ดี.บี. คูเปอร์: โจรจี้เครื่องบินปริศนาคนเดียวที่ไม่มีใครสามารถจับตัวได้

ดี.บี. คูเปอร์: โจรจี้เครื่องบินปริศนาคนเดียวที่ไม่มีใครสามารถจับตัวได้

ค่ำคืนก่อนจะเข้าสู่วันขอบคุณพระเจ้าในปี 1971 สายการบิน Northwest Airlines ถูกชายปริศนาจี้ เพื่อเอาเงินสองแสนดอลลาร์และร่มชูชีพจำนวน 4 ชุด หลังจากนั้น เขาหายตัวไปตลอดกาล เขาถูกเรียกว่า ‘ดี. บี. คูเปอร์’

  • ‘ดี. บี. คูเปอร์’ คือชื่อเรียกผู้ก่อเหตุจี้เครื่องบินซึ่งเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ยังไม่สามารถจับกุมผู้ก่อเหตุได้
  • ‘ดี. บี. คูเปอร์’ จี้เครื่องบินโดยขู่ว่ามีระเบิด เขามีท่าทีใจเย็น และดูเป็นมืออาชีพ หลังจากปฏิบัติการบนเครื่องบินเรียบร้อยก็กระโดดหายไปในกลีบเมฆ ไม่มีใครพบตัวผู้ก่อเหตุนับตั้งแต่ปี 1971 จนถึงวันนี้

และแม้เวลาจะผ่านไปกว่าครึ่งศตวรรษ FBI ก็ยังไม่สามารถตามจับเขาได้ เหลือเพียงตำนานปริศนาเล่าขานกันต่อไปกับ ‘ดี. บี. คูเปอร์

ถือเป็นเหตุโจรกรรมที่ดังสนั่นโลกและยังหาข้อสรุปที่แน่ชัดไม่ได้ เมื่อชายคนหนึ่งซื้อตั๋วขึ้นเครื่องบินเพื่อไปจี้เอาเงินจากสายการบิน ซึ่งถ้าตีเป็นจำนวนเงินในวันนี้ก็มีมูลค่ากว่าหนึ่งล้านดอลลาร์ อย่าง ‘สุภาพ’ ‘ใจเย็น’ และ ‘มืออาชีพ’ โดยไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าวเลยแม้แต่คนเดียว หลังจากนั้นเขาก็กระโดดหายไปในกลีบเมฆ และการโจรกรรมครั้งนี้ก็ถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์โลกว่าเป็นการปล้นจี้ทางอากาศเพียงครั้งเดียวที่ยังไม่มีใครสามารถตามจับหรือระบุตัวผู้ก่อเหตุได้

 

คุณครับผมมีระเบิด

ในยามเย็นวันพุธที่ 24 พฤศจิกายน ปี 1971 หนึ่งวันก่อนวันขอบคุณพระเจ้า เป็นอีกหนึ่งวันที่สายการบิน Northwest Airlines ให้บริการผู้โดยสารตามปกติ ชายสวมชุดสูทสีดำเดินมาซื้อตั๋วเครื่องบินขาเดียวจากสนามบินนานาชาติพอร์ตแลนด์ (Portland International Airport) ไปยังที่หมายปลายทางที่ซีแอตเทิล (Seattle) และ ‘แดน คูเปอร์’ (Dan Cooper) คือชื่อที่เขาได้แจ้งในขณะที่ซื้อตั๋ว

“การโดยสารผ่านเครื่องบินสมัยก่อนมันต่างจากสมัยนี้นะครับ คุณเดินไปสนามบิน มันก็เหมือนกับคุณเดินไปซูเปอร์มาร์เก็ตน่ะ”

หากย้อนไปในช่วงเวลาดังกล่าว สนามบินส่วนใหญ่จะไม่มีการตรวจตราผู้โดยสารเพื่อความปลอดภัยมากนักเมื่อเทียบกับที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ผู้คนไม่ได้ตระหนักถึงความปลอดภัยดังกล่าวเสียด้วยซ้ำ ขึ้นเครื่องบินมันก็ไม่ต่างอะไรกับขึ้นรถบัสหรือแท็กซี่ ด้วยเหตุนี้ความเข้มงวดของสนามบินในทศวรรษ 1970 เมื่อเทียบกับที่เป็นอยู่ในปัจจุบันก็เรียกได้ว่าต่างกันลิบลับ ไม่ต้องผ่านเครื่องตรวจโลหะ ไม่ต้องตรวจสัมภาระ ไม่ต้องมีสุนัขมาดมคุณ นั่นจึงเป็นปัจจัยที่ทำให้คูเปอร์ถือ ‘กระเป๋าเดินทาง’ ของเขาขึ้นเครื่องไปได้อย่างไร้อุปสรรค

“แล้วในวันนั้นผมก็สังเกตเห็นผู้โดยสารคนหนึ่งนั่งอยู่ แต่เขาดูค่อนข้าง…แตกต่าง… เขานั่งใส่แว่นดำ ตอนนั้นผมก็นั่งคิดกับตัวเองนะว่าหมอนี่คือใครกันนะ”

เมื่อได้ก้าวขึ้นมาบนเครื่อง คูเปอร์ก็ได้นั่งตรงที่นั่งริมทางเดิน ณ ที่นั่ง 18C ในบริเวณด้านหลังของห้องโดยสาร สวมแว่นดำอย่างลึกลับพลันจุดบุหรี่ด้วยไม้ขีดอย่างใจเย็น แถมยังสั่งเหล้าเบอร์เบินมานั่งจิบระหว่างทาง แม้ว่าเที่ยวบินนั้นเป็นเที่ยวบินสั้น ๆ ที่ใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมงเพียงเท่านั้น 

“ตอนแรกฉันก็ไม่ได้สนใจ มีคนยื่นกระดาษเล็ก ๆ ให้ฉันเป็นสิบ ๆ แผ่นต่อวัน ฉันก็นึกว่าเขาเป็นหนึ่งในนั้น”

หลังจากเครื่องบินได้ลอยขึ้นสู่เวหา ชายปริศนาที่นั่งอยู่ตรงที่นั่งริมทางเดินก็เอ่ยเรียกพนักงานต้อนรับหญิงคนหนึ่งนามว่า ‘ฟลอเรนซ์ แชฟฟ์เนอร์’ (Florence Schaffner) ให้เธอรับกระดาษแผ่นเล็ก ๆ ของเขาไป ซึ่งส่วนใหญ่แล้วภายในก็มักจะเขียนข้อความไปในเชิงการจีบ หรือไม่ก็เป็นการให้เบอร์โทรศัพท์เสียมากกว่า เพราะเธอจะได้รับอะไรแบบนี้แทบจะทุก ๆ วัน วันละเป็นสิบ ๆ ครั้งจากผู้โดยสารหลายคน เธอจึงไม่ได้สนใจและเก็บใส่กระเป๋าเหมือนกระดาษโน้ตแผ่นอื่น ๆ แต่ต่างกันที่ว่าแผ่นนี้มันแตกต่างออกไป…

หลังจากที่แชฟฟ์เนอร์ไม่ได้ให้ความสนใจกับกระดาษแผ่นนั้น เธอก็เก็บใส่กระเป๋าและเดินหน้าทำงานต่อไป แต่เมื่อเธอเดินผ่านที่นั่งของชายปริศนาสวมแว่นดำอีกครั้ง เขาก็ได้ทำท่าเรียกเธอให้เดินไปหา แล้วเขาก็โน้มตัวไปบอกเธอว่า “ผมอยากให้คุณลองอ่านกระดาษแผ่นนั้นดูนะคุณผู้หญิง”

เธอจึงลองเปิดกระดาษแผ่นดังกล่าวดู สิ่งที่เธอเห็นคือข้อความที่เขียนด้วยตัวพิมพ์ใหญ่ทั้งหมดว่า

“MISS, I HAVE A BOMB IN MY BRIEFCASE. I WANT YOU TO SIT BESIDE ME.”

“คุณครับ ผมมีระเบิดอยู่ในกระเป๋า ผมต้องการให้คุณมานั่งข้าง ๆ ผม”

 

เงินสดสองแสนและร่มชูชีพสี่ตัว

ในวินาทีแรกที่แชฟฟ์เนอร์ได้รับทราบถึงเรื่องระเบิด เธอไม่เชื่อ จึงขอดูว่ามีจริงหรือไม่ เขาจึงหยิบกระเป๋าเดินทางของตัวเองขึ้นมาแล้วแง้มให้เธอดู ภาพที่เธอเห็นในตอนนั้นคือสายระโยงระยางเต็มกระเป๋าและแท่งระเบิดไดนาไมต์ 6 อัน พันอยู่รอบแบตเตอรี่ก้อนใหญ่ ไม่เพียงแต่สิ่งที่เธอเห็นเท่านั้นที่บ่งบอกเธอว่าเครื่องบินลำนั้นกำลังตกอยู่ในสถานการณ์แบบไหน แต่ตัวของคูเปอร์เองยังกล่าวเสริมอีกว่า

“เพียงแค่ผมเอาลวดเส้นนี้ไปต่อกับอุปกรณ์ชิ้นนี้ เราก็จะตายกันหมดในทันที”

หลังจากนั้นเธอจึงรีบเดินไปที่ห้องครัวและยื่นกระดาษแผ่นนั้นให้พนักงานต้อนรับอีกคนดู เรื่องฉุกเฉินนี้จึงไหลไปที่ห้องนักบินเพื่อให้กัปตันรับทราบและรีบติดต่อประสานงานกับตำรวจซีแอตเทิลในทันที โดยมีการประสานงานต่อกันไปเรื่อย ๆ จนถึงประธานสายการบิน ‘โดนัลด์ ไนรอป’ (Donald Nyrop) ด้วยความที่ไม่อยากให้เกิดการสูญเสียอันร้ายแรงขึ้น ไนรอปจึงตัดสินใจที่จะทำตามสิ่งที่คูเปอร์ต้องการ

อาจไม่ผิดมากนักถ้าจะบอกว่าผู้โดยสาร ลูกเรือ และนักบินของเครื่องบินลำดังกล่าวได้เป็นตัวประกันในการเรียกค่าไถ่ในครั้งนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยที่ไม่มีผู้โดยสารแม้แต่คนเดียวทราบเลยด้วยซ้ำ สิ่งที่คูเปอร์ต้องการเพื่อที่จะแลกกับอิสรภาพและความปลอดภัยของทุกคนบนเครื่องบินคือเงินจำนวนสองแสนดอลลาร์ โดยต้องเป็นธนบัตร 20 ดอลลาร์ทั้งหมด และร่มชูชีพสี่ตัว

“เขาฉลาดเป็นกรดเลยนะ เขาไม่ได้ขอร่มชูชีพเพียงหนึ่งหรือสองชุด เขาขอไปตั้งสี่ เพราะเขารู้ไงว่าทางฝั่งโน้นต้องส่งร่มปลอมมาฆ่าเขาแน่นอน แต่ถ้าเขาขอสี่อัน นั่นแปลว่ามีตัวประกัน และทำให้พวกเขาส่งของปลอมไปไม่ได้ โคตรจะปราดเปรื่องเลย”

หลังจากได้รับทราบสิ่งที่คูเปอร์ต้องการก็มีการจัดเตรียมในทันที แม้คูเปอร์จะบอกว่าเขาต้องการธนบัตรที่มีรหัสแบบไม่เรียงกัน แต่อย่างไรก็ตาม เงินที่ถูกเตรียมมาก็ล้วนมีรหัสที่ขึ้นต้นด้วยตัว L เพื่อที่จะไล่ตามจับในอนาคต นอกจากนั้น คูเปอร์ยังบอกอีกว่าห้ามลงจอดจนกว่าเงินและร่มชูชีพจะพร้อมนำมาแลกเปลี่ยน จึงทำให้เครื่องบินต้องบินวนอยู่บนน่านฟ้านานกว่าสองชั่วโมงครึ่งก่อนที่จะลงจอด และเมื่อทางทีมภาคพื้นดินมีของพร้อมแลกเปลี่ยนแล้ว กัปตันจึงค่อยนำเครื่องบินลงจอด

ดี.บี. คูเปอร์: โจรจี้เครื่องบินปริศนาคนเดียวที่ไม่มีใครสามารถจับตัวได้

ณ สนามบิน สไนเปอร์ได้ประจำตำแหน่งและล้อมเครื่องบินไว้หมดแล้ว แต่เมื่อเครื่องบินได้ลงจอดเพื่อรอทำการแลกเปลี่ยน คูเปอร์ก็สั่งให้พนักงานต้อนรับปิดหน้าต่างทุกบาน แล้วเขาก็ได้ตั้งกติกาการแลกเปลี่ยนไว้ว่าห้ามเล่นตุกติก ห้ามมียานพาหนะใด ๆ เคลื่อนที่เข้ามาใกล้เครื่องบินทั้งนั้น และผู้ที่จะเป็นตัวแทนนำของมาแลกเปลี่ยนต้องมาตัวคนเดียว ไร้ผู้ติดตาม 

พนักงานจึงได้ขับรถของสายการบินเข้าไปที่เครื่องบินพร้อมกับกระเป๋าบรรจุเงินสดและร่มชูชีพตามที่คูเปอร์ต้องการ เขาจึงสั่งให้ ‘ทีนา แมคโลว์’ (Tina Mucklow) แอร์โฮสเตสอีกคนเป็นผู้นำไปแลกเปลี่ยน หลังจากที่การแลกเปลี่ยนบรรลุสมบูรณ์ ผู้โดยสารทั้ง 36 คนจึงได้ลงจากเครื่องบินลำนั้นโดยสวัสดิภาพ แถมยังไม่มีใครสักคนรู้เลยด้วยซ้ำว่าตนถูกปล้น

“ผมเพิ่งมารู้ว่าเครื่องบินถูกจี้ก็ตอนที่เอ็ฟบีไอมาสัมภาษณ์ผมหลังจากลงจากเครื่องนี่แหละ”

 

ปิดงานแบบเหนือเมฆ

แม้ผู้โดยสารทุกคนจะลงจากเครื่องไปอย่างปลอดภัยแล้ว แต่เรื่องราวนี้ยังไม่จบ โดยเฉพาะสำหรับนักบินและลูกเรือ เพราะคูเปอร์ต้องการให้เครื่องบินสายดังกล่าวบินต่อไปยังนิวเม็กซิโก (New Mexico) แต่เนื่องจากน้ำมันที่เหลืออยู่มีน้อยเกินกว่าจะเดินทางไปถึงที่หมายได้ จึงต้องมีการแวะเติมน้ำมันที่รีโน (Reno) ก่อน 

นอกจากนั้นคูเปอร์ก็ได้กำหนดวิธีการบินแก่นักบินอย่างละเอียดว่าให้ปิดไฟในห้องโดยสารให้หมดทุกดวง ต้องบินในความเร็ว 150 นอต และความสูงที่ 10,000 ฟุตเท่านั้น ซึ่งถือว่าช้าและต่ำมาก ๆ จนนักบินไม่แน่ใจเสียด้วยซ้ำว่าทำแบบนั้นได้ แต่โจรสุดใจเย็นคนนี้ก็ตอบกลับอย่างมั่นใจว่า

“มันทำได้ ทำซะ”

ในคราวแรกคูเปอร์จะให้นักบินเปิดประตูบันไดท้องเครื่องทิ้งไว้ด้วย แต่เนื่องจากมันอันตรายเกินไป เขาจึงตัดสินใจให้ทีนา แอร์โฮสเตสผู้เป็นคนไปแลกเปลี่ยนเงินและร่มชูชีพมานั่งข้าง ๆ เขาแทน เพื่อที่จะสอนวิธีการเปิดประตูบันไดท้องเครื่อง หลังจากนั้นเขาก็สั่งให้เธอไปรวมอยู่กับคนอื่นในห้องนักบิน ทีนาเคยให้สัมภาษณ์หลังจากผ่านพ้นเหตุการณ์ดังกล่าวมาได้ว่า คูเปอร์มีท่าทีที่ใจเย็นและไม่ตื่นเต้นเลยแม้แต่น้อย แถมเขายังสุภาพอีกต่างหาก

ณ เวลาดังกล่าวก็ย่างเข้าช่วงสองทุ่มไปแล้ว เหตุเพราะเกิดความล่าช้าจากการแวะเติมน้ำมัน มองออกไปภายนอก ทุกอย่างก็ครอบคลุมไปด้วยความมืดและห่าฝนที่กระหน่ำลงมา ตอนนี้ทุก ๆ คนไม่มีใครรู้แล้วว่าคูเปอร์กำลังทำอะไรอยู่ เพราะมีเพียงเขาคนเดียวเท่านั้นที่อยู่ในห้องโดยสาร แต่ก็มีอะไรบางอย่างเกิดขึ้นตอนช่วงสองทุ่มกว่า ๆ นักบินและลูกเรือได้ยินเสียง ‘ป๊อก!’ ระเบิดในหู ซึ่งหมายถึงความดันอากาศภายในเครื่องที่เปลี่ยนไป พวกเขาจึงสันนิษฐานกันว่า ณ เวลานั้นคูเปอร์ได้ทำการหนีไปแล้ว แต่ก็ไม่มีใครกล้าเปิดประตูไปเช็กให้แน่ใจ เพราะไม่อยากฝืนคำสั่ง ซึ่งตำแหน่ง ณ ตอนนั้นคือ 25 ไมล์ทางเหนือของพอร์ตแลนด์ กัปตันเครื่องบินจึงรีบบันทึกพิกัดดังกล่าวไว้เพื่อใช้เป็นเบาะแสต่อไปในอนาคต

แต่หลังจากที่เครื่องลงจอดในเวลาสี่ทุ่ม นักบินได้ลองสื่อสารผ่านไปยังห้องโดยสารแต่ไม่มีเสียงตอบรับ พวกเขาจึงเปิดประตูไปเช็กดู สิ่งที่เห็นคือความว่างเปล่า…เขาไปแล้ว ไม่ว่าจะสิ่งของหรือเงิน ทิ้งไว้เพียงเน็กไทหนึ่งเส้นและร่มชูชีพหนึ่งชุด หลังจากนั้นก็ไม่มีใครเห็นชายปริศนาคนนั้นอีกเลย…

ดี.บี. คูเปอร์: โจรจี้เครื่องบินปริศนาคนเดียวที่ไม่มีใครสามารถจับตัวได้

ดีบีคูเปอร์ที่หายไป (?)

บางคนอาจจะสงสัยว่าทำไมเราถึงเรียกเขาว่า ‘ดี.บี. คูเปอร์’ ทั้ง ๆ ที่ชื่อที่เขาแจ้งกับสนามบินไปตอนแรกคือ ‘แดน คูเปอร์’? บางคนอาจจะคิดว่าบีคือชื่อกลาง แต่ความจริงไม่ใช่อย่างนั้น เหตุที่ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นผู้คน สื่อ หรือทางการเรียกเขาว่า ดี.บี. คูเปอร์ เป็นเพราะการเข้าใจผิดของสื่อ เหตุเพราะตอนนั้นมีสื่อสำนักหนึ่งโทรฯ ไปถามทางเอฟบีไอเพื่อถามถึงชื่อผู้ก่อเหตุ แต่ไม่แน่ใจว่าได้ยินเป็นตัว ‘ดี’ (D) หรือตัว ‘บี’ (B) ทางตำรวจผู้กำลังให้ข้อมูลก็ตอบว่า “ใช่ ๆ ถูกแล้ว” นักข่าวผู้นั้นจึงเผยแพร่ข่าวผ่านชื่อดังกล่าว และทำให้คนติดกับการเรียกขานเป็นชื่อนั้นเรื่อยมา

ไม่มีใครหาเขาเจอ ไม่มีใครพบศพ เพราะนับจากคืนวันนั้นเขาได้หายไปตลอดกาล หลายคนรวมถึงทางการสหรัฐอเมริกาก็ว่าเขารอด (เพราะไม่พบศพ) จึงเกิดการค้นหาตามสืบยาวกว่าครึ่งศตวรรษ จนกระทั่งเลิกปฏิบัติการการหาไปในปี 2016 เพื่อถอนกำลังไปทำงานในคดีอื่นแทน ในขณะนั้นมีการตามสืบและมีผู้ต้องสงสัยเป็นพัน ๆ คน บ้างก็บอกว่าตัวเขานี่แหละคือ ดี.บี. คูเปอร์ บ้างก็บอกว่าลุงของตัวเองคือ บี.ดี. คูเปอร์ บ้างก็มีประวัติอาชญากรรมที่น่าจะโยงมาสู่คดีดังกล่าวได้ บ้างก็มีโครงหน้าคล้ายภาพสเก็ตของเอฟบีไอ แต่ไม่ว่าจะกี่คน ๆ ก็ไม่มีคนใดเลยที่มีหลักฐานที่ชัดพอที่จะมัดเขาและบอกว่า “นี่แหละคือ ดี.บี. คูเปอร์!”

อย่างไรก็ตาม มีคนพบเบาะแสเพิ่มเติมในภายหลัง ซึ่งเป็นเงินในสภาพที่ยับเยินถูกฝังอยู่บริเวณรัศมีเดียวกับที่คูเปอร์โดดไปในวันนั้น ซึ่งพอลองนำเงินดังกล่าวไปตรวจดูแล้วก็ตรงกับรหัสของเงินที่นำไปเป็นเงินค่าไถ่ในวันนั้นเป๊ะ ๆ แต่หลักฐานชิ้นนี้ก็ไม่ได้นำพาทีมสืบสวนไปพบเจอกับความคืบหน้าเท่าไรนัก

เรื่องราวการโจรกรรมของ ดี.บี. คูเปอร์ จึงกลายเป็นคดีที่ปิดไม่ลงและค้างเติ่งอยู่แบบนั้นมากว่าครึ่งศตวรรษ แต่มันก็ได้เป็นแรงบันดาลใจให้ป๊อปคัลเจอร์ต่าง ๆ มากมาย อย่างที่เห็นชัด ๆ ก็คือผลงานซีรีส์ของ เดวิด ลินช์ (David Lynch) อย่าง Twin Peaks ซึ่งมีตัวละครเอกนามว่า เดล คูเปอร์ (Dale Cooper) ที่มีแรงบันดาลใจจาก ดี.บี. คูเปอร์ นอกจากนั้นที่ชัดที่สุดก็คงจากซีรีส์ Loki ที่นำเรื่องราวของโลกิไปผูกว่าเป็น ดี.บี. คูเปอร์ได้อย่างน่าสนใจ 

นอกจากนั้น ดี.บี. คูเปอร์ก็มีแฟนคลับอยู่อีกมากมาย บ้างก็มองเขาเป็นฮีโร่ บ้างก็มองเขาเป็นพระเจ้า บ้างก็มองว่าเขาเป็นนักต้มตุ๋นที่ฝีมือเยี่ยมยอดที่สุดคนหนึ่ง แต่สิ่งหนึ่งที่เรารู้แน่ ๆ คือเหตุการณ์การโจรกรรมครั้งนี้เป็นการดำเนินการที่ใจเย็นและมืออาชีพที่สุดครั้งหนึ่ง แถมยังไม่มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตเลยแม้แต่คนเดียว พอเสร็จภารกิจ เขาก็หายไปตลอดกาล…

 

ภาพ: Bettmann / Contributor 

อ้างอิง: 

Crime Museum

D.B. Cooper: Where Are You?! (TV Mini Series 2022)