‘ไทย-สหราชอาณาจักร’ เพื่อนกัน 170 ปี เพิ่มพลัง ‘ภาคการเงิน’ เพราะเชื่อว่ามีบทบาทสูงสุดต่อเศรษฐกิจประเทศ

‘ไทย-สหราชอาณาจักร’ เพื่อนกัน 170 ปี เพิ่มพลัง ‘ภาคการเงิน’ เพราะเชื่อว่ามีบทบาทสูงสุดต่อเศรษฐกิจประเทศ

‘เศรษฐา ทวีสิน’ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แชร์การเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับภาคการเงินของประเทศไทย ภายในงานสัมมนา UK-Thailand Financial Conference ในหัวข้อ “The Changing Roles of the Financial Sector in Thailand’s Economic Development” และความร่วมมือในมิติต่าง ๆ ระหว่างสองประเทศที่มีความสัมพันธ์อันดี 170 ปี

KEY

POINTS

  • ‘เศรษฐา ทวีสิน’ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าว
    ปาฐกถาพิเศษเรื่องการเงินของประเทศไทย ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ
  • สหราชอาณาจักร ผู้นำด้านบริการทางการเงินระดับโลก และเป็นประเทศแรกในยุโรปที่มีความร่วมมือในเชิงยุทธศาสตร์กับประเทศไทย
  • การสัมมนาภาคการเงินไทย-สหราชอาณาจักร ต่อเนื่องมาจากการประชุมคณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจและการค้า (JETCO) ครั้งที่ 1 เมื่อปี 2565

‘สหราชอาณาจักร’ (UK) ในฐานะที่เป็นประเทศแรกในยุโรปที่ประเทศไทยมีความร่วมมือในลักษณะหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ด้วย ซึ่งครบรอบ 170 ปีได้ไม่นาน ภายใต้งานสัมมนา UK-Thailand Financial Conference ในหัวข้อ “The Changing Roles of the Financial Sector in Thailand’s Economic Development” เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2567 ณ โรงแรม Park Hyatt Bangkok เป็นการตอกย้ำให้น้ำเสียงหนักแน่นขึ้นว่า ‘ภาคการเงิน’ ซึ่งเป็นพระเอกในด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศจะแข็งแกร่งขึ้นไปด้วยกัน

ทางด้าน ‘เศรษฐา ทวีสิน’ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ย้ำหนักแน่นว่า ระหว่างไทยกับสหราชอาณาจักร สองประเทศนี้มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันอย่างดีในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับราชวงศ์ ไปจนถึงระดับประชาชน

‘ไทย-สหราชอาณาจักร’ เพื่อนกัน 170 ปี เพิ่มพลัง ‘ภาคการเงิน’ เพราะเชื่อว่ามีบทบาทสูงสุดต่อเศรษฐกิจประเทศ

นอกจากนี้ ยังมีนักเรียนและนักศึกษาคนไทยไปศึกษาต่อที่สหราชอาณาจักรจำนวนมากที่ผ่านมา ดังนั้น สิ่งที่นายกฯ เศรษฐา พยายามสานต่อความร่วมมือระหว่างสองประเทศในทุก ๆ ด้าน จึงเป็นการเพิ่มศักยภาพให้ประเทศไทยแข็งแกร่งขึ้นนั่นเอง

ขณะที่ นายกฯ เศรษฐา ยังพูดภายในงานด้วยว่า ไทยและสหราชอาณาจักรยังมีการแลกเปลี่ยนการลงทุนระหว่างกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 ได้พูดคุยกับ Lord Dominic Johnson of Lainston CBE รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงธุรกิจและการค้าสหราชอาณาจักร เกี่ยวกับการลงทุนข้ามประเทศ, การยกเว้นวีซ่า และความตกลงการค้าเสรี (FTA)

ทั้งนี้ จุดประสงค์ในการจัดงานครั้งนี้ของสถานทูตอังกฤษ กรุงเทพ ก็เป็นการต่อยอดสิ่งที่เคยคุยกันมานานแล้วกับสหราชอาณาจักร เมื่อปี 2022 ในที่ประชุมคณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจและการค้า (JETCO) ครั้งที่ 1 ว่าทั้งสองประเทศเห็นตรงกันว่า ต้องการกระชับความสัมพันธ์ในเชิงกลยุทธ์ และต้องการเพิ่มโอกาสใหม่ ๆ ในอีกหลายภาคส่วน หนึ่งในนั้นก็คือ ‘ภาคการเงิน’ ซึ่งมองว่าเป็นพระเอกที่มีความสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ

ทางด้าน ‘สหราชอาณาจักร’ เองก็เป็นผู้นำในด้านการบริการทางการเงินระดับโลกนานแล้ว นอกเหนือจากนั้นก็คือ โดดเด่นเรื่องนวัตกรรมทางการเงิน ตั้งแต่การปรับปรุงการเข้าถึงการเงินของประชาชน, ความปลอดภัยทางไซเบอร์ รวมถึง การส่งเสริมการเงินที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นเทรนด์ที่ทั่วโลกผลักดันเช่นกัน

ที่ผ่านมา สหราชอาณาจักร ได้สนับสนุนการพัฒนาทางเทคโนโลยีการเงินแล้ว หรือที่เราเรียกว่า FinTech เพื่อปรับปรุงการเข้าถึงการเงิน รวมไปถึงพยายามสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับการเงินของสองประเทศด้วย

ทั้งนี้ เป้าหมายจริง ๆ ของปี 2024 ในเรื่องการเงินนี้ก็คือ พยายามรวบรวมผู้กำหนดระดับนโยบาย, นายธนาคาร และผู้นำในอุตสาหกรรมการเงิน เพื่อแบ่งปันข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับเรื่องอ่อนไหวนี้ รวมทั้งประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจด้วย เช่น โมเดลธุรกิจธนาคารที่ต้องเปลี่ยน, การเงินที่ยั่งยืน, ความปลอดภัยทางไซเบอร์ แม้แต่ บทบาทของ Generative AI ก็อยู่ในวาระการหารือนี้

โดยช่วงพิธีเปิดงานเสวนาดังกล่าว มาร์ค กูดดิ้ง (Mark Gooding) เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ได้กล่าวต้อนรับอย่างอบอุ่นว่า พร้อมย้ำว่า ช่วง 3-4 ปีที่แล้ว รัฐบาลอังกฤษได้ทบทวนนโยบายความมั่นคงในต่างประเทศ ซึ่งสหราชอาณาจักรเองก็มองมาที่โอกาสที่อยู่ข้างหน้าทั้งหมดว่าจะต่อยอดมันได้อย่างไร ทั้งในแง่การส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ และความท้าทายที่เราเผชิญด้วยกันทั่วโลก

‘ไทย-สหราชอาณาจักร’ เพื่อนกัน 170 ปี เพิ่มพลัง ‘ภาคการเงิน’ เพราะเชื่อว่ามีบทบาทสูงสุดต่อเศรษฐกิจประเทศ

“เราได้สรุปกันว่า ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ถือว่าเป็นศูนย์กลางที่สมบูรณ์สำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต และมีแนวโน้มที่จะขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจมากถึงครึ่งหนึ่งภายใน 2-3 ทศวรรษข้างหน้า”

อย่างไรก็ตาม เอกอัครราชทูต มาร์ค กูดดิ้ง ได้มองไปถึงปัญหาในเชิงกลยุทธ์ของภูมิภาคนี้ว่ายังมีความท้าทายแม้อาจจะเป็นศูนย์กลางและมีศักยภาพในอนาคตก็ตาม และนั่นหมายถึงปัญหาของสหราชอาณาจักรด้วย

จึงเป็นที่มาว่าทำไมสหราชอาณาจักร อยากจะกระชับความสัมพันธ์ทางการเงินกับภูมิภาคนี้ แน่นอนว่ารวมถึงประเทศไทยด้วย ซึ่งที่ผ่านมาได้เปิดตัวความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ใหม่ระหว่างสหราชอาณาจักรและไทยอย่างเป็นทางการแล้ว ทำให้สหราชอาณาจักร-ไทย เป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์แรกของยุโรป

“ในอนาคตอาจหมายถึงการยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศในทุกด้านเช่นกัน เช่น เศรษฐศาสตร์และการค้า, ความมั่นคงและการป้องกัน, วิทยาศาสตร์, เทคโนโลยี, ภูมิอากาศ, สุขภาพ, ผู้คน และทุกสิ่งทุกอย่าง นั่นจึงเป็นช่วงเวลาและโอกาสที่ยิ่งใหญ่จริง ๆ ของเรา”

ก่อนที่ เอกอัครราชทูตอังกฤษจะส่งต่อเวทีในเซสชั่นถัดไป เขาได้เปรยด้วยว่า ตอนนี้กำลังดำเนินการพัฒนาความร่วมมือด้านการค้าเพื่อสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนระหว่างสองประเทศ คิดว่าจะเปิดตัวได้ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

ทั้งนี้ นายกฯ เศรษฐา ได้แชร์หลายเรื่องระหว่างที่กล่าวปาฐกถาพิเศษความยาวเกือบ 7 นาที โดยหลัก ๆ จะเป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงของภาคการเงินของไทย รวมไปภถึงประโยชน์จากความร่วมมือกับสหราชอาณาจักรในครั้งนี้ และในอนาคตว่าจะเป็นอย่างไร

โดยเขาได้กล่าวว่า “ภาคการเงินของไทยมีวิวัฒนาการและกลายมาเป็นภาคส่วนที่มีอิทธิพลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยที่ผ่านมามีนโยบายของรัฐบาลที่เริ่มนำร่องเปลี่ยนแปลงไปแล้วหลายอย่าง”

ตัวอย่างเช่น 1) ไทยได้นำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน (Digitalization) ซึ่งในภาคการเงินมีความก้าวหน้าอย่างมาก ไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศแรก ๆ ของโลกที่นำระบบ PromptPay มาใช้ ทำให้ไทยกลายเป็นหนึ่งในประเทศชั้นนำด้านการทำธุรกรรมทางโทรศัพท์ (mobile transactions) และ E-commerce ซึ่งความก้าวหน้าของระบบการชำระเงินได้ปูทางสำหรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มากขึ้น และสร้างโอกาสใหม่ให้แก่ธุรกิจ ผ่านการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินของไทยกับญี่ปุ่น สิงคโปร์ และประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค

รัฐบาลไทยพยายามขยายความเชื่อมโยงให้ครอบคลุมภูมิภาคอาเซียนและภูมิภาคอื่น รวมถึงผลักดันกรอบการดำเนินงานที่ครอบคลุมการออกใบอนุญาตจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) โดยที่ภาคส่วนอื่น ๆ สามารถมีส่วนร่วมได้

2) ความยั่งยืน (Sustainability) รัฐบาลมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น พันธบัตรเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond), พันธบัตรเพื่อพัฒนาสังคม (Social Bond), พันธบัตรเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond), พันธบัตรส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-Linked Bond) และกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thailand ESG Fund) รวมถึงกองทุนรวมเพื่อความยั่งยืน (Sustainable and Responsible Investing Fund) เพื่อสนับสนุนการลงทุนให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (UN) โดยปัจจุบันมีมูลค่าทรัพย์สินประมาณ 740 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งรัฐบาลได้ออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนรุ่นแรกในภูมิภาคอาเซียนที่ออกโดยรัฐบาล เมื่อปี 2563 สามารถระดมทุนได้ถึง 5.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นต้น

และ 3) ประชากรสูงวัยโลก (Global Aging Population) แม้แต่ไทยเองก็เข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มที่ (Super Aged Society) ซี่งได้คาดการณ์ว่า ในปี 2577 ไทยจะมีประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปมากถึง 28% ของประชากรทั้งหมด

แน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ 3 ด้านหลักก็คือ จำนวนแรงงานลดลงและอาจส่งผลให้การผลิตและการเติบโตทางเศรษฐกิจลดลง, ความเป็นอยู่ที่ดีของผู้สูงวัยอยู่ในความเสี่ยง เพราะเงินออมหลังเกษียณไม่เพียงพอ และ การใช้จ่ายของภาครัฐที่จะสูงขึ้น เพราะต้องสร้างความมั่นคงทางรายได้ให้แก่กลุ่มผู้สูงวัย และอาจเป็นความท้าทายทางการเงินในระยะยาวได้ ซึ่งภาคการเงินมีบทบาทสำคัญในการจัดการเงินบำนาญอย่างรอบคอบให้กับประชากรสูงวัย โดยมีการจัดหาผลิตภัณฑ์การออมและการลงทุนที่เหมาะสม รวมถึงการดึงดูดให้เกิดการออมมากขึ้นในอนาคต

‘ไทย-สหราชอาณาจักร’ เพื่อนกัน 170 ปี เพิ่มพลัง ‘ภาคการเงิน’ เพราะเชื่อว่ามีบทบาทสูงสุดต่อเศรษฐกิจประเทศ

นายกฯ เศรษฐา ได้กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า ทั้งหมดที่กล่าวมานั้นเป็นเพียงตัวอย่างเล็กน้อยที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในภาคการเงินของไทย และหวังว่านวัตกรรมใหม่ ๆ จากความร่วมมือครั้งนี้จะสร้างประโยชน์ทางการเงิน ช่วยส่งเสริมแนวทางปฎิบัติที่ยั่งยืนได้ โดยไม่มีการแบ่งแยก

*หมายเหตุ: ข้อมูลทั้งหมดในบทความนี้เป็นการสรุปจากงานสัมมนา UK-Thailand Financial Conference ที่จัดขึ้นโดยสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ในวันที่ 28 มีนาคม 2567

 

ภาพ: Nation Photo