‘อันวาร์ อิบราฮิม’ นายกฯ มาเลเซีย ผู้นำที่ชัดเจนในจุดยืนหนุน ‘ฮามาส’

‘อันวาร์ อิบราฮิม’ นายกฯ มาเลเซีย ผู้นำที่ชัดเจนในจุดยืนหนุน ‘ฮามาส’

‘อันวาร์ อิบราฮิม’ เป็นนายกรัฐมนตรีมาเลเซียคนปัจจุบัน ซึ่งเขาเป็นหนึ่งในผู้นำของโลกที่มีจุดยืนชัดเจนในการสนับสนุนฮามาส รวมถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ ณ ตอนนี้ด้วย

‘อันวาร์ อิบราฮิม’ เป็นนายกรัฐมนตรีมาเลเซียคนปัจจุบัน

เขาเป็นคนที่มีจุดยืนชัดเจนในการสนับสนุนฮามาส และนี่คือเส้นทางการสนับสนุนของอันวาร์ อิบราฮิมที่มีต่อฮามาส

คนไทยสนใจข่าวสงครามอิสราเอล-ฮามาสที่กำลังดำเนินอยู่เป็นพิเศษ เพราะมีชีวิตแรงงานไทยที่ถูกฮามาสจับเป็นตัวประกันเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรี ‘เศรษฐา ทวีสิน’ ขอบคุณนายกรัฐมนตรี ‘อันวาร์ อิบราฮิม’ (Anwar Ibrahim) ของมาเลเซียที่โทรศัพท์มาแจ้งว่า ตัวประกันชาวไทย 20 คนปลอดภัยและถูกนำมาอยู่ในที่เดียวกันแล้ว ณ จุดนี้ความสัมพันธ์ระหว่างมาเลเซียโดยเฉพาะตัวนายกฯ อันวาร์ อิบราฮิมกับฮามาสถือว่าน่าจับตา 

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2023 กลุ่มติดอาวุธฮามาสบุกจากกาซาเข้ามาโจมตีในอิสราเอล เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 1,400 คน และถูกจับเป็นตัวประกันอีกราว 240 คนตามข้อมูลของอิสราเอล อิสราเอลจึงโจมตีโต้กลับ ข้อมูลจากทางการปาเลสไตน์เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2023 ระบุว่า ชาวกาซาเสียชีวิต 11,078 คน ราว 40% เป็นเด็ก

หลังเกิดเหตุประธานาธิบดี ‘โจ ไบเดน’ ของสหรัฐฯ ยืนหยัดสนับสนุนอิสราเอลโดยให้เหตุผลว่า อิสราเอลมีสิทธิที่จะปกป้องตนเอง ขณะที่นายกฯ อันวาร์ของมาเลเซียก็ยืนหยัดเคียงข้างฮามาสเช่นกัน ท่าทีของอันวาร์ต่อฮามาสทำให้เขาตกเป็นข่าวในหน้าสื่อต่างประเทศมากกว่าผู้นำชาติใดๆ ในอาเซียนนับตั้งแต่สงครามปะทุขึ้น 

อิสราเอลกับมาเลเซียไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตต่อกัน แถลงการณ์แรกของมาเลเซียระบุว่า ‘สาเหตุลึกๆ’ คือความเจ็บปวดของปาเลสไตน์ ‘ในอุ้งมือของอิสราเอลผู้ยึดครอง’

วันที่ 16 ตุลาคม 2023 อันวาร์แถลงต่อสภาว่า ชาติตะวันตกและยุโรปขอหลายครั้งให้มาเลเซียประณามฮามาสในการประชุม

“ผมบอกว่า นโยบายของเรามีความสัมพันธ์กับฮามาสมาก่อนแล้วและจะมีต่อไป ด้วยเหตุนี้เราไม่เห็นด้วยกับทัศนคติกดดัน ก็ฮามาสชนะเลือกตั้งอย่างเสรีในกาซามาเหมือนกัน ชาวกาซาเลือกพวกเขาให้เป็นผู้นำ” อันวาร์กล่าว

ในวันเดียวกันนั้น นายกฯ มาเลเซียได้คุยโทรศัพท์กับ ‘อิสมาอิล ฮานิเยห์’ หัวหน้าฝ่ายการเมืองของฮามาสบอกว่า มาเลเซียสนับสนุนชาวปาเลสไตน์ไม่เสื่อมคลาย

มาเลเซียที่มีมุสลิมเป็นชนส่วนใหญ่ส่งเสียงสนับสนุนปาเลสไตน์มายาวนาน และทุ่มเทให้กับแนวทางสองรัฐแก้ไขความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับชาวปาเลสไตน์ โดยมาเลเซียไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอล

 ในอดีตผู้นำระดับสูงของฮามาสมักมาเยือนมาเลเซียและพบกับนายกรัฐมนตรีบ่อยครั้ง ในปี 2013 อดีตนายกรัฐมนตรี ‘นาจิบ ราซัค’ เคยท้าทายการปิดล้อมกาซาของอิสราเอลด้วยการข้ามเข้าไปยังเขตปิดล้อมของชาวปาเลสไตน์แห่งนี้ตามคำเชิญของฮามาส

 วอนสื่อเข้าใจฮามาส

 วันที่ 7 พฤศจิกายน 2023 อันวาร์ตอบข้อซักถามในสภาผู้แทนราษฎร เรียกร้องให้สาธารณชนโดยเฉพาะสื่อมวลชนอย่ากล่าวถึงฮามาสว่าเป็นกลุ่มติดอาวุธ และควรสร้างความเข้าใจให้ดีกว่านี้ถึงการล้างเผ่าพันธุ์อันเหี้ยมโหดของอิสราเอล สื่อจะต้องสร้างความตระหนักรู้รวมทั้งยอมรับสิทธิของชาวปาเลสไตน์

“ผมเห็นด้วยว่าสื่อและประเทศนี้ต้องไม่มองฮามาสเป็นกลุ่มติดอาวุธ เคยมีอยู่ช่วงหนึ่งสภาแห่งชาติแอฟริกันถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อการร้ายเหมือนกัน แต่ตนกูอับดุล ราห์มาน ผู้ล่วงลับให้การสนับสนุนและทำมาต่อเนื่อง ผู้นำก่อนหน้าผมทุกคนทำแบบนี้ พวกเขาไม่ยอมรับแถลงการณ์ของตะวันตกที่ว่าเนลสัน แมนเดลา เป็นหัวหน้าผู้ก่อการร้าย” นายกฯ มาเลเซียย้อนประสบการณ์ในอดีต

“ดังนั้น ผมเห็นด้วยว่าต้องมีความตระหนักรู้ในมาเลเซีย ที่สื่อต้องเข้าใจความกังวลและความอ่อนไหวของประชาชน รวมทั้งสิทธิของชาวปาเลสไตน์เหนือที่ดิน ความมั่งคั่ง และศักดิ์ศรีที่ถูกล่วงละเมิดมาอย่างต่อเนื่อง”

ไม่แคร์สหรัฐฯคว่ำบาตร

วันที่ 7 พฤศจิกายน 2023 เช่นกัน สส. ฝ่ายค้านคนหนึ่งถามอันวาร์ถึงจุดยืนของรัฐบาลมาเลเซีย หลังสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ลงมติคว่ำบาตรต่างชาติผู้สนับสนุนฮามาสและกลุ่มญิฮัดอิสลามของปาเลสไตน์

“ผมจะไม่ยอมรับคำขู่ใด ๆ รวมทั้งครั้งนี้ นี่เป็นการกระทำฝ่ายเดียว ใช้ไม่ได้ เพราะเราในฐานะสมาชิกสหประชาชาติ จะยอมรับเฉพาะการตัดสินใจของคณะมนตรีความมั่นคงเท่านั้น” อันวาร์ตอบข้อซักถามในสภา ยืนยันมาเลเซียจะยังคงรักษาสัมพันธ์และจะ ‘ไม่ลงโทษ’ ฮามาส

ด้านนักวิเคราะห์มองว่า เรื่องนี้มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง มาเลเซียเป็นประเทศสนับสนุนปาเลสไตน์อย่างชัดเจนและยาวนาน แต่การเมืองแบ่งขั้วและแพร่กระจายไปทุกขณะ หากมองในภาพรวมประเทศ มาเลเซียไม่มีวันสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอลได้ จนกว่าแนวทางสองรัฐจะเกิดขึ้นจริง นั่นคือรัฐหนึ่งสำหรับชาวอิสราเอล และรัฐหนึ่งสำหรับชาวปาเลสไตน์ กรุงกัวลาลัมเปอร์เคยจัดการประชุมว่าด้วยปาเลสไตน์บ่อยครั้ง

เรตติ้งอันวาร์ลด

คะแนนนิยมของอันวาร์ในหมู่ชาวมาเลย์มุสลิมกำลังลดลง ผลสำรวจความคิดเห็นเมื่อเร็ว ๆ นี้จากกลุ่มคลังสมอง Ilham Centre พบว่า ชาติพันธุ์มาเลย์ชื่นชอบเขาเพียง 24% เท่านั้น ตรงข้ามกับกลุ่มชาติพันธุ์จีนที่สนับสนุนอันวาร์ 88% ชาติพันธุ์อินเดีย 81%

อันวาร์เคยถูกวิจารณ์มาก่อนว่าไม่แสดงท่าทีแข็งกร้าวกับอิสราเอล ในการให้สัมภาษณ์เมื่อปี 2012 เขากล่าวว่า มาเลเซียควร “ปกป้องความมั่นคง (ของอิสราเอล) แต่ต้องยืนหยัดปกป้องผลประโยชน์อันชอบธรรมของชาวปาเลสไตน์” ต่อมาเจ้าตัวชี้แจงว่า การพูดเช่นนั้นเป็นไปตามแนวทางสองรัฐ ครั้นเกิดสงครามระหว่างอิสราเอลกับฮามาส ดูเหมือนว่าเขาจะใช้ท่าทีแข็งกร้าวมากขึ้น เห็นได้จากอันวาร์ไม่ยอมประณามฮามาสตามแรงกดดันของชาติตะวันตกโดยให้เหตุผลว่า ฮามาสได้รับการเลือกตั้งจากชาวกาซาให้ขึ้นมาปกครองดินแดนปิดล้อมแห่งนี้

ในการเดินขบวนสนับสนุนปาเลสไตน์เมื่อเดือนตุลาคม 2023 อันวาร์ประณามการกระทำของกองทัพอิสราเอลว่าเป็น “ที่สุดของความป่าเถื่อนในโลกนี้”

จุดยืนมาเลเซียโดยรวม

แม้จะห่างไกลจากดินแดนศักดิ์สิทธิ์กว่า 7,000 กิโลเมตร สงครามระหว่างอิสราเอลกับฮามาสจุดประกายปฏิกิริยาสะเทือนอารมณ์ในมาเลเซีย ผู้คนหลายหมื่นคนเดินขบวนประท้วงอิสราเอลโจมตีทางอากาศในฉนวนกาซา เหมือนกับการประท้วงในหลาย ๆ ที่ของโลก

ในสัปดาห์สิ้นเดือนตุลาคม 2023 โรงเรียนมาเลเซียจัดสัปดาห์แสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับชาวปาเลสไตน์ มีคลิปวิดีโอปรากฏภาพครูกลุ่มหนึ่งแต่งกายเป็นฮามาสถือปืนไรเฟิลของเล่นกลายเป็นไวรัลบนติ๊กต็อก เล่นเอาอันวาร์ต้องเรียกร้องให้โรงเรียนตรวจตราการจัดกิจกรรมในสัปดาห์ดังกล่าว

ปากคำชาวปาเลสไตน์

จุดยืนของมาเลเซียและท่าทีของนายกรัฐมนตรีสร้างความประทับใจให้กับอับเดลราฮิม ชีฮับ ชาวปาเลสไตน์ วัย 46 ปี ผู้เพิ่งได้ปริญญาเอกด้านสถาปัตยกรรมและอาศัยอยู่ในมาเลเซียกับภรรยาและบุตรอีก 5 คน เป็นเวลาได้สิบปีแล้ว แต่พ่อแม่ที่แก่เฒ่าและเจ็บป่วยอยู่ในกาซา

อับเดลราฮิมได้รับกำลังใจท่วมท้นจากชาวมาเลเซีย แม้แต่ลูกชายยังได้ตัดผมฟรีเมื่อช่างตัดผมทราบว่าเขาคือชาวปาเลสไตน์ เจ้าตัวขอบคุณอย่างสุดซึ้งต่อท่าทีของนายกฯ อันวาร์ ที่ยังยืนยันความสัมพันธ์กับฮามาสผู้ปกครองกาซามาตั้งแต่ปี 2006

“อันวาร์เป็นผู้นำมุสลิมคนแรกที่ไม่เพียงแต่ระบุอย่างชัดเจนถึงการสนับสนุนปาเลสไตน์ แต่ยังรวมถึงกลุ่มฮามาสด้วย แม้แต่ประเทศอาหรับก็ยังปฏิเสธที่จะทำเช่นนั้น” นี่คือปากคำของชาวปาเลสไตน์ในมาเลเซีย

การเมืองหรืออุดมการณ์ส่วนตัว

‘เจมส์ ชิน’ อาจารย์เอเชียศึกษา มหาวิทยาลัยแทสเมเนีย มองว่า เรื่องปาเลสไตน์อยู่ในใจของอันวาร์มาตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย ผู้นำวัย 76 ปี สนับสนุนฝ่ายปาเลสไตน์เสมอมา เคยพบปะกับสมาชิกกลุ่มภราดรภาพมุสลิมหลายครั้ง

ทั้งนี้ กลุ่มภราดรภาพมุสลิมตั้งขึ้นในอียิปต์แตกหน่อออกมาเป็นฮามาส

“อันวาร์มักมองตนเองเป็นผู้เล่นในประเด็นปาเลสไตน์” ชินกล่าวเสริม

นอกเหนือจากปราศรัยในการชุมนุมที่สนามเอเซียตาในกรุงกัวลาลัมเปอร์เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2023 อันวาร์ยังใช้ shuttle diplomacy (การทูตกระสวย : การตระเวนไปพบหารือกับฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง) เดินสายไปพบประธานาธิบดีเรเซป เตย์ยิป เออร์ดวน ที่ตุรกี ตามด้วยการพบประธานาธิบดีอับเดล ฟัตตาห์ อัล ซิซี แห่งอียิปต์

ไม่กี่วันก่อนที่สิงคโปร์ อันวาร์นำประเด็นนี้ไปคุยกับประเทศหนึ่งที่ยังคงมีสัมพันธ์กับอิสราเอลและประณามการโจมตีฮามาส แม้มีความเห็นต่างจากประเทศเพื่อนบ้าน แต่อันวาร์แสดงจุดร่วมด้วยการเน้นสนับสนุนข้อเสนอหยุดยิงของสหประชาชาติ

นักวิเคราะห์มองว่า แม้ความทุ่มเทเพื่อชาวปาเลสไตน์ของอันวาร์จะออกมาจากใจจริง แต่ประเด็นนี้กลายเป็นการแข่งขันระหว่างรัฐบาลผสม ‘ปากาตัน ฮารัปปัน’ (Pakatan Harapan: PH) ของอันวาร์ กับฝ่ายค้านกลุ่มพันธมิตรแห่งชาติ (Perikatan Nasional: PN) ที่มีพรรคนิยมอิสลาม PAS เป็นพรรคเดียวใหญ่สุดในสภา

“ผมรู้สึกว่าการเดินขบวนเพื่อชาวปาเลสไตน์เหล่านี้เป็นแมตช์ยอดนิยมระหว่างแนวร่วมรัฐบาลกับฝ่ายค้านว่าใครจะเป็นอิสลามมากกว่ากัน” ทายุดดิน โมฮัมหมัด รัสดี จากมหาวิทยาลัยยูซีเอสไอในกรุงกัวลาลัมเปอร์ มหาวิทยาลัยเอกชนชั้นนำแห่งหนึ่งของมาเลเซียให้ความเห็น

ส่วนตัวเขารู้สึกว่าอันวาร์ “บรรลุวัตถุประสงค์แล้วในการทำให้คนมาเลย์รู้ว่า เขากังวลเรื่องปัญหาปาเลสไตน์จริงๆ”

รัฐบาล-ฝ่ายค้านแยกกันชุมนุม

การชุมนุมที่สนามกีฬาที่อันวาร์เข้าร่วมเมื่อคืนวันที่ 24 ตุลาคม 2023 จัดโดยขบวนการยุวชนอิสลามมาเลเซียที่อันวาร์ร่วมก่อตั้งในปี 1971 มีคนเข้าร่วมกว่า 16,000 คน เป็นงานสนับสนุนปาเลสไตน์ใหญ่สุดของประเทศ (ก่อนหน้านั้นสื่อมวลชนคาดการณ์ว่าคนจะมาร่วมราว 20,000 คน)

อย่างไรก็ตาม ผู้นำฝ่ายค้านไม่ร่วมด้วย พรรค PAS และพรรคเบอร์ซาตู จัดชุมนุมแสดงความเป็นหนึ่งเดียวกับชาวปาเลสไตน์ในวันที่ 28 ตุลาคม 2023 ที่นอกสถานทูตสหรัฐฯ เพราะรัฐบาลวอชิงตันสนับสนุนสิทธิในการปกป้องตนเองของอิสราเอล งานนี้มีคนมาร่วม 10,000 คน

‘ชามซุล อัมรี บาฮารุดดิน’ อาจารย์จากสถาบันชาติพันธุ์ศึกษา มหาวิทยาลัยแห่งชาติมาเลเซีย มองการเดินขบวนเหล่านี้ในบริบทของการเมือง ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน “จำเป็นต้องได้เสียงโหวตของชาวมุสลิมมาเลย์ อันวาร์และ PH ได้รับเสียงจากกลุ่มนี้ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุด การเลือกตั้งระดับรัฐ และการเลือกตั้งซ่อม รวมกันราว 15%” ชามซุลกล่าวพร้อมให้เหตุผลว่า อันวาร์ ‘สิ้นหวัง’ กับเสียงสนับสนุนของโหวตเตอร์ชาวมาเลย์

“การแสดงออกเรื่องชาวปาเลสไตน์ช่วยเปิดโอกาสให้อันวาร์ได้แสดงตนว่าเป็นผู้สนับสนุนการต่อสู้ของชาวปาเลสไตน์อย่างกระตือรือร้น” สอดคล้องกับพลเมืองมุสลิมหลายคน

วาทะ‘มหาธีร์’

แม้แต่ลูกพี่ที่กลายเป็นอริของอันวาร์อย่าง ‘มหาธีร์ โมฮัมหมัด’ ก็แสดงความเห็นสนับสนุนปาเลสไตน์อย่างแข็งขัน เรียกร้องให้ชาติอื่นๆ อย่านิ่งเฉยกับสิ่งที่เขาเรียกว่า “อาชญากรรมสงครามของอิสราเอล”

‘จูเลีย เหลา’ และ ‘ฟรานซิส ฮัตชินสัน’ นักวิจัยจาก ISEAS-Yusof Ishak Institute กลุ่มคลังสมองในสิงคโปร์รายงานว่า ด้วยเหตุนี้อันวาร์จึงมิอาจปล่อยให้ตนเองถูกมองว่าอ่อนแอได้ในช่วงที่แนวคิดอนุรักษนิยมเชิงศาสนากำลังมาแรงในมาเลเซีย

ชินจากมหาวิทยาลัยแทสเมเนียเห็นพ้องว่า นายกฯ กำลังทำในสิ่งที่เชื่อ พร้อมๆ กับหาเสียงสนับสนุนจากประชากรมุสลิมมาเลย์ไปด้วย แต่อันวาร์อาจพยายามทำให้ยิ่งกว่ามหาธีร์ด้วย เป็นที่ทราบกันดีว่ามหาธีร์วิจารณ์อิสราเอลอย่างไม่ไว้หน้า

จนถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกต่อต้านยิว เช่นตอนที่เขาเรียกยิวว่า ‘จมูกงุ้ม’ คำเปรียบเปรยชวนเชื่อคลาสสิก

ช่วงหลังบัญชี X หรืออดีตทวิตเตอร์ของมหาธีร์เต็มไปด้วยภาพสงคราม คำก่นด่าอิสราเอล หรือแม้แต่บอกว่า ยอดเสียชีวิตของชาวอิสราเอลในวันที่ 7 ตุลาคม “เป็นตัวเลขที่สร้างขึ้น” เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับปฏิบัติการทางทหาร

กระนั้น ถ้าไม่นับการเมืองภายใน ประชากรมุสลิมส่วนใหญ่และที่ไม่ใช่มุสลิมของมาเลเซียก็ยืนเคียงข้างชาวปาเลสไตน์อย่างเหนียวแน่นมานาน

สำหรับ ‘โมฮัมหมัด ไฟซาล มูซา’ นักวิจัยรับเชิญจาก SEAS-Yusof Ishak Institute เชื่อว่าปาเลสไตน์เป็นประเด็นสำคัญสำหรับมาเลเซีย

มาเลเซียเป็น ‘โฆษกตัวยงและเพื่อน’ ของชาวปาเลสไตน์มาโดยตลอดไม่ว่าจะฝักใฝ่ อุดมการณ์ หรือแนวทางใด “นี่คือนโยบายต่างประเทศที่เห็นได้ชัดในมาเลเซีย”

จุดยืนประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

หันไปมองจุดยืนของประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินโดนีเซียประเทศที่มีมุสลิมเป็นชนส่วนใหญ่สนับสนุนการต่อสู้เพื่อเอกราชของชาวปาเลสไตน์และไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอล สิงคโปร์กล่าวว่า แนวทางสองรัฐเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสร้างหลักประกันสันติภาพ ไทยยังคงรักษานโยบายเป็นกลาง ขณะที่ฟิลิปปินส์ประณามฮามาสทันทีและยอมรับสิทธิในการป้องกันตนเองของอิสราเอล โดยทั้งไทยและฟิลิปปินส์มีแรงงานหลายหมื่นคนอยู่ในอิสราเอลและกาซา แรงงานไทยถูกฮามาสจับเป็นตัวประกันด้วย

.

ภาพ : Getty Images 

.

อ้างอิง 

.

bloomberg

reuters

bbc

asia.nikkei

malaymail

channelnewsasia

thestar