ไก่ – ณฐพล บุญประกอบ เป็นที่รู้จักจากการกำกับภาพยนตร์สารคดี 2,215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว (2561) ตามติดชีวิตตลอด 55 วันของ อาทิวราห์ คงมาลัย หรือ ตูน Bodyslam ระหว่างโครงการ “ก้าวคนละก้าว” เพื่อ 11 โรงพยาบาลทั่วประเทศ
แต่ก่อนหน้านี้เขาอยู่เบื้องหลังในฐานะช่างภาพ รวมไปถึงคนเขียนบทช่วย หมู – ชยนพ บุญประกอบ พี่ชายแท้ ๆ ในการสร้างภาพยนตร์มาแล้วถึง 2 เรื่อง Suck Seed ห่วยขั้นเทพ (2554) และ เมย์ไหน..ไฟแรงเฟร่อ (2558)
ด้วยความสนใจในด้านผลิตภาพยนตร์สารคดี เขาตัดสินเดินทางศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่ School of Visual Arts, New York สาขา Social Documentary Film ก่อนกลับมาผลิตภาพยนตร์สารคดีสั้นหรือวิดีโออาร์ทออกมามากมาย ซึ่งล้วนแล้วมีนัยยะทางสังคม เช่น วิดีโอสั้น 17 เพื่อเรียกร้องให้สังคมตระหนักถึงกรณีวิสามัญฆาตกรรม ชัยภูมิ ป่าแส หรือ Like a Virgin : เสีย(ง)บริสุทธิ์ ร่วมกับ พวงสร้อย อักษรสว่าง เสียงสัมภาษณ์ของวัยรุ่นในการเลือกตั้งครั้งแรก
ทำไมเขาถึงสนใจภาพยนตร์สารคดี แล้วสารคดีมีพลังในการเปลี่ยนแปลงสังคมขนาดไหน นี่คือสิ่งที่ The People คุยกับเขาในวันนั้น
[caption id="attachment_10346" align="alignnone" width="1200"]
ไก่ – ณฐพล บุญประกอบ[/caption]
The People: พี่ชาย หมู – ชยนพ บุญประกอบ สอนอะไรเกี่ยวกับภาพยนตร์บ้างไหม
ณฐพล: ไม่สอนครับ ผมเลียนแบบพี่หมูอย่างเดียวตั้งแต่เด็กเลย พี่หมูชอบวาดรูป ผมก็วาดตาม พี่หมูอ่านการ์ตูน ผมก็อ่านตาม เข้ามัธยมฯ พี่หมูเริ่มเล่นดนตรี ผมก็เล่นดนตรีตาม เข้ามหาวิทยาลัยพี่หมูดูหนัง ผมก็ดูหนังตาม ผมเรียนโรงเรียนเดียวกับเขา เอกเดียวกับเขา เข้านิเทศ จุฬาฯ เหมือนเขา แถมเอกฟิล์มเหมือนกันอีก จบออกมาทำหนังด้วยกัน เขาไม่สอนอะไรผมหรอกครับ ผมเลียนแบบอย่างเดียว
อาจเพราะเราชอบอะไรเหมือน ๆ กัน แต่พอเติบโตรายละเอียดความชอบก็แตกต่างกันนะ พี่หมูชอบไปทางดนตรี ผมชอบอ่านหนังสือมากกว่า มันจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไปตามเวลาและความชอบ
The People: เคยมีความคิดว่าคุณอยู่ใต้ร่มเงาของพี่ชายตัวเองบ้างไหม
ณฐพล: ไม่นะ แต่ตอนเด็กพี่หมูเคยเกลียดผมว่า “มึงเลียนแบบกูทำไม” (หัวเราะ) แต่ผมมองว่าเขาเป็นตัวอย่าง และโชคดีด้วยซ้ำที่พี่หมูเป็นคนชอบลองทำอะไรใหม่ ๆ อยู่เสมอ เช่น ชอบฟัง Fat Radio ซึ่งตอนนั้นไม่มีเพื่อนคนไหนฟังเลย ทำให้เราได้ฟังเพลงของ Siam Secret Service พอไปคุยเพื่อนก็ไม่มีใครได้รู้จัก ผมก็ต้องขอบคุณเขา
แล้วทุกวันนี้ถ้ามีคอมเมนต์อะไร เขาก็จะมีอิทธิพลในการคอมเมนต์งานของผมเสมอ แต่ผมก็ไม่ได้ให้เขาคอมเมนต์อะไรหรอก (หัวเราะ) ความที่เราเติบโตมาด้วยกัน คลื่นความชอบก็คลื่นเดียวกัน ทำให้รู้ว่าคิดอะไรกันอยู่ ผมก็รู้ว่าเขาคิดอะไร
จุดที่เริ่มแตกต่างจากพี่หมูคือช่วงเวลาที่ผมดูหนังเยอะขึ้น ตอนเข้าปีหนึ่งผมเจอเพื่อน อุ้ย – รัชฏ์ภูมิ (บุญบัญชาโชค) มันดูหนังแบบ...อะไรวะ เจอกันวันแรกมันถามว่าชอบดูหนังเรื่องอะไร ผมก็ตอบว่า Be With You (2004) เพราะเพิ่งดูไป ส่วนอุ้ยบอก Three Colors : Blue / White / Red ไตรภาคที่ดีที่สุดในโลก ผมก็แบบ…อะไรวะ! ทำให้ผมเริ่มทำความรู้จักหนังใหม่ ๆ มากขึ้น เริ่มดูหนังที่ไม่มีฉายตามโรง และดูหนังด้วยตัวเองมากขึ้นจนถึงวันนี้
The People: มีหนังหลากหลายประเภท ทำไมคุณถึงสนใจภาพยนตร์สารคดีเป็นหลัก
ณฐพล: ผมเป็นคนอินกับประเด็นสังคม เริ่มตั้งแต่สมัยออกค่ายอาสา ซึ่งถ้ามองย้อนกลับไปว่าอะไรที่ทำให้ชีวิตหันเหมาทางนี้ คำตอบก็คือการออกค่ายอาสานี่แหละ มันทำให้เราออกจากกรอบของตัวเองในเมืองหลวง ทำให้เราตั้งคำถามว่าเราอยู่ตำแหน่งไหนของสังคม
การออกค่ายอาสาเหมือนพาเราว่ายไปแตะขอบสระ ทำให้เห็นว่าชีวิตชาวบ้านทำไร่ข้าวโพด โดนโกงฉิบหาย ไปนอนบ้านชาวบ้าน กินลูกอ๊อด ฯลฯ พอเราเห็นแล้วก็รู้สึกว่าอยากทำงานที่สร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมบางอย่าง ขณะที่ขาหนึ่งทำงานเอนเตอร์เทนเมนต์ อีกขาหนึ่งระหว่างจบก็ทำงานกับ NGOs ควบคู่กันไป
ส่วน turning point อีกจุดหนึ่งคือตอนน้ำท่วมปี 49 ผมมีส่วนร่วมในการทำแอนิเมชันปลาวาฬ “รู้สู้ Flood” งานนั้นทำให้เห็นเลยว่า จากที่ไม่ได้คาดหวังผลลัพธ์อะไรมาก แค่ทำให้เพื่อนดู ทำให้แม่ดู แต่ปรากฏ impact ของงานไปไกลกว่าที่เราคาดหวังไว้ ฉะนั้นงานเอนเตอร์เทนเมนต์ที่เราทำ เมื่อมันถูกประกบกับคอนเทนท์ที่มันมีความหมายบางอย่าง มันสร้างการเปลี่ยนแปลงบางอย่างได้
กระทั่งเริ่มดูสารคดีเพราะมันตั้งคำถามที่เรารู้สึกว่าหาคำตอบไม่ได้ เหมือนหนังสารคดีเรื่อง If a Tree Falls: A Story of the Earth Liberation Front (2011) เกี่ยวกับขบวนการก่อการร้ายด้านสิ่งแวดล้อม เป็นพวกหัวรุนแรงด้านสิ่งแวดล้อม เขามองว่าการส่งจดหมายหาผู้แทนมันช้าเกินไป เขาก็เลยเผารีสอร์ตสกีหรือวางระเบิดโรงแรมแทน นับเป็นกลุ่มที่รุนแรงมาก แล้วหนังก็ตามติดคนที่อยู่ในขบวนการนี้ มันเป็นคำถามที่เราตอบไม่ได้เลยจริง ๆ ว่า “ถ้าเรารักโลก เราควรจะตอบโต้สิ่งเหล่านี้ด้วยวิธีไหนกันแน่” สารคดีตั้งคำถามได้น่าสนใจ หลังจากนั้นก็เริ่มดูสารคดีเยอะขึ้น
โลกสารคดีมันลึกลับสำหรับผม ผมไม่รู้ว่าเขาทำอย่างไร เบื้องหลังการเดินทางของสารคดีแต่ละเรื่องมันคืออะไร เขาคิดจากอะไร ตอนทำเขาเจอกับอะไรบ้าง แล้วสุดท้ายมันถึงออกมาเป็นหนังได้
The People: อะไรคือเหตุผลให้คุณตัดสินใจเดินทางไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทที่ School of Visual Arts, New York สาขา Social Documentary Film
ณฐพล: จริง ๆ ผมไปเรียนเพราะว่า เบนซ์ – ธนชาติ (ศิริภัทราชัย) เขาเขียนหนังสือ “'NEW YORK 1st TIME” ซึ่งเบนซ์กับผมโตด้วยกันมาตั้งแต่ประถมฯ พอมัธยมฯ ก็อยู่แก๊งเดียวกัน วันหนึ่งมาอ่านหนังสือแล้วก็ถามตัวเองว่า “นี่เราทำอะไรอยู่เนี่ย” ทำไมเขาถึงเก่งขนาดนี้
ผมอยากเรียนต่อตั้งแต่เรียนจบแล้ว แต่ยังก้ำกึ่งระหว่างสายตากล้องกับสายผู้กำกับ จะเรียนกำกับภาพหรือกำกับดี เราไม่แน่ใจว่าจะเรียนอะไรกันแน่ แต่ก็ยังมีความรู้สึกว่าอยากไปเจอสิ่งที่เราไม่คุ้นเคย พอรู้ตัวเองว่าเริ่มสนใจสารคดี รู้ว่าโรงเรียนที่เบนซ์ไปนั้นมีสาขาสารคดีด้วย ก็เริ่มมองว่าการเรียนสารคดีน่าสนใจดี ไปดูหลาย ๆ โรงเรียนจนกระทั่งสุดท้ายก็มาเรียนโรงเรียนเดียวกับเบนซ์นั่นแหละ
น่าเสียดายที่การเรียนสารคดีที่นั่นค่อนข้างเป็น project base ไม่ได้นั่งฟังเลกเชอร์หรือเรียนทฤษฎีมากมาย มันคือการทำงานแล้วทุกคนก็มาถกเถียงกันว่างานคุณเป็นยังไง พัฒนางานกันยังไงดี แก้ปัญหาทีละจุด เป็นการคุยกับเพื่อนเรื่องงาน ดูว่างานคนอื่นเป็นไง แล้วแก้ปัญหาไปพร้อม ๆ กัน
The People: คาดหวังอะไรจากการไปเรียนครั้งนั้น
ณฐพล: คาดหวังว่าจะต้องเจอเพื่อนทุกคนที่เก่ง มีหัวศิลปะ อาจารย์ที่เชี่ยวชาญเชิงศิลปะ ทุ่มเทเวลาในการสอน มันมีบ้างแต่เปอร์เซ็นต์อาจจะน้อยหน่อย ก็เลยรู้สึกว่าทิศทางของโรงเรียนมันเป็นอุตสาหกรรมมากไป เหมือนฝึกคนให้อยู่ในอุตสาหกรรมสารคดีในสหรัฐอเมริกาให้ได้ ซึ่งมันก็เป็นข้อดีนะ เราจะได้เห็นวิธีการทำธุรกิจจัดจำหน่าย เข้าใจสภาพแวดล้อมของอเมริกามากขึ้น แต่มันขาดด้านศิลปะมากไป เราก็อาศัยการเรียนนอกห้องเรียนมาทดแทน
สารคดีทั่วไปจะโฟกัสเรื่องคาแรคเตอร์ เรื่องคนเป็นหลัก ซึ่งไม่ผิด แต่สารคดีจริง ๆ มันจริงมันกว้างกว่านั้น
The People: ที่ว่าได้เรียนรู้นอกห้องเรียนด้วย คุณได้สัมผัสอุตสาหกรรมภาพยนตร์สารคดีของสหรัฐฯ บ้างไหม
ณฐพล: ผมเพิ่งไปเวิร์กช็อปที่ลอส แอนเจลิส มา ทาง American Film Showcase เอาตัวแทนจาก 11 ประเทศมาเวิร์กช็อปเรื่องจัดจำหน่ายและเรื่องการหาทุน โดยในคลาสเขาค่อนข้างเน้นเรื่องธุรกิจ พูดเรื่องการโปรดิวซ์ การหาทุนหาจากแหล่งไหน ซึ่งผมคิดว่าปัจจัยหลักคือเงินทุนเหมือนงานสร้างสรรค์ศิลปะทุกประเภทแหละ คือแหล่งทุนมาจากไหน ซึ่งมันสอดคล้องกับมุมมองที่คนมีต่อสารคดี
ในบ้านเรา คนมักมองสารคดีในรูปแบบค่อนข้างจำกัด เป็นการสอน เป็นงานวิทยาศาสตร์ เป็นงานธรรมชาติ หรือมีลุงคนหนึ่งมานั่งเล่าบรรยาย ซึ่งมันก็ไม่ผิด แต่มันก็เป็นรูปแบบหนึ่งเท่านั้น เพราะสารคดีมันกว้างไปกว่านั้นมาก ธรรมชาติในการสร้างงานก็ไม่เหมือนกัน
สารคดีบางประเภทจะมีบทชัดเจน แล้วเราก็ถ่ายไปตามสิ่งที่ได้รับมา เช่น ตามทฤษฎีวิทยาศาสตร์ แต่บางสารคดีที่พูดถึงมนุษย์ สังคม หรือให้แรงบันดาลใจ มันต้องมีทุนที่ยืดหยุ่น (flexible)
ในไทยจะมีทุนอิสระจากกระทรวงวัฒนธรรมซึ่งน้อยมาก ทุนจากกระทรวงจะคล้ายกับทุนเมืองนอกคือ เราทำ proposal ส่งไป แล้วเขาจะให้ทุนเรา แต่เขาจะไม่คาดหวังว่าผลลัพธ์ของหนังที่ออกมาตรงกับ proposal หรือเปล่า มันเหมือนทุนให้เปล่า ซึ่ง proposal ให้เขาเห็นความตั้งใจของสิ่งที่จะเกิดขึ้น
ทีนี้ทุนของกระทรวงหรือทุนเมืองนอกที่ใกล้เคียงกันเพราะว่า ทุนเมืองนอกจะมีหลายช่วงเวลา (phase) มีทั้งทุนสำหรับการพัฒนา ทุนสำหรับการถ่ายทำ หรือทุนสำหรับกระบวนการหลังถ่ายทำ ฉะนั้นเวลาไปถ่ายทำถ้าเราเจอทางตัน เปลี่ยนประเด็น หรือแตกประเด็นไปจากเดิม เราไม่จำเป็นต้องไปตอบคำถามของคนให้ทุนนั้น พอหนังถูกพัฒนาแบบ organic จนถึงกระบวนการสุดท้ายจริง ๆ แล้ว สารคดีอาจไม่เป็นเหมือน proposal เลยก็มี
นั่นคือเสน่ห์ของสารคดี นั่นคือสิ่งที่ขาดในเมืองไทย เพราะคนไม่รู้ว่าความคาดหวังที่ควรมีต่อสารคดีคืออะไร มันอาจถูกจำกัดไปด้วยมุมมองบางอย่าง สุดท้ายมันก็กลับมาเรื่องโจทย์ทางวัฒนธรรมที่ว่า ความเข้าใจที่คนในสังคมมีต่อสารคดีคืออะไร ถ้าสิ่งนี้มันกว้างขึ้น ทุนก็จะกล้าให้มากขึ้น มันเป็นปัจจัยส่งเสริมซึ่งกันและกัน
[caption id="attachment_10347" align="alignnone" width="1200"]
ไก่ – ณฐพล บุญประกอบ[/caption]
The People: คุณเคยบอกว่า สารคดีคือ “Impression ของความจริง” มันคือยังไง อธิบายเพิ่มเติมให้ฟังหน่อย
ณฐพล: การที่เราเรียนเลขมาแล้วเติบโตในสังคมที่เรียนแบบท่องจำ เราจะบอกว่า “สารคดี = ความจริง” ซึ่งเครื่องหมาย “เท่ากับ” นี้มันลดทอนความซับซ้อนในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างคำว่า “สารคดี” และ “ความจริง” ไปเยอะมาก เราโตมาในสังคมที่ขาวจัด-ดำจัด เราโตมาในสังคมที่บอกว่า A เท่ากับ A และ B เท่ากับ B และไม่มี A เท่ากับ B พูดง่าย ๆ คือมันไม่มีแง่มุมอื่นในคำตอบนั้นเลย
การตอบคำถามว่า “สารคดี = ความจริง” คืออะไร มันต้องอธิบายด้วยกระบวนการของการทำงาน คิดง่าย ๆ ว่ามุมมองหรือนิยามที่เรามีกับความจริงคืออะไร เพราะเมื่อคุณยกกล้องเท่ากับการเลือกมุมมอง เราจะเป็นคนให้นิยามนั้น ๆ ให้ความหมายกับมุมมองนั้น ๆ หรือเป็นความจริงตรงหน้านั้น
The People: เป็นความจริงของคนถือกล้อง?
ณฐพล: ใช่ หรือความจริงของคนเล่า ถ้าอธิบายให้เห็นภาพสุดเราจะบอกว่า คนทำหนังสารคดีคือทนาย ทนายในชั้นศาลมีเรื่องราวของตัวเอง มีหลักฐานของตัวเอง รวบรวมมาแล้วก็โน้มน้าวให้คณะลูกขุนตัดสินว่าเชื่อหรือไม่เชื่อ อินหรือไม่อิน จะถามว่าทนายพูดความจริงหรือเปล่า ทนายพูดจริงนะ แถมทนายอีกฝั่งก็พูดความจริง แต่ความจริงใครน่าเชื่อถือที่สุด นี่ก็คือ storytelling
คำถามว่า “สารคดีคือเรื่องจริงหรือเปล่า” มันไม่ใช่คำถาม มันไม่ควรถูกถาม เพราะการบอกว่า “สารคดี = ความจริง” เป็นการหลอกตัวเอง เพราะคำว่า “ความจริง” มันคืออำนาจ คือการบอกว่ากูพูดเรื่องจริง แต่มันมีวงเล็บที่บอกว่ามึงต้องเชื่อกู เพราะกูพูดเรื่องจริง ขณะเดียวกันในวงเล็บนั้นมีอะไรมากมายนับไม่ถ้วนที่ว่าตัดทอนออกไป
The People: หลังจากทำงานเบื้องหลังมาสักระยะ คุณรู้สึกอย่างไรที่ได้ขยับขึ้นมากำกับภาพยนตร์สารคดีเรื่องแรกของชีวิต 2,215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว
ณฐพล: ไม่ค่อยกดดันเท่าไหร่นะ thesis จบการศึกษาของผมมันหนักกว่าอีกเพราะต้องทำคนเดียวเป็นหลัก แต่หนังเรื่องนี้มีทีมงาน มีสตูดิโอ ถึงแม้เหนื่อยจากการออกกอง แต่เรารู้สึกว่าไม่ได้ทำคนเดียว
พอเป็นสารคดีที่มี subject เป็นพี่ตูน เราจะไม่ใช่เจ้าของเรื่องนี้ ต่างจากคนทำ fiction ที่คุณจะเป็นเจ้าของโลกใบนั้น คุณต้องตอบได้ทุกคำถามเกี่ยวกับโลกใบนี้ แต่เราถ่ายทอดเรื่องของพี่ตูน เรื่องของโครงการก้าวคนละก้าว มันจะเป็นความรู้สึกคนละแบบ
เราว่าความสัมพันธ์ในครอบครัวเป็นความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้ง ลึกลับมาก ๆ แล้วมันเป็นความสัมพันธ์พื้นฐานสุดที่เรามี มันหล่อหลอมให้คนคนหนึ่งเกิดมาได้ ถ้าพูดในหนังเรื่องนี้ ส่วนที่น่าสนใจสุดของปรากฏการณ์ก้าวคนละก้าวคือ อะไรทำให้คนคนหนึ่งเกิดมาแล้วคิดแบบนี้ได้วะ สภาพแวดล้อมแบบไหนวะ เราเลยรู้สึกว่าซีนที่เราอินคือบ้านที่สุพรรณบุรี พี่ตูนโตมาแบบไหนวะ สิ่งนี้ต่างหากที่เป็นหัวใจของหนังเรื่องนี้ ไม่ใช่ว่าโครงการนี้สำเร็จได้เงินมาเท่าไหร่ เราไม่อยากรู้ แต่การสร้างคนแบบพี่ตูนขึ้นมาคืออะไร ซึ่งมันเรียบง่ายมากนะ แค่แม่ดุ ๆ คนหนึ่ง พ่อที่ตามใจลูก และการสนับสนุนโดยไม่คาดหวัง มันสร้างแรงบันดาลใจมาก
คือพี่ตูนโตมาไม่ต่างจากเราเลยนะ ฟังเพลงพี่เบิร์ด (ธงไชย แมคอินไตย์) เหมือนเราเลย เขาไม่ได้โตมาจากกระบอกไม้ไผ่ คนจะมองว่าการเป็นคนดีสักคนต้องทำบุญมาดี แต่ไม่ใช่ เขาก็เหมือนคุณแหละ และนี่คือพาร์ทที่เราอินในหนัง
The People: ในฐานะผู้กำกับคุณมีความคิดเห็นอย่างไรกับโครงการนี้ เพราะล่าสุดก็มีกิจกรรมโครงการในทำนองนี้อีกครั้ง
ณฐพล: ตั้งต้นเลยนะ เรารู้สึกกลาง ๆ ว่า โห... พี่ตูนทำเรื่องยิ่งใหญ่ขนาดนี้เลยเหรอ แต่ถ้าไม่มีการจ้างงานเราก็คงรู้สึกเฉย ๆ ซึ่งพอได้ทำงานจริง สุดท้ายเราหามุมที่รู้สึกอินคือเรื่องพ่อแม่ของพี่ตูน เรื่องจากเด็กธรรมดาคนหนึ่งที่เติบโตมาเป็นพี่ตูนแบบที่เราเห็น ผมก็ได้เรียนรู้จากเขาเยอะเหมือนกัน
ทุกคนรู้จักพี่ตูนในระดับหนึ่งอยู่แล้ว รู้จักผ่านสื่อมาโดยตลอด มันจะมีอะไรไปมากกว่านี้ ซึ่งความน่าสนใจสำหรับผมคือพอมันไม่ได้มีอะไรมากไปกว่านี้ สิ่งที่เขาเป็นในหน้าฉาก มันคือตัวเขาเลย 100 % ยิ่งทำให้เรารู้ว่า มนุษย์คนหนึ่งมันทำได้เบอร์นี้เลยเหรอวะ พี่ตูนเป็นมนุษย์ผู้อุทิศตัวที่ทำแบบนั้นจริง ๆ
แต่คำว่าอินไหมในลักษณะงานสารคดีในโครงงาน positive ที่จะไปมีอะไรให้สำรวจ หรือการกล่าวหาว่าคุณเพิกเฉยกับปัญหาสาธารณสุข ปัญหาเชิงโครงสร้าง จริง ๆ แล้วเรารู้หมดแหละครับ เราอ่านทุกอย่าง เรารู้ เราเห็นหมด แล้วก็มีคำตอบให้กับทุกคำถาม
ถ้ามองว่า เราเดินไปหยอดกล่องเงินบริจาค 5 บาท พี่ตูนก็เหมือนอย่างนั้น พี่ตูนรู้ว่าตัวเองมี access เท่าไหร่ ชื่อเสียง พลังการวิ่ง คอนเน็คชัน และเขาก็แค่อยากทำสิ่งนี้ จริง ๆ มันเป็นการถกเถียงในเชิงปรัชญาด้วยซ้ำว่า การที่คุณจะช่วยสังคมด้วยสิ่งที่คุณมี ณ ตอนนี้ โดยเฉพาะประเด็นปัญหาเรื่องสาธารณสุข แล้วมันมีคนป่วยรออยู่จริง ซึ่งเขาอยากทำตอนนี้เพื่อช่วยจริง ๆ แล้วมันมีคนที่ได้รับความช่วยเหลือจริง ถ้าเป็นคุณที่ทำได้ คุณจะทำไหม แค่เขาทำ และเขาเป็นไม่มีความเชี่ยวชาญเชิงโครงสร้าง เขารู้แหละ แต่มันไม่ใช่สิ่งที่เขาพร้อม ซึ่งเกินความสามารถของเขา
The People: เท่ากับว่าคุณตูนมองแยกส่วนกัน ซึ่งถ้าเขาทำอะไรได้ ก็จะทำสิ่งนั้น
ณฐพล: ใช่ การที่พี่ตูนวิ่งแล้วคนอื่นวิจารณ์ว่าปัญหาเชิงโครงสร้างมีอะไรบ้าง แม่งดีนะ ถ้าคุณมีความพร้อมในการพูดถึงสิ่งนี้ คุณพูดสิ ช่วยกันพูด ช่วยกันทำ ปัญหาแค่คนอื่นไปคาดหวังว่าพี่ตูนพูดสิ พี่ดูมี power ก็พูดสิ คนรวยก็บริจาคสิ มันกลายเป็นว่า เรานำคาดหวังไปสู่คนอื่นที่คิดว่า “ต้องทำ” แต่เรากันเองนี่แหละที่ไม่ทำ ฉะนั้นเราไม่มีสิทธิไปด่าเขา ถ้าเขาไม่ทำในสิ่งที่คุณคาดหวัง
ตอนแรกที่เราอยากสำรวจเรื่องโครงสร้างเหมือนกัน แต่สุดท้ายมันไม่ใช่เจตนารมณ์ของพี่ตูน เราจึงทำหนังเรื่องนี้เพื่อขยายตัวพี่ตูนออกไปมากกว่า ในเมื่อพี่ตูนไม่ได้ตั้งคำถามตรงนี้ เราไปทำประเด็นนี้จะไม่ใช่ตัวพี่ตูน และกลายเป็นว่า เราใช้พี่ตูนมาพูดในสิ่งที่เราอยากพูด ซึ่งมันผิดเจตนารมณ์ตั้งต้น
The People: อีกมุมหนึ่งคือคุณอยากให้คนดูออกมาเป็นคนที่รับผิดชอบในสังคม (Active Citizen) แบบคุณตูนหรือเปล่า
ณฐพล: ถูกต้อง คำนี้เลย พี่ตูนคือ Active Citizen แล้วเราอยากให้ทุกคนรู้สึกว่าตัวเองก็ทำได้ สุดท้ายมันกลับไปสู่ปรัชญาที่พี่ตูนตั้งให้โครงการคืออยากให้คนออกมารักษาสุขภาพ มันอาจจะดูธรรมดามากนะ แต่พี่ตูนเขาคิดกับมันหมดแล้ว ในแง่ของการตอบคำถามว่าอะไรจะแก้ปัญหาได้ มันก็แค่เริ่มที่ตัวคุณรักษาสุขภาพ ชวนมาออกกำลังกาย มันอยู่ที่เรามองเขาด้วยแว่นแบบไหน เลนส์แบบไหน ถ้าคุณจะมองว่าเขาเพิกเฉยไม่ยอมพูดเรื่องโครงสร้าง คุณก็มองได้ แต่ก็เป็นสิทธิของเขาที่เขาจะทำแบบนี้ไง หนังยาว 90 นาทีมันพูดได้ประเด็นหนึ่งแหละ และนั่นคือสิ่งที่เราเลือก
สังเกตไหมว่า หนังที่เราดูแล้วอินคือเรื่องของคนที่มี passion แม้แต่ fiction หรือสารคดีหากมองดี ๆ นะ หนังจะสนุกก็ต่อเมื่อตัวละครมีความต้องการ ยิ่งมีความต้องการมากไม่ว่าจะทางบวกหรือลบก็ตาม หนังจะสนุก
The People: หลังจากภาพยนตร์ออกฉายแล้ว มันเปลี่ยนแปลงเราอย่างไรบ้าง
ณฐพล: พูดแล้วมีคนเชื่อมากขึ้น ตัวเราเหมือนเดิมนะ แต่มีประสบการณ์ในการทำงานมากขึ้น สิ่งที่เปลี่ยนไปชัดเจนคือการมีเครดิตมากขึ้น พอพูดว่าเราทำหนังเรื่องนี้มา คนก็จะนึกถึงเราง่ายขึ้น คิดแค่นี้เลยจริง ๆ (หัวเราะ) ฝีมือเหมือนเดิมแหละ มันก็ค่อย ๆ เป็น ค่อย ๆ ไปในแต่ละวัน
อีกอย่างหนึ่งที่ได้เรียนรู้คือ เราไปอยู่ใจกลางพายุข่าวมา นี่คือสิ่งที่เราเห็นเลยว่า mass media ทำงานยังไง จากเรื่องธรรมดาเรื่องหนึ่งกลายเป็นเรื่องดรามาที่ตีออกไปไกล นั่นคือเรื่องที่พี่ตูนไม่กลับกรุงเทพฯ โดยเครื่องบินกองทัพ ทั้งที่จริงแล้วพี่ตูนแค่อยากนั่งรถตู้เพราะไม่อยากให้คนมารอรับที่สนามบิน และเขาอยากโรแมนติกนั่งรถตู้ย้อนกลับทางที่เขาวิ่งมา แค่นี้เลย
[caption id="attachment_10349" align="alignnone" width="1200"]
ไก่ – ณฐพล บุญประกอบ[/caption]
The People: หนังสั้นหรือวิดีโออาร์ทที่คุณทำส่วนตัวใหญ่มักมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับประเด็นสังคม ทำไมคุณถึงทำออกมาในรูปแบบนี้
ณฐพล: มันเป็นความเสี้ยน ผมว่าคนทำงานสื่อสารหรืองานศิลปะ จะต้องเป็นเรื่องความเสี้ยนส่วนตัวทุกคน เราอินกับสิ่งไหนแล้วเราก็จะทำสิ่งนั้น เช่น ช่วงที่เราอินกับการเลือกตั้งครั้งแรกเหมือนการเสียเวอร์จิน เราอยากทำวิดีโอออกมา แค่นั้นเอง มันเป็นความสนใจของเรา
มันอาจจะเป็นความรู้สึกลึก ๆ ของเราเองก็ได้ ที่รู้สึกว่าการทำงานสร้างสรรค์คือกิเลสของเรา แค่อยากจะพูดในสิ่งที่ไม่ได้พูดในงานที่มีรายได้ คำตอบสุดท้ายก็คือความอินนั่นแหละ
The People: เคยได้ยินว่าการทำหนังเหมือนการมีเวทมนตร์ เป็นพลังวิเศษจากการเล่าเรื่อง คุณเชื่อแบบนั้นไหม
ณฐพล: เชื่อ ตอนทำ “รู้สู้ Flood” ทำให้รู้สึกแบบนั้นเลย พูดแล้วมีคนฟัง นั่นคือเวทมนตร์ของคนทำงานนิเทศเลยนะ มันคือศาสตร์ในการโน้มน้าว ศาสตร์ในการสร้างความเห็นอกเห็นใจ ซึ่งอธิบายด้วยวิทยาศาสตร์อาจจะครอบคลุมไม่ได้ทั้งหมด เพราะมันคือศิลปะ
The People: การเขียนบทภาพยนตร์ กับการเขียนบทสารคดี มีความแตกต่างกันมากไหม
ณฐพล: ทั้งสองอย่างเป็นเล่าเรื่องเหมือนกันนะ แต่ fiction คือการเล่าเรื่องจากประสบการณ์ จากจินตนาการ เป็นการเขียนแบบแปลนขึ้นมาใหม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นได้บ้าง
ส่วน documentary สำหรับผมคือการแก้โจทย์ มันคือการมีโจทย์ตรงหน้า เราจะเดินอ้อมไปยังไง เราจะข้ามไปยังไง เราจะเชื่อมมันยังไง สารคดีมีชิ้นส่วนตัวต่ออยู่แล้ว เราจะเรียบเรียงมันออกมายังไง
The People: แล้วมีความคิดอยากมากำกับภาพยนตร์ fiction บ้างไหม
ณฐพล: เฉย ๆ นะ คนชอบถามว่าเมื่อไหร่จะหนังจริง ๆ สักที แล้วสารคดีที่เราทำมันไม่ใช่หนังจริง ๆ ตรงไหน ผมมองว่า documentary, fiction, mv หรืออะไรก็ตาม มันเป็นแค่เครื่องมือที่เหมาะสมกับเรื่องเล่านั้น ถ้าตอนนี้ยังไม่มีเรื่องที่อยากเล่าก็ไม่ต้องทำ มีเรื่องที่อยากเล่าด้วยสารคดีก็ทำ บางคนมีคติว่าการทำภาพยนตร์ (feature film) สักเรื่องหนึ่งถือว่าเป็นคนทำหนังเต็มตัวแล้ว ผมว่ามันไม่เกี่ยวหรอก เพราะผมทำสารคดีก็เท่ากับทำภาพยนตร์แล้ว
[caption id="attachment_10348" align="alignnone" width="1200"]
ไก่ – ณฐพล บุญประกอบ[/caption]
ภาพโดย: สกีฟา วิถีกุล (The People Junior)
ร่วมสัมภาษณ์: ปารณพัฒน์ แอนุ้ย
ขอบคุณ Purin Pictures และ สมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพ (Alliance Française Bangkok) สำหรับสถานที่ถ่ายภาพและสัมภาษณ์