‘บิล เกตส์’ ในมุมมอง ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ บุคคลที่เป็นตำราทางความคิดตั้งแต่รั้วฮาวาร์ด

‘บิล เกตส์’ ในมุมมอง ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ บุคคลที่เป็นตำราทางความคิดตั้งแต่รั้วฮาวาร์ด

หนังสือ “ไม่สนว่าเก่งมาจากไหน” (New Edition) ที่เขียนโดย ทิม – พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้พูดถึง ‘บิล เกตส์’ อภิมหาเศรษฐีโลก ในฐานะคนบันดาลใจในเชิงความคิด และภาวะความเป็นผู้นำ

เพราะความเก่งกาจอาจไม่ใช่องค์ประกอบหลักเพียงอย่างเดียวในการใช้ชีวิต และมนุษย์จำเป็นต้องมีไอดอลทางความคิด เพื่อให้เกิดการพัฒนาตัวเอง ดังนั้นหนังสือ “ไม่สนว่าเก่งมาจากไหน” (New Edition) เขียนโดย ทิม – พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ทำให้เข้าใจว่า ‘คนบันดาลใจ’ สำคัญมาก เพราะความพยายามและกระหายสิ่งใหม่ ๆ มักจะเกิดขึ้นตอนที่เราไม่ทันได้ตั้งตัว อย่างเช่น ตอนที่ ทิม – พิธา บังเอิญเจอกับ ‘บิล เกตส์’ อภิมหาเศรษฐีโลก เมื่อครั้งที่เขายังเป็นนักศึกษาในรั้วฮาร์วาร์ด

โอ้ บิล เกตส์!

ทิม – พิธา ยังจำได้แม่นยำ วันที่ 21 เมษายน 2010 เขาได้มีโอกาสสนทนากับ บิล เกตส์ ซึ่งตอนนั้นเขามาที่ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในฐานะประธานมูลนิธิผู้ใจบุญ ผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิ Bill & Melinda Gates Foundation (BMGF) ซึ่งเขา เมลินดา ผู้เป็นภรรยา และวอร์เรน บัฟเฟตต์ เศรษฐียักษ์ใหญ่ของอเมริกาก่อตั้งมาด้วยกัน โดยมูลนิธิแห่งนี้เกิดขึ้นเพราะอยากช่วยเหลือเรื่องการป้องกันโรคร้ายต่าง ๆ เช่น มาลาเรีย โปลิโอ และเอดส์

ตอนนั้น บิล เกตส์ มีกำหนดการมาเสวนาเรื่องความยากจนที่นั่น และบทสนทนาเกือบ 5 นาทีระหว่างเขา และทิม – พิธา ทำให้รู้ทันทีว่า ชายผู้นี้ (บิล เกตส์) มีภาวะผู้นำสูงมาก

ภายในหนังสือเล่มนี้ ทิม – พิธา ได้ขยายความถึงมูลนิธิอันเป็นที่นักของ บิล เกตส์ ว่าพวกเขาทั้งสามอยากจะแก้ปัญหาเรื่องสินค้าเกษตร และภาวะโลกร้อนด้วย โดยมูลนิธินี้จะเน้นไปที่การวิจัยเรื่องการเพิ่มผลผลิตข้าว เทคโนโลยีดิน และเมล็ดพันธุ์ที่สมบูรณ์แบบ

นอกจากนี้ยังทุ่มเทรักษาและป้องกันโรคร้ายอย่างเต็มที่ เช่น มาลาเรีย ที่เป็นหนึ่งในปัญหาที่มูลนิธิของเขาให้ความสนใจ ทั้งที่จริงแล้วมาลาเรีย เป็นโรคที่ผู้คนในแถบอเมริกาหรือยุโรปไม่ค่อยคุ้นเคยเท่าไหร่ เพราะเป็นโรคในเขตร้อน

 

โรคคนยากจน?

ทิม – พิธา เดินเข้าไปหา บิล เกตส์ และถามด้วยความอยากรู้อยากเห็นตามประสานักศึกษาว่า

“จริง ๆ แล้วผู้คนที่ล้มตายด้วยโรคมาลาเรียเพราะเป็นโรคที่รักษาและป้องกันยาก หรือเพราะเป็นโรคคนจนกันแน่ครับ?”

บิล เกตส์ มองด้วยรอยยิ้มที่เป็นมิตร แล้วถามเขากลับว่า “แล้วคุณคิดอย่างไร?”

ในความคิดผมตอนนั้นคิดว่าคำตอบน่าจะเอนเอียงมาที่ “เพราะเป็นโรคคนจน” เสียมากกว่า เหตุผลคือไม่มีแรงจูงใจอะไรเลยที่บริษัทยาในประเทศฝั่งตะวันตกจะคิดค้นยารักษาโรคที่ไม่ค่อยได้เงินเหล่านี้

แน่นอนว่าสิ่งที่ทิม – พิธา คิด มันถูกต้องราวเขาอ่านความคิดของ บิล เกตส์ ได้ ซึ่งเขาอธิบายว่า “บริษัทยาส่วนใหญ่ชอบคิดค้นรักษาโรคเรื้อรัง เช่น คอเลสเตอรอล หรือเบาหวาน เพราะได้เงินมาก แต่ก็ว่าไม่ได้ เพราะทุกคนมีเจ้านาย มีผู้ถือหุ้น”

เขาถาม ทิม - พิธา อีกครั้งว่า “คุณมาจากไหน?”

“ประเทศไทยครับ”

“ผมเคยไป...อาหารไทยอร่อย แล้วคุณเรียนที่นี่...” บิล เกตส์ ยังพูดไม่ทันจบประโยค เพราะมีคนมาเรียกเข้าไปในประตูอีกด้าน ซึ่งหลังจากนั้น ทิม - พิธา ก็ไม่มีโอกาสได้สนทนากับเขาอีกเลย

เวลาสั้น ๆ เพียงเท่านั้น กลับทำให้ ทิม – พิธา รู้สึกถึงภาวะผู้นำบางอย่างในตัวเขาชัดเจน สายตาที่จ้องมา ความใส่ใจต่อเรื่องที่คุยกัน เขารู้สึกว่ามีความหมาย แม้ว่าอาจจะไม่ใช่เรื่องสำคัญอะไรมากนัก

โดยตลอดหลังจากนั้น บิล เกตส์ ได้เดินทางไปสนทนากับนักเรียนทั่วสหรัฐอเมริกา และพยายามสร้างความกระตือรือร้นแก่คนรุ่นใหม่ ให้ใช้พลังไปในทางสร้างสรรค์เพื่อแก้ปัญหาของโลก ไม่ใช่เพื่อตัวเอง แต่เพื่อคนอื่น โดยไม่มีข้อกำหนดด้านเชื้อชาติและภาษา

สิ่งที่บิล เกตส์ คิดและให้เหตุผลนั้น ทำให้ทิม – พิธา จดจำและนำมาเขียนลงในหนังสือเล่มนี้ เขาบอกว่า "อยากให้ผู้คนพูดถึงปัญหาความยากจน โรคร้าย และภาวะโลกร้อน ให้เหมือนกับเวลาที่คุยกันเรื่องตกปลา กีฬา และตลาดหุ้น เขาต้องการปลูกฝังเรื่องเหล่านั้นเข้าไปอยู่ในสายเลือดตั้งแต่เด็ก”

“คนรุ่นใหม่อย่างพวกคุณเท่านั้นคือทางออก ปัญหาต่าง ๆ ที่โลกกำลังเผชิญอยู่ คนรุ่นผมเป็นคนทำ แต่รุ่นพวกคุณต้องมาเป็นคนแก้ไข ผมต้องขอโทษแทนคนรุ่นผมด้วย” บิล เกตส์ ได้กล่าวประโยคนี้ตอนที่กล่าวปาฐกถา ก่อนจะกล่าวชื่นชมสิ่งประดิษฐ์ และโปรเจกต์ต่าง ๆ ที่เด็กเอ็มไอทีคิดค้นขึ้นมา

นอกจากนี้ บิล เกตส์ ยังพูดถึงคอมพิวเตอร์แล็ปท็อปราคาถูกในโครงการจัดการคอมพิวเตอร์ในราคาประหยัด (OLPC) ที่มีการมอบแล็ปท็อปเพื่อใช้เป็นสื่อการศึกษาให้แก่เด็ก ๆ ในประเทศยากจนทั่วโลก ถ้าจำไม่ผิด รัฐบาลไทยเคยเชิญเจ้าของโปรเจกต์นี้มาพูดและเคยคิดจะเข้าร่วม แต่ตอนหลังเงียบไป ผมคิดว่าโปรเจกต์นี้ หากรัฐบาลไม่ทำต่อก็น่าจะมีมูลนิธิหรือหน่วยงานเอกชนเข้าร่วม ไม่อย่างนั้นก็น่าเสียดายโอกาสดี ๆ แทนเด็กไทย

ทิม – พิธา ยังพูดถึงปัญหาในประเทศไทยว่า “ปัญหาเรื่องความขัดแย้งในประเทศ ทำให้ประเทศไทยก้าวช้าไปมาก หรือแทบจะเรียกว่าถอยหลังก็ได้ ยิ่งมีโอกาสได้ฟังเรื่องดี ๆ ที่ประเทศอื่นทำสำเร็จ ผมยิ่งหวั่นใจว่าเราจะมีโอกาสพัฒนาตัวเองให้ทัดเทียมกับชาติอื่นหรือไม่ โดยเฉพาะเยาวชนของชาติ เพราะยิ่งโอกาสสำหรับเยาวชนล้าหลังกว่าประเทศอื่นไปเท่าใด อนาคตของชาติก็ถอยหลังไปแบบยกกำลัง จนถึงอนันต์มากเท่านั้น”

ทิม – พิธา ยังพูดทิ้งท้ายในหนังสือ chapter นี้ด้วยว่า อยากให้ทุกคนทะเยอทะยาน เอาพลังที่มีในตัวมาช่วยกันแก้ปัญหา ปัญหาสังคม สิ่งแวดล้อม การศึกษา ก็สำคัญไม่แพ้ปัญหาการเมือง ตอนเด็ก ๆ พวกคุณคงเคยได้ยินบ่อย ๆ ว่า ‘การเมืองไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร’ เขาดีกันแล้ว เรายังเถียงกันอยู่เลย

“ต้องอาศัยพลังคนรุ่นใหม่นี่ละ ไม่ต้องรอให้ใครมาแก้ สังคมต้องอนุญาตให้มีความหลากหลาย ให้พลังใหม่ ๆ เข้ามาขับเคลื่อน”

หากถอดรหัสคำพูดของ ทิม – พิธา หลายต่อหลายครั้งที่เขาแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม บางทีก็เหมือนเห็นอีกร่างหนึ่งของ บิล เกตส์ อยู่ในนั้นเหมือนกัน เพราะความทะเยอทะยานที่ บิล เกตส์ หลงใหล ก็อาจจะไม่ต่างอะไรกับสิ่งที่ ทิม – พิธา แสดงออกอยู่บ่อย ๆ ซึ่งแง่มุมนี้จากวิชาฮาร์วาร์ดของ พิธา ที่ได้ถ่ายทอดจากประสบการณ์ของตัวเอง สะท้อนให้เห็นสิ่งที่เขาประทับใจในตัว บิล เกตส์ ได้ ตั้งแต่ความคิด, ภาวะความเป็นผู้นำ และสิ่งที่บิล เกตส์ ปรารถนา

อย่างไรก็ตาม ยังมีนักธุรกิจอีกหลายคนที่ ทิม – พิธา พูดถึงในเล่มนี้ เช่น สตีฟ จอบส์ และ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ดังนั้น ความคิดจากรั้วฮาร์วาร์ดของ พิธา อาจไม่ได้มาจาก บิล เกตส์ เพียงคนเดียว แต่น่าจะมาจากบุคคลสำคัญทางความคิดหลายคน จนเป็น ทิม - พิธา ในเล่มฉบับปรับปรุงนี้

 

ภาพ: The People

อ้างอิง: หนังสือไม่สนว่าเก่งมาจากไหน (ฉบับปรับปรุง) โดย ทิม พิธา