‘ธานินทร์’ วิทยุเมดอินไทยแลนด์ ที่ขายดีจนต้องเปลี่ยนชื่อแบรนด์หนีคู่แข่ง

‘ธานินทร์’ วิทยุเมดอินไทยแลนด์ ที่ขายดีจนต้องเปลี่ยนชื่อแบรนด์หนีคู่แข่ง

กระแสของวิทยุทรานซิสเตอร์กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง หลังจากที่นายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา พูดถึงปัญหาน้ำท่วมในประเทศไทย และแนะนำว่า “วิทยุทรานซิสเตอร์อยู่ในแผนสำรอง เพราะสามารถรองรับระบบล่มได้ในยามที่ไฟฟ้าดับ และเคยถูกใช้มาก่อนเมื่อปี 2554”

เมื่อพูดถึงยุคที่วิทยุทรานซิสเตอร์เคยเฟื่องฟูมาก ๆ คงต้องยกให้กับ ‘ธานินทร์’ หนึ่งในผู้ผลิตรายแรก ๆ ของไทย ทั้งยังเป็นสินค้าที่ผลิตโดยคนไทยด้วย

 

10ปีเริ่มต้นธุรกิจกับ3ชื่อ

จุดเริ่มต้นของ ‘ธานินทร์’ ไม่ได้ใช้ชื่อนี้ตั้งแต่ก่อตั้งธุรกิจ แต่ ‘อุดม วิทยะสิรินันท์’ ผู้ก่อตั้งร้านวิทยุเล็ก ๆ บริเวณสามแยกเอส.เอ.บี ใช้ชื่อร้านว่า ‘นภาวิทยุ’ เขาเป็นคนที่ชอบเรียนรู้เกี่ยวกับระบบของวิทยุ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่เด็ก ๆ ชอบศึกษาด้วยตัวเอง ลองสร้างเอง และใช้เองในครอบครัว

ธุรกิจนี้จึงเปิดขึ้นมาตามความฝันของอุดม ‘นภาวิทยุ’ เปิดร้านให้บริการครั้งแรกในปี 2489 จากนั้นก็ย้ายร้านมาอยู่ข้างโรงภาพยนตร์เฉลิมกรุง 3 ปีต่อไป หลังจากที่เห็นว่ากิจการนี้พอมีโอกาสไปต่อ

อุดม เปลี่ยนชื่อร้านใหม่อีกครั้งชื่อว่า ‘ธานินทร์วิทยุ’ (แต่ก็ยังไม่มีข้อมูลว่าชื่อธานินทร์มีที่มาอย่างไร) ซึ่งร้านที่ 2 ที่ย้ายมามีพนักงานทั้งหมดในร้านเพียง 7 คน คนในยุคนั้นถือว่าเริ่มรู้จักและยอมรับในเทคโนโลยีของธานินทร์มากขึ้น ทำให้ยอดขายของวิทยุธานินทร์ดีขึ้นเรื่อย ๆ

ในปี 2499 ธานินทร์วิทยุ ตัดสินใจขยายธุรกิจจากที่ผลิตและจำหน่ายในร้านเล็ก ๆ ขยับขึ้นไปเป็น ‘ผู้ประกอบวิทยุเพื่อจำหน่าย’ ภายใต้แบรนด์ ‘ซิลเวอร์’ แต่ชื่อแบรนด์นี้ก็อยู่ได้ไม่นาน (ก่อนที่จะเปลี่ยนกลับมาเป็น ‘ธานินทร์’ อีกครั้ง) เพราะธุรกิจขายดิบขายดีจนทำให้เกิดการลอกเลียนแบบสินค้า ทั้งการออกแบบและฟังก์ชันต่าง ๆ

 

เป็นสินค้าเมดอินไทยแลนด์เต็มตัว

ในปี 2505 ธานินทร์เข้าสู่บทบาทใหม่ ตัดสินใจขยายธุรกิจอีกครั้ง โดยมีน้อง ๆ อีก 3 คน (อรรณพ, อนันต์, อเนก) ร่วมกันระดมทุนและเปลี่ยนชื่อกิจการเป็น ‘ธานินทร์อุตสาหกรรม’ ด้วยทุนจดทะเบียน 3 ล้านบาท ทั้งยังซื้อที่ดินก่อสร้างโรงงานที่ซอยอุดมสุข บางนา เพื่อสร้างโรงงานผลิตวิทยุแบบเต็มตัว

การจดทะเบียนบริษัทครั้งนั้นทำให้ธานินทร์ถูกพูดถึงมากขึ้นว่าเป็นวิทยุทรานซิสเตอร์เมดอินไทยแลนด์ เป็นสินค้าที่น่าเชิดชูของคนไทย ซึ่งในยุคนั้นคือยุคที่มีการรณรงค์ให้ใช้ของคนไทยด้วยกัน จึงทำให้วิทยุธานินทร์มียอดขายที่ประสบความสำเร็จค่อนข้างมาก

ยุคที่ประเทศไทยมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างเข้มข้น ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่หนึ่ง มีการพยายามกระตุ้นประชาชนให้เกิดความต้องการในการรับรู้ข่าวสารบ้านเมืองมากขึ้น ซึ่งวิทยุคือหนึ่งในสินค้าขายดีของคนไทย และเป็นสินค้าที่มีเกือบทุกบ้าน

เหตุผลนี้ทำให้เปิดช่องโอกาสให้คนบางกลุ่มนำเข้าวิทยุจากต่างประเทศเข้ามาในไทย ทั้งจากจีน, ญี่ปุ่น, เกาหลี ฯลฯ ซึ่งเป็นวิทยุที่มีรูปร่างเล็กกว่าของไทย แต่ก็มีราคาแพงกว่า และสัญญาณไม่ชัดเท่าของคนไทย โดยกลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่คือคนเมืองในกรุงเทพฯ

ดังนั้น วิทยุธานินทร์จึงปรับตัวและกลุ่มเป้าหมายอีกครั้ง โดยพยายามเจาะตลาดต่างจังหวัดแถบชนบทมากขึ้น โดยชูความได้เปรียบเรื่องราคา และใช้การตลาดที่เข้าถึงตัวผู้ซื้อ เช่น รถที่จำหน่ายวิทยุธานินทร์จะขับรถไปตามงานใหญ่ ๆ อย่างงานกาชาด, งานวัด ฯลฯ นอกจากนี้ วิทยุธานินทร์น่าจะเป็นรายแรก ๆ ของไทยที่มีการผ่อนจ่ายการซื้อสินค้าสำหรับคนที่เงินไม่พอซื้อ

นอกจากนี้ ธานินทร์ปรับปรุงเรื่องสัญญาณและดึงมาเป็นจุดแข็งของแบรนด์ ทำให้ชัดและรับสัญญาณเอเอ็มได้ดีกว่าสินค้านำเข้า จึงทำให้ธานินทร์ได้เปรียบคู่แข่งและสู้ได้ในตลาดยุคนั้น

 

ธานินทร์มีมากกว่าวิทยุ

ธานินทร์ยังมองหาโอกาสเติบโตไม่หยุด ในปี 2517 ถือว่าเป็นช่วงที่แบรนด์ธานินทร์เติบโตสูงสุด อุดมและน้อง ๆ ตัดสินใจขยายธุรกิจไปอีก 4 บริษัท ได้แก่ ธานินทร์อิเล็กทรอนิกส์ ที่เชียงใหม่, ธานินทร์อินเตอร์เนชั่นแนล, ธานินทร์คอนเดนเซอร์ และธานินทร์การไฟฟ้า

โดยมีห้างสรรพสินค้า ‘อุดมชัย’ ที่บริหารงานโดย อนันต์ วิทยะสิรินันท์ เป็นตัวแทนจำหน่าย และทำหน้าที่ผู้บริหารการตลาด ซึ่งธานินทร์ได้ขยับไปผลิตสินค้าประเภทอื่นมากขึ้น นอกเหนือจากวิทยุ เช่น โทรทัศน์ขาว-ดำ, โทรทัศน์สี, พัดลม และหม้อหุงข้าว เป็นต้น

ความครบครันของสินค้าธานินทร์ ทำให้กลายเป็นแบรนด์ที่ได้มาร์เก็ตแชร์อันดับ 3 ของยุคนั้นไป เป็นรองแค่เนชั่นแนล แบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าของพานาโซนิค และโซนี่

 

 

ธานินทร์เริ่มไม่ไหวเพราะคู่แข่งในตลาด

แม้ว่า 34 ปีที่ผ่านมา ธานินทร์จะเติบโตอย่างสวยงามมาตลอด แต่เมื่อเข้าสู่ปี 2524 สินค้าโทรทัศน์ขาว-ดำของธานินทร์เริ่มเผชิญกับปัญหาใหญ่ หลังจากที่ตัดสินใจส่งออกไปขายในตลาดยุโรป ด้วยต้นทุนการส่งออกและปัจจัยอีกหลายอย่าง ทำให้ราคาของสินค้าธานินทร์แข่งกับ ‘ซัมซุง’ ไม่ได้ และถูกแย่งตลาดไป

ธานินทร์ปรับกลยุทธ์ธุรกิจพยายามหาตลาดใหม่เพื่อเจาะตลาดต่างประเทศ และ ‘จีน’ ก็คือประเทศเป้าหมายที่ 2 แต่สินค้าของธานินทร์ไม่สามารถแข่งขันได้กับ ‘ฮิตาชิ’ ซึ่งมีฐานผลิตใหญ่อยู่ในจีน ทำให้ยอดขายไม่เป็นไปตามเป้า สินค้าค้างสต็อกเป็นจำนวนมาก สุดท้ายก็ต้องถอนตัวออกจากตลาดจีน

ขณะเดียวกัน ธานินทร์ได้พยายามปรับภาพลักษณ์สินค้าให้เหมาะกับ ‘ตลาดระดับบน’ ในไทยมากขึ้น แต่ก็ล้มเหลว เพราะสู้ความทันสมัยของเทคโนโลยีสินค้าต่างประเทศไม่ได้ จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมสินค้าธานินทร์หายไปจากตลาดอยู่ช่วงหนึ่ง

วิกฤตเศรษฐกิจไทยในปี 2527 รุมเร้าทำให้ธานินทร์อุตสาหกรรมต้องปิดกิจการลง บริษัทต้องเข้าแผนฟื้นฟูกิจการระยะ 5 ปีของธนาคารและเจ้าหนี้อื่น ๆ อีก 13 ราย

ทั้งนี้ บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านสิ่งทอของไทย ในเครือสหยูเนี่ยน เข้าซื้อกิจการบริษัท ธานินทร์อุตสาหกรรมในปี 2532 โดยมีการตั้งชื่อบริษัทใหม่อีก 2 บริษัทย่อย ก็คือ บริษัท ธานินทร์ยูเนี่ยนอุตสาหกรรม (เป็นโรงงานผู้ผลิต) และบริษัท ธานินทร์ยูเนี่ยนเซลส์แอนด์เซอร์วิส (รับหน้าที่ดูแลด้านการตลาดและบริการ)

ปัจจุบันเรายังเห็นในหลาย ๆ ตลาดออนไลน์ อย่าง ชอปปี้, ลาซาด้า ที่ขายวิทยุธานินทร์ นอกจากนี้ยังมี Facebook page: วิทยุธานินทร์ ของแท้ 100% - TANIN Radio ที่โพสต์จำหน่ายรุ่นใหม่ ๆ อยู่ตลอด แม้ว่าธานินทร์อาจจะไม่ได้รับความนิยมเท่ากับเมื่อก่อน แต่ก็ยังถือว่าเป็นแบรนด์ที่คนเจนเก่า ๆ นึกถึงอยู่เสมอเมื่อพูดถึงวิทยุทรานซิสเตอร์ของไทย

 

 

ภาพ: Facebook, ayarafun

อ้างอิง:

http://www.ayarafun.com/2010/05/tanin-where-r-u/

http://www.taladnatvintage.com/article_detail/view/118964

https://www.facebook.com/2007331706232995/posts/2198313077134856/

https://www.facebook.com/authentic.tanin/