07 มิ.ย. 2567 | 15:00 น.
KEY
POINTS
เมื่อโลกทุกวันนี้หมุนไวขึ้นทุกวัน ทว่าในขณะเดียวกัน โลกที่เคยกว้างใหญ่ก็บีบแคบลงและผลักให้ประชากรทุกคนมุ่งหน้าสู่การเป็น ‘ประชากรโลก’ (Global Citizen) ด้วยเหตุนั้น คำถามสำคัญที่ว่าทักษะสำคัญที่ต้องมีสำหรับประชาชนไทยเพื่อเตรียมรับมือกับโลกในอนาคตนั้นมีอะไรบ้าง และใน งาน Creative Talk Conference 2024 ใน Session ‘Essential Skills for the Future of Thailand’ โดย ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ ก็ฉายภาพที่น่าสนใจและชวนคิดต่อในประเด็นเหล่านั้น
การจะมองเห็นภาพว่าในอนาคตทิศทางที่ประเทศจะมุ่งหน้าไปหรือทักษะของประชากรจะกลายเป็นที่ต้องการในอนาคตจะมีรูปร่างหน้าตาเป็นแบบไหนก็ต้องเริ่มจากการมอง ‘ความสามารถภายใน’ (Internal Capability) และเชื่อมมันเข้ากับ ‘ปัจจัยแวดล้อมภายนอก’ (External Environment) เพื่อจะทำให้เราเห็นภาพว่าทรัพยากรหรือความสามารถที่เราถืออยู่ในปัจจุบัน จะสามารถนำไปพัฒนาต่อหรือสร้างประโยชน์เพื่อตอบโจทย์ในอนาคตได้อย่างไรบ้าง
“มันก็คือ SWOT Analysis นี่แหละครับ”
หรือหากกล่าวในอีกวิธีหนึ่ง มันก็คือการมองประเทศไทยผ่านการประเมิน จุดแข็ง (Strength), จุดอ่อน (Weakness), โอกาส (Opportunity) และภัยคุกคาม (Threat) เพื่อนำปัจจัยทั้งหมดมาวิเคราะห์ จนได้เกิดเป็น 30 อาชีพในอนาคตจากมุมมองของพิธา ที่จำแนกออกเป็น 3 ประเภท ตามคอนเซปต์ ‘เศรษฐกิจ 3 สี’
เศรษฐกิจ 3 สีที่ว่าก็จะประกอบไปด้วย Green Economy, Silver Economy และ Blue Economy ซึ่งแต่ละประเภทก็จะแบ่งออกตามปัญหาหรือความต้องการที่จะเกิดขึ้นหรือหนักขึ้นในอนาคต จนอาจทำให้มีอาชีพใหม่ ๆ มากมายเป็นที่ต้องการมากกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็น Green Economy ที่ว่าด้วยเรื่องของสิ่งแวดล้อม ; Silver Economy การมาถึงของสังคมผู้สูงอายุ ; รวมถึง Blue Economy ปัญหาเรื่องน้ำและการจัดสรรทรัพยากรน้ำของประเทศ
“30 อาชีพที่กล่าวมานี้ จะตรงหรือไม่ตรงไม่ใช่ประเด็น แต่ประเด็นมันอยู่ที่กระบวนการคิดว่าในอนาคตประเทศไทยจะเป็นอย่างไร”
ในหลาย ๆ ครั้ง การจะหาหนทางข้างหน้าที่จะขยับประเทศไทยให้เป็นแนวหน้าหรือเท่าทันประเทศอื่น ๆ ‘จุดแข็ง’ ถือเป็นสิ่งที่ใคร ๆ ต่างก็มุ่งความสนใจไปที่นั่น ทว่าจากมุมมองของพิธา การจะมุ่งหน้าไปสู่การพัฒนาและปรับตัวเพื่ออยู่รอดนั้น ‘จุดอ่อน’ ก็ถือเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน หรือในบางคราวอาจจะสำคัญมากกว่าเสียด้วยซ้ำ
แต่การมองจุดอ่อนเพื่อหาทางอุดรอยรั่วหรือหาวิธีการแก้ไขอาจไม่กว้างพอสำหรับเตรียมตัวสู่โลกอนาคต แต่ต้องมองจุดอ่อนเพื่อหา ‘โอกาส’ ให้เจอจาก Pain Point ทั้งหลายและเปลี่ยนให้มันเป็นจุดแข็งที่จะสร้างประโยชน์ให้กับเราในอนาคตด้วย มันคือแก้ไขจุดอ่อนและต่อยอดมันจนกลายเป็นนวัตกรรมของประเทศที่อาจกลายเป็นจุดแข็งในอนาคตได้
“ผมคือเป็ดที่สามารถยิงทิ้งได้
หากคำตอบของผมมันไม่ใช่”
สิ่งที่พิธาพยายามจะสื่อสารกับผ่านหัวข้อนี้อาจไม่ได้พยายามบอกว่าในอนาคตประเทศไทยจะดำเนินไปตามเส้นทางของเศรษฐกิจ 3 สี แต่เขาพยายามฉายให้เราเห็นถึงผู้นำที่มีวิสัยทัศน์และเป้าหมายในการพัฒนา (Framework Thinking) ว่าประเทศไทยจะมุ่งหน้าไปในทิศทางไหน ด้วยวิธีอะไร เพื่อจะพาเราถึงจะได้ไปถึงเป้าหมายที่ต้องการ
เพราะมันไม่ได้สำคัญว่าคำตอบของพิธาจะถูกหรือเปล่า แต่สำคัญที่ว่าวิธีของเขาเปิดพื้นที่ให้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญกว่าเขาได้มีสิทธิ์ในการ่วมกันแก้ไขและพาประเทศไปสู่เป้าหมายที่วางเอาไว้ได้สำเร็จ และนี่คือขั้นตอนในการคิดและเบื้องหลังชิ้นส่วนของวิสัยทัศน์ที่ประกอบร่างเป็นผู้นำในแบบ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’
“ผมว่าการทำงานกับคนหลาย ๆ รุ่น
สิ่งที่สำคัญคือ Expectation Management
หรือการจัดการความคาดหวัง”
อีกทักษะหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับผู้นำรุ่นใหม่ที่ต้องสื่อสารและทำงานกับคนมากมายหลายรุ่น ไม่ว่าจะผู้คนในทีมหรือผู้บริหารที่สูงกว่า สิ่งสำคัญคือต้องรู้จักทักษะการจัดการทั้งสองรูปแบบไม่ว่าจะเป็น ‘Downward Management’ และ ‘Upward Management’ ที่จะทำให้สถานการณ์การเป็น ‘แซนด์วิช’ ของผู้นำระดับกลางสามารถรับมือได้
“ผมรู้ตัวเองว่าผมมีอะไรและเขาไม่มีอะไร”
นอกจากนั้นพิธาก็ได้เล่าต่อถึงประสบการณ์ส่วนตัวจากเส้นทางการเดินหน้ามาสู่ผู้นำ ว่าเขารู้ว่าตัวของเขามีอะไรและสิ่งที่ผู้นำของเขายังขาดอยู่คืออะไร และหน้าที่ของเขาก็คือการอุดรอยรั่วเหล่านั้นให้ดีที่สุด และจุดนี้เองก็นำไปสู่การเตรียมตัวในการประชุมครั้งต่าง ๆ ของพิธาที่ ‘เตรียมตัว’ ในสิ่งสำคัญที่พร้อมที่เกี่ยวโยงกับการประชุมเหล่านั้นให้มากที่สุด แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่หลาย ๆ คนอาจมองข้าม หรือไม่ได้ให้ความสนใจมากไปกว่าสัดส่วนที่ตัวเองรับผิดชอบ
จากจุดนี้เอง จึงทำให้พิธาถูกจดจำให้ฐานะ ‘Data Guy’ (มนุษย์ข้อมูล) จนทำให้การประชุมในแต่ละครั้ง ‘ขาดเขาไม่ได้’ และทำให้บทบาทของพิธาที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับทิศทางขององค์กรมีความสำคัญมากขึ้นเอง
นอกจากนั้นพิธาก็ยังเสนอเพิ่มเติมว่าสิ่งสำคัญที่ผู้นำรุ่นใหม่ควรมีคือทักษาะ ‘การวิเคระห์’ (Analysis) และ ‘การสื่อสาร’ (Communication) มีผู้นำมากมายที่มีอย่างใดอย่างหนึ่งในนี้ แต่พิธามองว่าสิ่งสำคัญของการเป็นผู้นำในยุคสมัยนี้และต่อไปข้างหน้า ต้องสามารถทั้งวิเคราะห์และสื่อสารเหล่านั้นออกมาได้ และทั้งสองทักษะนั้นจะกลายเป็นตัวช่วยสำคัญที่จะขยับเราไปสู่โลกในอนาคตได้ดีแม้อายุยังน้อย
กรณีศึกษาจากประสบการณ์ส่วนตัวเมื่อ 20 ปีที่แล้วของพิธา พยายามขะชี้ให้เราเห็นว่าการที่ใครสักคน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ที่จะเป็นผู้นำได้ ไม่จำเป็นต้องรอให้มีตำแหน่ง ‘ผู้นำ’ ระบุอยู่ข้างหน้าก่อน ถึงจะเป็นได้ เพราะแม้คุณไม่ได้มีตำแหน่งผู้นำ แต่หากศักยภาพและการเตรียมตัวมีความสำคัญกับการเดินทางไปข้างหน้าขององค์กร
คุณก็เป็นผู้นำได้ โดยไม่ต้องมีตำแหน่ง…
“อนาคตของพรรคก้าวไกลจะเป็นอย่างไร?”
คือหนึ่งในำคำถามที่ถูกถามใน Session ที่เรากำลังพูดถึงอยู่นี้ ซึ่งคำตอบของพิธาก็ถูกย่อยออกมาเป็นประโยคที่สามาระเข้าใจได้ง่าย ๆ ว่า
“เราเชื่อใน Substance มากกว่า Form”
พิธาเล่าว่าหลักสำคัญที่ตัวเขาและพรรคก้าวไกลยึดถือคือ ‘Substance’ หรือแก่นแท้ภายในของพรรคซึ่งก็คือแนวคิด คอนเซปต์ และหลักการที่พรรคยึดถือมากกว่า ‘Form’ หรือเนื้อหนังภายนอก ซึ่งก็คือชื่อพรรค โลโก้ หรือแม้แต่ผู้นำ เพราะตราบใดที่ Substance ยังคงอยู่ แม้ว่า Form จะเปลี่ยนไปมากมายแล้ว แนวคิดและการต่อสู้ของพรรคก็คงเดินหน้าต่อไปเช่นเดิม
แม้ว่าผลลัพธ์ที่กำลังคืบคลานเข้ามานั้นจะเป็นอย่างไร และถึงแม้ว่ามันจะเป็น Worst-Case Scenario สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ Form จะเปลี่ยนไป แต่ท้ายที่สุดแล้ว Substance ที่ดำเนินมาตั้งแต่แรกก็ยังจะเดินหน้าต่อไปแบบเดิม
“ความอปกตินี้ทำให้ประเทศวิ่งเหมือนเข็มนาฬิกา…”
พิธายังเสริมภาพที่ถึงการเมืองไทยอีกว่าความผันผวนการเมือง การรัฐประหาร และการยุบพรรค แม้จะเป็นวังวนที่ใครหลายคนคุ้นเคย แต่สิ่งเหล่านี้มันคือตัวบ่งชี้ว่าการเมืองของประเทศไทยนั้น ‘Futile’ หรือเป็นระบบที่ไม่สามารถพาตัวเองไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีกว่าเดิมได้เลย และทำให้ปัญหาเหล่านี้วนเวียนไม่จบสิ้น แม้หลายทศวรรษจะเคลื่อนผ่านไปก็ตาม
และวงจรที่ว่านี้ก็จะส่งผลกระทบต่อชีวิตเราในหลาย ๆ แง่ ไม่ว่าจะเป็นการเมือง เศรษฐกิจ และความเป็นอยู่อย่างที่เราทราบกัน แต่ผลกระทบระยะยาวที่จะทำให้เราถลำลึกไปมากกว่าเดิมคือวังวนนี้จะกัดกินช่องว่างทางความคิดหรือความสนใจของเราที่จะนึกถึงหนทางในอนาคตหรือแนวทางการพัฒนาตัวเอง (Self-Development) มันจะทำให้เราไม่มีสมาธิไปมองไปในอนาคตอันกว้างไกลได้เลยเพราะปัญหาที่คาราคาซังอยู่ในปัจจุบัน
“คติประจำใจของผมคือ ‘This too shall pass - แล้วมันจะผ่านไป’...”