13 ก.พ. 2563 | 15:43 น.
ดนตรีเปรียบเสมือนกระบวนการต่าง ๆ ทางร่างกาย การฝึกดนตรีคลาสสิกก็เหมือนการกระโดดแทมโพลีน ขณะที่การฟังเพลงเมทัลเบสหนัก ๆ ก็ไม่ต่างจากการถูกนวดบนเตียงนุ่ม ๆ นี่คือคำพูดของนักประพันธ์เพลงหญิงชาวไอซ์แลนด์ ฮิลเดอร์ กุดนาดอท์เทีย (Hildur Guðnadóttir) ผู้คว้ารางวัลออสการ์สาขาดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ประจำปี 2020 จากภาพยนตร์เรื่อง Joker
กุดนาดอท์เทียเป็นผู้หญิงคนแรกในรอบ 23 ปี ที่ได้รางวัลนี้ หลังเบียดผลงาน Star Wars ชิ้นสุดท้ายของ จอห์น วิลเลียมส์ และผลงานจากนักประพันธ์เพลงชั้นครูอีกสองคนอย่าง โธมัส นิวแมน (1917) และ อเล็กซองดร์ เดส์ปลาต์ (Little Women) ผงาดขึ้นไปคว้ารางวัลดังกล่าวได้สำเร็จ
ตั้งแต่กลางปี 2019 เป็นต้นมา ถือเป็นช่วงเวลาทองสำหรับกุดนาดอท์เทียอย่างแท้จริง เพราะก่อนหน้านี้เธอเพิ่งจะกวาดทุกรางวัลด้านดนตรีประกอบยอดเยี่ยมจากเรื่อง Chernobyl มินิซีรีส์ที่ตีแผ่เรื่องราวเบื้องหลังเหตุระเบิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล และผลงานสะท้อนตัวตนของ อาเธอร์ เฟล็ก ใน Joker ด้วยโทนของหนังที่บอกเล่าถึงด้านมืดของสังคมและความโกลาหล กุดนาดอท์เทียเคยเปรียบเทียบว่ามันไม่ต่างจากการกระโดดลงสระในวันที่อากาศร้อนมาก ๆ
ก่อนหน้านี้ ชีวิตของกุดนาดอท์เทียไม่ได้เฉียดเข้าใกล้วงการภาพยนตร์เลยแม้แต่น้อย วัยเด็กเธอเติบโตที่เรคยาวิก เมืองหลวงของไอซ์แลนด์ ในครอบครัวที่เป็นนักดนตรีอาชีพ พ่อของเธอเป็นนักคลาริเน็ตฝีมือดี เช่นเดียวกับแม่ที่เป็นนักร้องโอเปราเสียงทรงเสน่ห์ และพี่ชายก็เป็นมือกีตาร์วงเมทัลชื่อดังของไอซ์แลนด์ที่ชื่อว่า Agent Fresco
เธอเริ่มต้นเล่นเชลโลครั้งแรกเมื่ออายุ 5 ขวบ ก่อนจะเริ่มจริงจังมากขึ้น จนเข้าศึกษาดนตรีอย่างเป็นระบบในสาขาวิชาการประพันธ์ดนตรีที่สถาบันศิลปะแห่งไอซ์แลนด์ และสถาบันศิลปะแห่งเบอร์ลิน กุดนาดอท์เทียวาดฝันเส้นทางอาชีพต่างจากนักดนตรีคลาสสิกทั่วไป ความฝันสูงสุดของเธอไม่ใช่การได้เป็นนักเชลโลที่โดดเด่นที่สุดในวงเวียนนา ฟิลฮาร์โมนิก ออร์เคสตรา หรือเป็นนักเชลโลชื่อก้องที่เบอร์ลิน สิ่งเดียวที่เธอปรารถนามาตลอดคือการได้เป็นนักแต่งเพลงที่มีผลงานของตัวเอง
“ฉันเริ่มเล่นเชลโลตอนอายุ 4-5 ขวบ และรู้หรือเปล่าว่าตั้งแต่จำความได้ฉันก็มักจะร้องเพลงด้วยเสมอ คือพอเป็นเครื่องดนตรี คุณไม่สามารถเข้าถึงมันได้มากเท่ากับการร้องหรอก เพราะเสียงร้องเป็นส่วนหนึ่งของตัวคุณ แต่สำหรับฉัน เชลโลเป็นข้อยกเว้น เราเล่นมันตรงหน้าอก บริเวณตัวเครื่องก็ติดกับปอดคุณพอดี เวลาเล่นออกมาจึงเหมือนเป็นการถ่ายทอดความรู้สึกภายในร่างกายของคุณออกมาเช่นกัน”
กุดนาดอท์เทียเริ่มต้นสร้างสรรค์งานประพันธ์ของตัวเองนับตั้งแต่เรียนจบที่เบอร์ลิน ก่อนจะเดินเข้าสู่การเป็นนักประพันธ์ดนตรีประกอบภาพยนตร์ครั้งแรกในหนังอินดี้เรื่อง The Bleeding House เมื่อปี 2011 ชื่อของกุดนาดอท์เทียได้รับการพูดถึงมากขึ้นจากเสียงเชลโลหลอน ๆ ของเธอในหนังเรื่อง Prisoners ของผู้กำกับ เดนิส วิลเนิฟ ก่อนจะมาแจ้งเกิดอย่างเต็มตัวในฐานะนักประพันธ์ดนตรีประกอบภาพยนตร์จากหนังเรื่อง Sicario: Day of the Soldado, Chernobyl และ Joker
งานประพันธ์ส่วนมากในโลกภาพยนตร์จะนิยมใช้เสียงเปียโน เพราะมีความเข้าถึงบริบทของคนได้มากกว่า แต่สำหรับกุดนาดอท์เทีย เธอมองว่าการเล่นเครื่องสายมีอิสรภาพในการถ่ายทอดความรู้สึกผ่านเสียงได้มากกว่า อีกทั้งยังเผยว่ามันเป็นเหมือนกุญแจสู่ความสำเร็จของเธอใน Chernobyl และ Joker อีกด้วย
“คีย์เปียโนค่อนข้างมีข้อจำกัด มันไม่อิสระเมื่อเทียบกับพวกเครื่องสาย เราไม่สามารถกดมันให้เสียงออกมาเหมือนการดันสายจากเครื่องสายได้ ฉันค้นพบว่าถ้าเราสามารถเชื่อมต่อร่างกายกับเครื่องดนตรีได้ มันน่าจะเป็นทางที่ดีที่สุดที่เราจะสามารถถ่ายทอดความรู้สึกออกไป”
Chernobyl และ Joker ถือเป็นโปรเจกต์ที่เธอถูกจ้างให้ทำค่อนข้างเร็วทั้งคู่ เรียกได้ว่าเธอเริ่มทำดนตรีก่อนที่หนังจะเริ่มถ่ายทำเสียอีก ผลงานประพันธ์ของกุดนาดอท์เทียโดดเด่นอย่างมากในเรื่องการสร้างสรรค์เมโลดี้หรือฮาร์โมนีให้ออกมาเข้ากับอัตลักษณ์ของตัวหนัง โดยก่อนหน้านี้ เธอเล่าถึงเบื้องหลังการเขียนสกอร์ใน Chernobyl ว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือการเข้าใจธรรมชาติของสิ่งที่ตัวเองกำลังจะเล่า และถ่ายทอดออกมาอย่างตรงไปตรงมาที่สุด
“สำหรับเพลงประกอบหนัง ฉันรู้สึกว่ามันสำคัญมากที่เราจะต้องจมไปกับเรื่องราว ตอนเริ่มเขียนงานนี้ ฉันไปที่โรงงานนิวเคลียร์เพื่อเดินดูเครื่องจักรขนาดใหญ่ ฉันต้องการจะรู้ว่าเสียงของภัยพิบัตินิวเคลียร์เป็นอย่างไร ไปฟังว่าเสียงของมันเป็นอย่างไร โดยเฉพาะเสียงฮัมและเสียงสะท้อน ฉันถึงขั้นไปดมว่ามันมีกลิ่นอย่างไร บ่อยครั้งดนตรีในหนังมักจะเป็นเรื่องของการส่งเสริมอารมณ์และความรู้สึกของคนดูขณะชม ดนตรีทำได้ดีในแบบนั้น แต่ตัวเรื่อง Chernobyl คือความสูญเสีย และพล็อตของหนังมีพื้นที่ของตัวเอง ฉันค้นพบว่ามันสำคัญมากที่จะทำออกมาให้เป็นธรรมชาติที่สุด โดยปราศจากการแต่งที่ทำออกมาแล้วจะดูเกินจริงไป อย่างพวกการใส่เสียงเครื่องสายให้ดูน่าตื่นเต้น ฉันต้องการจะขับเคลื่อนทุกอย่างด้วยความเที่ยงตรงที่สุดมากกว่า”
[caption id="attachment_19640" align="aligncenter" width="800"] Chernobyl[/caption]ขณะเดียวกัน “เสียง” ของกุดนาดอท์เทียที่ฝากไว้กับ Joker ก็ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของตัวละครอาเธอร์ เฟล็ก ได้เป็นอย่างดี และกลายเป็นส่วนสำคัญในความสำเร็จของหนังเรื่องนี้
“Joker เป็นหนังที่มีพื้นฐานการเล่าเรื่องโดยคนคนเดียว ซึ่งมันคงดีกว่าถ้าเราจะใช้เครื่องดนตรีชิ้นเดียวในการเล่าเรื่องราวที่ตัวละครกำลังคิด เชลโลเป็นเครื่องดนตรีที่ฉันถนัดมันจึงเป็นเรื่องง่ายที่จะใช้เล่นประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้”
หนึ่งในฉากทรงพลังของหนังที่ส่งให้ วาคีน ฟีนิกซ์ คว้ารางวัลออสการ์สาขาแสดงนำชาย คือฉากเต้นในห้องน้ำ ซึ่งเป็นฉากที่คิดขึ้นมาสด ๆ จุดเริ่มต้นของฉากนี้มาจาก ท็อดด์ ฟิลลิปส์ ผู้กำกับของเรื่องบอกกับวาคีนว่า เขามีเพลงที่กุดนาดอท์เทียแต่งเสร็จแล้วหนึ่งเพลง สนใจจะลองฟังหน่อยไหม ซึ่งหลังจากที่วาคีนได้ฟังเพลงดังกล่าวเขาก็เริ่มต้นเต้นแบบด้นสด จนสุดท้ายสิ่งที่ออกมาก็ได้กลายเป็นหนึ่งในซีนที่ทรงพลังที่สุดของหนัง
“บทภาพยนตร์มันยอดเยี่ยมจนทำให้ฉันติดขัดไปหมด ฉันตกหลุมรักหนังเรื่องนี้ และเขียนเพลงธีมทั้งหมดเสร็จก่อนหนังจะเริ่มถ่ายทำเสียอีก พวกเขาจึงเอาเพลงของฉันไปใช้ในการถ่ายทำด้วย วาคีนตอบสนองกับเพลงในทันที เขาฟังสิ่งที่ฉันเขียนและด้นสดออกมา มันเป็นซีนที่ไม่เหมือนกับบทดั้งเดิมเลย และดนตรีกลายเป็นตัวสนับสนุนการแสดงของเขา ซึ่งมีอีกหลายฉากเกิดขึ้นใหม่หลังจากซีนนี้”
[caption id="attachment_19641" align="aligncenter" width="770"] Joker[/caption]ผลงานส่วนใหญ่ของเธอนับตั้งแต่ Prisoners, The Revenant, Sicario หรือ Arrival ทั้งหมดล้วนมีกลิ่นอายของความเป็นดนตรี dark ambient อย่างมาก ซึ่งบนความมืดหม่นนี้เธอเปิดเผยว่า มันคือการหยิบเอาด้านมืดในชีวิตมาใช้สร้างสรรค์เป็นผลงานเพลง
“ฉันรู้สึกสนุกที่ได้หยิบด้านมืดของหนังมาถ่ายทอด โดยส่วนตัวฉันเป็นคนที่ร่าเริงและชอบขำ แต่คนเราทุกคนมีด้านมืดและด้านสว่างในตัวเสมอ ฉันโชคดีที่มีครอบครัวเป็นเหมือนด้านสว่างในชีวิต แต่สำหรับดนตรีของฉัน สิ่งที่ออกมามักจะเป็นด้านมืดเสมอ”
ตลอด 84 ปีที่มีการมอบรางวัลสาขาดนตรีประกอบยอดเยี่ยมในเวทีออสการ์ มีผู้หญิงเพียง 9 คนที่เคยถูกเสนอชื่อเข้าชิงสาขานี้ และมีเพียง 4 คน (รวมกุดนาดอท์เทีย) ที่สามารถคว้ารางวัลนี้ไปได้ กุดนาดอท์เทียทิ้งท้ายบนเวทีออสการ์ด้วยสุนทรพจน์เชิญชวนให้ผู้หญิงทุกคนกล้าที่จะก้าวขึ้นมานำเสนอผลงานของตัวเอง เหมือนกับที่เธอยืนหยัดเพื่อมันมาเสมอ
“ถึงเด็กผู้หญิง ถึงผู้หญิง ถึงแม่ ๆ หรือเหล่าลูกสาวทุกคนที่ได้ยินเสียงดนตรีดังขึ้นในใจ จงก้าวออกมา เราต้องการจะได้ยินเสียงของพวกคุณ”
หลังจากช่วงเวลาแห่งความสำเร็จทั้งหลาย กุดนาดอท์เทียตั้งตารอคอยที่จะหยุดพักและกลับไปหา “ตัวเธอเอง” อีกครั้ง เพื่อหาแรงบันดาลใจให้กับตัวเอง “สำหรับฉัน การให้เวลาหรือพื้นที่ตัวเองในการคิดและมองตัวเองเป็นเรื่องที่สำคัญมาก”
ในวันที่ผู้หญิงคนหนึ่งก้าวขึ้นไปคว้ารางวัลแกรมมี่ อวอร์ดส, ลูกโลกทองคำ และออสการ์ ได้ในปีเดียวกัน วันนี้ชื่อของ ฮิลเดอร์ กุดนาดอท์เทีย ถูกยกย่องให้เป็นหนึ่งในนักประพันธ์รุ่นใหม่ฝีมือดี ที่นำพาทิศทางใหม่ ๆมาสู่วงการเพลงและภาพยนตร์ และเปรียบเป็นไม้ผลัดใบบนต้นไม้ต้นใหญ่ที่ชื่อว่าฮอลลีวูด