13 ส.ค. 2564 | 12:37 น.
เคยได้พูดถึงไปแล้วใน https://thepeople.co/how-doraemon-ending ว่าโดราเอมอนแต่แรกเริ่มนั้นเขียนโดยนักเขียน 2 คนที่จงใจใช้นามปากการาวกับมีนักเขียนเพียงคนเดียว โดยนักเขียนทั้ง 2 คนนั้นคือ อะบิโกะ โมะโตะโอะ (安孫子素雄) และ ฟุจิโมะโตะ ฮิโระชิ (藤本弘) โดยทั้งคู่เริ่มการจับคู่เขียนหลายเรื่องด้วยกันตั้งแต่ปี ค. ศ. 1951 (เขียนโดราเอมอนครั้งแรกในปี ค. ศ. 1969) และสิ้นสุดการเขียนร่วมกันเมื่อปี ค. ศ. 1987 หลังจากสิ้นสุดการเขียนเป็นคู่แล้ว อะบิโกะ โมะโตะโอะ เปลี่ยนไปใช้นามปากกาว่า Fujiko Fujio A. (藤子不二雄Ⓐ) และไม่ได้เขียนโดราเอมอนอีก ในขณะที่ ฟุจิโมะโตะ ฮิโระชิเปลี่ยนไปใช้นามปากกาว่า Fujiko F. Fujio (藤子・F・不二雄) และเขียนโดราเอมอนอย่างต่อเนื่อง ในทางวรรณกรรมจึงยกย่องทั้งคู่ว่าเป็นผู้ประพันธ์เรื่องนี้ แต่ยุคหลัง ๆ นั้นมักจะกล่าวกันว่าโดราเอมอนเป็นผลงานของ Fujiko F. Fujio กันบ่อยกว่า หนังสือการ์ตูนต้นฉบับมีทั้งหมด 45 เล่ม มีทั้งหมด 1,345 ตอน เท่าที่ค้นพบในปัจจุบัน (อาจจะมีที่ยังไม่ค้นพบอีกหลายตอน เพราะสมัยก่อนยังไม่มีการใช้คอมพิวเตอร์บันทึกอะไรใด ๆ) เนื่องจากโดราเอมอนนั้นมีหลายภาคมากกกกก โดยเฉพาะภาคพิเศษสำหรับโรงภาพยนตร์ จึงมีเพลงประกอบมากมายไปหมด แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม เพลงโดราเอมอนที่คนทั่วเอเชียคุ้นเคยกันดี (จะไม่ใช้คำว่า “ทั่วโลก” เพราะโดราเอมอนยังไม่โด่งดังอะไรนักในโลกตะวันตก โดยเฉพาะในยุโรปและอเมริกาเหนือ มีเพียงทางลาตินอเมริกาที่รู้จักโดราเอมอนกันอยู่บ้าง) ก็ยังคงเป็นเพลง “อั๊ง อัง อั่ง” อยู่ดี ที่มีชื่อเพลงจริง ๆ ว่า “โดราเอมอน โนะ อุตะ (ドラえもんのうた)” โดยแปลตรงตัวว่า “เพลงโดราเอมอน” นั่นเอง ท่อนเปิดที่ทุกคนคุ้นเคยดีคือ “คนนะโคะโตะ อี้นะ เดะคิตะระอี้นะ (เรื่องนี้ก็ดี ถ้าทำได้ก็ดีสินะ) อันนะ ยุเมะ คนนะยุเมะ อิปไป อะรุเคะโดะ (มีฝันแบบโน้น ฝันแบบนี้ มากมายเต็มไปหมด) มินนะ มินนะ มินนะ คะนะเอะเตะคุเระรุ (และทำฝันให้เป็นจริงได้หมด ได้ทั้งหมดเลย) ฟุชิงิ นะ ป๊อกเกะ เดะ คะนะเอะเตะคุเระรุ” (ด้วยกระเป๋าวิเศษ ช่วยบันดาลให้เป็นจริงได้) และท่อนใกล้จบที่กลายเป็นตำนานว่า “อั๊ง อัง อั่ง โททเตะโมะ ไดซุกิ โดราเอมอน” (อั๊ง อัง อั่ง ชอบมากเลย ชอบโดราเอมอน)” นี่คือเพลงโดราเอมอน ที่คุ้นเคยกันมาตั้งแต่เด็ก... แต่อย่างไรก็ตาม เพลงโดราเอมอนนั้นมี “เวอร์ชันลับแล” อยู่ เป็นเวอร์ชันแรกที่ออกมาในปี 1973 ประกอบอะนิเมะ ที่โดนวิจารณ์ยับทั้งเพลงประกอบและตัวอะนิเมะเอง เป็นครั้งแรกที่มีความพยายามนำหนังสือการ์ตูนโดราเอมอนไปทำเป็นอะนิเมะทางโทรทัศน์ในปี ค. ศ. 1973 โดยออกอากาศที่ช่อง นิปปงเทเรบิ (Nippon TV) โดยเพลงประกอบอะนิเมะเวอร์ชันแรกสุดของโดราเอมอน มีเพลงเปิดชื่อเพลงว่า “โดราเอมอน” กันตรง ๆ เลย และเป็นเพลงโดราเอมอนเพลงแรกในประวัติศาสตร์ก็ว่าได้ ประพันธ์ทำนองโดย โคะชิเบะ โนะบุโยะชิ (越部信義) และอาจารย์ Fujiko F. Fujio ถึงกับประพันธ์เนื้อร้องด้วยตัวเอง เพื่อผลงานเด่นชิ้นนี้ของตน (อาจารย์ Fujiko F. Fujio ประพันธ์เนื้อร้องอะนิเมะอีกหลายเรื่องด้วยกัน) แล้วยังมีเพลงตอนจบที่ชื่อ “โดราเอมอน รุมบ้า” ที่โคะชิเบะ โนะบุโยะชิเป็นคนประพันธ์ทำนองเช่นกัน และประพันธ์เนื้อร้องโดย โยะโกะยะมะ โยอิจิ (横山陽一) นักร้องทั้งเพลงเปิดและเพลงจบเป็นคน ๆ เดียวกันคือ ไนโต้ ฮะรุมิ (内藤はるみ) แต่เฉพาะเพลงเปิดจะมีคณะนักร้องประสานเสียงวง NLT เข้ามาเป็นลูกคู่ให้ด้วย (ฟังได้ทั้งเพลงเปิดและเพลงจบที่นี่ https://www.youtube.com/watch?v=dlIaqlbflWw หรือเสิร์ชด้วยคำว่า “Doraemon 1973”) โดราเอมอนตอนนั้นแม้จะยังไม่ได้ดังเปรี้ยงปร้าง แต่ก็คือเริ่มมีคนรู้จักพอตัวแล้ว ถึงได้เกิดการดันให้ไปเป็นอะนิเมะเพื่อออกอากาศทางโทรทัศน์ ทว่า แทนที่จะเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ กลับกลายเป็นว่า เวอร์ชัน 1973 ปัง....ปินาศอย่างสมบูรณ์แบบ! พังในพัง พังซ้อนพังในหลาย ๆ ปัจจัย ตั้งแต่เพลงเปิดที่มีลักษณะเป็นเพลงลูกทุ่งญี่ปุ่นโบราณที่เรียกว่า “เอ็งกะ (演歌)” แล้วยังมีลูกคู่คอยประสานเสียงโหย ๆ อยู่เป็นระยะ ประมาณว่า ฮุยเลฮุย เอ้า หุยฮา ช่างขัดแย้งกับภาพลักษณ์แห่งความเป็นอนาคตในเนื้อเรื่องอย่างมาก ส่วนเพลงตอนจบก็คือใช้ทำนองรุมบ้า (Rumba) ซึ่งไม่ได้เข้าอะไรกับแนวการ์ตูนแก๊กตลกสำหรับเด็ก มาถึงก็จัดเต็มทำนองแบบลาตินอเมริกา พร้อมใส่เนื้อร้องแบบร้องซ้ำคำเดิม ซ้ำรัว ๆ ๆ ๆ แบบรุมบ้าเต็มที่ในหลาย ๆ จุด เรียกว่า ทั้ง 2 เพลงไม่ใช่เพลงที่แย่ แต่เป็นเพลงที่อยู่ผิดที่ผิดทาง ผิดธีมของเรื่องเป็นอย่างมาก นอกจากเพลงแล้วยังมีความพังอื่น ๆ เช่น โดราเอมอนในเรื่องดูจะเป็นตัวละครมึน ๆ (ดูเพลงเปิดประกอบได้ ว่าโดราเอมอนดูแปลก ๆ จากที่เรารู้จัก), โนบิตะเป็นเด็กเกเรออกอันธพาลหน่อย ๆ, ไจแอนท์กำพร้าแม่แต่เด็ก (ได้ไงวะ!?), มีการไม่เคารพต้นฉบับในหลาย ๆ จุด เช่นเติมตัวละครเข้ามาหลายตัวแบบงง ๆ, แล้วยังมีการเปลี่ยนเสียงคนพากย์โดราเอมอนกันกลางคันแบบไม่มีเหตุอันสมควร, คอปเตอร์ไม้ไผ่ในเรื่องที่ปกติจะเรียกว่า ทะเคะโคะปุต้า (タケコプター) ก็ใช้ชื่อเก่าตามต้นฉบับเก่าสุดว่า “เฮะริทมโบะ (ヘリトンボ)” ที่แปลว่า “แมลงปอเฮลิ” ซึ่งฟังดูไม่คุ้นหูอย่างมาก ฯลฯ เวอร์ชัน 1973 นี้พินาศสุด ๆ เรตติ้งตกต่ำมากจนถูกตัดจบภายใน 6 เดือน คือออกอากาศแค่ตั้งแต่ 1 เมษายน 1973 จนถึง 30 กันยายน 1973 เท่านั้น โดยตอนสุดท้ายที่ออกอากาศคือตอน “ลาก่อนโดราเอมอน (さようならドラえもん)” แล้วก็ตัดจบไปเลย Fujiko F. Fujioโกรธชนิดลมออกหูที่เห็นเวอร์ชันนี้ เพราะสมัยก่อนสัญญาทำเพียงกรอบคร่าว ๆ แต่ไม่ได้ลงรายละเอียดเนื้อหาของอะนิเมะ แล้ว Fujiko F. Fujio ก็ค่อนข้างยุ่งมากเพราะเขียนอีกหลายเรื่อง ไม่ได้ตรวจเช็คงานออกอากาศให้ละเอียดเนื่องจากไม่คิดว่าทางทีมผู้ผลิตจะทำงานแย่ได้ขนาดนี้ เมื่อพบว่างานของตัวเองถูกเปลี่ยนเสียจนป่นปี้ไม่เคารพต้นฉบับเลย ก็โมโหมาก เวอร์ชันนี้กลายเป็นความอัปยศแห่งประวัติศาสตร์โดราเอมอน และสาบสูญไป ปัจจุบันหาชมต้นฉบับได้ยากมาก และยังคงมีคนตามหากันอยู่เพราะมีคุณค่าในเชิงประวัติศาสตร์ จนในปี ค. ศ. 1979 ถึงได้มีความพยายามรีแบรนด์โดราเอมอนใหม่หมด ให้ “ลืม ๆ ไอ้เวอร์ชัน 1973 ไปซะ” แล้วเปลี่ยนช่องไปออกอากาศที่ช่องเทะเระบิอะซะฮิ (TV Asahi) แทนช่อง Nippon TV แล้วก็แต่งเพลงใหม่เป็น อั๊ง อัง อั่ง โดยประพันธ์ทำนองโดย คิคุจิ ชุนสุเกะ (菊池俊輔) และประพันธ์เนื้อร้องโดย คุสิเบะ ทะคุมิ (楠部工) และนักร้องคนแรกคือ โอสุงิ คุมิโกะ (大杉久美子) เวอร์ชันนี้มีความพยายามให้ทำนองสดใส และใส่ของวิเศษของโดราเอมอนเข้าไปในเนื้อเพลงหลายชนิดเช่น ประตูไปไหนก็ได้, คอปเตอร์ไม้ไผ่ (ที่รอบนี้ยอมเรียกว่า ทะเคะโคะปุต้า แล้ว ไชโย! ), กระเป๋าวิเศษของโดราเอมอน ฯลฯ เรียกว่าคุมธีมกันสุดฤทธิ์ไม่ให้พลาดอีก เนื้อร้องก็กล่าวถึงการมีความฝัน การผจญภัยในโลกกว้าง อิสระเสรีบนฟากฟ้า ซึ่งมันสุดแสนจะแย้งกับเพลงในปี 1973 อย่างมากจริง ๆ จนแบบไม่รู้คนทำ 1973 คือคิดอะไรกันอยู่ และแน่นอน เวอร์ชัน 1979 นี่ก็กลายเป็นเพลงในตำนานตลอดกาลที่ทำนองและเนื้อร้องตั้งแต่ปี 1979 ผ่านมา 40 กว่าปีแล้วแต่ก็ยังฟังดูไม่เก่า ฟังดู timeless มาก ๆ แม้จะเปลี่ยนคนร้องไปอีกหลายคนก็ยังฟังเพลิน ไม่เบื่อ ไม่เชย เมื่อเทียบกับเพลงเปิดของปี 1973 แต่แล้ว ความไร้สติของทีมงานเก่าในปี 1973 ก็ยังครองความไร้สติกันอยู่ เมื่อ เวอร์ชัน 1979 ได้ออกอากาศตั้งแต่ 2 เมษายน 1979 เป็นต้นไป แต่ในเดือนสิงหาคมปีเดียวกันนั้นเอง จู่ ๆ Fujiko F. Fujio ก็ได้รับรายงานว่ามีเวอร์ชัน 1973 ไปโผล่ออกอากาศสถานีโทรทัศน์ท้องถิ่นของจังหวัดโทะยะมะ (富山県) ซึ่งเป็นจังหวัดบ้านเกิดของ Fujiko F. Fujio แบบไร้ที่มาที่ไป จน Fujiko F. Fujio โกรธสุดขีดเพราะความอัปยศในอดีตตามมาหลอกหลอนอีกในจังหวะที่เวอร์ชัน 1979 กำลังไปได้สวยเหมือนโดนกรรมเก่าดึงขาไว้ไม่ให้ก้าวหน้า จนต้องไปให้ทาง TV Asahi ไปเคลียร์กับสำนักพิมพ์โชงะคุคัง (小学館) เจ้าของลิขสิทธิ์มังงะโดราเอมอน ว่าให้ไประงับลิขสิทธิ์กับ Nippon TV แล้วระงับทุกอย่างของเวอร์ชันปี 1973 ไว้ทั้งหมด เพราะอยากให้โลกลืม ๆ ทุกสิ่งเกี่ยวกับเวอร์ชันไปให้หมด สาเหตุที่เกิดเหตุนี้ก็เนื่องจากสมัยก่อนการเซ็นสัญญาธุรกิจใด ๆ ยังไม่ได้ครอบคลุมอะไรมากมายเพราะมันคือ 50 กว่าปีก่อนและไม่มีใครคิดว่าโดราเอมอนจะกลายเป็นสมบัติล้ำค่าของชาติญี่ปุ่นขนาดนี้ เวอร์ชัน 1973 ออกอากาศกับสถานีโทรทัศน์โทะยะมะได้เพียง 9 ตอนก็โดนตัดจบดื้อ ๆ โดยตอนสุดท้ายออกอากาศเมื่อ 3 สิงหาคม 1979 แล้วเวอร์ชัน 1973 ก็หายสาบสูญไปตลอดกาลชั่วนิรันดร ตามที่ Fujiko F. Fujio ปรารถนาจริง ๆ จากที่ผู้เขียนค้นข้อมูลภาษาญี่ปุ่นจากหลายแหล่ง รวมทั้งจากบทสัมภาษณ์ของลูกมืออาจารย์ Fujiko ทำให้ได้ความว่าเวอร์ชัน 1973 สูญหายไปเป็นจำนวนมาก ไม่มีใครรู้ว่าหายไปไหนบ้าง บ้างก็ว่าโดนไฟไหม้ บ้างก็ว่าโดนขายทิ้งใช้หนี้ ฯลฯ ต่าง ๆ นานา ๆ และไม่มีใครรู้ข้อเท็จจริงอีกเลยนับแต่นั้น และแม้แต่ในญี่ปุ่นเองก็มีน้อยคนที่จะได้ชมเวอร์ชันนี้ยกเว้นคนที่เกิดทันได้ชมจริงในปี 1973 และยังจำความได้อยู่เท่านั้น เลยกลายเป็นเวอร์ชันลับแลในตำนานจริง ๆ (ส่วนตัวผู้เขียนเองสืบค้นข้อมูลที่พูดถึงอะนิเมะเรื่องนี้ผ่านเอกสารอยู่หลายชิ้น) เรียกว่า ก่อนจะเกิดเป็นเพลงในตำนาน ก็จัดว่าล้มลุกคลุกคลานมามากนักกว่าจะลงตัว แม้แต่นักแต่งเพลงก็เช่นกัน คิคุจิ ชุนสุเกะผู้ประพันธ์ทำนองเพลงของ 1979 เพิ่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 24 เมษายน ค. ศ. 2021 นี้เองในวัย 89 ปีด้วยโรคปอดอักเสบ (Pneumonia) และแฟน ๆ ทั่วเอเชียต่างก็เสียใจกับการจากไป ในขณะที่ โคะชิเบะ โนะบุโยะชิ เสียชีวิตไปตั้งแต่ 21 พฤศจิกายน 2014 แต่แฟน ๆ โดราเอมอนเกือบทุกคนไม่มีใครรู้ว่าเขาคนนี้ก็เคยได้แต่งเพลงโดราเอมอนเหมือนกัน...โลกเลือกจะจำเฉพาะคนที่ฝากผลงานน่าประทับใจเอาไว้เท่านั้นจริง ๆ แล้วในช่วง แพร่ระบาดของ Covid-19 ตั้งแต่ปี 2020 จนถึงปัจจุบันในปี 2021 มีรายงานว่าหนังสือการ์ตูนโดราเอมอนก็กลับมาขายดีอีกเนื่องจากชาวญี่ปุ่นจำนวนมากต้องกักตัวอยู่บ้านหรือทำงานที่บ้านกันมาก เรียกว่าโดราเอมอนนี่คืออมตะตลอดกาลและเป็นสมบัติล้ำค่าของชาวญี่ปุ่นโดยแท้ เรื่อง: วีรยุทธ พจน์เสถียรกุล