ศาสดาลาพักร้อน (Saint Young Men) : การ์ตูนที่หลอมศาสนาเข้ากับวัฒนธรรมญี่ปุ่นได้อย่างลงตัว

ศาสดาลาพักร้อน (Saint Young Men) : การ์ตูนที่หลอมศาสนาเข้ากับวัฒนธรรมญี่ปุ่นได้อย่างลงตัว

การ์ตูนที่หลอมศาสนาเข้ากับวัฒนธรรมญี่ปุ่นได้อย่างลงตัว

/ บทความชิ้นนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาภายในเรื่อง ‘Saint Young Men’ / เขาคือชายหนุ่มมาดเซอร์ ผมสีดำยาวสลวย ท่าทางขี้เล่น และสดใส ส่วนเขาอีกคนคือชายหนุ่มมาดขรึม ผมหยิก สะพายกระเป๋า Nirvana ท่าทางอบอุ่น และใจดี นั่นคือคาแรกเตอร์แสน ‘ธรรมดา’ ของสองหนุ่ม ‘ผู้ยิ่งใหญ่’ บนปกการ์ตูนเซเน็ง ซึ่งเป็นแนวการ์ตูนสำหรับผู้ชายวัย 18-25 ปี ผลงานของอาจารย์ ‘ฮิคารุ นากามูระ’ ที่ทำยอดขายไปกว่า 16 ล้านเล่มทั่วโลก ภายใต้ชื่อเรื่อง ‘Saint Young Men’ หรือชื่อภาษาไทยอย่างไม่เป็นทางการคือ ‘ศาสดาลาพักร้อน’ โดยเนื้อหาภายในเป็นเรื่องราวหลังจากที่ ‘พระพุทธเจ้า aka บุดด้า’ และ ‘พระเยซู aka จีซัส’ วางมือจากภารกิจอันยิ่งใหญ่เพื่อมวลมนุษยชาติ เพราะพวกเขาต้องการพักผ่อน โดยการลงมาเช่าห้องอาศัยอยู่บนโลกอย่างปุถุชนคนธรรมดา แต่หากใครคิดว่าอาจารย์ฮิคารุต้องการนำเสนอเพียงความมีอารมณ์ขันของสองศาสดา ก็คงต้องตอบว่าไม่ใช่ เพราะเนื้อหาภายในแฝงเอาไว้ด้วยมุมมองของสองศาสนา คำสอน ประวัติศาสตร์ และมุกตลกร้ายที่แสดงให้เห็นว่า วัฒนธรรมของญี่ปุ่นสามารถหลอมรวมกับศาสนาได้อย่างกลมกลืน เมื่อนักเขียนการ์ตูนอยากให้ศาสดามาเช่าห้องอยู่ เรื่องราวทั้งหมดเกิดจากความสงสัยของ อาจารย์ฮิคารุ นากามูระ นักเขียนการ์ตูนชาวญี่ปุ่น ที่พยายามจินตนาการว่า ‘หากศาสดาของสองศาสนาอยากลงมาพักร้อนบนโลกมนุษย์ อะไรจะเกิดขึ้น?’ นั่นจึงเป็นที่มาของเรื่องราวระหว่างการพักร้อนของพระพุทธเจ้าและพระเยซู ซึ่งได้ลงมาเช่าห้องอยู่ร่วมกันในอะพาร์ตเมนต์ที่โตเกียว โดยที่ผู้อ่านจะได้เห็นทั้งสองศาสดาพยายามวางแผนการใช้จ่ายอย่างประหยัดอดออม หรือแม้กระทั่งการช่วยกันสะสมคะแนนแลกของจากซูเปอร์มาร์เก็ต เพื่อให้มีเงินเหลือพอจ่ายค่าเช่าห้องให้กับคุณนายมัตสึดะเจ้าของตึกได้ตรงเวลา และถึงแม้เรื่องราวดังกล่าวจะฟังดูตลกขบขัน แต่อาจารย์ฮิคารุก็พยายามผลิตผลงานออกมาอย่างพิถีพิถันและรอบคอบ โดยไม่ได้มีเจตนาลบหลู่ความเชื่อแต่อย่างใด หากแต่ใช้การตีความศาสนาใหม่ และการนำเสนอมุมมองที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน นั่นทำให้ผู้อ่านยังคงรู้สึกถึงความน่าเคารพเลื่อมใส ความเมตตา และความอิ่มเอมใจในตัวศาสดาไปควบคู่กัน หลังจากมังงะเรื่องนี้ตีพิมพ์ในนิตยสารรายเดือน Monthly Morning Two ของสำนักพิมพ์ Kodansha ในปี 2006 การ์ตูนเรื่องนี้ก็ได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดีจากคนญี่ปุ่น ทำให้ความนิยมที่สูงขึ้นนำไปสู่การผลิตเป็นการ์ตูนเล่มในปี 2009 ตามมาด้วยแอนิเมชัน ภาพยนตร์ และซีรีส์คนแสดง ที่ได้ ‘มัตสึยามะ เคนอิจิ’ หรือ ‘L’ จากเรื่อง Death Note มารับบทเป็นพระเยซู และ ‘โชตะ โซเมตานิ’ จากเรื่อง ‘Bakuman’ มารับบทเป็นพระพุทธเจ้า ความสำเร็จของมังงะเรื่องนี้จึงเป็นเสียงที่สะท้อนให้เห็นว่า ศาสนาได้หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตชาวญี่ปุ่นไปได้อย่างแนบเนียน โดยการ์ตูนไม่จำเป็นต้องมุ่งนำเสนอแต่ชีวประวัติ หรือหลักคำสอนของศาสนาอย่างตรงไปตรงมาเท่านั้น เพราะแท้จริงแล้วศาสดาในมุม ‘คนธรรมดา’ ก็สามารถเป็นแบบอย่างในการใช้ชีวิตได้เหมือนกัน ศาสดาในวันที่เป็นคน ในเมื่อศาสดาลาพักร้อนแล้ว มุมมองที่น่าสนใจอีกประการคือ เราจะได้เห็นบุดด้าและจีซัสใช้ชีวิตอย่างคนธรรมดา มีอารมณ์สุข เศร้า เหงา โกรธ หรือแม้กระทั่งจะได้เห็นมุมโหด ๆ ของบุดด้า อย่างในตอนที่จีซัสสั่งชุดเครื่องปั้นดินเผาสำหรับมือใหม่มาลองเล่น บุดด้าที่มีนิสัยประหยัดมัธยัสถ์ก็โกรธจนเปล่งรัศมีออกมาจากศีรษะเหมือนหลอดไฟ เพราะของเล่นที่จีซัสสั่งมามีราคาแพงถึง 17,000 เยน หรือราว 4,800 บาท “ฉันสงสัยจังว่า แสงที่เปล่งออกมาจากบุดด้าเวลาโกรธจะวัดได้กี่วัตต์” จีซัสนั่งในท่าเทพบุตรอย่างเรียบร้อย เพราะเขากลัวเวลาบุดด้าโกรธเป็นที่สุด “ฉันเองก็อยากจะรู้ว่าถ้าเอาไฟที่เปล่งออกมาจากหัวฉันไปขายโรงไฟฟ้า ฉันจะได้เงินมากพอมาโปะของราคาแพงไร้ประโยชน์ที่นายซื้อมาไหม” บุดด้าบ่น ส่วนด้านพระเยซูก็เคยมีมุมที่ดีใจถึงขีดสุดขนาดเผลอเปลี่ยนน้ำเป็นไวน์ และเปลี่ยนจานดินเผาเป็นขนมปัง นับว่าอาจารย์ฮิคารุทำการบ้านมามากพอสมควร เพราะเรื่องการเปลี่ยนน้ำเป็นไวน์ของพระเยซูปรากฏอยู่ในคัมภีร์พันธสัญญาใหม่ด้วย นอกจากนี้อาจารย์ฮิคารุยังจัดเต็มไปถึงงานอดิเรกที่แสนธรรมดา แต่ไม่มีใครคิดว่าทั้งสองศาสดาจะทำ อย่างการวาดการ์ตูนตลกของบุดด้า หรือการเขียนบล็อก (Blog) ของจีซัส รวมไปถึงการจูงมือกันเข้าซาวน่า เดินชอปปิ้งในงานเทศกาล เที่ยวเล่นที่สวนสนุก หรือแอบส่องรูปผู้หญิงบนอินเทอร์เน็ต (เห็นไหมใคร ๆ เขาก็ทำกัน) แต่ด้วยชีวิตไม่ได้มีเพียงความสนุกสนานเท่านั้น ความกลัวและความหวั่นไหวในจิตใจของคนก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ชีวิตมีรสชาติที่หลากหลาย ในจุดนี้ อาจารย์ฮิคารุพาเราไปดูความกลัวในจิตใจของจีซัส โดยนำเสนอมุมมองว่าแท้จริงแล้วจีซัสเป็นโรคกลัวน้ำ ซึ่งอาจารย์ฮิคารุได้อ้างอิงเรื่องราวในพันธสัญญาใหม่ว่า สาเหตุที่พระเยซูแสดงปาฏิหาริย์เดินบนน้ำไปหาสาวกบนเรือหลังการเลี้ยงอาหารคน 5,000 คน ก็เพราะเขากลัวการว่ายน้ำนั่นเอง ส่วนตัวบุดด้าก็ยังมีความกลัวที่นอกเหนือจากการไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าห้อง ไม่ว่าจะเป็นอาการกลัวความสูงตอนที่เล่นรถไฟเหาะ กลัวคนจำได้ว่าเป็นพระพุทธเจ้า หรือในช่วงที่จีซัสคุยกับบุดด้าว่า บุดด้าไม่ยอมรับคำขอเป็นเพื่อนของเขาในบล็อกสักที ซึ่งแท้จริงแล้วบุดด้าไม่ค่อยกล้าเข้าบล็อกเนื่องจากกลัวว่า ‘จูดาส’ (Judas) เพื่อนเก่าที่ดูน่ากลัวของจีซัสจะแอดมา (คงจะเหมือนเวลาเราเจอคนที่ไม่ค่อยถูกชะตาแอดเฟซมากระมัง) แต่อย่างไรก็ตาม การนำเสนอของอาจารย์ฮิคารุไม่ได้ลดเพียงช่องว่างระหว่างพระเจ้าและมนุษย์ ให้เราได้เห็นความเป็นคนของผู้ที่ปกติจะอยู่บนจุดสูงสุดของการบูชาเท่านั้น เพราะอาจารย์ยังแฝงความตลกร้ายที่แอบเสียดสีสังคมผ่านตัวละครอีกด้วย ความตลกร้ายที่แสนน่ารัก “คอยดูเถอะ สักวันบล็อกของฉันต้องติดอันดับ 1 ให้ได้” จีซัสบอกความใฝ่ฝันของเขาอย่างมุ่งมั่น ขณะที่บุดด้าคิดอย่างเพลิดเพลินว่า ‘โลกคงจะสงบสุขแล้วจริง ๆ ถ้าพระเจ้าจะมีเวลาว่างมากมายขนาดนี้’ อาจารย์ฮิคารุแอบซ่อนความตลกร้ายเอาไว้ในอีกหลายตอน ยกตัวอย่างช่วงที่จีซัสและบุดด้าต้องต่อคิวรถไฟเหาะที่สวนสนุก ป้ายบอกเวลาให้พวกเขาต่อแถวรอ 120 นาที นั่นทำให้บุดด้าตกใจที่ต้องยืนกลางแดดนานขนาดนั้น แต่จีซัสกลับพูดด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม เพราะเขาคิดว่ามันไม่ใช่ปัญหา เช่นเดียวกับที่คนทั่วโลกเชื่อเช่นนั้น “ก็นายบําเพ็ญทุกรกิริยา ยืนกลางแดดมาได้ตั้งนาน ฉันเข้าใจว่านายเป็นคนมีความอดทนเป็นเลิศนะ” แต่ใครจะรู้ว่า นั่นไม่ใช่เรื่องสนุกเลยสักนิดสำหรับบุดด้า ใครจะไปชอบกันที่ต้องทนทุกข์ทรมานจากการหิวข้าว หรือทนรับแสงอาทิตย์ที่แผดเผาตัวเองทั้งเป็น กับอีกหนึ่งการเสียดสีเรื่องมิตรภาพและความรักที่เอ่อล้นของเหล่าสัตว์ที่มีให้ต่อสองศาสดา จีซัสและบุดด้ามักจะถูกรายล้อมไปด้วยสรรพสัตว์ตั้งแต่ นก หนู ห่าน แมว ไปจนถึงกวาง และพวกมันก็พยายามจะสละชีวิต เพื่อประโยชน์ของพวกเขาทั้งสองคนอย่างไม่มีเงื่อนไข ซึ่งแน่นอนว่านั่นไม่ใช่สิ่งที่สองศาสดาต้องการแม้แต่น้อย ในตอนหนึ่ง คุณมัตสึดะเจ้าของตึกเรียกบุดด้าและจีซัสลงไปดูแมวที่อยู่ด้านล่าง เพราะเธอคิดว่าทั้งสองคนคือผู้ที่แอบให้อาหารพวกมัน แน่นอนว่าแมวทุกตัวรีบเข้ามาหาทั้งสอง แต่จีซัสกลับบอกว่า ‘พวกเขาไม่มีแม้กระทั่งเงินจะซื้ออาหารกิน แล้วจะไปเอาเงินที่ไหนมาซื้ออาหารให้แมว’ นั่นทำให้แมวตัวหนึ่งคาบกล่องไม้ขีดมาให้ พร้อมกระโดดขึ้นไปบนจาน หวังจะให้จีซัสและบุดด้าปิ้งมันเป็นบาร์บีคิวกิน สุดท้าย นอกจากความตลกที่ทำให้ผู้อ่านได้ยิ้มมุมปาก รวมถึงเพลิดเพลินไปกับการตีความที่แปลกใหม่ การ์ตูนเรื่อง Saint Young Men ยังไม่พลาดนำเอาวัฒนธรรมยุคใหม่ของญี่ปุ่นเข้าไปผสมผสานกับเรื่องราวของศาสดาได้อย่างลงตัว ศาสนากับวัฒนธรรมยุคใหม่ในญี่ปุ่น นอกจากจะได้เห็นความผ่อนคลายของบุดด้าและจีซัสหลังจากทำงานกันอย่างเต็มที่มากว่า 2,000 ปี เรายังได้เห็นความน่ารักของการพยายามปรับตัวเข้ากับสังคมญี่ปุ่นในปัจจุบัน อย่างการพยายามขึ้นรถไฟฟ้าที่มีแต่คนเบียดเสียดกันเป็นปลากระป๋อง หรือการที่จีซัสพูดคุยกับยากูซ่าผู้มีรอยสักรูปพระพุทธเจ้าบนแผ่นหลัง เพราะคิดว่าเขาเป็นสาวกผู้นับถือบุดด้า แต่ด้วยความไม่รู้นี้เองที่ทำให้เนื้อหาของเรื่องมีมุมน่ารักได้มากเกินความคาดหวัง ผู้อ่านจะได้สัมผัสกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมญี่ปุ่นตั้งแต่ชื่อขนม ชื่ออาหาร ชื่อการ์ตูน ไปจนถึงแบรนด์ที่ปรากฏในเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น ไอศกรีมโมจิ Yukimi Daifuku และไอศกรีม Papico ทรงขวดที่สามารถแบ่งครึ่งและเก็บไว้กินได้ถึง 2 ครั้ง หรือจะเป็นแบรนด์คอมพิวเตอร์อย่าง Sony Vaio Laptop ก็ปรากฏให้เห็นจากการเขียนบล็อกของจีซัสเช่นกัน ยังไม่นับการนำเอาภาพยนตร์อย่าง Death Note, The Ring รวมไปถึงเกมนินเทนโดอย่าง Nintendogs มาสอดแทรกเหมือนโฆษณาให้คนอ่านได้ลองค้นคว้าเพิ่มเติม หรือหากจะตีความลักษณะนิสัยของบุดด้าและจีซัส เราก็จะเห็นได้ว่ามีความเชื่อมโยงเข้ากับวัฒนธรรมครอบครัวของญี่ปุ่นพอสมควร โดยการที่ทั้งสองศาสดามาอยู่ร่วมกันในอะพาร์ตเมนต์นั้นไม่ต่างจากคู่รักที่แต่งงานกันมานาน จีซัสผู้ที่มีนิสัยใจกว้าง ใช้จ่ายอย่างไม่คิดหน้าคิดหลัง และมักจะถูกคนอื่นหลอก คือตัวแทนของสามี ขณะที่บุดด้าชอบทำงานบ้าน มีความรอบคอบด้านการใช้จ่าย และมักจะวางแผนการใช้เงินได้ดี ดูคล้ายหน้าที่ของภรรยาในวัฒนธรรมญี่ปุ่น จากสิ่งที่สอดแทรกอยู่ภายในเรื่องนี้เองที่ทำให้เห็นว่า ศาสนาและวัฒนธรรมสมัยใหม่ของญี่ปุ่นสามารถหลอมรวมกันได้เป็นอย่างดี หากเทียบกับกระแสดราม่าเกี่ยวกับ Saint Young Men ที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยเมื่อปี 2556 ศาสดาไม่ลาพักร้อนที่ไทย หลังจากกระแสตอบรับจากเรื่อง Saint Young Men เป็นไปในทิศทางที่ดี แฟนคลับชาวไทยบางส่วนก็ได้ตั้งเฟซบุ๊กแฟนเพจขึ้นชื่อว่า Saint Onii-san Thailandfanpage เพื่อสนับสนุนมังงะเรื่องดังกล่าว แต่สุดท้ายก็ได้รับการร้องเรียนจากองค์กร Knowing Buddha โดยมูลนิธิโรงเรียนแห่งชีวิต ผ่านไปยังกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารว่า เนื้อหาของมังงะเรื่องนี้มีการลบหลู่ศาสนาและไม่เหมาะสม กระนั้นกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารก็ได้ดำเนินการสอบถามไปยังกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งได้คำตอบจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว ว่ามังงะเรื่องดังกล่าวได้รับการเผยแพร่ที่ประเทศญี่ปุ่นมาก่อน และยังได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง ต่อมาจึงถูกนำไปดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ โดยไม่มีกระแสต่อต้านหนังสือการ์ตูนและภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวในประเทศญี่ปุ่น ส่วนเหตุผลของการที่ญี่ปุ่นสามารถหลอมรวมศาสนาเข้ากับวัฒนธรรมยุคใหม่ได้ ทางสถานทูตได้ให้คำตอบว่า เนื่องจากชาวญี่ปุ่นนับถือพุทธศาสนานิกายมหายาน และมุมมองของชาวญี่ปุ่นเกี่ยวกับพุทธศาสนาแตกต่างจากชาวไทย นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญญี่ปุ่นยังให้สิทธิชาวญี่ปุ่นมีอิสระทางความคิด และการแสดงออกในเชิงศาสนาได้อย่างเต็มที่ โดยไม่มีการปิดกั้น ดังนั้น กรณีของเรื่อง Saint Young Men จึงทำให้เห็นว่า ผู้เขียนยังคงเปิดโอกาสให้ผู้อ่านทุกกลุ่มสามารถตีความได้อย่างเสรี โดยอาจารย์ฮิคารุเพียงสอดแทรกมุมมองที่อยู่นอกกรอบความคิดเดิมเข้าไปเท่านั้น ส่วนข้อคิดและอรรถรสที่จะได้รับล้วนขึ้นอยู่กับมุมมองของคนอ่านเอง ที่มา: https://tvtropes.org/pmwiki/pmwiki.php/Manga/SaintYoungMen https://tricycle.org/trikedaily/saint-young-men/ https://www.facebook.com/photo.php?fbid=370794109704194&set=a.264390983677841.59565.172832452833695&type=1&theater https://pantip.com/topic/30703439 ที่มาภาพ: https://www.youtube.com/watch?v=lpZciI9-9i0&t=416s