วิเคราะห์กรณีศึกษาดราม่าศิลปินไทย “ก็อปเพลง” ต่างชาติ อย่างไหนที่เรียกว่าก็อป?

วิเคราะห์กรณีศึกษาดราม่าศิลปินไทย “ก็อปเพลง” ต่างชาติ อย่างไหนที่เรียกว่าก็อป?

       หลายครั้งวงการดนตรีบ้านเรามักจะมีข้อพิพาทหรือดราม่าเกิดขึ้นบ่อยครั้งเรื่องการลอกเลียนแบบเพลงของศิลปินต่างชาติ แน่นอนว่าเรื่องราวทำนองนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น ในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก หรือแม้กระทั่งในสหรัฐอเมริกาก็เคยเกิดกรณีที่ศิลปินดัง ๆ มีเพลงไปคล้ายกับเพลงคนอื่น จนถึงขั้นต้องขึ้นโรงขึ้นศาลมาแล้ว

ก็อปไหมดูอย่างไร ? คำว่าก็อปหรือก็อปปี้ (copy)” อาจเป็นคำที่ดูรุนแรงไปสำหรับผู้ถูกกล่าวหา เราทุกคนควรให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหาด้วย เพราะคำว่าก็อปปี้ ในทางดนตรีคือการลอกเลียนแบบเพลงจากต้นฉบับออกมาเป๊ะ ๆ  อ้าว...แล้วงี้สรุปเราจะเรียกความเหมือนที่ตั้งใจอะไรแบบนี้ว่าอะไรดี? ต้องบอกว่าในบริบทและสถานการณ์นี้ คำที่ควรใช้มากที่สุดก็คือคำว่าการละเมิดลิขสิทธิ์” !!

แล้วการจะดูว่าละเมิดลิขสิทธิ์ไหมดูอย่างไร ? แม้ว่าคุณอาจไม่ใช่นักดนตรีหรือเป็นผู้ที่ศึกษาทฤษฏีดนตรีมาอย่างดี แต่ทุกคนย่อมรู้ได้ด้วยหลัก common sense ทั่วไป นั่นก็สิ่งที่คุณคิดอยู่ในสมองนั่นแหละเอิ่ม...เพลงนี้เหมือนกับเพลงนี้เลยว่ะ” 

การสร้างผลงานดนตรีแบ่งออกเป็นสองภาคใหญ่ ๆ หนึ่งคือด้านภาคจังหวะ ทำนอง สองคือด้านเมโลดี้ คนส่วนใหญ่อาจจะเคยได้ยินวลีที่ว่าโน้ตดนตรี มีแค่ 12 ตัว ยังไง ๆ มันก็มีซ้ำกันอยู่แล้ว แน่นอนอาจจะมีโอกาสซ้ำกันแต่สิ่งที่จะตัดสินว่ามันก็อปไหม ไม่ได้ดูแค่เรื่องเมโลดี้อย่างเดียวเท่านั้น คุณต้องวิเคราะห์จากหลายแง่มุม และเจตนาของผู้สร้างสรรค์ด้วย อีกทั้งถ้าคุณไปถามนักดนตรีที่ศึกษาด้านนี้มาอย่างดี พวกเขาก็บอกคุณว่าแม้โน้ตมันจะมีแค่นั้น แต่ก็มีอีกเป็นล้านวิธีที่จะทำให้เพลงของคุณไม่เหมือนกับชาวบ้าน

เมโลดี้ห้ามเหมือนกันเกิน 4 ตัวขึ้นไปนี่คือกฎสากลที่นักสร้างสรรค์เพลงในวงการรู้กันอยู่แล้ว เอาเป็นว่าถ้าคุณมีเมโลดี้ที่เหมือนกับเพลงคนอื่น 4 ตัวขึ้นไป แล้วองค์ประกอบต่าง ๆ ก็มีความคล้ายคลึง งานนี้คุณอาจจะต้องถามตัวเองว่า นี่เราไปก็อปเพลงคนอื่นมาปะเนี่ย ? ในด้านจังหวะแม้กรู๊ฟของกลองใกล้เคียงกันก็อาจไม่ถือว่าเป็นการก็อปแต่อย่างใดแต่ถ้านำหลายๆองค์ประกอบทั้งทำนองหรือสำเนียงวางลงแล้ววิเคราะห์อย่างจริงจังถ้าเกิดความใกล้เคียงขึ้นเพลงเหล่านั้นอาจถูกตัดสินว่ามีการละเมิดสิทธิ์ได้

แม้เมโลดี้ไม่เหมือน แต่ดนตรีมีความคล้าย นั่นก็ถือได้ว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ได้เหมือนกัน แม้คุณจะเอาทำนองดนตรีของคนอื่นมาดัดแปลงเปลี่ยนคีย์ เปลี่ยนซาวนด์ของเครื่องดนตรี วิธีการเหล่านี้จะถูกเรียกว่าการเลี่ยงละเมิดลิขสิทธิ์ยังไงก็ผิดอยู่ดี

*ถ้าถูกฟ้องร้องดำเนินคดีจากผู้เสียหาย*... ถ้าผู้เสียหายฟ้องอะนะซึ่งแน่นอนว่าเขาไม่มีทางดำเนินคดีแน่นอน

เอ้า ! แล้วพวกทำเพลงรีมิกซ์ งี้ก็ผิดเหมือนกันสิ ! คนทำเพลงรีมิกซ์ มักจะมีแพทเทิร์นหรือรูปแบบในการทำคล้าย ๆ เหมือน ๆ กัน ถ้าลองหามาสัก 100 คน ให้มาทำเพลง เพลงเดียวกัน ผลลัพธ์ที่ออกมาเพลงแต่ละเพลงแทบไม่มีความเหมือนเลย แต่ทั้งหลายทั้งปวงหลักฐานเหล่านี้ต้องถูกหยิบมาชำแหละ เป็นโน้ต ๆ และวิเคราะห์ ๆ โดยผู้ที่ศึกษาดนตรีอย่างจริงจังอยู่ดี

แบบนี้เขาเรียกว่า Inspiration & Reference” คำนี้มักจะถูกหยิบขึ้นมาอยู่ในดราม่าบ่อยครั้ง ซึ่งส่วนตัวผมมองว่าความหมายของสองคำข้างต้นอาจไม่ใช่คำที่ถูกต้องซะทีเดียว ถ้ายกตัวอย่างผลงานที่สะท้อนคำว่า Inspiration & Reference ได้ดีที่สุดในตอนนี้ ผมนึกถึงผลงานของ บรูโน่ มาร์ส อัลบั้ม 24k Magic เช่นเพลง ‘Chunky’ ที่ได้ Reference จากการดึง Lick เด่นมาจากเพลง ‘Baby Be Mine’ ของไมเคิล แจ็กสัน แล้วมาขยายต่อในเพลงของตัวเอง นั่นแหละคือความหมายที่แท้จริงของสองคำข้างต้น

       คำถามที่ว่าจะมีบทลงโทษไหม ? ถ้าเจ้าของผลงานต้นฉบับมาได้ยินเข้า จะเกิดอะไรขึ้นไหม ? แน่นอนว่าทั้งค่ายและศิลปินที่กระทำเรื่องแบบนี้อาจจะโดนหูฉี่ แต่คำถามที่ตามมาคือ ถ้าเขาเอาจริง หรือตามไล่ฟ้อง เขาจะคุ้มไหม ? เขาคงไม่ยอมเสียเงินค่าฟ้องร้อง ขึ้นศาล ค่าทนายแลกกับเงินไม่กี่แสนแน่นอน แม้ผลงานที่ถูกกล่าวหาอาจมีความเป็นไปได้ว่าผิดจริงๆก็ตามซึ่งนั่นเป็นสาเหตุที่ว่าในประวัติศาสตร์ชาติไทยเรายังไม่เคยเห็นการฟ้องร้องละเมิดลิขสิทธิ์เพลงจากต่างประเทศเลยสักครั้งเดียวเพราะผู้เสียหายมักอยู่ในต่างประเทศนั่นเอง

ยกตัวอย่างในสหรัฐฯ ถ้าเรื่องราวใหญ่โตถึงขั้นมีการฟ้องร้องขึ้นโรงขึ้นศาลจริง ศาลจะมีทีมตัดสินในด้านนี้โดยเฉพาะ โดยคนที่จะเข้ามาพิสูจน์เรื่องพวกนี้ได้ต้องเป็นคนที่เรียนจบด้านดนตรีวิทยา (Musicology) นักดนตรีวิทยาเหล่านี้จะถูกสอนเรื่องการวิเคราะห์โครงสร้างทางดนตรีมาโดยเฉพาะ เรียกได้ว่าเป็นนักวิทยาศาสตร์ดนตรีก็ว่าได้ ซึ่งในบ้านเรายังไม่มีมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนวิชานี้อย่างเป็นทางการ แต่ก็มีนักดนตรีวิทยาอยู่จำนวนไม่น้อย

ในการตัดสินคดีเหล่านี้ คำว่า “Subconscious Plagiarism” คือคำที่เรามักจะได้ยินจากคำพิพากษาของศาลเสมอ คำนี้แปลออกมาเป็นไทยได้ว่าการโจรกรรมทางความคิดโดยเผลอเรอ

ดราม่าการละเมิดลิขสิทธิ์เพลงอาจไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่สำหรับวงการอุตสาหกรรมดนตรีโลก เพราะในอดีต การฟ้องร้องการละเมิดลิขสิทธิ์ หรือการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเคยเกิดขึ้นมาแล้วนับไม่ถ้วน และหลายรูปแบบด้วยกัน ผมจะขอเล่าไปทีละคดี เริ่มต้นจากคดีใหญ่ระดับตำนานของ จอร์จ แฮร์ริสัน ในปี 1976 หลังตำนานมือกีตาร์ของ The Beatles ถูกยื่นฟ้องข้อหาก็อปเพลง ‘He's So Fine’ ของวง The Chiffons

[caption id="attachment_23204" align="aligncenter" width="469"] วิเคราะห์กรณีศึกษาดราม่าศิลปินไทย “ก็อปเพลง” ต่างชาติ อย่างไหนที่เรียกว่าก็อป? จอร์จ แฮร์ริสัน[/caption]

       ตอนนั้นระหว่างการไต่สวน แฮร์ริสันถูกทีมสอบสวนยิงคำถามว่า เคยฟังเพลง ‘He's So Fine’ มาก่อนบันทึกเสียงเพลง ‘My Sweet Lord’  หรือไม่ ? แน่นอนแฮร์ริสันได้กล่าวปฏิเสธ ซึ่งกระบวนการดังกล่าวไม่สามารถหาหลักฐาน หรือสามารถพิสูจน์ได้ว่าแฮร์ริสันพูดเท็จหรือจริงมากน้อยเพียงใด แต่คดีดังกล่าวมาพลิกตรงที่ บิลลี เพรสตัน มือคีย์บอร์ดคนดังผู้ร่วมบันทึกเสียงเพลงนี้ สารภาพว่าเคยฟังเพลงนี้มาก่อนบันทึกเสียง ซึ่งท้ายที่สุดศาลก็ได้ตัดสินคดีให้แฮร์ริสันแพ้คดีนี้ไปในที่สุด

กรณีต่อมา แซม สมิธ นักร้องชื่อดังก็เคยถูกกล่าวหาว่าเพลง ‘Stay With Me’ เพลงแจ้งเกิดของเขา มีความละม้ายคล้ายคลึงกับเพลง  ‘I Won't Back Down’ ของ ทอม เพ็ตตี้ มาแล้ว สิ่งที่สมิธเลือกทำไม่ใช่การออกมาปฏิเสธ หรือปล่อยให้เรื่องเงียบไป แต่เขาตัดสินใจเลือกที่จะออกมาบอกกับทุกคนว่า เขาไม่ได้ลอกเพลงดังกล่าว ซึ่งเขาเองก็คิดเหมือนกันว่าเพลงทั้งสองเหมือนกันจริง ๆ สุดท้ายสมิธตัดสินใจใส่ชื่อของเพ็ตตี้เข้าไปในเครดิตของผู้แต่ง และยังแบ่งค่าส่วนแบ่งทางลิขสิทธิ์ให้กับเพ็ตตี้อีกด้วย

ขนาดหนุ่ม เอ็ด ชีแรน ก็โดนมาแล้ว เพลงดังของเขาอย่าง ‘Photograph’ เคยโดนหนุ่มแมตต์ คาร์ดอล นักร้องแชมป์  X Factor ฟ้องโทษฐานมีท่อนคอรัสไปเหมือนกับเพลง ‘Amazing’ ของคาร์ดอล นอกจากนี้ เพลงดังอย่าง ‘Blurred Lines’ ของโรบิน ธิค ก็ถูกฟ้องว่าก็อปเพลง ‘Got to Give it Up’ ของตำนานนักร้องเพลงโซลอย่างมาร์วิน เกย์ เหมือนกัน นี่ยังไม่รวมกรณีมาดอนนา หรือ Coldplay ที่เป็นขาประจำในการโดนฟ้อง ซึ่งสุดท้ายรายชื่อที่ว่ามานี้ต้องชดใช้เป็นเงินหลายล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ให้กับฝ่ายผู้เสียหาย

[caption id="attachment_23205" align="aligncenter" width="443"] วิเคราะห์กรณีศึกษาดราม่าศิลปินไทย “ก็อปเพลง” ต่างชาติ อย่างไหนที่เรียกว่าก็อป? เอ็ด ชีแรน[/caption]

       “เรื่องอย่างนี้เกิดขึ้นได้เสมอนี่เป็นเรื่องธรรมชาติมากในวงการดนตรี การที่คุณจะคิดเพลงเหมือนกับคนอื่นไม่ใช่ความผิดร้ายแรงอะไร (หากคุณไม่ได้ตั้งใจ) เรื่องหนึ่งที่เพิ่งถูกเปิดเผยเมื่อไม่นานมานี้ เกี่ยวกับ ปรินซ์ ตำนานนักร้องผู้ล่วงลับ รู้หรือไม่ว่าในวันที่เขาได้บันทึกเสียงเพลง ‘Purple Rain’ สำเร็จสมบูรณ์สด ๆ ร้อน ๆ ต่อมาเขาดันไปได้ยินเพลง ‘Faithfully’ ของวง Journey เข้า เขารับรู้ได้ทันทีว่าเพลงของเขากับเพลงนี้มีความเหมือนกันในหลาย ๆ อย่าง สิ่งที่ปรินซ์ทำต่อมาคือไม่ตีเนียน เขาตัดสินใจติดต่อขอนัด โจนาธาน เคน สมาชิกคนสำคัญของ Journey เพื่อพูดคุยและแสดงความบริสุทธิ์ใจของตัวเองว่าเขาไม่ได้ลอกผลงานของ Journey แต่อย่างใด

นอกจากนี้ปรินซ์ยังเสนอเคนว่า ให้เขาใส่ผู้แต่งเข้าไปในเครดิตเพลง ‘Purple Rain’ หรือไม่ซึ่งเคนเปิดเผยเรื่องราวนี้หลังจากที่ปรินซ์เสียชีวิตได้ไม่นานนี่คือหลักฐานของการให้ความสำคัญของคุณค่าของงานเพลง

หลายคนอาจมองว่าเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ และละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของคนอื่นเป็นเรื่องปกติ จนกลายเป็นค่านิยมที่ผิด แม้เรื่องดราม่าที่เกิดขึ้นต่าง ๆ อาจไม่มีการตัดสินทางกฏหมาย หรือถูกกล่าวหาว่าผิดจริง แต่ตอนนี้ดูเหมือนว่าผู้ถูกกล่าวหาจะตกเป็นจำเลยทางสังคมไปเรียบร้อยแล้ว

ครั้งหนึ่งผมเคยมีโอกาสถาม สตีฟ แกดด์ ตำนานมือกลองของ เจมส์ เทย์เลอร์ และ เอริค แคลปตัน ถึงกรณีศิลปินรุ่นใหม่พยายามลอกเลียนแบบไอดอลของพวกเขา ซึ่งยอดตำนานมือกลองของโลกตอบกลับผมมาในวันนั้นว่าคุณลองคิดดูละกันว่า คุณจะเป็นศิลปินทำไมถ้ายังมัวแต่ก็อปปี้คนอื่น งี้อย่าเรียกตัวเองว่าศิลปินเลยดีกว่า

การเข้าใจหัวจิตหัวใจของศิลปินด้วยกันเองคือหัวใจของเรื่องนี้ แม้เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายแต่มันเป็นเรื่องการแสดงความรับผิดชอบและการคลี่คลายเรื่องให้ออกมาสวยงามมากกว่าแน่นอนถ้าตัวศิลปินยังไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เองเลยแล้วเราจะสร้างค่านิยมที่ดีในการเสพงานศิลปะเหล่านี้กับสังคมเราได้อย่างไร