ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์: ‘ฮาร์วีย์ มิลค์เมืองไทย’ ผู้ไม่ยอมให้ใครมาขวางความรักของทุกคน

ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์: ‘ฮาร์วีย์ มิลค์เมืองไทย’ ผู้ไม่ยอมให้ใครมาขวางความรักของทุกคน

ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ผู้แทนราษฏรจาก พรรคก้าวไกล ผู้ที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็น ‘ฮาร์วีย์ มิลค์เมืองไทย’ และอยู่เบื้องหลังประเด็นอ่อนไหวทางสังคม ตั้งแต่ LGBTQ+ จนไปถึงกระแสการสมรมเท่าเทียม เขาเชื่อว่าเราทุกคนเป็นมนุษย์มีความเท่าเทียมกัน และความรักเป็นเรื่องที่ออกแบบไม่ได้

  • ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.พรรคก้าวไกล ผู้สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ
  • ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ได้รับฉายาว่าเป็น ‘ฮาร์วีย์ มิลค์เมืองไทย’ นักการเมืองชาวอเมริกัน ที่เปิดตัวว่าเป็นเกย์ และผลักดันสิทธิกลุ่มความหลากหลายทางเพศ
  • กฎหมาย ‘สมรสเท่าเทียม’ สิ่งที่ ธัญวัจน์ พยายามผลักดัน เชื่อว่าเราต่างเท่าเทียมกัน

คุณเคยตั้งคำถามไหมว่า “ความรักออกแบบได้ไหม?”

เพลง ‘บุพเพสันนิวาส’ “ความรักศักดิ์ศรี รักไม่มีพรหมแดน รักไม่มีศาสนา”

บางครั้งความรักก็ไม่ได้เลือกเพศสภาพและเพศวิถีเช่นกัน

แล้วใครล่ะเป็นผู้ตัดสินว่าความรักแบบใด ‘ต้องห้าม’

ในบรรยากาศที่ประเทศไทยกำลังพยายามผลักดันให้เป็นประเทศที่ 3 ต่อจากไต้หวัน และเนปาล ที่มีกฎหมาย ‘สมรสเท่าเทียม’ ซึ่งผ่านการพิจารณาในวาระที่ 1 ทั้ง 4 ฉบับ ซึ่งหนึ่งใน สส. ที่เดินหน้าผลักดันเรื่องนี้มาตลอดคือ ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ตั้งแต่ยุคพรรคอนาคตใหม่ จนมาถึงพรรคก้าวไกล

การอภิปรายในวันที่ 21 ธันวาคมของธัญวัจน์ ถือเป็นอีกโมเมนต์หนึ่งที่ตราตรึงใจสำหรับกลุ่มผู้ผลักดันสมรสเท่าเทียม “ธัญเกิดมาเป็นกะเทย และธัญเป็นกะเทยทุกวัน เป็นมาตั้งแต่เกิดจนถึงวันนี้ สิ่งเดียวที่ธัญต่อสู้ไม่ว่าธัญจะใช้ชีวิตแบบใดก็แล้วแต่ ไม่ว่าธัญจะหัวเราะหรือร้องไห้ ความเป็นกะเทยก็ยังจะติดตัวธัญเสมอ

สิ่งหนึ่งที่จะติดตัวตามมาของกะเทยทุกคนในประเทศนี้คือความเป็นไปไม่ได้ ไม่ว่าจะหลีกเลี่ยงอย่างไร และใช้ชีวิตอย่างไรก็แล้วแต่ ธัญตระหนักรู้ดีเมื่อเติบโตขึ้นมาว่า กะเทยคือสิทธิมนุษยชน กะเทยมีตัวตนในสังคม และเขามีสิทธิและศักดิ์ศรี การใช้ชีวิตอย่างที่เขาจะเป็น รวมถึงการดำเนินชีวิตในครอบครัว”

นี่คือปากเสียงของคนที่ไม่ใช่เพียงเป็น ‘เจ้าของประเด็น’ แต่เขาเป็นหนึ่งของผู้ที่อยู่ในประเด็นในการผลักดันเรื่องสิทธิความเท่าเทียมทางเพศ การเคลื่อนไหวของธัญวัจน์ ทำให้นึกถึง ‘ฮาร์วีย์ มิลค์’ นักการเมืองสหรัฐฯ ผู้เปิดตัวว่าเป็นเกย์ และผลักดันสิทธิกลุ่มความหลากหลายทางเพศ ในทศวรรษ 1970 ที่ออกมาปราศรัยเพื่อเรียกร้องสิทธิชาวเกย์ ในงานไพรด์ และท้ายที่สุดเขาถูกลอบสังหาร

เราสามารถเรียกธัญวัจน์ได้เต็มปากว่า นี่คือ ‘ฮาร์วีย์ มิลค์ เมืองไทย’ ถึงแม้ว่าท้ายที่สุดหนทางที่ยาวไกลยังไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไรก็ตาม

หากหมุนเข็มนาฬิกาย้อนกลับไปทศวรรษ 1997 ยุคที่รายการเรียลลิตี้โชว์บูม โดยการจุดกระแสของ Academy Fantasia หรือ AF รายการที่จะเปลี่ยนคนธรรมดาให้เป็นดาว ไม่มีใครไม่รู้จัก ‘ครูธัญ’ ผู้ฝึกสอนการเต้นประจำบ้าน AF และ Creative Director ของ True Fantasia ด้วยผลงานการออกแบบท่าเต้นได้ประทับใจ

จากความสนใจในงานบันเทิงตั้งแต่เด็ก และค้นพบเพศสภาวะของตัวเอง ทำให้ธัญวัจน์หลงใหลในโลกแห่งการบันเทิง และเลือกเรียนด้านสื่อสารมวลชน ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง สั่งสมประสบการณ์ตั้งแต่งานแสดงโชว์ ไปจนถึงมีโอกาสเข้าไปร่วมออกแบบท่าเต้นให้กับศิลปินเบอร์ใหญ่ ระดับตำนานอย่าง 2002 ราตรี เมื่อเสียงร้อง “เฮฮัลเล ฮัลเลวังกา” ดังขึ้น เหมือนไปปลุกวิญญาณของเหล่า LGBT ขึ้นมาโดยมิได้นัดหมาย

ธัญวัจน์ เปิดเผยว่าเมื่อวันหนึ่งจากวันที่แสงสปอตไลต์ส่อง ต้องมาผลักดันกฎหมายเป็นสิ่งที่ต้องปรับตัวมาก “ช่วง 4 - 5 เดือนแรกต้องเรียนรู้เยอะมาก และคิดว่ามันเป็นเรื่องท้าทาย มันเป็นโอกาสที่เราจะทำเพื่อคนหลาย ๆ คน มันเป็นโอกาสที่เราจะเปลี่ยนมันด้วยมือของเรา ครูอยากจะเปลี่ยนมันจริง ๆ” การต่อสู้ในเรื่องสิทธิความหลากหลายทางเพศ ทำให้เธอตัดสินใจลงสนามการเมืองกับพรรคอนาคตใหม่ ในฐานะ สส. ปาร์ตี้ลิสต์สมัยแรก

ครูธัญคือ หนึ่งใน สส. ผู้เดินหน้าต่อหลังจากพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบและเลือกเดินทางต่อกับพรรคก้าวไกล ไม่ไปเป็นงูเห่าย้ายพรรคเหมือน สส. หลาย ๆ คน ที่ถือโอกาสย้ายไปเข้าร่วมรัฐบาล ซึ่งสภาสมัยที่แล้วกลายเป็นเรื่องของความหลากหลายทางเพศถูกชิงไหวชิงพริบ ระหว่าง ร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม ของพรรคก้าวไกล และ ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต ของฝ่ายรัฐบาล

ในรายละเอียดความแตกต่างสำคัญก็คือในขณะที่ ร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม ของก้าวไกลนั้นคือการรับรองสิทธิของกลุ่มหลากหลายทางเพศให้ใช้กฎหมายภายใต้กฎหมายเดียวกันกับการสมรสของหญิงและชาย แต่ในขณะที่ ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต เน้นการไปเพิ่มหรือแยกกฎหมายพิเศษของกลุ่มหลากหลายทางเพศ ให้ออกจากหญิงและชาย

แล้วพวกเขาไม่ได้เป็น ‘คนเท่ากัน’ หรือ?

ธัญวัจน์ ยังคงเดินหน้าผลักดัน ร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม โดยอาศัยแรงสนับสนุนจากสังคมที่เพิ่มมากขึ้น และมองว่าการที่กลุ่มคนหลากหลายทางเพศจะใช้ชีวิตกับคนรักเป็นเรื่องปกติที่สิทธิขั้นพื้นฐานควรให้การรับรอง ไม่ว่าจะเป็นงานในสภาหรือนอกสภาในการเดินสายให้ความรู้พบปะกับองค์กรต่าง ๆ หรือที่เรียกว่า ‘การทำงานเชิงความคิด’ เขาเคยตอบคำถามถึงการเป็น สส. LGBT ในสภาว่า

“ถ้าถามว่ากดดันไหม ไม่เคยคิดในมุมนี้เลยนะ ครูแค่ทำให้ดีที่สุด แข่งกับตัวเอง ไม่ได้แข่งกับใคร เราทำด้วยความจริงใจ กฎหมายฉันต้องทำให้เสร็จ อย่าเผลอไปกับอำนาจ แบบว่าเป็น สส. แล้วฉันเบ่งหรือเหลิง ไม่เลย งานฉันอันนี้ต้องเสร็จ ประชาชนให้โอกาสฉันมาแล้ว อาจารย์ปิยบุตรให้โอกาสฉันมาแล้ว ไม่ได้เครียด แค่แข่งกับตัวเอง ทำมันให้เป็นไปตามเป้า และสิ่งที่ประชาชนจะได้รับคือผลประโยชน์ที่เราตั้งใจทำมา”

การต่อสู้ในประเด็นดังกล่าวไม่ง่าย ถึงแม้พรรคก้าวไกลจะชนะเลือกตั้งในปี 2566 ที่หากย้อนไปเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 หลังจากพรรคก้าวไกลมีสิทธิในการจัดตั้งรัฐบาล ครั้งนั้น 'วันมูหะมัดนอร์ มะทา' ครั้งอยู่ในตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาชาติ ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเอ็มโอยูจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคก้าวไกล ในประเด็นสมรสเท่าเทียมที่มีการแก้ไขว่า เงื่อนไขในการสมรสเท่าเทียม ต้องไม่ขัดหลักศาสนา เรียกได้ว่าเป็นเงื่อนไขในการร่วมรัฐบาลที่มีจุดยืนแตกต่างกัน

ท้ายที่สุดเมื่อเกิดการพลิกขั้วจัดตั้งรัฐบาลเพื่อไทย ที่หันไปจับมือขั้วรัฐบาลเดิม เกิดคำถามว่าเรื่อง ‘สมรสเท่าเทียม’ จะถูกผลักดันต่อไหม เพราะก่อนหน้านี้เป็นสิ่งที่ทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลได้หาเสียงไว้เหมือนกัน ถึงจะมีความแตกต่างกันในรายละเอียดปลีกย่อย ซึ่งท้ายที่สุดก็ผ่านวาระแรกมาได้ ถือว่าเป็นการนับหนึ่งแต่ยังมีอีกหลายก้าวให้เดินไป

เส้นทางของความรักและความเท่าเทียมยังอีกยาวไกล แต่ต้องไม่ลืมว่าธัญวัจน์คือหนึ่งในบุคคลสำคัญที่ร่วมปูอิฐสำหรับการเดินทางเพื่อไปสู่ปลายทางที่ LOVE WINS อย่างแท้จริง

 

ภาพ : เพจ Facebook ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ - Tunyawaj Kamolwongwat

อ้างอิง :

The Standard

Thaipublica

 Amarintv

The Modernist