อาชา เดอ โวส (Asha De Vos) นักวิจัยทะเลหญิงกับความสำคัญของ “อึ” วาฬ
“ทำไมเราต้องให้ความสนใจกับอึวาฬ”
ในโลกของมาร์เวล อินฟินิตี้ สโตน (Infinity Stones) ของธานอสสามารถลบประชากรมนุษย์ไปได้ถึงครึ่ง แต่ในโลกของมหาสมุทรแล้ว การหายไปของ “อึวาฬ” ต่างหากที่ทำให้ระบบนิเวศทางทะเลวอดวายยิ่งกว่าโดนธานอสดีดนิ้ว และไม่มีใครจะเข้าใจถึงความสำคัญของอึวาฬไปกว่า อาชา เดอ โวส (Asha De Vos) นักวิจัยสาวชาวศรีลังกา ผู้เปิดประเด็นความสำคัญของอึวาฬบนเวที Ted Talk
ขณะที่เด็กส่วนมากฝันอยากเป็นหมอ ครู หรือพยาบาล อาชาฝันอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์และนักผจญภัยตั้งแต่อายุ 6 ขวบ ซึ่งความสนใจของอาชาได้แตกแขนงสู่การเป็นนักวิจัยทางทะเลเมื่อเธอตัดสินใจเข้าเรียนในสาขาชีววิทยาทางทะเล ที่มหาวิทยาลัยเซนต์แอนดรูว์ ประเทศสกอตแลนด์ ขณะอายุ 18 ปี จนในที่สุด อาชาก็ได้เป็นนักวิจัยทางทะเลอย่างเต็มตัว พร้อมกับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยเวสเทิร์นออสเตรเลีย สาขาสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทางทะเล
“ชีววิทยาทางทะเลรวมทุกสิ่งที่ฉันชอบเข้าด้วยกัน ทั้งวิทยาศาสตร์ การผจญภัย และมหาสมุทร”
ความสนใจที่อาชามีให้กับวาฬ เริ่มขึ้นระหว่างการเดินทางกับคณะสำรวจในปี 2003 เมื่อเธอได้พบกับกลุ่มวาฬสีน้ำเงินกระจุกตัวกันในน่านน้ำอุ่นที่ชายฝั่งทางใต้ของศรีลังกา สิ่งที่น่าประหลาดของการเจอวาฬสีน้ำเงินกลุ่มนี้ คือการเจอพร้อมกับ “อึ” ของพวกมัน ซึ่งผิดกับวิสัยของวาฬสีน้ำเงินที่มักจะกินและขับถ่ายในบริเวณน้ำเย็น
ความสงสัยในพฤติกรรมที่ผิดแปลกของกลุ่ม “วาฬประหลาด” หรือที่อาชาเรียกพวกมันว่า Unorthodox Whale ทำให้อาชาสร้างโครงการ Sri Lanka Blue Whale Project ในปี 2008 เพื่อวิจัยกลุ่มวาฬสีน้ำเงินในศรีลังกาอย่างจริงจัง จนค้นพบว่า แทนที่เหล่าวาฬสีน้ำเงินบริเวณมหาสมุทรอินเดียเหนือจะย้ายถิ่นฐานตามนิสัยของวาฬทั่วไป พวกมันกลับอาศัยอยู่ในบริเวณเดิมแทบจะตลอดเวลา
แต่การค้นพบก็มาพร้อมกับข่าวร้าย การอาศัยอยู่ในน่านน้ำที่แคบ ทำให้วาฬสีน้ำเงินจำนวนมากไม่สามารถหลบหลีกอันตรายจากมนุษย์ได้ โดยเฉพาะการถูกชนจากเรือสินค้า ซึ่งอาชาพบว่าเป็นสาเหตุการตายหลักของวาฬสีน้ำเงินในศรีลังกา
ความรักที่อาชามีให้กับวาฬและท้องทะเลทำให้เธอตัดสินใจก่อตั้งองค์กร “โอเชียนสเวล” (Oceanswell) องค์กรเพื่อการอนุรักษ์และการให้ความรู้ทางทะเลในปี 2017
แล้วอึวาฬสำคัญอย่างไร?
“หลาย ๆ คนคิดว่านักอนุรักษ์วาฬอย่างฉัน อนุรักษ์วาฬเพียงเพราะพวกมันเป็นสิ่งมีชีวิตที่ดูสวย” อาชากล่าวในงาน Ted Talk ปี 2015 “แต่ความจริงแล้ว นี่เป็นความคิดที่อันตราย เพราะวาฬเป็นเหมือนวิศวกรของระบบนิเวศที่ช่วยรักษาสมดุลของมหาสมุทร” และหนึ่งในวิธีการรักษาสมดุลของวาฬก็คือการ "อึ" นั่นเอง
วาฬส่วนมากจะหากินตามบริเวณน้ำลึก แต่เมื่อมันจะขับถ่าย มันจะว่ายน้ำขึ้นมาบริเวณผิวน้ำพร้อมกับปล่อยอึออกมาในรูปของละอองขนาดยักษ์ที่แพร่กระจายเต็มทั่วทะเล อาจจะฟังดูชวนอ้วก แต่การปล่อยอึจำนวนมหาศาลของวาฬนั้นเป็นการนำธาตุอาหารจากบริเวณน้ำลึกขึ้นมาสู่ผิวน้ำ และธาตุอาหารเหล่านี้ก็มีส่วนช่วยในการกระตุ้นการเจริญเติบโตของแพลงตอน ซึ่งเป็นอาหารของสัตว์ทะเลหลายชนิด ฉะนั้นถ้าอึวาฬหายไป แหล่งอาหารของสัตว์ทะเลเกือบครึ่งก็จะหายไปพร้อมกันด้วย
นิสัยการอพยพตามฤดูกาลของวาฬส่วนมาก ยังทำให้ธาตุอาหารจากน่านน้ำหนึ่ง กระจายไปสู่น่านน้ำอื่น ๆ ทั่วมหาสมุทร วาฬจึงไม่ได้แค่ช่วยปรับเสถียรภาพของทะเลแค่บริเวณเดียว แต่มีผลต่อความอุดมสมบูรณ์ทั่วทั้งมหาสมุทร
นอกจากนี้ ซากของวาฬที่ตายแล้วยังเป็นอาหารให้กับสัตว์มากมาย ตั้งแต่สิ่งมีชีวิตใต้ทะเลลึกที่พึ่งพาซากสัตว์ทะเลเป็นอาหารหลัก ไปจนถึงสัตว์บกอย่างนก ที่รอกินซากของวาฬเมื่อถูกซัดเข้าชายฝั่ง ซากวาฬยังสามารถกักเก็บคาร์บอนได้ถึง 190,000 ตัน ทำให้มันมีส่วนสำคัญในการเคลื่อนย้ายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศลงสู่ใต้ทะเล ซึ่งเป็นการช่วยลดภาวะโลกร้อน
ถึงวาฬจะมีความสำคัญต่อธรรมชาติมาก แต่ดูเหมือนคนที่ให้ความสำคัญกับพวกมันจะน้อย เพราะในปัจจุบัน ประชากรของวาฬทั่วมหาสมุทรลดลงแบบน่าใจหาย
“ในคริสต์ศตวรรษที่ 1600 จำนวนวาฬไรท์บริเวณอ่าวเคปคอดทางตะวันตกของอเมริกา มีเยอะจนถึงขั้นที่คุณสามารถเดินบนหลังมันเพื่อข้ามจากฝั่งหนึ่งไปอีกฝั่งหนึ่งได้เลย” อาชากล่าว “แต่ในปัจจุบัน พวกมันมีจำนวนแค่หลักร้อย และเสี่ยงต่อการสูญพันธ์ุ”
ส่วนในประเทศไทยเอง ในเดือนมิถุนายน ปี 2018 ก็เกิดเหตุการณ์วาฬเกยตื้นบริเวณคลองนาทับ จังหวัดสงขลา และหนึ่งในสาเหตุการตาย คือพลาสติกหนัก 8 กิโลกรัมที่อยู่ในท้องของมัน
ถ้าเปรียบโลกเป็นเครื่องจักร วาฬอาจจะเป็นแค่น็อตตัวเล็ก ๆ เมื่อเทียบกับจำนวนสิ่งมีชีวิตทั้งหมด แต่ถ้าน็อตตัวหนึ่งหายไป เครื่องจักรทั้งหมดก็ไม่สามารถทำงานได้ ในตอนนี้วาฬอาจจะยังไม่ได้เป็นสิ่งสำคัญสำหรับหลาย ๆ คน แต่ในอนาคต เราอาจจะมาถึงจุดที่เราต้องพลิกทะเลเพื่อตามหาอึวาฬที่ยังหลงเหลืออยู่ก็เป็นได้
“กลับมาอนุรักษ์วาฬกันอีกครั้งเถอะ แต่ครั้งนี้เราไม่ได้แค่อนุรักษ์เพื่อพวกมันเท่านั้น แต่เพื่อตัวของเราเองด้วย” อาชากล่าว
ที่มา :
Ted Talk อาชา เดอ โวส “ทำไมเราต้องสนใจอึของวาฬด้วย
https://www.wiley.com/network/societyleaders/research-impact/women-in-research-dr-asha-de-vos
http://life.dailymirror.lk/article/entertainment/In-conversation-with-Asha-De-Vos/211/16694
https://youtu.be/sio-7b4BA08
https://www.ted.com/speakers/asha_de_vos
https://workpointnews.com/2018/06/02/สุดยื้อ-วาฬเกยตื้นคลอง/
เรื่อง : พัทธมน สินธุวณิชเศรษฐ์ (The People Junior)