เบนาซี บุตโต นายกรัฐมนตรีปากีสถาน: จุดเริ่มต้นและจุดจบของผู้นำหญิงโลกมุสลิม

เบนาซี บุตโต นายกรัฐมนตรีปากีสถาน: จุดเริ่มต้นและจุดจบของผู้นำหญิงโลกมุสลิม

เบนาซี บุตโต นายกรัฐมนตรีปากีสถาน: จุดเริ่มต้นและจุดจบของผู้นำหญิงโลกมุสลิม

“การเมืองทำให้คนคนหนึ่งต้องแลกกับอะไรบ้าง ?” การตั้งคำถามนี้เกิดขึ้นหลังจากเห็นเหล่านักการเมืองทั้งไทยและเทศ นักการเมืองหลายคนอาจจะไม่ต้องแลกอะไรเลย บางคนต้องยอมแลกชีวิตส่วนตัว บางคนทิ้งอุดมการณ์เดิมที่มุ่งมั่น หรือแทบทุกคนต้องแลกกับการทนฟังคำวิจารณ์จากประชาชน ส่วนหญิงสาวคนหนึ่งในโลกการเมืองปากีสถานต้องแลกด้วยความตายของพ่อ ความตายของพี่น้อง และความตายของตัวเธอเอง เบนาซี บุตโต (Benazir Bhutto) คือหญิงสาวชาวปากีสถานผู้เติบโตในครอบครัวที่ข้องเกี่ยวกับการเมืองตั้งแต่ที่เธอยังจำความไม่ได้ เด็กสาวได้รับการเลี้ยงดูอย่างดีในสังคมชนชั้นนำ ได้รับการนับหน้าถือตาโดยที่เธอไม่ได้ทำอะไรด้วยซ้ำเพราะคนทั้งประเทศต่างรู้จักพ่อของเธอ ชายผู้เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีปากีสถาน ที่สามารถตั้งรัฐบาลพลเรือนเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี เพราะหลังได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักร ประเทศก็ถูกปกครองโดยทหารมาตลอด จนกระทั่งพ่อของเบนาซีชนะการเลือกตั้ง นายซัลฟิการ์ อาลี บุตโต (Zulfikar Ali Bhutto) เป็นผู้ก่อตั้งพรรคประชาชนปากีสถาน (Pakistan People’s Party-PPP) ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีปากีสถานระหว่างปี 1971-1973 จากนั้นเป็นนายกรัฐมนตรีช่วงปี 1973-1977 เนื่องจากการเมืองการปกครองของปากีสถานจะมีประธานาธิบดีเป็นประมุขของรัฐ ส่วนนายกรัฐมนตรีทำหน้าที่เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารแผ่นดิน จึงทำให้ระบอบการเมืองมีทั้งประธานาธิบดีและนายกฯ เบนาซี บุตโต นายกรัฐมนตรีปากีสถาน: จุดเริ่มต้นและจุดจบของผู้นำหญิงโลกมุสลิม นายซัลฟิการ์มีส่วนอย่างมากที่ทำให้ชีวิตของเบนาซีโรยด้วยกลีบกุหลาบ เขาส่งลูกสาวไปเรียนปริญญาตรีถึงมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด จนจบการศึกษาในปี 1973 ด้วยวัยเพียง 20 ปี จากนั้นเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดด้านรัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ แต่ใครจะคิดว่าพ่อผู้ให้ทุกอย่างคือคนเดียวกันที่ทำให้หญิงสาวถูกจับเข้าเรือนจำตอนอายุ 24 ปี ในปี 1977 นายซัลฟิการ์ถูกนายพลโมฮัมหมัด เซีย อุลฮัก (Muhammad Zia-ul-Haq) ทำรัฐประหาร ประกาศกฎอัยการศึก ตั้งตนเป็นประมุขแห่งรัฐที่ดำรงตำแหน่งยาวนานถึง 11 ปี ตอนนั้นเบนาซีมีอายุได้ 24 ปี เธอต้องติดคุกเพื่อรอฟังผล สุดท้ายถูกตัดสินโทษโดนกักบริเวณอยู่บ้าน 5 ปี ส่วนแม่กับพ่อก็ติดคุก สองปีต่อมารัฐบาลเผด็จการพรากบิดาไปจากเบนาซีตลอดกาล ด้วยความผิดฐานวางแผนลอบสังหารนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม ทำให้เขาถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ แม้พ่อของเบนาซีจะถูกแขวนคอไปแล้ว เรื่องเศร้ายังไม่จบเพียงเท่านี้ ในปี 1980 ชาร์นาวาซ บุตโต (Shahnawaz Bhutto) พี่ชายของเบนาซีถูกลอบวางยาพิษ เสียชีวิตในอะพาร์ตเมนต์ย่านริเวร่า ในฝรั่งเศส แต่กลับไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ความสนใจการตายของลูกชายอดีตผู้นำประเทศเลย นอกจากสื่อกับประชาชนเท่านั้นที่พากันตั้งคำถามถึงเหตุการณ์นี้ หลังกำจัดอำนาจการเมืองเก่าของรัฐบาลพลเรือนฝ่ายตรงข้ามไปเกือบหมด ปากีสถานถูกปกครองด้วยอำนาจทหารอีกครั้ง เมื่อถึงกำหนดที่ต้องปล่อยตัวเบนาซี บุตโต รัฐบาลของนายพลอุลฮักให้เธอออกมาพบเจอกับโลกภายนอก เด็กสาวที่ได้ลิ้มรสชีวิตที่ถูกกักขัง พบเจอกับความไม่เท่าเทียม และสูญเสียพ่อและพี่ชายผู้เป็นที่รัก เริ่มวางแผนใหญ่เพื่อทำให้ประเทศปากีสถานปราศจากการปกครองที่เต็มไปด้วยเรื่องสกปรกแบบที่เธอเจอมา เบนาซี บุตโต นายกรัฐมนตรีปากีสถาน: จุดเริ่มต้นและจุดจบของผู้นำหญิงโลกมุสลิม หลังออกจากคุกได้สองปี เบนาซีทำเรื่องลี้ภัยทางการเมืองไปอาศัยอยู่ที่อังกฤษในปี 1984 เร่งศึกษาหาความรู้เพื่อพัฒนาตัวเองต่อไปเรื่อย ๆ สั่งสมประสบการณ์ วางแผนให้รัดกุมขึ้น ชาวเมืองปากีสถานผู้สิ้นหวังต่างพากันคิดว่าเบนาซีหวาดกลัวจึงเลือกหนีเอาตัวรอดไปอยู่นอกประเทศ แต่เธอรู้อยู่แก่ใจว่าการทำให้ปากีสถานดีขึ้นไม่ได้ทำได้แค่วันเดียวหรือทำได้ทันทีหลังออกจากคุก เธอจึงไม่ได้รู้สึกโกรธเคืองกับคำสบประมาทเหล่านี้ พร้อมกับจัดตั้งสำนักงานพรรค PPP ที่ลอนดอน เพื่อช่วยงานจากฝั่งยุโรป ระหว่างลี้ภัยอยู่อังกฤษ เบนาซีมีส่วนช่วยเหลือ ดูแล ควบคุมการทำงานของพรรคประชาชนปากีสถานที่พ่อเธอเคยทำไว้ก่อนหน้านี้ผ่านแดนไกล และขึ้นเป็นผู้นำพรรคคนใหม่หลังจากที่แม่ทำหน้าที่หัวหน้าพรรคการเมืองแทนช่วงที่เธอถูกกักบริเวณ หลังรัฐบาลเผด็จการยกเลิกการใช้ประกาศกฎอัยการศึก เบนาซีตัดสินใจเดินทางกลับปากีสถานในวันที่ 10 เมษายน 1986 เพื่อเล่นการเมืองแบบเต็มตัว เธอรณรงค์ให้รัฐบาลเร่งจัดการเลือกตั้งตามแบบประชาธิปไตยโดยเร็ว และประกาศแต่งงานกับนักธุรกิจหนุ่ม อาซิฟ อาลี ซาร์ดารี (Asif Ali Zardari) ในปี 1987 พร้อมกับข่าวดีว่าการเลือกตั้งที่เธอฝันถึงกำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้งจริง ๆ เบนาซี บุตโต นายกรัฐมนตรีปากีสถาน: จุดเริ่มต้นและจุดจบของผู้นำหญิงโลกมุสลิม นางเบนาซี บุตโต หัวหน้าพรรคประชาชนปากีสถานตัดสินใจลงสมัครตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เดินทางหาเสียงทั่วปากีสถาน ประชาชนหลายเมืองต่างให้การต้อนรับเธออย่างอบอุ่น ไม่ว่าไปปราศรัยที่ไหนผู้คนก็พากันไปยืนฟังเธอพูด เมื่อเบนาซีขึ้นไปยืนอยู่บนกระบะหลัง ชาวบ้านก็จะนำกลีบดอกกุหลาบแดงที่เตรียมมาโปรยให้กับเธอ แสดงจุดยืนว่าพวกเขาก็ต้องการประชาธิปไตยเช่นกัน ไม่ว่าจะไปที่ไหน นางเบนาซีจะถูกต้อนรับด้วยกลีบดอกไม้และเสียงกู่ร้องดีใจตลอดทาง อย่างไรก็ตาม ระหว่างการหาเสียงเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น เมื่อเครื่องบินของประธานาธิบดีอุลฮักที่สั่งประหารชีวิตพ่อของเธอเกิดตกในปี 1988 ใคร ๆ ต่างคิดว่าเหตุเครื่องบินตกครั้งนี้คือการลอบสังหารผู้นำเผด็จการที่อยู่ในอำนาจนานนับสิบปี ไม่น่าเกิดขึ้นเพราะอุบัติเหตุอย่างที่ข่าวส่วนใหญ่นำเสนอ มีคนเริ่มสงสัยว่าการตายของประธานาธิบดีอุลฮักอาจเป็นฝีมือของเบนาซีที่มีความแค้นกันมาก่อน แต่คนส่วนมากคิดว่าไม่น่าใช่ฝีมือเธอ เพราะคนที่ต้องหนีไปต่างประเทศ พ่อถูกฆ่าจนตระกูลเสื่อมอำนาจ และกลับมาในฐานะผู้ลงสมัครเลือกตั้งแบบสุจริต จะเอาเส้นสายที่ไหนเข้าถึงตัวอดีตผู้นำที่เคยมีประเด็นกัน หลังจากนั้นเรื่องราวการจากไปของประธานาธิบดีอุลฮักก็ผ่านไปราวกับสายลม เวลานับสิบปีทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เกลียดชังอดีตประมุขแห่งรัฐกันไม่มากก็น้อย ผู้คนให้ความสนใจกับการเลือกตั้งที่ใกล้เกิดขึ้นมากกว่า เบนาซี บุตโต นายกรัฐมนตรีปากีสถาน: จุดเริ่มต้นและจุดจบของผู้นำหญิงโลกมุสลิม แล้วก็เป็นดั่งที่ใคร ๆ คาดไว้ สมาชิกผู้แทนราษฎรจากพรรคประชาชนปากีสถานกวาดคะแนนเสียงจากประชาชนแบบถล่มทลาย กลายเป็นพรรคการเมืองที่มีตัวแทนได้เข้าไปนั่งในสภามากที่สุด และ วันที่ 1 ธันวาคม 1988 นางเบนาซี บุตโต ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีปากีสถานอย่างเป็นทางการ กลายเป็นสตรีคนแรกในประวัติศาสตร์ร่วมสมัยที่ได้เป็นผู้นำรัฐมุสลิมจากการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย และเป็นหนึ่งในสตรีผู้ทรงอิทธิพลของโลก ผู้นำหญิงคนใหม่ตัดสินใจหยิบคดีความเก่าที่ไม่ได้รับความยุติธรรมเมื่อหลายสิบปีก่อนมาปัดฝุ่นใหม่ เกิดแนวคิดประชาธิปไตยเบ่งบานในสังคม ผู้คนเริ่มมีหวังกับผู้นำคนใหม่ที่เลือกมากับมือ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลของนางเบนาซีถูกประธานาธิบดีขณะนั้นคือ กูลัม อิชัก ข่าน (Ghulam Ishaq Khan) ตำหนิเรื่องการบริหารประเทศ มองว่าเศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้นเท่าที่ควร พร้อมกับหาทางทำให้เธอหลุดจากตำแหน่งก่อนหมดวาระได้สำเร็จ นางเบนาซีจึงทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีถึงปี 1993 และให้ตัวแทนพรรคอื่นขึ้นมาทำงานแทน นายกรัฐมนตรี นาวาซ ชารีฟ (Nawas Sharif) โจมตีสามีของอดีตนายกหญิงเรื่องคดีทุจริต ส่วนนางเบนาซีถูกกล่าวหาใช้อำนาจทางมิชอบหลายครั้งขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยแรก รวมถึงประเด็นใหญ่ที่ทำให้สังคมตั้งข้อสงสัยเพราะเธอถูกกล่าวหาว่ามีส่วนรู้เห็นการคอร์รัปชัน แม้จะโดนปลดออกจากตำแหน่ง แต่การเลือกตั้งครั้งใหม่วนกลับมาอีกครั้งในปี 1996 อย่างน้อยชาวปากีสถานก็มีสิทธิได้เลือกผู้นำจากพรรคการเมืองต่าง ๆ ให้เข้ามาลองบริหารประเทศ เมื่อทำได้ไม่ดีก็เลือกคนอื่นเข้ามาทำแทนตามแบบประชาธิปไตย ในครั้งนี้ประชาชนยังคงเทคะแนนเสียงแก่นางเบนาซีอีกครั้ง จนเธอได้เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 แต่การดำเนินงานวาระนี้เต็มไปด้วยปัญหามากกว่าการทำงานครั้งก่อนเสียอีก ระหว่างที่เบนาซีเจอกับข้อกล่าวหา เธอต้องพบกับเรื่องเศร้าในชีวิตอีกครั้ง เมื่อ มูร์ตาซา มุตโต (Murtaza Bhutto) พี่ชายอีกคนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจยิงตายในเมืองการาจี เธอกับสามีต้องเตรียมทนายความขึ้นศาล ไปขึ้นศาลเพื่อฟังคำพิจารณาคดี พร้อมกับยืนยันหนักแน่นทุกครั้งว่าตัวเองไม่ได้ปฏิบัติตนตามข้อกล่าวหาใด ๆ ทั้งสิ้น [caption id="attachment_26054" align="aligncenter" width="1200"] เบนาซี บุตโต นายกรัฐมนตรีปากีสถาน: จุดเริ่มต้นและจุดจบของผู้นำหญิงโลกมุสลิม เบนาซี บุตโต นายกรัฐมนตรีปากีสถาน กับ มากาเร็ต แทตเชอร์ นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร[/caption] ดูเหมือนเรื่องราวจะวุ่นวายขึ้นอีกขั้น เมื่อ นายพลเปอร์เวซ มูชาร์ราฟ (Pervez Musharraf) ก่อการปฏิวัติทำรัฐประหารในปี 1999 ปลดประธานาธิบดีฟารุค เลการี (Farooq Leghari) ลงจากตำแหน่ง ส่วนเบนาซีถูกตัดสินว่ามีความผิดจริงฐานคอร์รัปชัน ต้องรับโทษจำคุก 3 ปี ถูกส่งตัวไปยังเรือนจำซุกคูร์ ครอบครัวบุตโตถูกบังคับให้ลี้ภัยทางการเมือง เธอต้องหนีไปอยู่ที่อังกฤษอีกครั้ง แล้วค่อยย้ายไปอยู่เมืองดูไบนานถึง 8 ปี ในฐานะแขกของราชวงศ์ เป็นอาจารย์ไปสอนตามมหาวิทยาลัย เป็นที่ปรึกษาให้รัฐบาลที่ต้องการคำแนะนำจากเธอ คอยดูแลพรรคการเมืองจากต่างประเทศเหมือนกับการลี้ภัยครั้งแรก แม้ตัวอยู่ต่างแดนแต่เธอก็ยังไม่ยอมแพ้ เธอพยายามเรียกร้องให้รัฐบาลทหารถอนข้อกล่าวหาของเธอกับสามี แต่ได้รับกลับมาเพียงแค่ความเงียบงัน ส่วนการเลือกตั้งก็วนกลับมารอบที่เท่าไหร่แล้วไม่รู้ ซึ่งเธอก็อยากจะลงเลือกตั้งอีกครั้ง ทว่ารัฐธรรมนูญปี 2000 ระบุไว้ชัดเจนว่า บุคคลที่ถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดและมีพรรคการเมืองจะไม่สามารถลงเล่นการเมืองได้อีก นอกจากรัฐธรรมนูญปี 2002 รัฐธรรมนูญปี 2002 ยังระบุไว้ด้วยว่า ห้ามนายกรัฐมนตรีอยู่ในวาระเกินสองสมัย ทำให้นางเบนาซีที่เป็นมาสองสมัยไม่สามารถลงเล่นการเมืองในตำแหน่งเดิมได้อีก ซึ่งประชาชนบางส่วนวิจารณ์ข้อกฎหมายนี้ว่าเหมือนตั้งมาเพื่อกีดกันนางเบนาซีโดยเฉพาะ จะมีสักกี่คนกันที่โดนฟ้องแล้วมีสำนักงานพรรคการเมืองเป็นของตัวเอง เบนาซี บุตโต นายกรัฐมนตรีปากีสถาน: จุดเริ่มต้นและจุดจบของผู้นำหญิงโลกมุสลิม เพื่อแก้เกมและหาช่องโหว่ทางกฎหมาย พรรคประชาชนปากีสถานจึงแยกตัวออกมาจดทะเบียนเป็นพรรคย่อยในปี 2002 โดยใช้ชื่อว่า พรรคสภาประชาชนปากีสถาน (Pakistan People’s Party Parliamentarians-PPPP) เพิ่มตัว P ที่หมายถึงสมาชิกรัฐสภาเข้าไปอีกหนึ่งตัว และแจ้งต่อศาลว่านางเบนาซีจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพรรคนี้ แต่คนอื่น ๆ ในตระกูลบุตโตที่ไม่มีความผิดสามารถร่วมได้ เป็นพรรคใหม่ใสสะอาดที่ไม่มีความผิดทางข้อกฎหมายหรือขัดกับรัฐธรรมนูญ พรรค PPPP ที่มีนักการเมืองคุ้นหน้าหลายคนจากพรรค PPP ลงแข่งเลือกตั้ง สร้างสีสันและกระพือกระแสการเมืองให้ร้อนแรงได้ง่าย ๆ ประชาชนตบเท้าเข้าคูหากันเป็นจำนวนมาก พวกเขายังคงได้รับคะแนนโหวตจากประชาชนเป็นจำนวนมากเหมือนเคย เวลาผ่านไปพร้อมกับความไม่ย่อท้อ ตระกูลบุตโตจึงเริ่มพูดคุยกันอีกครั้งถึงการเลือกตั้งปากีสถานปี 2008 เนื่องจากนางเบนาซียังคงไม่ยอมแพ้กับการเมืองเผด็จการ เธออยากกลับเข้าปากีสถานอีกครั้งเพื่อช่วยพรรคการเมืองหาเสียง อยากสะสางเรื่องคดีความที่ติดตัว และอยากเตรียมตัวลงเลือกตั้งอีกครั้ง เพราะเธอคิดว่าตัวเองอาจเจรจากับประธานาธิบดีเปอร์เวซได้ เบนาซี บุตโต นายกรัฐมนตรีปากีสถาน: จุดเริ่มต้นและจุดจบของผู้นำหญิงโลกมุสลิม ไม่นานนักก่อนที่ประธานาธิบดีเปอร์เวซได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้ง เกิดการหารือยาวนานที่ไม่ได้ข้อตกลงสักทีว่า จะแบ่งอำนาจการปกครองระหว่างประชาชนกับทหารอย่างไรดี ท้ายที่สุด ประธานาธิบดีเปอร์เวซยอมนิรโทษกรรมให้นางเบนาซีกับสามีของเธอ แต่ศาลฎีกายังคงไม่เห็นด้วยเพราะมองว่าการนิรโทษกรรมนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ คดีความและการนิรโทษกรรมยืดเยื้อถึงปี 2007 ในที่สุดนางเบนาซีก็หลุดทุกข้อกล่าวหา เนื่องจากหลักฐานที่ว่าเธอถูกใส่ร้ายปรากฏขึ้นมาเรื่อย ๆ โดยเฉพาะเรื่องคลิปเสียงตั้งแต่สมัยโดนคดีช่วงแรกกลับมาในกระแสสังคมอีกครั้ง คลิปเสียงที่ว่าคือการคุยกันระหว่างผู้ช่วยคนสนิทของนายกรัฐมนตรีซารีฟที่พูดกดดันให้ผู้พิพากษาตัดสินว่านางเบนาซีมีความผิด ด้วยเหตุผลหลายอย่างจึงทำให้นางเบนาซีพ้นมลทิน วันที่ 18 ตุลาคม 2007 เบนาซี บุตโต ได้กลับมาเหยียบแผ่นดินปากีสถานอีกครั้ง พรรคการเมืองของเธอจัดงานเลี้ยงต้อนรับท่ามกลางประชาชนที่ชื่นชอบมาร่วมแสดงความยินดี ทว่าในงานนี้มีผู้ไม่หวังดีแฝงตัวเข้ามา มือระเบิดพลีชีพปะปนกับฝูงชนและกดปุ่มระเบิดสังหาร ความเสียหายกระจายตัวเป็นวงกว้าง ผู้คนแตกฮือไปคนละทิศละทาง ทั่วทั้งลานกว้างเต็มไปด้วยเสียงกรีดร้องตกใจคละด้วยความเจ็บปวด เหตุการณ์ลอบสังหารครั้งนี้ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 136 คน และบาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมาก เบนาซี บุตโต นายกรัฐมนตรีปากีสถาน: จุดเริ่มต้นและจุดจบของผู้นำหญิงโลกมุสลิม นางเบนาซี บุตโต รอดชีวิตจากเหตุลอบสังหารอย่างปาฏิหาริย์ เนื่องจากยืนอยู่ใกล้รถหุ้มเกราะที่ช่วงลดแรงกระแทกจากระเบิด เธอได้ออกมาแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อเหตุการณ์ดังกล่าวพร้อมประณามผู้ก่อเหตุ ด้านประธานาธิบดีเปอร์เวซประกาศใช้ภาวะฉุกเฉินตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน 2007 พร้อมสั่งกักบริเวณนางเบนาซีชั่วคราว ทำให้เธอโต้ตอบด้วยการขู่พามวลชนลงถนนประท้วงการทำงานที่ไม่ได้เรื่องของประธานาธิบดี และเรียกร้องให้เขาลาออก ช่วงที่การหาเสียงกำลังเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ นางเบนาซียังคงเดินสายหาเสียงหลายเมืองโดยไม่กลัวว่าจะเกิดเหตุร้ายขึ้นอีก วันที่ 27 ธันวาคม 2007 นางเบนาซีลงพื้นที่ ณ เมืองราวัลปินดี ขณะที่กำลังโบกมือให้กับประชาชนผ่านซันรูฟรถยนต์ มือสังหารเข้ามาปะปนกับฝูงชนอีกครั้ง เขาหยิบปืนขึ้นมาแล้วระดมยิงไปยังเบนาซี จากนั้นกดปุ่มให้ระเบิดที่พันอยู่รอบกายทำงาน เขาตัดสินใจระเบิดตัวเองเพื่อไม่ให้โดนจับ การก่อการร้ายครั้งนี้มีผู้เสียชีวิต 28 ราย ได้รับบาดเจ็บมากกว่าร้อยคน ส่วนนางเบนาซี บุตโต ที่หมดสติคาซันรูฟ ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที ช่วงค่ำหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญ โฆษกรัฐบาลออกแถลงการณ์ว่านางเบนาซี บุตโต เสียชีวิตเมื่อเวลา 18:16 นาทีตามเวลาท้องถิ่น เนื่องจากศีรษะกระแทกกับหลังคารถอย่างแรงจนทำให้กะโหลกแตกและคอหัก ถ้อยแถลงนี้ก่อให้เกิดประเด็นถกเถียงไปทั่วประเทศ เมื่อผู้ช่วยใกล้ชิดของนางเบนาซียืนยันว่าเขาเห็นกับตาว่าเธอถูกยิงสองนัดเข้าที่หัวและคอก่อนมือสังหารจะระเบิดตัวเองทิ้ง แต่ที่รัฐบาลต้องออกมาแจ้งว่าเธอไม่ได้ตายด้วยกระสุนปืน เพราะกลัวคำวิจารณ์จากทั่วโลกว่ารัฐบาลปากีสถานทำงานบกพร่องจนเกิดโศกนาฏกรรม เบนาซี บุตโต นายกรัฐมนตรีปากีสถาน: จุดเริ่มต้นและจุดจบของผู้นำหญิงโลกมุสลิม เมื่อทั่วโลกทราบข่าวการจากไปของอดีตผู้นำหญิง ชาวปากีสถานจำนวนมากแห่แหนมายังงานศพ เพื่อร่วมส่งเธอเป็นครั้งสุดท้าย ผู้หญิงบางคนทรุดลงกับพื้นและเริ่มร้องไห้ ผู้ชายยืนน้ำตาไหลกอดไหล่กับเพื่อน ในแง่หนึ่งบางคนเชื่อว่าเธออาจเป็นนักการเมืองขี้โกงจริง ๆ อย่างที่เคยถูกกล่าวหา แต่อีกด้านของชีวิตเธอยังคงเป็นที่นิยมของประชาชนส่วนใหญ่ เป็นขวัญใจของการสู้ไม่ยอมถอย แม้พ่อกับพี่ชายจะถูกฆ่าหรือตัวเองจะถูกฟ้องจนต้องติดคุกและลี้ภัย มีส่วนทำให้ผู้คนตระหนักถึงเรื่องสิทธิและความสวยงามของประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น ซึ่งงานไว้อาลัยวันที่ 28 ธันวาคม 2007 มีผู้เข้าร่วมมากกว่าหนึ่งแสนคน ร่างของเธอถูกฝังไว้เคียงข้างบิดา ณ สุสานประจำตระกูลในจังหวัดสินธ์ (Sindh) ประธานาธิบดีเปอร์เวซออกแถลงการณ์ไว้อาลัยเป็นเวลา 3 วัน เอ่ยถึงโศกนาฏกรรมครั้งนี้ผ่านโทรทัศน์ กล่าวว่าเขาได้ขอให้ทีมสืบสวนสกอตแลนด์ยาร์ดจากสหราชอาณาจักรเข้ามาช่วยเหลือเรื่องการสืบสวนคดีนี้ หลังงานศพจบลง เกิดความวุ่นวายภายในประเทศ หลายเมืองเกิดเหตุจลาจล ผู้คนที่กำลังโกรธแค้นออกมาก่อความวุ่นวาย รถไฟหลายเมืองไม่สามารถออกวิ่งได้ ร้านค้าพากันปิดตัวชั่วคราว ความรุนแรงดูท่าจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนมีผู้เสียชีวิตจากการปะทะกันอย่างน้อย 23 คน ทำให้การเลือกตั้งที่ใกล้มาถึงในเดือนมกราคม 2008 ต้องถูกเลื่อนออกไปก่อนเพราะอาจเกิดเหตุรุนแรงในบริเวณคูหาทั่วประเทศได้

“สหรัฐอเมริกาขอประณามการกระทำอันขี้ขลาดของกลุ่มหัวรุนแรง

ที่ก่อเหตุลอบสังหารและบ่อนทำลายประชาธิปไตยของปากีสถาน”

- ประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช แห่งสหรัฐอเมริกา

จากเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นหลายยุคหลายสมัย รัฐบาลปากีสถานยังตัดสินใจติดอาวุธนิวเคลียร์ กลายมาเป็นพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกา คอยช่วยเหลือกันเรื่องการก่อการร้ายและสร้างมิตรไมตรีกับหลายประเทศ กระทรวงมหาดไทยแห่งปากีสถานเปิดเผยข้อมูลว่า กลุ่มติดอาวุธอัลกออิดะห์กับตาลีบันคือผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ลอบสังหารเบนาซี บุตโต เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมผู้ช่วยเหลือให้มือปืนวัย 15 ปี นามว่า บิลาล (Bilal) ยิงปืนใส่นางเบนาซีและระเบิดตัวเองตาย พวกเขารับสารภาพว่าให้การช่วยเหลือบิลาลวางแผนลอบสังหาร หาที่พักในเมืองเดียวกับที่นางเบนาซีจะไปหาเสียง หาอาวุธมาให้ เพราะทุกคนต่างทำงานให้กับกลุ่มก่อการร้ายตาลีบันและอัลกออิดะห์ แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังเชื่อว่าต้องมีนักการเมืองปากีสถานรู้เห็นกับการลอบสังหารแน่นอน เบนาซี บุตโต นายกรัฐมนตรีปากีสถาน: จุดเริ่มต้นและจุดจบของผู้นำหญิงโลกมุสลิม ในปี 2007 หลังจากประธานาธิบดีเปอร์เวซลงจากอำนาจ เขาถูกตั้งข้อหา 3 กระทง คือ ฆาตกรรม สมรู้ร่วมคิดก่อเหตุฆาตกรรม และมีส่วนช่วยในคดีฆาตกรรม ทุกข้อหาเกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์การลอบสังหารนางเบนาซี บุตโต โดยมีคนใกล้ชิดของเบนาซีกับนักข่าวยืนยันว่า พวกเขาอยู่ในเหตุการณ์ที่เธอรับสายโทรศัพท์ของประธานาธิบดีเปอร์เวซโทรมาขู่ไม่ให้เธอกลับมายังปากีสถาน แถมย้ำว่าถ้าเกิดอะไรขึ้นมาเขาจะไม่รับผิดชอบใด ๆ ทั้งนั้น ทางฝั่งทนายของอดีตประธานาธิบดีปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา พร้อมกับทำเรื่องขอลี้ภัยในปี 2008 ส่วนอดีตประธานาธิบดีออกมาโต้ตอบข้อกล่าวหาดังกล่าวว่า “ไร้สาระมาก ทำไมผมถึงต้องอยากฆ่าเธอด้วย ?” ในปี 2010 องค์การสหประชาชาติกล่าวถึงประเด็นการลอบสังหารนางเบนาซี บุตโต ไว้ได้น่าสนใจ ประธานาธิบดีเปอร์เวซ มูชาร์ราฟ อาจยับยั้งไม่ให้เกิดโศกนาฏกรรมน่าเศร้าได้ถ้าจัดทีมรักษาความปลอดภัยให้ได้มากกว่านี้ เชาธรี ซุลฟิการ์ (Chaudhry Zulfikar) อัยการผู้รับผิดชอบคดีของนางเบนาซี ก็ออกมาโจมตีประธานาธิบดีเปอร์เวซว่าความบกพร่องของเขามีส่วนส่งเสริมให้เกิดการลอบสังหาร คดียืดเยื้อขึ้นกว่าเก่า เมื่ออัยการเชาธรีถูกลอบสังหารขณะขับรถข้ามเมืองในรัฐปันจาบ เมื่อปี 2013 กระสุนกว่า 7 นัด ทะลุร่างของเขา เหตุการณ์นี้สร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไปทั่วว่าเชาธรีอาจรู้อะไรเกี่ยวกับคดีลอบสังหารเบนาซีแต่ยังไม่ได้พูดออกมาให้โลกรู้หรือไม่ คนบางกลุ่มคิดว่าการตายของเขาไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องอดีตผู้นำหญิง เพราะเขากำลังวิ่งหาหลักฐานยื่นฟ้องกลุ่มติดอาวุธปากีสถานถึง 7 กลุ่ม อาจมีกลุ่มก่อการร้ายสักกลุ่มต้องการกำจัดเขาอยู่ก่อน อย่างไรก็ตาม ความตายของเขาแสดงให้เห็นถึงความเน่าเฟะทางการเมืองและอำนาจใต้ดิน เพียงเพราะเขาทำตามหน้าที่และพยายามทำสิ่งที่ถูกต้อง เบนาซี บุตโต นายกรัฐมนตรีปากีสถาน: จุดเริ่มต้นและจุดจบของผู้นำหญิงโลกมุสลิม หลังอดีตประธานาธิบดีเปอร์เวซลี้ภัยและกลับปากีสถานอีกครั้งช่วงปี 2013 หนึ่งปีถัดมาเขาโดนตั้งข้อหาร้ายแรงว่าเป็นกบฏ เนื่องจากก่อรัฐประหารยึดอำนาจเมื่อปี 1999 หยุดการบังคับใช้รัฐธรรมนูญในปี 2007 บังคับใช้กฎหมายที่ทำให้ตัวเองอยู่ในอำนาจได้นานขึ้น ส่งผลให้ชายชราต้องสู้คดีหลายด้าน ประกอบกับร่างกายที่เสื่อมลงตามวัย เขาต้องทำเรื่องขอให้ศาลอนุญาตออกนอกประเทศชั่วคราว เพื่อไปรักษาตัวที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และต้องกลับมาสู้กับข้อหนักเรื่องการมีเอี่ยวกับความตายของเบนาซีและข้อหากบฏไปอีกนาน แม้หลายคนมองว่านางเบนาซี บุตโต ไม่ใช่ผู้หญิงที่ดีไปเสียทุกอย่าง แต่เรื่องราวชีวิตของเธอกลับสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นถัดมา มาลาลา ยูซัฟไซ (Malala Yousafzai) เด็กสาวชาวปากีสถานที่ออกมาเรียกร้องเรื่องสิทธิและการศึกษาจนถูกผู้ก่อการร้ายบุกยิงบนรถบัส ก็รับแรงบันดาลใจให้ออกมารณรงค์เรื่องความเท่าเทียมจากนางเบนาซี ท้ายที่สุดเรื่องราวของผู้หญิงจากครอบครัวชนชั้นสูงของปากีสถาน ผู้สามารถต่อสู้กับสังคมชายเป็นใหญ่เข้มข้นได้อย่างมีชั้นเชิง แถมยังพาตัวเองขึ้นสู่จุดสูงสุดของระบบการเมืองที่ครอบงำโดยผู้ชายได้อย่างภาคภูมิ ก็จะถูกเล่าขานต่อไปไม่รู้จบ   ที่มา https://www.history.com/topics/womens-history/benazir-bhutto https://www.britannica.com/biography/Benazir-Bhutto https://www.bbc.com/news/world-asia-42409374 https://www.bbc.com/news/world-asia-22394089 https://www.theatlantic.com/international/archive/2011/05/could-the-us-have-prevented-benazir-bhuttos-death/239282/   เรื่อง: ตรีนุช อิงคุทานนท์