นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว จาก สส.นกแล สู่อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว จาก สส.นกแล สู่อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว จาก สส.นกแล ปี 2544 สู่อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในสมัยรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน

KEY

POINTS

  • หมอชลน่าน ศรีแก้ว จาก สส.นกแล ปี 2544 สู่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ปี 2566
  • ไม่ใช่สูตินรีแพทย์ เป็นแพทย์ทั่วไปที่ทำคลอดมาเยอะในชีวิตความเป็นหมอ
  • บัตรทอง ผลงานยุคพรรคไทยรักไทย มาถึง 30 บาทโปร ยุคพรรคเพื่อไทย

The People สัมภาษณ์ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หรือ หมอชลน่าน ในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย โดยหมอชลน่านเป็นผู้อยู่ร่วมประวัติศาสตร์กับพรรคไทยรักไทยตั้งแต่รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร สมัยแรกในการเลือกตั้งปี 2544 มาถึงปัจจุบัน

เขายอมรับว่าสมัยนั้น ตัวเองคือ 1 ใน ‘สส.นกแล’ ของยุค คือไม่เคยทำงานการเมืองมาก่อนจะชนะเลือกตั้ง ส่วนก่อนหน้านั้นเป็นหมอ เป็นข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข ต่อมาผ่านเส้นทางการเมืองจนล่าสุดดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในรัฐบาลปัจจุบัน

มีประสบการณ์อยู่กับการผลักดันนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ‘30 บาท รักษาทุกโรค’ จนมาถึง ‘30 บาทโปร’ หรือ‘30 บาทรักษาทุกที่’ ผลงานที่ใช้ในการหาเสียงเป็นนโยบายหลักของพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน จนมาถึงพรรคเพื่อไทย

บัตรทอง ผลงานยุคพรรคไทยรักไทย มาถึง 30 บาทโปร ยุคพรรคเพื่อไทย

นพ.ชลน่าน เล่าถึงการทำงานเกี่ยวกับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า(บัตรทอง) ตั้งแต่ไทยรักไทย ผ่านสมัยพรรคพลังประชาชน จนมาถึงรัฐบาลพรรคเพื่อไทยในปัจจุบันว่า ตลอดยี่สิบกว่าปี หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าคือนโยบายเด่นที่พรรคใช้รณรงค์หาเสียงตั้งแต่ปี 2544 โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพราะเราต้องการให้พี่น้องประชาชนเข้าถึงการบริการโดยไม่มีข้อจำกัดทางการเงิน

ถ้าเราให้สิทธิให้หลักประกันประชาชน เขาสามารถเข้าโรงพยาบาลได้ ก็เป็นการยกระดับ ที่เห็นชัดที่สุดคือ จากสัดส่วนร้อยละที่เข้าถึงบริการได้ประมาณ 60% ภาพรวม ขยับขึ้นมา 90% กว่า ตั้งแต่เริ่มโครงการยุคนั้นก็มีข้อจำกัดเรื่องเทคโนโลยีพอสมควร จึงทำได้ระดับหนึ่ง แต่มีความต่อเนื่องกันมา

"พอถึงระดับหนึ่งถ้าเราไม่ได้เป็นรัฐบาลเนี่ย รัฐบาลที่มาจากพรรคการเมืองอื่น รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารเขาก็พยายามปรับเปลี่ยนแนวทางของนโยบายนี้ แต่ว่าเขาเองก็ปรับเปลี่ยนไม่สำเร็จนะ ใครจะทำอะไรแล้วอ้างเป็นผลงานเราไม่ว่า บางอย่างต้องมีการปรับปรุงแก้ไขให้มันดีขึ้นใช่ไหมครับ"

บัตรทอง - ประกันสังคม - ข้าราชการ กับแนวคิดจัดบริการร่วมกัน

เมื่อถามว่าสิทธิบัตรทองจะแซงหน้าสิทธิประกันสังคมไปแล้วหรือไม่ หมอชลน่านกล่าวว่า ประกันสังคมก็เป็นระบบประกันหนึ่งที่เขากำหนดกระบวนการวิธีการการเข้าถึงบริการ กำหนดสิทธิประโยชน์ เมื่อบัตรทองเข้ามามีเรื่องสิทธิประโยชน์ครอบคลุมมากกว่า ก็เลยถูกเปรียบเทียบว่ามันแซงบัตรประกันสังคม จริงๆ เป็นการเปรียบเทียบเรื่องสิทธิประโยชน์เท่านั้นเอง บัตรทองเขาได้สิทธิประโยชน์มากกว่าประกันสังคม

กองทุนที่ดูแลสุขภาพพี่น้องประชาชน ขณะนี้มี 3 กองทุนหลัก

1 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กระทรวงสาธารณสุข มีคนอยู่ในกองทุนนี้ประมาณ 50 ล้านคน

2 กองทุนประกันสังคม มีประชาชน 12 ล้านคน กระทรวงแรงงานกำกับดูแล มี พ.ร.บ.ประกันสังคมรองรับ

3 ส่วนของสวัสดิการข้าราชการ โดยกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง มีข้าราชการประมาณ 7 - 8 ล้านคน

หมอชลน่านกล่าวด้วยว่า ในพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีการเขียนบทมาตรารองรับเอาไว้ว่า ถ้า 3 กองทุนนี้มีความพร้อม ให้มาพูดคุยกันเพื่อที่จะมาจัดบริการร่วมกัน ถ้าคุยตกลงกันได้ก็ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกาออกมา แต่ว่าเหตุการณ์นี้ยังไม่เกิดขึ้น ผ่านเวลามายี่สิบกว่าปี

เป็นแนวคิดที่เขียนไว้ตั้งแต่ตอนเริ่มทำกฎหมายผมก็อยู่ในกรรมาธิการ เพราะเราก็เห็นว่ามีความแตกต่างมีความลักลั่น แต่จะพูดว่ามันแตกต่างลักลั่นก็คงพูดได้ไม่เต็มปากนัก เพราะว่า อย่างกองทุนสวัสดิการของข้าราชการ เขาให้สำหรับคนที่เป็นข้าราชการทำงานให้กับรัฐ เป็นสวัสดิการรองรับตรงนั้น จึงมีความพิเศษมากกว่ากองทุนอื่น

ทีนี้เราก็มองว่า ถ้าสมมติ 3 กองทุนมาบริหารจัดการร่วมกัน ไม่จำเป็นต้องยุบรวมกองทุน อาจจะอยู่เหมือนเดิม แต่ว่ามีข้อตกลงร่วมที่จะบริหารจัดการร่วมกัน เช่น ชุดสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐาน ที่มีความจำเป็นที่ทุกคนต้องได้รับ ต้องเหมือนกัน สิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานหมายความว่าสูงสุดเลยนะ เช่น หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ 10 ประกันสังคมก็ต้องให้ 10 สวัสดิการข้าราชการก็ต้องให้ 10 อันนี้ควรจะเป็นมาตรฐานเดียวกัน

30 บาทโปร - 1 card 1 smart hospital และ กรรมการพัฒนาสุขภาพแห่งชาติ

เมื่อถามว่าบัตรประชาชนใบเดียวไปได้ทุกโรงพยาบาล ตั้งใจจะให้เฉพาะคนที่ถือบัตรทอง หรือตั้งใจจะให้คนที่อยู่ภายใต้ทั้ง 3 กองทุน

หมอชลน่าน กล่าวว่า ความตั้งใจเชิงเป้าหมายเราตั้งใจให้ประชาชนรักษาได้ทุกที่ คำว่าทุกที่หมายความว่าทุกที่ในประเทศนี้ แต่กลไกการที่จะเชื่อมตรงนี้ มันต้องไปสร้างกลไก สร้างกระบวนการว่าจะเชื่อมกันอย่างไร เพราะว่า แต่ละกองทุนก็ดี แต่ละโรงพยาบาลก็ดี จะมีสังกัดที่แตกต่างกัน

กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รับรองการดูแลคนประมาณ 60% จาก 67 ล้านคน ก็คือ 50 กว่าล้านคน อันนี้คือภารกิจเรา แต่ที่เหลือ อยู่กับกระทรวงกลาโหม อยู่กับท้องถิ่น อยู่กับกทม.

เนื่องจากแต่ละโรงพยาบาลที่เราเห็นไม่ใช่ทุกโรงพยาบาลที่สังกัดกระทรวงสาธารณสุข แต่มี อว. (กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม) ก็มี เป็นโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย คือ มีหลายกระทรวงมากที่เข้ามารับดูแลด้านสุขภาพ นี่คือความต่าง แล้วการที่จะบอกว่า บัตรประชาชน จะเข้ารักษาได้ทุกที่ มันต้องมีนโยบายเป็นเอกภาพมาทำร่วมกัน เปิดช่องให้ทุกโรงพยาบาลรับบัตรประชาชนใบเดียวนี้ได้

ตรงนี้ยังมีข้อจำกัดอยู่ ข้อเท็จจริงปรากฏเป็นอย่างนี้ เราก็เลยหาทางออก โดยตั้ง 'กรรมการพัฒนาสุขภาพแห่งชาติ' ขึ้นมา เป็นจุดเชื่อม เพื่อจะพูดคุยกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องมาจัดบริการร่วมกันในเครือข่ายทั้งหมด สามารถใช้บัตรประชาชนไปเข้ารับบริการของทุกกระทรวงได้ ตามความสะดวก บนพื้นฐานข้อตกลงของสิทธิประโยชน์ต่างๆ บัตรประชาชนใบเดียว เข้าโรงพยาบาลได้ทุกที่ นั่นหมายความว่าในแต่ละเขต เขาสามารถเข้าตรงไหนก็ได้ 1 card 1 smart hospital ภาษาอังกฤษนะ คือเราต้องปรับระบบสถานบริการรองรับให้เป็นโรงพยาบาลอัจฉริยะ คือ เป็นระบบดิจิทัลทั้งหมดเลย ไม่มีกระดาษ (paperless) คือเราต้องเชื่อม backbone กระดูกสันหลังของฐานข้อมูลเอาทุกอย่างมาขึ้นไว้บน cloud

ข้อจำกัดเช่นผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคม จะต้องไปโรงพยาบาลที่ชื่ออยู่ในโรงพยาบาลใดโรงพยาบาลหนึ่ง

หมอชลน่านกล่าวว่า เป็นระบบประกันของกองทุนประกันสังคม แต่เราก็จะพูดคุยใน 'กรรมการพัฒนาสุขภาพแห่งชาติ' ว่าเราจะเชื่อมโยงกันอย่างไร ถ้าคนในระบบประกันสังคมจะมาใช้เครือข่ายของสาธารณสุขที่ไม่ได้เป็นต้นสังกัดที่เขาขึ้นทะเบียนเอาไว้ เขาจะต้องดำเนินการอย่างไร เป็นเรื่องต้องไปพูดคุย เป็นเรื่องที่คำนึงถึงอยู่ ทุกสิทธิสามารถที่จะเข้าโรงพยาบาลที่อยู่ในเครือข่ายทั้งหมดได้

ผมยังคิดถึงขนาดนี้เลยว่า 1 จังหวัด 1 โรงพยาบาล นโยบายที่จะทำต่อในการจะเชื่อมโยงให้เห็นภาพที่แคบลง 1 จังหวัด 1 โรงพยาบาล เป็นการพัฒนา

ขณะนี้พอประกาศเขตสุขภาพ บัตรใบเดียวเข้าได้ทุกที่แล้ว ก็ยังเป็นโครงสร้างแบบเดิมอยู่ แต่สมมติกลไกการบริหารจัดการในอนาคต เราบอก 1 จังหวัด 1 โรงพยาบาล ความจำเพาะในบริเวณพื้นที่ที่ให้บริการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดนั้น จะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เหมือนโรงพยาบาลเดียวกัน

คำว่า 1 โรงพยาบาลคือ มีสถานะเหมือนโรงพยาบาลเดียวกัน มาตรฐานการบริการ แม้คุณจะอยู่มหาวิทยาลัย สมมติเอาเชียงใหม่เป็นตัวตั้ง ในเชียงใหม่มีโรงพยาบาลเยอะมาก ทั้งของกระทรวงสาธารณสุข ของมหาวิทยาลัย ของเอกชน ของทหาร ของตำรวจ ถ้าเรามีกระบวนการการบริหารจัดการเข้าไปให้ทุกฝ่ายเสมือนเป็นโรงพยาบาลเดียวกัน ก็จะเป็นเอกภาพเชิงนโยบาย แต่หลากหลายการปฏิบัติ นั่นหมายความว่า คนเชียงใหม่ สามารถจะเข้าไปดูแลสุขภาพตัวเองตามที่ตัวเองสะดวก มีความพร้อมได้ตลอด

จากหมอ - สส.นกแล - สู่รัฐมนตรีว่าการสาธารณสุข

ผมเรียนแพทย์ที่ศิริราชปี 2524 ผมรหัส 2524 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ตอนนี้ก็สี่สิบกว่าปีแล้ว เรียนจบแพทย์จากศิริราชปี 2529 พอปี 2530 ก็เริ่มรับราชการที่ จ.น่าน จนถึงปี 2543 ลาออกมาลงเลือกตั้ง

ผมเองเริ่มต้นจากการเป็นสส.รัฐบาลปี 2544 ตอนนั้นเขาเรียก สส.นกแล พรรคไทยรักไทยหลังเลือกตั้งปี 2544 ได้มา 248 เสียง ผมเป็น 1 ในนั้น

คำว่านกแลเนี่ยคือ เป็นสส.ที่เข้ามาโดยไม่มีฐานการเมือง อย่างเช่น ผมเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาล ไม่เคยมีฐานการเมือง ไม่เคยทำงานด้านการเมืองมา ลงมาสู้การเลือกตั้ง ไม่มีภาพของผู้สนับสนุนต่างๆ เขาเรียกว่านกแล

ส่วนงานในสภามีเหตุการณ์หลายเรื่องที่น่าประทับใจ ทั้งเป็นภาพที่ออกมาเชิงประจักษ์และเป็นกลไกการต่อสู้ในสภา

อดีตสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ มาพรรคไทยรักไทย,พรรคพลังประชาชนและพรรคเพื่อไทย

ผมเคยเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์มาตั้งแต่ปี 2526 คือตั้งแต่เป็นนักเรียนแพทย์ แล้วลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ปี 2543 ก่อนมาอยู่พรรคไทยรักไทยในการเลือกตั้งปี 2544 หลังจากนั้นหากจะมีการเปลี่ยนพรรคก็เพราะถูกยุบพรรคเท่านั้นเอง จากไทยรักไทยมาเป็นพลังประชาชน มาเป็นเพื่อไทย

สส.นกแล ปี 2544 สู่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ปี 2566

เป็นเส้นทางสายอาชีพของความเป็นนักการเมือง เป็นผู้แทนราษฎร เราเป็นส.ส. เรามีโอกาสได้ทำหน้าที่ อย่างผมเป็นสส.สมัยแรกจบครบสมัยเลยนะ จากปี 2544 - 2548

สมัยนั้นรัฐธรรมนูญปี 2540 ห้าม สส. เป็นรัฐมนตรี แต่ให้สส.มาเป็นเลขารัฐมนตรีได้ คือเป็นข้าราชการการเมือง เป็นที่ปรึกษา เป็นเลขารัฐมนตรีได้

ปี 2547 ผมได้รับการแต่งตั้งเป็นเลขารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข, ปี 2548 เลขารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จะมีลำดับของมันอย่างนี้ ที่เราทำงานกันมา ต่อมาปี 2549 มีรัฐประหาร รัฐบาลไทยรักไทยถูกยึดอำนาจ พรรคไทยรักไทยถูกยุบพรรค

ปี 2550 มาเลือกตั้งใหม่ พรรคพลังประชาชนก็ถูกยุบพรรคอีกครั้งหนึ่ง ต่อมาพรรคเพื่อไทยเลือกตั้งอีกครั้งปี 2554 ได้รัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สมัยนั้นผมก็ได้รับการโปรโมตเสนอเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในสมัย 'ครม.ยิ่งลักษณ์ 4' ก็ไปเป็นรัฐมนตรีช่วย การทำงานก็จะเป็นลำดับอย่างนี้ พอปี 2557 รัฐบาลยิ่งลักษณ์ถูกยึดอำนาจ ก็ไม่มีการเลือกตั้ง

กระทั่งมาลงเลือกตั้งอีกครั้งปี 2562 ช่วงนั้นผมได้รับการเสนอชื่อเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ตอนปี 2564 หัวหน้าพรรคต้องไปเป็นผู้นำฝ่ายค้านก็ทำหน้าที่เป็นผู้นำฝ่ายค้าน พอปี 2566 มีการเลือกตั้ง สถานภาพที่เป็นอยู่ขณะนี้ ได้รับการเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรี ได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

สำหรับงานในรัฐสภา ผมเคยทำหน้าที่เป็นวิปรัฐบาล เป็นเลขานุการวิป อะไรต่างๆ ทำให้เรามีโอกาสได้ทำงาน งานกรรมาธิการก็อยู่กรรมาธิการที่เราถนัดเราชอบ เป็นกรรมาธิการการแพทย์ การสาธารณสุข ส่วนกรรมาธิการอื่นๆ ก็เข้าไปทำหน้าที่ อย่างกรรมาธิการวิสามัญพิจารณากฎหมาย เช่น หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ผมก็เป็น 1 ในกรรมาธิการชุดแรกๆ ที่ทำกฎหมายออกปี 2545 อันนี้เป็นการสั่งสมประสบการณ์และการทำงานมา

ไม่ใช่สูตินรีแพทย์ เป็นแพทย์ทั่วไปที่ทำคลอดมาเยอะในชีวิตความเป็นหมอ

การช่วยเหลือชีวิตคนในมุมของแพทย์มันมีหลายสถานการณ์นะ ทั้งอุบัติเหตุ ทั้งคนไข้ช็อกทั่วไป คนไข้มาคลอด อะไรต่างๆ ผมไม่ได้เป็นสูตินรีแพทย์ แต่ว่าช่วงที่ทำหน้าที่เป็นแพทย์ ก็ทำหน้าที่ในการทำคลอดเยอะมากๆ เพราะสมัยนั้นในโรงพยาลชุมชนต้องรับผิดชอบเกือบทุกอย่าง การส่งต่อจะน้อยมาก อย่างผมเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลนาหมื่น ขนาดสมัยนั้น 10 เตียง ขึ้นมาโรงพยาบาลนาน้อย 30 เตียง เราเติมเต็มศักยภาพในการดูแล เช่น สามารถผ่าท้องคลอดได้แล้ว ผมก็ทำหน้าที่ในการผ่าท้องคลอด

ถามว่าอะไรตื่นเต้นที่สุดสำหรับการช่วยชีวิตของแม่และลูก คือระบบการดูแลเราเนี่ย เราจะประเมินความเสี่ยงอยู่ตลอด ความเสี่ยงของคนตั้งครรภ์มีการตรวจครรภ์มาเป็นลำดับ เราจะรู้ว่าเขามีความเสี่ยงอะไร การเข้าสู่การคลอดเราจะประเมินอย่างละเอียดรอบคอบ เพราะฉะนั้นเนี่ย ความตื่นเต้นที่จะเกิดขณะไปเผชิญเหตุ แทบจะไม่มี เว้นแต่เราประเมินแล้วเช่นว่าเด็กคนนี้คลอดผิดธรรมชาติ แทนที่จะเอาหัวลง หัวกลับไม่ลงกลับเอาก้นลง เขาเรียกคลอดท่าก้นเนี่ยนะครับ อันนี้อาจจะต้องลุ้นหน่อยเพราะคลอดผิดท่าธรรมชาติ จะเป็นประเภทนี้มากกว่า ถ้าเราเองประเมินว่า เกินศักยภาพเรา เรามักจะส่งต่อ แต่น้อยมาก หมายความว่า คลอดปกติไม่ได้ คลอดธรรมชาติไม่ได้ เราก็ต้องใช้ผ่าตัดทางหน้าท้องช่วยคลอด ฉะนั้นจะจบแบบนั้นครับ

ผมเป็นแพทย์ทั่วไปครับ แต่ทำเรื่องนี้เยอะมากสมัยรับราชการเป็นหมออยู่ คนไข้แทบจะไม่ต้องส่งโรงพยาบาลทั่วไปเลย คลอดที่โรงพยาบาลของเราหมด

งานดูแลบุคลากรทางการแพทย์

เป็นหน้าที่ของกระทรวงอยู่แล้วนะครับที่จะต้องดูแลบุคลากรของตัวเอง ในเรื่องสุขภาพ สวัสดิการ ความก้าวหน้า พูดง่ายๆ กระทรวงสาธารณสุขเอง เป็นกระทรวงหนึ่งที่มีบุคลากรเยอะมาก ในสำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ข้าราชการพลเรือนมีคนอยู่ในระบบประมาณ 8 - 9 แสนคน กระทรวงสาธารณสุขมีบุคลากร 5 แสนกว่าคน มี 5 แสนกว่าคนแต่ไปยึดติดกับระเบียบ ก.พ. ซึ่งออกระเบียบคลุมทั่วประเทศ มันก็ไม่สอดคล้องสอดรับกับการทำหน้าที่ของข้าราชการของกระทรวงสาธารณสุข เราก็เลยถูกจำกัดเรื่องคน เรื่องอะไรต่างๆ เยอะแยะ ก็เลยต้องแก้ตรงนี้ กระทรวงสาธารณสุขก็มีแนวนโยบายที่ดูกำลังคนของเรา

อันแรกสุด ในเชิงโครงสร้าง เราจะผลักดันกระทรวงสาธารณสุขให้มีคณะกรรมการบริหารงานบุคคลเป็นของตนเอง ที่เราเรียกว่า กรรมการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลของกระทรวงสาธารณสุข หรือ 'ก.สธ.' ตรากฎหมายออกมารองรับ แยกจากสำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ออกมา

ชีวิตแพทย์เนี่ยเป็นชีวิตที่ พูดถึงภาระงาน ก็เป็นภาระงานที่หนัก เป็นชีวิตที่ทำงานแบบไม่มีวันหยุด คนไม่ได้เลือกป่วยใช่ไหมครับ เอาล่ะ โรคทั่วๆ ไปก็กำหนดวันเวลามาได้ แต่ว่า ภาวะเจ็บป่วยแบบเฉียบพลัน รุนแรง ฉุกเฉิน มีกันอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น ภาระงานแพทย์เนี่ยหนักแน่ๆ และอัตราแพทย์ต่อประชากรเรา โดยภาพรวมก็ยังไม่ถึงเกณฑ์กำหนด บางพื้นที่ก็ยิ่งห่าง เช่นบางจังหวัด ที่บึงกาฬ 1 ต่อ 6,000 นะ ขณะแพทย์เหมาะสมควรจะ 1 ต่อ 1,000 แต่ที่โน่น 1 ต่อ 6,000 อย่างนี้ คือการกระจายตัวของแพทย์อะไรต่างๆ ก็ยังไม่เหมาะสม เพราะฉะนั้น เราเองก็ให้ความสำคัญเรื่องนี้

ผมเข้ามาผมให้ความสำคัญเรื่องนี้ว่า ทำอย่างไรให้แพทย์ทำงานได้อย่างมีความสุข แพทย์ หมายถึงบุคลากรทางการแพทย์ทุกคนด้วยนะครับ คือ การทำงานของกระทรวงสาธารณสุขต้องทำงานเป็นทีม เช่น แพทย์ 1 คน ต้องมีพยาบาลอย่างน้อย 4 คนรองรับ มีคนที่ไม่ใช่แพทย์มาช่วย มีเจ้าหน้าที่อื่นๆ เช่น ห้องยา แล็ป อะไรต่างๆ เข้ามาจะเป็นทีม เพราะฉะนั้น องคาพยพเราต้องดูทั้งทีม

จากแพทย์ - ส.ส.นกแล - จนมาถึงรัฐมนตรีสาธารณสุข อะไรที่คุณหมอจะถือว่าเป็นความประสบความสำเร็จที่สุด จากที่ลำดับมาจนถึงในอนาคตอันใกล้

ผมไม่เคยคิดว่าอะไรประสบความสำเร็จนะ ไม่ได้วัดตรงนั้น แต่วัดว่าตัวเองมีโอกาสได้มาทำหน้าที่แล้ว ก็ต้องทำหน้าที่ตรงนั้นให้ดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็น สส. เป็นฝ่ายค้าน เป็นฝ่ายรัฐบาล เป็นผู้นำฝ่ายค้าน เป็นหัวหน้าพรรค เป็นรัฐมนตรีช่วย เป็นรัฐมนตรีว่าการ นั่นหมายความว่าเป้าหมายเรา ถ้าเราทำบรรลุเป้าหมาย หน้าที่ผม มีหน้าที่ที่จะมาดูแลสุขภาพพี่น้องประชาชนคนไทย ดูแลสุขภาพประเทศไทย ถ้ามิตินี้มันสำเร็จ ผมก็ถือว่าสำเร็จ ไม่ได้คิดว่าตัวเองสำเร็จหรือไม่สำเร็จนะสำหรับผม ผมวัดอย่างนั้น เอาเป้าหมาย และสิ่งที่เกิดขึ้นจากการทำหน้าที่ของตัวเองเป็นหลักมากกว่า

ถ้าจะต้องยืนยันว่า ขอให้เชื่อมือรัฐมนตรีชื่อคุณหมอชลน่าน จะสามารถพิสูจน์ได้จากอะไรที่ผ่านมา

พิสูจน์ได้จากอะไร ผมว่า คนเรามีที่มาที่ไป ไม่ใช่อยู่ๆ ก็เกิดขึ้นปุ๊บ เพราะฉะนั้น สิ่งที่ปรากฏขึ้นเป็นข้อเท็จจริง ปรากฏขึ้นในชีวิตผม ที่เป็นผู้แทนราษฎรมา ชีวิตรับราชการตั้งแต่ปี 2530 มา แล้วมาเป็นผู้แทนตั้งแต่ปี 2544 การทำหน้าที่ในส่วนที่ผมเกี่ยวข้อง ความมุ่งมั่น ความตั้งใจ ตรงนั้นก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถเอามาประเมิน และที่สำคัญ ที่จะประเมินต่อ คือเจตนารมย์ความมุ่งมั่นและทีมงาน องค์ประกอบสิ่งแวดล้อมในการทำงาน โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข บุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุข เป็นบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเก่งมาก เราในฐานะมาเป็นผู้บริหาร ถ้าเรารู้จักนำเอาความรู้ความสามารถเขาเหล่านั้นมาทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด นั่นคือ ความสำเร็จที่สุด