มสาวก็ไม่ได้คิดอะไรมาก รู้แค่อะไรที่มันไม่ดี เราก็ต้องสู้ แต่เราไม่ได้รู้ว่าในกระบวนการและกลไกต่าง ๆ นั่นมีเหตุจำเป็น มีข้อจำกัด หรือมีเรื่องราวอะไรบ้าง ดังนั้น ตอนที่เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ มันเกิดจากการสั่งสมประสบการณ์ของนักศึกษา”

“ผมร่วมการชุมนุมครั้งแรก ประท้วงเรื่อง 299 ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 299 คือ อำนาจบริหารเข้าไปแทรกแซงอำนาจตุลาการ” อ้วน – ภูมิธรรม ยังคงดำเนินการเล่าวีรกรรมของตัวเองอย่างสนุกสนาน เช่น การเข้าไปเรียกร้องในเวทีประกวดนางสาวไทยที่วังสราญรมย์ เกี่ยวกับปัญหาการเหยียดเพศ เหยียดผิว เพราะไม่ต้องการให้มองผู้หญิงเหมือนเป็นสินค้า และก็ยังมีอีกหลาย ๆ เรื่องในช่วงชีวิตวัยรุ่น

นอกจากเหตุการณ์ใหญ่ ๆ ที่อ้วน – ภูมิธรรม ได้กระโดดเข้าไปมีส่วนร่วม ทั้ง 14 ตุลาฯ 2516, 6 ตุลาฯ 2519 และอื่น ๆ จะเห็นว่าส่วนใหญ่จะเป็นการเรียกร้องเรื่องที่เกี่ยวโยงกับ ความยุติธรรม ความชอบธรรม เรื่องประชาธิปไตยกับเผด็จการ เรื่องอำนาจตุลาการที่ถูกแทรกแซงจากอำนาจบริหาร

“ที่ผ่านมาผมต่อต้าน เรียกร้องอะไรมาหลายเรื่อง เราไม่ค่อยคิดว่าจะต้องเจอกับอะไร แต่เมื่อเราผ่านประสบการณ์และบทเรียนเหล่านั้นได้เรียนรู้อะไรกับความเป็นจริงหลายเรื่องว่า ในขณะที่เราคิดว่าเป็นผู้ปรารถนาดีต่อสังคม เราเป็นนักศึกษาที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงสังคม และเราก็ทำอย่างเต็มที่และทำงานอย่างหนัก แต่กลับอ่อนประสบการณ์ไม่พยายามเข้าใจสังคม”

“ในขณะที่เราคิดว่าสิ่งที่ทำเป็นสิ่งที่ดี แต่สังคมที่อยู่ร่วมกันเขายังไม่เข้าใจ ทั้งปรัชญาทางการเมือง หรือความคิดเรื่องการเมืองมากเท่าเรา เขาไม่ได้มองเห็นขอบเขตที่ไปไกลเกินกว่าชีวิตของเขาที่อยู่ตรงนั้น ฉะนั้น เราจึงเดินเข้าไปในท่ามกลางการสร้างอุปสรรคให้กับตัวเอง ดังนั้น บุคคลที่เขาเสียผลประโยชน์โดยตรงทั้งที่ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เป็นเรื่องที่เคลียร์ได้ ถ้าจัดการสังคมแบบเข้าใจเราก็อาจไม่ต้องสร้างศัตรูโดยไม่รู้ตัว แค่เพราะเราไม่ได้จำแนกสิ่งเหล่านั้นให้ดี”

ทั้งนี้ ภายในงาน Dinner Talk: Thailand’s Future อนาคตประเทศไทย 2024 เมื่อถามถึงเพื่อนรุ่นน้องอย่าง ‘ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกุล’ รุ่นน้องที่เคยสู้เคียงบ่าเคียงไหล่มาด้วยกันในเหตุการณ์ 6 ต.ค. ว่ามีแนวทางเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลที่เขาไม่เห็นด้วยกับ อ้วน – ภูมิธรรม แต่ก็ยังคงแสดงความชื่นชมถึงความกล้าหาญเมื่อครั้งที่สู้มาด้วยกัน และความรับผิดชอบที่ อ้วน – ภูมิธรรม มีต่อผู้ชุมนุมทุกคน

มองการเมืองยุครัฐบาลสลายขั้ว ‘ภูมิธรรม เวชยชัย’ ผมไม่ใช่คนสุดขั้ว! แม้อยู่ในยุค ‘คนตุลาฯ’

อ้วน – ภูมิธรรม ได้พูดว่า “ผมคิดว่าวันที่ 6 ต.ค. 2519 เนีย ผมในฐานะที่เป็นผู้นำนักศึกษาคนหนึ่ง แล้วก็เป็นรุ่นพี่ของธงชัยด้วย ผมอยู่กับบรรยากาศที่เห็น ธงชัย เขาต่อสู้อย่างหนัก และก็มีการเขวี้ยงปาระเบิด มีการยิงเข้ามาอย่างรุนแรง ผมเห็นน้องเขาเป็นแบบนั้นก็เลยบอกธงชัยว่า ให้ไปก่อน ผมจะรับผิดชอบอยู่ตรงนี้เอง จะรอจนกว่าเอาผู้หญิงและเด็ก ออกไปให้ได้มากที่สุด แล้วก็เอาคนอื่นออกไปให้ได้มากที่สุด ผมถึงค่อยเคลื่อนย้ายตามไปทีหลัง อันนั้นเป็นส่วนที่รับผิดชอบในฐานะที่เราเป็นหนึ่งในผู้ร่วมชุมนุม”

“ผมไม่อยากเห็นการชุมนุมที่แบบ ผู้นำไม่เป็นอะไรเลย หายไป แล้วปล่อยให้ประชาชนเป็นผู้รับชะตากรรม ผมรู้สึกว่าเราต้องรับผิดชอบทุกสิ่งที่เราคิดเราทำ แล้วต้องรับผิดชอบให้ถึงที่สุดด้วย ไม่ว่าสิ่งที่เราได้รับตอบแทนนั้นจะเป็นความเป็นความตายอย่างไร”

“แต่ส่วนที่เป็นความเห็นต่าง ผมไม่ว่า ไม่มีปัญหาอะไร ธงชัยกับผมเนีย ผมว่าเรามีจุดยืนคล้ายกันคือ อยากเห็นประเทศเป็นประชาธิปไตย อยากเห็นความเหลื่อมล้ำทางสังคมมันลดลง แต่วิธีการจัดการมันอาจจะไม่เหมือนกัน ผมไม่ได้เป็นคนสุดขั้ว! ก่อนหน้านี้ผมก็คิดอะไรเป็นขาวเป็นดำอย่างนี้เหมือนกัน เคยผ่านชะตากรรม เคยผ่านประสบการณ์แบบเข้าป่าจับปืนก็เคยมาแล้ว เป็นผู้ชุมนุมก็ทำมาแล้ว”

“แต่ผมคิดว่าทางออกที่ดีที่สุดคือ การพยายามหาทางออกร่วมกัน เพราะผมคิดว่าความคิดที่สุดขั้วเนีย มันนำมาซึ่งความสูญเสียที่มาก เกินเลย และมันส่งผลเสียต่อประเทศรุนแรง 50 ปีของประชาธิปไตยไทย ไม่ต้องเลยไปถึง 2475 เอาแค่ยุคสมัยเรา ตั้งแต่ปี 16 ที่มี 14 ต.ค. เกิดขึ้น ทุกครั้งที่เราแบ่งขั้ว มันจบด้วยความสูญเสียอย่างรุนแรง ผมรู้สึกว่าถ้าเราเพียงแต่ไม่ยึดมั่นในความคิดเรามากจนเกินไป แต่หลักการยังต้องคงไว้ และหาทางที่จะรับฟัง สิ่งที่แตกต่างจากเราให้มากขึ้น ผมว่านั่นจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด”

บรรยากาศทางการเมืองของไทยแม้ว่าจะพูดไม่ได้เต็มปากว่าดีขึ้น เพราะเรายังคงเห็นการเรียกร้องอยู่เนือง ๆ รวมถึงบาดแผลเหล่านั้นยังส่งต่อมาถึงรุ่นหลังถึงความไม่เท่าเทียม และความคิดที่แบ่งเป็น 2 ฝ่าย อย่างไรก็ตาม อ้วน – ภูมิธรรม ยังคงมองว่าระบอบประชาธิปไตยและความคิดที่แตกต่างเป็นสิ่งสวยงาม แต่ต้องไม่มีการทำลายล้างอีกฝ่าย

เพราะตราบใดที่เรายังไม่รับฟัง ยังยึดมั่นถือมั่น และมี 2 ขั้วในใจชัดเจนเป็นประจักษ์ ครานั้นก็จะหมายถึง ‘ความสูญเสีย’ ทุกคราไป และจุดเริ่มต้นที่ดีที่สุดที่จะแก้ปัญหาความคิดที่แตกต่างนี้ได้ก็คือ ‘ความคิด’ นั่นเอง

 

*บทสัมภาษณ์บางส่วนมาจากงาน Dinner Talk: Thailand’s Future อนาคตประเทศไทย 2024 เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2566

 

ภาพ: ศูนย์ภาพเครือเนชั่น

อ้างอิง (เพิ่มเติม):

YouTube

Komchadluek

ilaw