01 ก.ย. 2565 | 16:36 น.
ซึ่งกว่าจะมาเป็นก๋วยเตี๋ยวอร่อย ๆ และลูกชิ้นคุณภาพดีให้เราได้ลิ้มรสชิมกัน เรียกว่าผู้ก่อตั้ง ‘เลิศพงศ์ ฉัตรมาลีรัตน์’ มีเรื่องราวที่น่าสนใจไม่น้อยเลย จะเรียกว่าผ่านกระบวนการคิดมาหลายตลบก็ไม่ผิด ทั้งยังใช้ประสบการณ์ที่เคยทำงานทั้งหมดมาช่วยขับเคลื่อนความคิดตัวเองด้วย
เกิดและโตในครอบครัวชาวสวน
เลิศพงศ์ เกิดมาในครอบครัวที่ไม่ได้ร่ำรวยมากนัก พ่อกับแม่ของเขาเป็นชาวสวนแต่ต้องเช่าที่ของเพื่อนบ้านเพื่อทำไร่ทำสวนในสมัยนั้น
ซึ่งเลิศพงศ์เคยให้สัมภาษณ์เมื่อนานมาแล้วกับนิตยสารเส้นทางเศรษฐีเกี่ยวกับชีวิตของเขาว่า เท่าที่จำความได้ก็เกิดมาและเห็นภาพที่พ่อกับแม่เป็นชาวสวน และยึดอาชีพนี้มาตลอด ไม่เคยเปลี่ยนไปทำอาชีพอื่นเลย
แต่เมื่อสัญญาการเช่าที่กับเพื่อนบ้านหมดลง ครอบครัวของเลิศพงศ์ตัดสินใจย้ายบ้านไปที่อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี โดยตั้งใจไว้ว่าจะใช้ที่ดินแถวนั้นเพื่อปลูกพืชไร่ เปลี่ยนตามฤดูกาลของพืชผักไปเรื่อย ๆ
แต่แล้วชีวิตของครอบครัวเลิศพงศ์ก็ตัดสินใจเปลี่ยนอาชีพอีกครั้งเพราะรู้สึกว่ารายได้ไม่เพียงพอ ลูก ๆ ต้องใช้เงินมากขึ้นในการศึกษาเล่าเรียน (ในบทสัมภาษณ์บอกว่ามีพี่น้องหลายคน แต่ไม่ได้ระบุจำนวนที่แน่นอน) พ่อแม่ของเขาเลยใช้เงินเก็บที่มีเปิดร้านโชห่วยเล็ก ๆ ขึ้นมา
เมื่อเลิศพงศ์จบ ป.7 จากอำเภอพระพุทธบาทก็เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อศึกษาต่อที่โรงเรียนวัดสุทธิวราราม และอาศัยอยู่กับพี่สาวและพี่ชาย จากนั้นก็ได้เข้าเรียนระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในคณะเศรษฐศาสตร์
เริ่มงานแรกที่ C.P.
ในปี 2522 หลังจากจบการศึกษาเขาได้มีโอกาสทำงานกับบริษัท เจริญโภคภัณฑ์ (C.P.) ในตำแหน่ง ‘เจ้าหน้าที่ดูแลการขายอาหารสัตว์และสายพันธุ์สัตว์’ โดยทำงานอยู่ที่นั่นประมาณ 5 ปี
และตัดสินใจลาออกเพราะมีเพื่อนร่วมรุ่นที่เรียนด้วยกันที่ธรรมศาสตร์ชวนไปทำงานที่บริษัท โรงงานลูกกวาดเม่งเซ้ง จํากัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตหมากฝรั่งตรานกแก้ว และคิด-คิด ขนมขบเคี้ยวในตำนานที่เวลานั้นกำลังโด่งดังอย่างมาก โดยเลิศพงศ์ได้เข้าทำงานในตำแหน่ง ‘ผู้จัดการฝ่ายการตลาด’
เขาทำงานที่โรงงานแห่งนั้นเป็นเวลา 5 ปี ก่อนที่จะตัดสินใจลาออกอีกครั้ง เพราะมองว่าธุรกิจเริ่มความนิยมเริ่มลดลงเรื่อย ๆ
อีกทั้งตัวเขาเองก็มีภาระเพิ่มขึ้นเพราะกำลังเริ่มต้นชีวิตครอบครัว ดังนั้น เขาจึงตัดสินใจกู้เงินจากธนาคารประมาณ 200,000 บาท เพื่อหันไปทำธุรกิจส่วนตัว
เริ่มธุรกิจขายก๋วยเตี๋ยวรถเข็น
จากเงินที่กู้ธนาคารจำนวน 200,000 บาท เลิศพงศ์ตัดสินใจเปิดร้านก๋วยเตี๋ยวขึ้นในปี 2530 ส่วนหนึ่งเพราะว่าตอนนั้นพี่ชายและน้องชายของเขามีธุรกิจทำโรงงานลูกชิ้นอยู่แล้ว เขาเลยคิดว่าถ้ามีวัตถุดิบจากคนในครอบครัวมาวางขายคู่กับก๋วยเตี๋ยวของเขาก็น่าสนใจดี
เปิดธุรกิจมาได้สักพักพบว่าธุรกิจก๋วยเตี๋ยวเติบโตมากกว่าที่คิดและได้กระแสตอบรับที่ดีด้วย นอกจากนี้ก็มีลูกชิ้นที่ทุกคนรับรู้มากขึ้นว่า ลูกชิ้นต้องกินคู่กับก๋วยเตี๋ยว เลยทำให้ทั้งก๋วยเตี๋ยวและลูกชิ้นขายดีไปตาม ๆ กัน
หลังจากนั้นไม่นานพี่ชายและน้องชายของเลิศพงศ์หยุดการผลิตทำลูกชิ้น แต่เลิศพงศ์มองว่าโอกาสที่จะขายลูกชิ้นยังมีสูงมาก และเขาก็ยังอยากขายก๋วยเตี๋ยวตามความชอบส่วนตัวอยู่ จึงตัดสินใจขอเครื่องทำลูกชิ้นที่เหลือจากโรงงานมาทั้งหมดแล้วมาปรับสูตรทำลูกชิ้นขายเอง โดยเขาโฟกัสที่การปรับปรุงคุณภาพลูกชิ้นให้สูงขึ้น เพราะตอนนั้นตลาดลูกชิ้นคุณภาพดีกำลังเป็นที่ต้องการมากขึ้น
ขยายตลาดก๋วยเตี๋ยวและลูกชิ้น
ด้วยประสบการณ์ที่เคยทำงานที่ C.P. มาก่อน เขารู้ว่าเมื่อสินค้ากำลังเป็นที่ต้องการในตลาด สิ่งที่ควรทำต่อไปก็คือ การขยายตลาดให้อยู่ใกล้ผู้บริโภคมากขึ้น ซึ่งตอนนั้นก๋วยเตี๋ยวรถเข็นก็มีโอกาสเติบโตสูง พอ ๆ กับลูกชิ้นคุณภาพดี เลิศพงศ์จึงตัดสินใจแนะนำการขายก๋วยเตี๋ยวให้กับเพื่อน ๆ และคนรู้จักต่อ
บวกกับการที่เลิศพงศ์เข้าใจกลุ่มลูกค้าในตลาดระดับล่างเป็นอย่างดี โดยเฉพาะชาวไร่ ชาวนา ที่ทำงานได้เพียงตามฤดูกาลปลูกเท่านั้น ที่เหลือนอกเหนือจากนั้นก็แทบไม่มีเงินเก็บ ไม่มีรายได้ ซึ่งคนกลุ่มนี้ก็เป็นกลุ่มที่เลิศพงศ์ชักชวนมาขายก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นด้วยกัน
โดยที่เลิศพงศ์จะเป็นคนหาโลเคชันสถานที่ขายให้ พร้อมกับแนะนำวิธีการขายอย่างละเอียด และเป็นคนส่งวัตถุดิบลูกชิ้นให้ด้วย ปรากฏว่ามีหลายคนที่สามารถสร้างรายได้จากการขายก๋วยเตี๋ยวได้ดีกว่าการทำไร่ทำนา เพราะใช้เงินทุนต่ำกว่า ทั้งยังใช้แรงงานน้อยกว่าด้วย
นอกจากนี้ เลิศพงศ์ยังชักชวนคนที่ไม่มีงานทำมาร่วมขายก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นกับเขาด้วย โดยจะเป็นคนจัดการสถานที่ขาย และจัดส่งวัตถุดิบให้ทั้งหมดเช่นเดิม
ในปี 2545 ผลกำไรจากการขยายร้านก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้น และการขายลูกชิ้นเริ่มมั่นคง เลิศพงศ์ตัดสินใจจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท บิ๊กบอล ฟู้ด จำกัด เป็นผู้ผลิตลูกชิ้นคุณภาพเกรด A ทั้งลูกชิ้นเนื้อและลูกชิ้นหมู และเลือกที่จะผลิตลูกชิ้นขายอย่างเดียว แล้วขายแฟรนไชส์ร้านก๋วยเตี๋ยวรถเข็นควบคู่กันไป (แต่ตัวเขาไม่ทำร้านก๋วยเตี๋ยวแล้ว)
สิ่งที่เลิศพงศ์เน้นมาตลอดตั้งแต่สาขาแรกที่เปิดกันในครอบครัว จนถึงวันที่เขามีธุรกิจก๋วยเตี๋ยวแฟรนไชส์ที่ชื่อ ‘โฮเด้ง-โกเด้ง’ เขาพูดเมื่อให้สัมภาษณ์ว่า “เราจะเน้นที่คุณภาพเป็นหลักก่อน สินค้าของเราจะเป็นสินค้าเกรด A แต่การวางขายคือ ตั้งเป็นร้านรถเข็นริมถนนทั่วไป และไม่ต้องการวางขายในที่ที่ทำให้ราคาก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นสูงขึ้นด้วย”
จากนั้นธุรกิจภายใต้บริษัท บิ๊กบอล ฟู้ด จำกัด ขยายต่อไปถึงการขาย ‘ลูกชิ้นปิ้งพร้อมน้ำจิ้มสำเร็จรูป’ ซึ่งผลประกอบการที่ผ่านมาของบริษัทในปี 2562 กำไรอยู่ที่ 21 ล้านบาท จากรายได้รวม 466 ล้านบาท
ปัจจุบันไม่มีการสรุปตัวเลขว่าร้านก๋วยเตี๋ยวโฮเด้ง-โกเด้งในไทยมีกี่สาขาทั่วประเทศ (เพราะมันเยอะมาก) แต่แบรนด์นี้เป็นหนึ่งในแบรนด์ที่มีคนสนใจอยากติดต่อซื้อแฟรนไชส์มากเป็นอันดับต้น ๆ และยังถูกพูดถึงว่าเป็นลูกชิ้นเนื้อและลูกชิ้นหมูที่อร่อยจนทุกวันนี้
บางทีประสบการณ์งานทั้งชีวิตอาจช่วยนำพาเราไปอีกอาชีพหนึ่งได้ โดยที่เราไม่รู้ตัว ขึ้นอยู่กับว่าเราจะสามารถใช้ข้อดีและการเรียนรู้จากการทำงานทั้งหมดมาต่อยอดได้อย่างไร อย่างเลิศพงศ์เลือกที่จะลาออกจากบริษัทใหญ่ก็จริง แต่ความรู้จากบริษัทเหล่านั้นสอนให้เขาเดินหมากธุรกิจได้ถูกจุด จนทำให้โฮเด้ง-โกเด้ง เป็นแบรนด์ที่ใคร ๆ ก็รู้จักไม่ว่าจะกลุ่มไหนก็ตาม
ภาพ: godeng-hodeng
อ้างอิง:
http://www.godeng-hodeng.com/about.html
https://www.marketthink.co/14790
https://www.youtube.com/watch?v=EHpzkQ3L7nU