03 มิ.ย. 2563 | 18:51 น.
“สู้ต่อไป ทะเคะชิ” มีใครเคยได้ยินประโยคนี้กันบ้างหรือไม่? ในที่นี้จะเป็นใครอื่นไปไม่ได้นอกจาก “ฮงโง ทะเคะชิ (本郷猛)” แห่ง Kamen Rider (仮面ライダー) ภาคแรกสุดนั่นเอง ถ้าใครทันได้ดูตอนออกอากาศเรียลไทม์ทางช่อง 7 ขาวดำ (ปัจจุบันคือ ททบ. 5) ในปี พ. ศ. 2514 แสดงว่าน่าจะไม่ใช่วัยรุ่นแล้วสินะ ฮี่ ๆ ๆ แต่เดิมสมัยก่อน ญี่ปุ่นยังไม่มีภาพยนตร์แนว Kamen Rider แบบนี้ แต่เป็นช่วงที่ตลาดหนังฮีโร่ญี่ปุ่นกำลังเริ่มเติบโต มีการ์ตูนอย่างเรื่อง “หน้ากากเสือ” โด่งดังอยู่แล้วก่อนหน้านั้น ทำให้ทีมงานวิเคราะห์กันว่าถ้าจะทำอะไรแหวกแนวตลาดในตอนนั้น ควรทำอะไรที่เป็นแนว “ฮีโร่ใส่หน้ากาก” น่าจะดี และผู้เขียนการ์ตูนต้นฉบับ Kamen Rider คือ อิชิโนะโมะริ โชทะโร่ ลูกศิษย์เอกของ เทะสึกะ โอะซะมุ ก็ได้รับมอบหมายให้คิดพล็อตเรื่อง จึงมีแนวคิดประยุกต์การ์ตูนที่อิชิโนะโมะริเคยเขียนเรื่อง Skullman เข้ามาประกอบการดีไซน์ และพอดีในช่วงเวลาใกล้กันนั้นเอง ประเทศญี่ปุ่นประสบปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ อย่างการเกิดโรคอิไตอิไตของพนักงานในโรงงานอุตสาหกรรมอันเนื่องมาจากภาวะแคดเมียมสะสมในกระดูกจนกระดูกผุไปทั่วร่าง เป็นต้น จึงได้ไอเดียว่าฮีโร่คนใหม่จะต้องมีนัยแฝงถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไว้ด้วย เมื่อเอาเงื่อนไขต่าง ๆ ที่มองว่าน่าจะเวิร์ค มารวมกัน อิชิโนะโมะริจึงได้ร่างการ์ตูนที่เป็นต้นแบบคือ Kamen Rider เป็นเวอร์ชั่นการ์ตูน ซึ่งใช้เป็นไอเดียหลักในการสร้างภาพยนตร์ที่ใช้คนแสดงด้วย พล็อตในการ์ตูนและในภาพยนตร์จะคล้ายกันแต่จะต่างกันไปในรายละเอียด แต่เราจะเน้นพูดถึงเวอร์ชั่นภาพยนตร์ ซึ่งออกอากาศในญี่ปุ่นใน ค. ศ. 1971 (ตรงกับ พ. ศ. 2514 คือไทยเอามาออกอากาศในปีเดียวกับญี่ปุ่นเลย ห่างกันแค่ไม่กี่เดือน) ในไทยมักเรียก Kamen Rider ยุคแรก ๆ ด้วย “มด” ว่าเป็นไอ้มดแดง ไอ้มดดำ ไอ้มดเอ็กซ์ ฯลฯ แต่จริง ๆ แล้ว Kamen Rider ภาคแรกสุดนั้นเป็น ตั๊กแตน (Grasshopper) เนื่องจากตั๊กแตนมีความเกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์ทางสิ่งแวดล้อมสำหรับภูมิศาสตร์ของญี่ปุ่น และพระเอกต้องใช้ “พลังลม” ในการแปลงร่าง ซึ่งแสดงถึงการอนุรักษ์ธรรมชาติด้วยพลังงานสะอาดเช่นกัน ส่วนพวกเหล่าร้ายที่ชื่อองค์การช็อคเกอร์ (ショッカー) จึงเป็นพวกที่ใช้ธรรมชาติในทางหายนะ อย่างการจับมนุษย์และสัตว์มาทดลอง หรือจับมนุษย์มาเปลี่ยนเป็นมนุษย์ดัดแปลงนั่นเอง ฮงโง ทะเคะชิ เป็นนักศึกษาหนุ่มอัจฉริยะที่ไอคิวสูงถึง 600 และมีร่างกายแข็งแรงมากระดับนักกีฬา มีอาชีพเสริมเป็นนักแข่งมอเตอร์ไซค์ (Rider) ถูกองค์การช็อคเกอร์จับไปผ่าตัดจนกลายเป็นมนุษย์ดัดแปลง (改造人間) แต่ก่อนที่จะถูกล้างสมองให้กลายเป็นสาวกของช็อคเกอร์ ก็มี ดร. มิโดะริกะวะ ที่ถูกช็อคเกอร์จับมาใช้งาน เข้าช่วยเหลือทะเคะชิออกมาได้ โดย ดร. มิโดะริกะวะถูกฆ่าใน EP. 1 นั่นเอง ส่วนทะเคะชิซึ่งกลายร่างเป็นอมนุษย์ไปแล้วจึงตัดสินใจจะต่อสู้กับเหล่าร้ายให้ถึงที่สุด และต้องปกป้อง มิโดะริกะวะ รุริโกะ (緑川ルリ子) ลูกสาวคนสวย ของ ดร. มิโดะริกะวะไปพร้อม ๆ กัน (สวยมาก ๆ ตามรสนิยมของยุคนั้นเลยล่ะ) การแปลงร่างของทะเคะชินั้น ต้นฉบับจริง ๆ คือจะต้องขับมอเตอร์ไซค์ที่จูนให้วิ่งเร็วมากถึง 400 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ให้ลมพัดแรง ๆ ผ่านเข็มขัดไรเดอร์ที่มีหัวเข็มขัดเป็นกังหันลมให้หมุน เพื่อชาร์จพลังงานลมเข้าไปในกล้ามเนื้อจำลองของทะเคะชิ จึงจะแปลงร่างเป็น Kamen Rider ได้ (Kamen Rider = แปลตรงตัวคือ นักบิดมอเตอร์ไซค์ผู้สวมหน้ากาก) สำหรับสังคมที่ให้ความสำคัญกับการมีกลุ่มให้ตัวเองได้เข้าสังกัดแบบญี่ปุ่นนั้น ทะเคะชิจึงอ้างว้างมาก เพราะตัวเองกลายเป็นอมนุษย์ไปเรียบร้อยแล้ว แม้จะมีตัวละครอีกหลายคนที่เป็นมิตรสหาย แต่ก็ไม่มีใครเข้าใจความอ้างว้างที่ “แปลกแยก” ไปจากคนอื่นนี้ ทุกครั้งที่ต่อสู้เสร็จ เวลาจบตอน ในเวอร์ชั่นญี่ปุ่นจะมีคำพูดเปลี่ยนไปทุกครั้งตามรายละเอียดของแต่ละตอน แต่ก็จะจบด้วยการให้กำลังใจว่า “อย่าท้อนะทะเคะชิ” หรือ “สู้ต่อไปนะทะเคะชิ” ในภาษาไทยจึงกลายเป็นคำฮิตของเกือบทุกตอนว่า “สู้ต่อไป ทะเคะชิ” และสืบต่อมาจนกระทั่งยุคที่ “สู้ต่อไป จีบัน” มาแรงแซงทางโค้ง คำว่า “สู้ต่อไป ทะเคะชิ” จึงจาง ๆ หายจากสังคมไทยไปบ้าง อย่างไรก็ตาม ฟุจิโอะกะ ฮิโระชิ (藤岡弘) นักแสดงที่แสดงเป็นทะเคะชิ ประสบอุบัติเหตุระหว่างการถ่ายทำ ทำให้ต้องหยุดแสดง ทีมผู้สร้างต้องแก้ปัญหาโดยการสร้างตัวละคร Kamen Rider หมายเลข 2 ขึ้นมาแทนคือ อิชิมนจิ ฮะยะโตะ (一文字隼人) ซึ่งรับช่วงเป็นไรเดอร์ต่อจากทะเคะชิ เนื่องจากผู้แสดงเป็นฮะยะโตะนั้นไม่มีใบขับขี่มอเตอร์ไซค์ ทำให้ไม่สามารถแสดงฉากที่ขับมอเตอร์ไซค์เร็ว ๆ ให้ลมพัดเพื่อแปลงร่างได้ เพราะไม่ใช่ตัวอย่างที่ดีของเยาวชน ทีมผู้สร้างเลยต้องคิดวิธีแปลงร่างใหม่เป็นท่า HENSHIN แล้วกระโดดสูงทะยานไปในอากาศเพื่ออัดลมเข้าเข็มขัดแทน ท่า HENSHIN ก็เลยเป็นที่ฮิตกันทั่วบ้านทั่วเมืองทั้งในญี่ปุ่นและในไทย หลังจากฮิโระชิหายดีแล้วกลับมาแสดงอีกครั้ง เลยต้องแปลงร่างด้วยท่า HENSHIN ไปด้วย ก็เลยกลายเป็นว่ามี Kamen Rider 2 คนที่โพสต์ท่า HENSHIN ไม่เหมือนกัน แล้วทะยานไปในอากาศเพื่อแปลงร่างแทน แม้ว่าทะเคะชิจะไม่ต้องต่อสู้อย่างโดดเดี่ยวอีกแล้ว แต่คำว่า “สู้ต่อไป ทะเคะชิ” ก็กลายเป็นคำพูดติดปากของสังคมไทยไปเรียบร้อย น่าเสียดายที่ไม่มีคำว่า “สู้ต่อไป ฮะยะโตะ” บ้าง เพราะว่าความนิยมของ Kamen Rider หมายเลข 2 นั้น ยังไงก็สู้หมายเลข 1 ไม่ได้ และทำให้ฮิโระชิกลายเป็นนักแสดงค้างฟ้าของวงการบันเทิงญี่ปุ่นจนกระทั่งบัดนี้ และภาพยนตร์แนว Kamen Rider ก็ยังอยู่ยั้งยืนยงตราบจนปัจจุบันก็ยังมีภาคใหม่ ๆ ทุกปีอย่างต่อเนื่อง ทำกำไรมหาศาลให้ทีมผู้สร้าง และสร้างค่านิยมต่าง ๆ ให้สังคมญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่องมาเกือบ 50 ปีแล้ว เวลาที่ท้อแท้ หรือหงุดหงิดใจ ลองทำท่า HENSHIN ในกระจกดู แล้วบอกตัวเองว่า “สู้ต่อไปนะ .....(ชื่อของทุกท่านเอง)” อาจจะฮึกเหิมมีกำลังใจขึ้นก็ได้