ภูมิธรรม เวชยชัย พรรค 14 ตุลา และพรรคทักษิณ

ภูมิธรรม เวชยชัย พรรค 14 ตุลา และพรรคทักษิณ

ภูมิธรรม เวชยชัย พรรค 14 ตุลา และพรรคทักษิณ

ในวัยใกล้เคียงกับธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ "ภูมิธรรม เวชยชัย" อดีตเลขาธิการพรรคเพื่อไทย พร้อมกับเพื่อนพ้องน้องพี่ได้จัดตั้งพรรคการเมืองชื่อ ”พรรคประชาธรรม" หรือที่สื่อหนังสือพิมพ์หลายสำนักเรียกว่า "พรรค 14 ตุลา" เดือนมิถุนายน 2534 ได้มีการนัดเลี้ยงสังสรรค์อดีตเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) และผู้ปฏิบัติงาน ศนท.ทุกรุ่น ที่โรงแรมแมนดาริน ซึ่งในวันนั้น หัวข้อพูดคุยกันของอดีตผู้นำนักศึกษาคือ การตั้งพรรคการเมืองของภาคประชาชน อย่างไรก็ตาม การพบปะกันครั้งแรก ยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องการตั้งพรรค กระทั่งปลายเดือนกันยายน 2534 นสพ.มติชนรายวันได้เสนอข่าวอดีตผู้นำนักศึกษารวมตัวกันจัดตั้ง “พรรค 14 ตุลา” “เกรียงกมล เลาหไพโรจน์” อดีตเลขาธิการ ศนท.ปี 2518 ในฐานะผู้ก่อการคนหนึ่ง ต้องออกมาชี้แจงเรื่องการก่อตั้งพรรคการเมือง แต่ไม่ได้ใช้ชื่อพรรค 14 ตุลา ผู้ร่วมก่อการอีกคนหนึ่งชื่อ “ภูมิธรรม เวชยชัย” อดีตผู้ก่อตั้งพรรคจุฬา-ประชาชน และเป็นเพื่อนรักของเกรียงกมล มาแต่สมัยเรียนที่โรงเรียนทวีธาภิเศก ฝั่งธนบุรี เมื่อจบ ม.ศ.5 ทั้งคู่สอบเข้าจุฬาฯ ได้ โดยเกรียงกมลเรียนคณะนิติศาสตร์ และภูมิธรรม เรียนคณะรัฐศาสตร์ สมัยโน้น ภูมิธรรมยังใช้ชื่อ “วัฒนชัย” และมีชื่อเล่นว่า “อ้วน” ด้วยการที่เป็นคนร่างใหญ่ เมื่อเข้าป่าหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 จึงมีจัดตั้งว่า “สหายใหญ่” ความผูกพันของเกรียงกมลกับอ้วน-ภูมิธรรม ที่เริ่มจากทวีธาภิเศก จนมาถึงการสร้างพรรคจุฬา-ประชาชน ในรั้วจามจุรี ได้นำมาสู่การจัดตั้ง “พรรคประชาธรรม” ของคนรุ่น 14 ตุลา  พรรคประชาธรรม ก่อการโดยคนหนุ่มสาวที่เคยต่อสู้ร่วมขับไล่เผด็จการ “ถนอม-ประภาส” แต่ไม่ใช่เจ้าของพรรค เพราะคณะผู้ก่อการจะเปิดทางให้ประชาชนทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างพรรคเชิงอุดมการณ์ให้เติบโต ปลายปี 2534 เกรียงกมลและภูมิธรรม ได้ยื่นจดทะเบียนพรรคการเมืองต่อกระทรวงมหาดไทย แต่การทำพรรคในระบบรัฐสภา ไม่ง่ายเหมือนที่พวกเขาคิด ต้องมีหนังสือต้องแจ้งสมาชิกเพื่อจัดประชุม พิมพ์จดหมาย ค่าแสตมป์ ทำพรรคปีกว่า เงินที่ลงขันได้หลักล้านบาทก็หมด พวกเขาไม่ได้ขอทุนจากใคร และสุดท้ายก็ต้องยุติการทำกิจกรรมในนามพรรคประชาธรรม ระหว่างนั้น ภูมิธรรมทำงานที่มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) ทำหน้าที่อบรมนักพัฒนาอาสาสมัครประมาณ 14-15 รุ่น และส่งอาสาสมัครไปทำงานในองค์กรต่าง ๆ จนเกิดคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.พอช.) ปี 2535 “อ้วน-ภูมิธรรม” เป็นเลขา กป.อพช. ได้พูดคุยกับพี่ใหญ่เอ็นจีโอ ก็มักได้ข้อสรุปว่า "คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน" อ้วนรู้ว่า การเป็นเอ็นจีโอ ไม่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศในระดับกว้าง เขาจึงเดินหน้าทำงานการเมืองในระบบรัฐสภา แม้พรรคประชาธรรมจะไปต่อไม่ได้ แต่ “เกรียงกมล-ภูมิธรรม” ก็ไม่หยุดไล่ล่าฝัน เมื่อ "ทักษิณ ชินวัตร" นักธุรกิจด้านสื่อสาร รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในโควตาของพรรคพลังธรรม ปี 2537 และเป็นการตัดสินใจเล่นการเมืองเต็มตัวของไทคูนสื่อสาร “ทักษิณ” ชวนภูมิธรรม เกรียงกมล และเพื่อน ๆ เข้าไปพบ และบอกว่า “อยากทำพรรคการเมือง” โดยทักษิณได้ให้เงินทุนก้อนหนึ่งแก่พวกเขา ดำเนินการศึกษา และวางโครงสร้างพื้นฐานพรรคมหาชน  “อ้วน” เคยเล่าให้นักข่าวฟังว่า ช่วงนั้นเหมือนการทำ “พรรคผี” เพราะต้องซุ่มซ่อน ศึกษาหาข้อมูลไปเรื่อย ๆ โดยใช้ห้องโต๊ะกลม ชั้น 30 อาคารชินวัตร 1 เป็นกองบัญชาการ ปี 2538 พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เปิดทางให้ทักษิณขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคพลังธรรม และนำทัพเลือกตั้งในปีนั้น อีกด้านหนึ่ง กลุ่มศึกษาการตั้งพรรคใหม่ ประกอบด้วย ภูมิธรรม เวชยชัย ,เกรียงกมล เลาหไพโรจน์, อำนวยชัย ปฏิพัทธ์เผ่าพงศ์ และ วริษ มงคลศรี อดีตแกนนำกลุ่มยุวชนสยาม ก็ยังดำเนินการต่อไปอย่างเงียบ ๆ หลังจากทีมงานภูมิธรรมพูดคุยกับทักษิณมาเป็นระยะ ๆ จนสุกงอมเรื่องการจะจัดตั้งพรรคการเมือง ในกรอบคิดใหม่ทำใหม่ คิดแบบเดิมไปไม่รอด แต่ก็ยังไม่ตั้งพรรคอย่างเป็นทางการ เลือกตั้ง 17 พฤศจิกายน 2539 พรรคพลังธรรมประสบความพ่ายแพ้ “ทักษิณ” แสดงความรับผิดชอบลาออกจากหัวหน้าพรรค ซึ่งไทคูนสื่อสารยอมรับว่า การเปลี่ยนแปลงในพรรคพลังธรรมทำได้ยาก เพราะโครงสร้างที่พรรคเขาวางไว้แข็งมาก แม้ทักษิณอยากจะเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารพรรคสักครึ่งหนึ่ง ก็ยังทำไม่ได้ เปลี่ยนยาก ช่วงรอยต่อรัฐบาลชวลิตกับรัฐบาลชวน (รอบสอง) ทักษิณชวนเกรียงกมล และเพื่อน พร้อมผู้บริหารชินคอร์ปไปเที่ยวยุโรป จึงกลายเป็นที่มาของนิยายเรื่อง “ปฎิญญาฟินแลนด์” ซึ่งข้อเท็จจริงเรื่องเกี่ยวกับการสร้างพรรคนั้น ทักษิณได้มอบให้ “คนเดือนตุลา” กลุ่มเกรียงกมล-ภูมิธรรม ดำเนินการมาแบบลับ ๆ ตั้งแต่ปี 2537 แล้ว 14 กรกฎาคม 2541 ทักษิณมอบให้ทีมงานดำเนินการจดทะเบียนก่อตั้ง “พรรคไทยรักไทย” โดยมีผู้ร่วมก่อตั้ง 23 คน และภูมิธรรม ได้เข้าทำงานเต็มเวลาที่อาคารชินวัตร คอมพิวเตอร์ฯ สี่แยกราชวัตร โดยระดมเพื่อนพ้องน้องพี่เข้ามาทำงานวางแผนการจัดตั้งมวลชน และสร้างนโยบายให้ประชาชนมีส่วนร่วม “อ้วน-ภูมิธรรม” อาศัยประสบการณ์การทำงานที่ กป.อพช. มาหลอมรวมกับวิธีการแบบนักเลือกตั้ง วางเครือข่ายสาขาพรรคทั่วประเทศ ตอนนั้น พรรคการเมืองเก่า ๆ เฝ้ามองด้วยสายตาเย้ยหยันว่า พรรคไทยรักไทย จะไปไม่รอด เพราะเชื่อคนเดือนตุลาที่ประสบความล้มเหลวมาจากการสร้างพรรคประชาธรรม ปี 2543 พรรคไทยรักไทย ผลิตนโยบายประชานิยมออกมาเช่น กองทุนหมู่บ้าน, 30 บาทรักษาทุกโรค และพักชำระหนี้เกษตรกร ปรากฏว่ามีเสียงตอบรับจากประชาชนดีมาก ส่งผลให้การเลือกตั้ง 2544 พรรคไทยรักไทย พลิกความคาดหมายได้ 248 ที่นั่ง และทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 23  แทบไม่น่าเชื่อ ภูมิธรรมที่สุมหัวคิดกับทักษิณมาแต่พรรคไทยรักไทย ได้บำเหน็จการเมืองคือ เลขานุการรัฐมนตรีมหาดไทย (ปี 2544) ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (สมคิด จาตุศรีพิทักษ์) และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (ปี 2548) การเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ปี 2562 ภูมิธรรม-เลขาธิการพรรคเพื่อไทย นั่งบัญชาการอยู่ในวอร์รูมเลือกตั้งชั้น 4 อาคารพรรคเพื่อไทย ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ก่อนประกาศยุติบทบาทดังกล่าวในวันที่ 3 กรกฎาคม หลังจากทำหน้าที่นี้มานาน เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เข้ามารับภารกิจในสถานการณ์การเมืองใหม่ อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ในเมื่อปลายปี 2561 “อ้วน” บอกกับไทยรัฐออนไลน์ว่า "ชีวิตผมอยากสร้างพรรคการเมืองหนึ่งที่ใกล้กับอุดมคติของผมมากที่สุด ผมภูมิใจที่ผมเคยมีส่วนร่วมในการสร้างพรรคไทยรักไทยมา ถึงแม้อุปสรรคนานัปการจะเกิดขึ้น ผมก็ยังนิยมชมชื่นกับพรรคการเมืองพรรคนี้อยู่ ผมเชื่อว่าพรรคนี้เป็นพรรคที่ผมคิดอยู่ในอุดมคติของผมอยู่ ฉะนั้นผมอยากเป็นนักการเมืองเล็ก ๆ คนหนึ่ง สามารถทำตามความคิด ในอุดมการณ์ของผมได้ ผมไม่เคยคิดอยากเป็นนายกรัฐมนตรี..นี่คือจุดสูงสุดในชีวิตของผม" 2 ปีเศษกับบทบาทผู้นำพรรคจุฬา-ประชาชน 3 ปีกว่าในนาม “สหายใหญ่” คนขับรถประจำตัวของ “ธง แจ่มศรี” เลขาธิการใหญ่ พคท. 13 ปีที่รับบทนักปั้นเอ็นจีโอ 20 กว่าปีของการสานฝันสร้างพรรคการเมือง “ภูมิธรรม” ยังภูมิใจในการหลอมความฝันกับผู้ชายชื่อทักษิณ ชินวัตร สร้างพรรคการเมือง ไม่เปลี่ยนแปลง   เรื่อง: ชน บทจร